E-DUANG : วัฒนธรรม การเมือง แบบใหม่ การเข้ามา การเมือง ยุคดิจิทัล

ความจัดเจนจากการเคลื่อนไหวต่อสู้เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ความจัดเจนจากการเคลื่อนไหวต่อสู้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 สามารถนำมาใช้ในการเคลื่อนในเดือนกรกฎาคม 2563 ได้หรือไม่

หากฟังเสียงจากผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เหมือนกับจะได้

แต่ก็ดำเนินไปในลักษณะของการปรับประสานมิใช่โดยเถรตรง

เพราะว่าด้านหลักของผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 กลับเป็นความห่วงใย

ห่วงใยและเกรงว่าน้องๆนักเรียน นิสิตนักศึกษา อาจต้องประสบกับเล่ห์เหลี่ยมและกับดักทางการเมืองของอีกฝ่ายกระทั่งนำไปสู่ความสูญเสียและพ่ายแพ้

เหมือนกับผู้ที่เคยมีบทบาทเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ต้องประสบเมื่อเผชิญเข้ากับสถานการณ์ในเดือนตุลาคม 2519

หรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดอันได้รับในสถานการณ์ปี 2553

 

ต่อสภาพการออกโรงของนักเรียน นิสิตนักศึกษาในเดือนกรกฎาคม 2563 ได้สร้างความตื่นตลึงให้กับรุ่นพี่ไม่ว่าเมื่อปี 2516 ไม่ว่าเมื่อปี 2535 เป็นอย่างสูง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกมาของนักเรียน ทั้งด้านหลักยังเป็นนักเรียน”หญิง”อีกด้วย

ขณะเดียวกัน รูปแบบของการเคลื่อนไหวของเยาวชนรุ่นใหม่ได้ก้าวไปในอีกยุคหนึ่งซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2516 หรือแม้กระทั่งก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ ได้มีการนำเอาอิทธิพลในทาง”วัฒนธรรม”รุ่นใหม่เข้ามาประสานกับการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก

ไม่ว่าจะเป็นการเอากระบวนการชู 3 นิ้วจากภาพยนต์เรื่อง เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ ไม่ว่าจะเป็นการเอากระบวนการร้องเพลงและการเต้นในแบบ”แฮมทาโร่”

แม้กระทั่งนักสร้างกิมมิคอย่าง นายสมบัติ บุญงานอนงค์ ก็ยังต้องพิศวงงงงวย

 

หากคำนึงถึงพลวัตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ขาดสาย เด่นชัดยิ่งว่าการเมืองได้ปรับตนเองจากยุค”อะนาล็อก” เข้ามาสู่ยัง”ดิจิทัล”แล้วอย่างสมบูรณ์

แม้เนื้อหาจะยังเป็นการชู”ประชาธิปไตย”เพื่อต่อกรกับอำนาจแห่ง”เผด็จการ”

แต่ก็ต้องยอมรับต่อเทคโนโลยีใหม่ รูปแบบใหม่