ปรากฏการณ์ม็อบแฮมทาโร่ เมื่อ “การ์ตูน-เพลง” แรงขับเคลื่อนคนรุ่นใหม่ ภาษีประชาชน-ยุบสภา!

กลายเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ของการชุมนุมประท้วงรัฐบาล

เมื่อมีการนำตัวการ์ตูนญี่ปุ่นรูปหนูแฮมสเตอร์จากเรื่อง “แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย” และเพลงประกอบการ์ตูนที่ดัดแปลงเนื้อหาบางช่วง มาเป็นตัวชูโรงในการทำกิจกรรมแฟลชม็อบที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภา

ทำเอาพวกลุงๆ ในสภาและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่งคงต่างงงกันหมด

เพราะไม่คิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็น “นักเรียน-นักศึกษา” จะเลือกใช้วิธีแสดงออกแบบนี้

 

จุดเริ่มต้นของม็อบแฮมทาโร่เกิดจากนักศึกษาสาวคนหนึ่งที่ใช้นามแฝงว่า “จูดี้” โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ส่วนตัว ประกาศหาแนวร่วมที่เบื่อหน่ายกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันมาร่วมวิ่งที่บริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวการ์ตูนญี่ปุ่น “แฮมทาโร่” มาเป็นธีมหลักของการชุมนุมในครั้งนี้

ต่อมามีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เสนอให้นำเพลงประกอบการ์ตูนเรื่อง “แฮมทาโร่” มาร้องควบคู่ไปกับตอนวิ่งด้วย โดยได้ดัดแปลงเนื้อร้องบางท่อนให้เข้ากับบริบททางการเมืองของไทยในปัจจุบันเข้าไป

ความเป็นมาของการ์ตูนที่ชื่อว่า “แฮมทาโร่” ถือกำเนิดขึ้นโดยริสึโกะ คาวาอิ นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ก่อนนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมะ ออกฉายในประเทศญี่ปุ่นและอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

ในบ้านเราเพลงแปลภาษาไทยมีเนื้อร้องว่า “เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ ตื่นออกจากรัง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ หอมอร่อยที่สุดก็คือ เมล็ดทานตะวัน”

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยุคสมัยเปลี่ยนไป เพลงแฮมทาโร่ถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลลุงตู่ มีการดัดแปลงเนื้อเพลงโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่สะท้อนมุมมองของพวกเขาได้อย่างแหลมคม

กลายเป็นเพลงแฮมทาโร่เวอร์ชั่นยุบสภาที่กลายเป็นวลีฮิตติดหูของใครหลายคน

“เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ ตื่นออกจากรัง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ ของอร่อยที่สุดก็คือภาษีประชาชน ยุบสภา! ยุบสภา! ยุบสภา!”

จริงๆ แล้วเพลงแฮมทาโร่โด่งดังมากในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้สำหรับการเชียร์วงไอดอล ซึ่งเวลาเปิดเพลงนี้บรรดาโอตาคุ (คนที่คลั่งไคล้ในการ์ตูนหรือแอนิเมะ) ก็จะวิ่งเป็นวงกลมและยิงมิกซ์ไปด้วย ท่ามกลางบรรยากาศที่สนุกสนาน

จนกลายมาเป็นรูปแบบใหม่ของการประท้วงในบ้านเรา โดยใช้การ์ตูนและเพลงเป็นตัวเชื่อมระหว่างกลุ่ม “นักเรียน-นักศึกษา” เข้ากับการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลได้อย่างลงตัว

ขณะที่สื่อต่างประเทศมองว่าการที่กลุ่มผู้ประท้วงได้ร้องเพลงที่มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า อาหารที่ชื่นชอบที่สุดคือเงินภาษีประชาชน ยุบสภา! ยุบสภา! ยุบสภา! พร้อมกับวิ่งวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า การเมืองไทยตกอยู่ในวัฏจักรของความล้มเหลว เสมือนแฮมสเตอร์ที่วิ่งวนอยู่ในกงล้อและกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการทำลายวงล้อดังกล่าวนี้

นอกจากนี้ สื่อนอกยังรายงานด้วยว่า ม็อบแฮมทาโร่ถือเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากกว่า 2,000 คน

และเป็นการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่ว่า “การ์ดไม่ตก” ไล่ตั้งแต่ กลุ่ม “มศว คนรุ่นใหม่” (ชมสวนใหม่ยาม 2 ทุ่ม), กลุ่มเยาวชนปลดแอก, ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล และเด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ฯลฯ

 

ด้าน “จูดี้” นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี เจ้าของแนวคิด “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” เปิดเผยกับทีมข่าวมติชนทีวีผ่านทางโทรศัพท์ เธอยอมรับว่าการชุมนุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คิดเอาไว้ เพราะมีคนมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

“ตอนแรกไม่คิดว่าจะจัดเอง เพราะหนูไม่เคยจัดม็อบมาก่อน ไม่รู้จักใคร และไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในหน่วยงานของนักศึกษา หรือเป็นพวกแกนนำอะไร ตอนแรกคิดว่าคนมาแค่หลักสิบ แล้วจัดวิ่งรอบๆ ข้างในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งแบบนั้นมันทำคนเดียวได้”

“แต่ปรากฏว่ามีคนสนใจเยอะ มีคนมาช่วยเหลือหนูมากมาย เช่น คุณทราย เจริญปุระ ที่อาสาซื้อเครื่องเสียงให้ หรือกลุ่มนวชีวิน ก่อนตัดสินใจทำร่วมกัน”

“จากนั้นจึงมีการประกาศหาสตาฟฟ์ผ่านทางทวิตเตอร์ มีการเปิดรับบริจาค ซึ่งได้เงินกว่า 30,000 บาท ใช้ไปประมาณ 16,000 บาท ส่วนที่เหลือประมาณ 14,000 บาท เอาไปบริจาคให้กับมูลนิธิกระจกเงา”

จูดี้เผย

 

“จูดี้” บอกอีกว่า ที่ผ่านมาการประท้วงในไทยไม่ค่อยถูกนำเสนอผ่านทางสื่อหลักในบ้านเราสักเท่าไร จึงมีการนำสัญลักษณ์ตัวการ์ตูนรูปหนูแฮมสเตอร์มาใช้ รวมถึงใช้เพลงแฮมทาโร่ ซึ่งเป็นเพลงที่ดังมากในญี่ปุ่น ดังนั้น น่าจะเป็นที่สนใจของสื่อต่างประเทศได้

ขณะเดียวกัน ตอนแรกเธอตั้งใจจะเป็นผู้ถ่ายคลิปบรรยากาศการชุมนุมด้วยตัวเอง แล้วส่งไปตามสำนักข่าวต่างประเทศ แต่สุดท้ายมีผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักมาเกาะติดการชุมนุมและทำให้ #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของไทย

“ความหมายจริงๆ ของม็อบแฮมทาโร่ คือการที่เราถูกโครงสร้างทางสังคมกดทับ แล้วกรงเราใกล้จะพังแล้ว เราจึงต้องออกมาวิ่งเพื่อแสดงพลังและเรียกร้องความเท่าเทียม”

“ถ้าเราเรียกร้องความเท่าเทียมได้ การสมรสก็จะเป็นเรื่องของทุกคน เราจะไม่มีสิทธิถูกบังคับให้สูญหายไป เราจะมีการศึกษาที่เท่าเทียมกัน เราจะแก้ปัญหาคนชายขอบได้”

“หนูเรียนคณะรัฐศาสตร์ อาจารย์เคยสอนว่า อำนาจไม่ได้วิ่งลงจากเบื้องบน แต่วิ่งจากเบื้องล่างที่มาจากประชาชน เพราะฉะนั้น ถ้าเขาใช้ภาษีจากประชาชน แล้วเขาไม่เห็นหัวพวกเรา เขาก็ไม่ควรอยู่ เพราะเราคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง” จูดี้กล่าว

 

แน่นอนว่าการชุมนุมของ “นักเรียน-นักศึกษา” ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่อายุไม่ถึง 30 ปี อาจโดนค่อนขอดจากบรรดาลุงๆ ป้าๆ หรือพวกนักการเมืองยุคไดโนเสาร์แซะเด็กเหล่านี้ว่าเป็นม็อบฟันน้ำนมบ้าง หรือม็อบมุ้งมิ้งบ้าง

รวมถึงโดนเหน็บแนมจากคนในพรรคพลังประชารัฐที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กใจความว่า “ทุกคนอยากช่วยประเทศ แต่ไม่มีใครอยากช่วยแม่ล้างจาน”

ซึ่งเรื่องนี้ “จูดี้” กล่าวแบบติดตลกแต่แฝงนัยสำคัญว่า “หลังจากจัดม็อบหนูเหนื่อยมาก ขาก้าวไม่ออก หนูก็ยังต้องไปล้างจานอยู่ดี แต่ถ้าในอนาคตการเมืองไทยดี บ้านหนูอาจจะมีเครื่องล้างจานก็ได้” เธอบอก

ไม่เพียงแค่นั้น นักกิจกรรมสาวยังกล่าวย้ำด้วยว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เพราะการเมืองคือส่วนหนึ่งในการวางกติกาทางสังคม แล้วเราทุกคนต้องอยู่ภายใต้กติกานั้น แต่ตอนนี้กติกามันสั่นคลอน เช่น ความยุติธรรมไม่มีจริง หรือเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม ดังนั้น มันจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องพิทักษ์กติกาเหล่านั้นเอาไว้

“หนูไม่ได้รู้สึกว่าเขา (รัฐบาล) จะสะทกสะท้านหรือสะเทือนอะไรนะ เพราะที่ผ่านมาเขาก็ไม่ค่อยสะเทือนกับอะไรเท่าไร แต่มันสะเทือนคนอื่น วันนี้เราทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าเด็กไม่กี่คนสามารถนำพาคนจำนวนมากออกมาแสดงพลังร่วมกันได้ อยากขอบคุณผู้ร่วมงานทุกคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อกติกาของตัวเองร่วมกัน” จูดี้กล่าว

ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่าสีสันของการชุมนุมโดยเยาวชนจะยิ่งทวีความสร้างสรรค์ขึ้นอีกเพื่อขยายกระแสการเคลื่อนไหว ที่จะนำพาสารข้อเรียกร้องไปสู่คนหมู่มากเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมีผู้คนจำนวนมาก หรือยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ อย่างเช่นการจัดการชุมนุมในอดีต

“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของกลุ่มเยาวชนที่จะเข้ามารวมตัวกันจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ และกลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมสำหรับนักเคลื่อนไหวในต่างจังหวัดอีกด้วย” ดร.สติธรกล่าวกับบีบีซีไทย

ต้องยอมรับว่าการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของม็อบแฮมทาโร่เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน

ถือเป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

โดยไม่จำเป็นต้องมีแกนนำ ไม่ต้องเตรียมเต็นท์ ไม่ต้องมีค่ารถ ไม่ต้องจ่ายค่าข้าว

ที่สำคัญ อย่ามองพวกเขาเป็นเด็กไร้เดียงสา ไม่สนใจการเมือง

บางทีพวกเขาอาจจะเข้าใจการเมืองไทยได้ลึกซึ้งกว่าที่ใครหลายคนคิดไว้เสียอีก