มุกดา สุวรรณชาติ : อยุติธรรม คือ…โรคระบาด ที่เยาวชนของชาติกำลังต่อสู้

มุกดา สุวรรณชาติ

วันรพี 7 สิงหาคมปีนี้ การรำลึกถึงพระบิดาแห่งกฎหมายไทย คงสั่นสะเทือนไปด้วยเรื่องที่อัยการไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาหนีคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต

ที่จริงไม่ควรจะตื่นเต้นตกใจอะไรกันนักหนา กับคดีขับรถชนคนตายแล้วไม่ฟ้อง ก่อนหน้านั้นก็มีการยิงคนตายเกือบร้อยคนกลางเมืองหลวง ก็ไม่มีการฟ้องหาตัวคนผิดเหมือนกัน

นี่เป็นไปตามมาตรฐานกระบวนการ…อยุติธรรม… ตลอดสิบกว่าปีหลังนี้

สาเหตุใหญ่ก็เพราะประชาชนเพิกเฉยต่อความอยุติธรรม ปล่อยให้มันขยายตัว คล้ายโรคติดต่อ เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก คนทำผิดไม่ต้องถูกลงโทษ คนที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อต้านคนผิด คนโกง ถูกจับไปลงโทษหมด ประชาชนส่วนใหญ่ยังเมินเฉย คิดว่าเป็นเรื่องของคนอื่น กลัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวแล้วจะเดือดร้อน เมื่อคนที่ทำผิดลอยนวลอยู่ได้ แถมได้ยศได้ตำแหน่ง มีผลตอบแทนต่างๆ พวกที่หวังลาภยศ ก็ยิ่งเข้าไปรับใช้ระบบอยุติธรรม ข้ออ้างก็คือ ต้องทำตามคำสั่ง

ผลกรรมที่ผ่านมา เมื่อมีโควิดเป็นตัวเร่ง จึงต้องกระทบทุกคน ในเมื่อเรายอมให้มีการปกครองแบบนี้ เราจะต้องรับผลทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดกับเรา

เงินภาษีที่รัฐจะไปซื้อเครื่องบิน ซื้อเรือดำน้ำ ชาวบ้านก็ต้องยอม

เมื่อเขาบอกว่าอย่างนี้ยุติธรรมแล้ว ก็ต้องยอม เพราะประชาชนเราส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักรักษาและสู้เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ตนเอง ถ้ามีคนยื่นให้ก็รับ

แต่ถ้าต้องออกแรงช่วงชิง ไม่ยอมทำ จะรู้สึกเดือดร้อนเมื่อไฟไหม้มาถึงบ้านตัวเอง จะโวยวายเมื่อน้ำไม่ไหล ไฟฟ้าดับ

แต่ในขณะที่ผู้ใหญ่นิ่งเฉย แต่เยาวชนไม่ยอมทนต่อไป

 

ความยุติธรรม หรืออยุติธรรม เกิดจากอำนาจ

เพราะผู้มีอำนาจเขียนกฎหมาย กำหนดตัวบุคคล และกระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าทำออกมาแล้วไม่เป็นธรรม เราเรียกว่า อยุติธรรม

การจะมีความยุติธรรมหรือความอยุติธรรม จึงมาจากคนที่มีอำนาจในสังคม ซึ่งในแต่ละยุคสมัยก็มีสัดส่วนองค์ประกอบที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมาจาก

1. อำนาจจากกำลัง เช่น อาวุธ ทหาร

2. อำนาจที่มาจากความนับถือ เชื่อถือ ตามจารีตประเพณีวัฒนธรรม เช่น ความนับถือในสถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์

3. อำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น เงินทอง ที่ดิน การควบคุมการค้า

4. อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนผ่านระบบรัฐสภา

ทั้ง 4 อำนาจจะถูกหลอมรวม เพื่อออกกฎว่า อำนาจชี้ถูกชี้ผิด ตัดสินความขัดแย้ง ให้ไว้กับคนกลุ่มใดบ้าง มีกระบวนการยุติธรรมอย่างไร โดยตั้งสมมุติฐานว่า คนกลุ่มนี้เป็นอิสระ และเที่ยงตรง จึงเกิดอำนาจที่ห้าขึ้น

5. อำนาจที่ผ่านตัวบทกฎหมาย ซึ่งจะใช้ผ่านฝ่ายตุลาการ ผ่านองค์กรอิสระ หรือฝ่ายนิติบัญญัติ

6. อำนาจที่ทันสมัยที่สุดถือเป็นพลังในยุค New Normal คืออำนาจจากความรู้และข้อมูล โดยการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล การวิเคราะห์ หาสาเหตุ ผลกระทบ และการแสดงความคิดเห็นของคนในสังคมที่สามารถแสดงผ่านระบบสื่อสารยุคใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

แม้ไม่มีฐานันดรพิเศษในสังคม แต่ปริมาณและความเร็ว กลายเป็นพลังของสามัญชนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบัน

เมื่อก่อนอำนาจปกครองเกือบทุกประเทศจะมีฐานทางอำนาจมาจาก 5 ส่วน มีมาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน แต่มีความแตกต่างและองค์ประกอบของแต่ละยุค เช่น ในสมัยโบราณอำนาจจากทหาร ความเชื่อถือในสถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบสำคัญ

เมื่อมีอำนาจ ผู้ปกครองก็มากำหนดเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น จัดระบบถือครองที่ดินแบบศักดินา ให้คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ได้ถือครองที่ดินจำนวนมากเป็นพันเป็นหมื่นไร่ ชาวบ้านก็ถือครองที่ดินได้เพียงเล็กน้อย

จัดระบบการเก็บภาษีที่จะต้องส่งให้กับผู้ปกครอง และระบุว่านั่นคือความยุติธรรม ซึ่งทุกคนต้องทำตาม

เรื่องแบบนี้มีทั้งในยุโรป ในเอเชียและประเทศไทย มานานหลายร้อยปีแล้ว

ส่วนอำนาจตามตัวบทกฎหมาย และการเลือกตั้งก็ถูกกำหนดตามขึ้นมา และเพิ่งมามีบทบาทใน 100 ปีหลังนี้

แต่ในยุคใหม่อำนาจที่ 6 ที่เปิดเผยข้อมูล ความรู้และความจริงตกอยู่ในมือประชาชนที่สามารถชี้แจง เปิดโปงปัญหาต่างๆ ในสังคมได้อย่างรวดเร็ว

การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจึงเกิดได้ตลอดเวลา และมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 

คนมีอำนาจสามารถบิดเบือนกฎหมายได้
แต่จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในระบอบการปกครองแบบนิติรัฐ กฎหมายจะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน

แต่ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลดลง

ที่สำคัญมิใช่เป็นเพราะเนื้อหากฎหมายฉบับนั้นหรือมาตรานั้น แต่เพราะกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่เป็นไปแบบยุติธรรมที่มีมาตรฐาน

หากแต่มีการเลือกบังคับใช้เฉพาะคนเฉพาะกลุ่ม

เมื่อเกิดซ้ำหลายครั้งเข้าประชาชนก็เข้าใจได้ว่า นี่เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายบุคคลหรือกลุ่ม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือเพื่อเงินทอง การตัดสินคดีหลายคดี ประชาชนบอกล่วงหน้าได้ว่า ถ้าเป็นบุคคลนี้จะต้องถูกลงโทษ ถ้าเป็นบุคคลนั้นจะไม่ต้องได้รับโทษ หรือได้รับโทษน้อย ซึ่งแทบไม่เคยมีใครเดาผิดเลย

สภาพบ้านเมืองวันนี้อยู่ในขั้นวิกฤตเป็นแบบที่เรียกว่า…เมืองใดไร้ธรรมอําไพ เมืองนั้นบรรลัย แน่เอย

ในขณะที่เด็กๆ เติบโตมาจากการสั่งสอนว่าจะต้องอยู่ฝ่ายธรรมะ ต้องมีความยุติธรรม ต้องเสียสละและต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้อง

เด็กทุกคนอยากเล่นบทพระเอก แต่เมื่อทำอย่างนั้นเข้าจริงๆ ผู้ใหญ่กลับรับไม่ได้ ก็พยายามอ้างว่าเด็กถูกชักจูง

แต่ความจริงแล้วผู้ใหญ่ต่างหากที่ถูกชักจูงจนออกนอกกรอบของศีลธรรม ความดีงาม และผลประโยชน์ของชาติ ปัญญาชน สื่อมวลชน และคนที่มีฐานะนำในสังคม ส่วนใหญ่ก็เพิกเฉย หรือไปหาประโยชน์ร่วมกับผู้มีอำนาจ

ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยุติธรรมมีมากมาย ตั้งแต่อาจารย์ นักศึกษา กฎหมาย และการเมือง จนถึงข้าราชการ ไปถึงขั้นอัยการ ศาล ทนาย แต่จะหาคนที่จะคัดค้าน และต่อสู้เพื่อหลักกฎหมายที่ถูกต้อง หรือให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปอย่างเที่ยงตรง มีน้อยเต็มที

อยุติธรรมจึงเกิดซ้ำซาก

แต่ไหนแต่ไรมา…สายตาในการมองเห็นความยุติธรรมของเยาวชนกับผู้ใหญ่นั้นต่างกัน

อคติที่เกิดจากผลประโยชน์ เกิดจากความโน้มเอียงเลือกข้างเลือกพวกพ้องของผู้ใหญ่จะมีมากกว่า

ความกลัวที่จะแสดงออกเพื่อต่อต้านความไม่ถูกต้องก็มีมากกว่า

ความคิดที่จะเลือกใช้ชีวิตแบบอยู่เป็น อยู่รอด เฉพาะตัวเองมีมากกว่า

 

เยาวชนเคลื่อนไหว
เพราะเห็นความอยุติธรรมครองเมือง

ถ้ามองไกลถึงอนาคตเด็กและเยาวชนรุ่นนี้จะลำบากมาก จะต้องแบกรับหนี้ทั้งหมดไว้ ทำมาหากินก็ยาก พวกเขาจะพบทั้งปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาแก้ไขนานเป็น 10 ปี

การที่เด็กเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนจึงเป็นเรื่องถูกต้อง มีคนจำนวนมากในสังคมนี้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนั้น

ทีมงานเคยลงถึงรายละเอียดการแก้ไขนั้นว่าที่สำคัญจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่เสียที คือการให้เลือกคณะผู้บริหารประเทศโดยตรงจากประชาชนตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลักๆ ประมาณ 10 กระทรวง

อย่างนี้ประชาชนจึงจะเห็นภาพของผู้บริหาร ว่าใครจะมาทำงานกระทรวงใดและมีนโยบายอย่างไร จะได้ประโยชน์อะไร เพื่อลดการต่อรองเรื่องตำแหน่งบริหาร

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาอยุติธรรม ก็คือการเลือกตั้งสภายุติธรรมจากประชาชนโดยตรง เพื่อสร้างมาตรฐานความยุติธรรม สร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย สามารถควบคุมดูแลตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางได้

การทำงานในชั้นตำรวจ อัยการ ศาล องค์กรอิสระและราชทัณฑ์ จะต้องถูกตรวจสอบทั้งหมด

สภายุติธรรมมิได้มีหน้าที่ตัดสินคดีความต่างๆ แต่มีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว เสมอภาคกัน

การตัดสินอยู่บนพื้นฐานกฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าคนรวยคนจน นับถือศาสนาต่างกัน มีความเชื่อทางการเมืองต่างกัน ก็สามารถได้รับความยุติธรรมเท่ากัน

ข้อแตกต่าง ที่บางคดีฟ้องรวดเร็ว บางคดีฟ้องไม่ทัน หรือคดีเดียวกันจำเลยบางส่วนถูกฟ้อง บางคนอ้างว่าฟ้องไม่ทัน เรื่องการทำหลักฐานหาย การพิจารณาขององค์กรอิสระก็จะต้องมีมาตรฐาน มิฉะนั้น ตั้งขึ้นมาก็ไร้ประโยชน์ กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ปกป้องคนบางกลุ่ม และทำลายคนบางกลุ่ม

ถ้านักลงทุนไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมของเราก็จะไม่มีคนมาลงทุน ถ้าเกิดกรณีพิพาท เขาต้องพึ่งอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

แต่เยาวชนที่เคลื่อนไหว ก็กำลังถูกกดดัน ต่อต้าน ดิสเครดิต ข่มขู่ คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

 

เยาวชนยุคใหม่รบด้วยข้อมูล…
ใครประมาทอาจหมดอนาคต

การต่อสู้ในยุคใหม่ที่เรียกว่า New Normal สังเกตว่าเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ใช้กำลังโดยตรง แต่มีการไปกดดันคนที่เคลื่อนไหวประท้วงทั้งระดับประชาชน นักศึกษา นักเรียน บางทีก็ไปหาถึงบ้าน มีการติดตามพฤติกรรม คนที่ไปกดดันมีทั้งผู้บริหาร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยและโรงเรียน เจ้าหน้าที่ตำรวจ

มองดูคล้ายๆ เยาวชนจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่นั่นเป็นเพราะพวกเขายังไม่ได้โต้ตอบ แต่ถ้าสังเกตที่พวกเขาโพสต์ข้อมูลมา เริ่มมีการแฉมากขึ้น ต่อไปถ้าเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปเด็กและเด็กก็ถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ ถ้าเจ้าหน้าที่มาสังเกตพฤติกรรมเด็ก เด็กก็ไปสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่

พื้นที่ไหน เขตไหนมีธุรกิจ มีอบายมุขอะไร เปิดอยู่ได้อย่างไร ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาได้บริหารงานโปร่งใสหรือไม่อย่างไร มีการใช้งบประมาณอย่างไร ด้วยการสื่อสารยุคใหม่ คิดว่าใครจะต้องระมัดระวังตัวมากกว่ากัน หู ตา ปาก นิ้วของชาวบ้านไวยิ่งนัก

กลุ่มเยาวชนมีโอกาสทำผิดมากกว่าหรือผู้ใหญ่มีโอกาสทำผิดมากกว่า และอาจลามไปถึงเรื่องส่วนตัว ใครมีเมียหลวงเมียน้อยกี่คนก็จะถูกเปิดโปงผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย อีกไม่นานรับรองสนุกแน่ ใครจะต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังตัว ใครจะถูกออกจากโรงเรียน หรือใครจะถูกออกจากราชการ อีกไม่นานก็รู้

ถ้าคิดว่าตัวเองคือคนดีขาวสะอาดก็ไม่ต้องกลัว

ถึงเวลานี้กลุ่มเยาวชนกำลังแก้ไขปัญหาในสังคมตามความเชื่อที่เขาได้ร่ำเรียนมา ว่า อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งคือที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้มาปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ประชาชนต้องมีอำนาจที่สูงสุด ไม่ใช่บุคคล หรือคณะบุคคล

ประชาชนต้องมีอำนาจกำหนดตัวผู้ปกครอง วิธีการปกครอง กำหนดตัวบทกฎหมาย กำหนดกติกาทางเศรษฐกิจ การแบ่งสรรทรัพยากร

การเรียกร้องที่กำลังเกิดขึ้นคือการกำจัดความอยุติธรรมแบบธรรมชาติ อธิบายให้คนฟังถึงสาเหตุทั้งหมด ด้วยระบบสื่อสารสมัยใหม่ แล้วปล่อยให้ชาวบ้านสู้บ้าง ยอมบ้าง เมื่อแรงดันถึงจุด มันจะมีการเปลี่ยนแปลงเอง ช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับความด้านของผู้มีอำนาจ รูปแบบการต่อสู้ใหม่ ไม่มีความรุนแรง

อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เด็กๆ บอกว่า พวกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหลายไม่ต้องกลัวตกงาน ถึงแม้จะอยู่ในวัยไหน เพราะงานล้างจานตามร้านอาหารไม่ใช่งานหนัก หนูเคยทำมาแล้ว ถ้าผิดพลาดอย่างมากก็จานแตก แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผิด ตัดสินใจยกมือผิด เจ๊งทั้งประเทศ