เมนูข้อมูล/นายดาต้า : ชื่นบานกับ “ความสูญเสีย”

แม้จะบรรลุสู่การจำกัดบทบาทนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเพิ่มบทบาทของนักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะบุคคลหนึ่งในระดับที่สามารถควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ระดับหนึ่งแล้วด้วยรัฐธรรมนูญ

แต่ดูเหมือนว่าเพื่อความปลอดภัยที่จะทำให้อำนาจของคณะบุคคลไม่เสี่ยงต่อการถูกท้าทายหลังเหลือตั้ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ จึงต้องเพิ่มกรอบกติกาเพื่อลดโอกาสนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้ยิบย่อยในรายละเอียดมากขึ้น โดยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด

มีบางเรื่องราวที่สร้างแรงกดดันให้ประชาชนห่างจากพรรคการเมืองมากขึ้น กำหนดเงื่อนไขเอาผิดทื่ทำให้นักการเมืองไม่ไว้วางใจในกันและกัน

และคงต้องติดตามว่าจะมีอื่นๆ ตามมาอีกหรือไม่ ที่จะทำให้นักการเมืองที่เป็นตัวแทนจากประชาชนถูกมัดมือมัดเท้าจนอ่อนแอ ไม่ว่าสามารถกระดิกจากการควบคุมของกติกาได้ จะมีอีกหรือไม่ที่จะเปิดทางให้การใช้อำนาจของนักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งเป็นไปอย่างปลอดโปร่งโล่งจากการถูกควบคุมตรวจสอบมากขึ้นไปอีก

เป็นโครงสร้างทางการเมืองที่ไทยที่ใครยังสนใจที่จะเล่นการเมืองจะต้องติดตาม โดยเฉพาะนักการเมืองที่วางเป้าหมายไว้ในเชิงอุดมการณ์เพื่อประชาชนย่อมเป็นยุคสมัยที่จะต้องทำใจไม่ให้อกแตกตายไปเสียก่อนกระทั่งเหลือแค่นักการเมืองจำพวกอะไรก็ได้ขอให้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางอำนาจเพื่อแสวงประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเป็นพอ

ในทิศทางเช่นนี้ประชาชนมองเห็นหรือไม่ และคิดอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยในฐานะที่เคยเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านมา “สวนดุสิตโพล” ดูเหมือนจะคิดถึงพรรคการเมืองขึ้นมา จึงสำรวจความคิดเห็นว่า “คนไทยคิดอย่างไร?    กับพรรคการเมืองไทย”

แม้จะดูเป็นคำถามที่ยังไม่ลงลึกถึงประเด็นอันเป็นแก่นแท้ของทิศทางทางการเมืองนัก แต่คำตอบก็ยังน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ในคำถามที่ว่า “ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่? ที่พรคคการเมืองออกมาเรียกร้องให้ คสช. ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองไทยสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้” คำตอบที่ออกมาร้อยละ 42.83 บอกว่า “เห็นด้วย” ด้วยเหตุผลที่ว่าระบอบประชาธิปไตยทุกพรรคย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดทางการเมือง ร้อยละ 30.15 ตอบว่าไม่เห็นด้วย เพราะจะเกิดความวุ่นวาย ร้อยละ 27.02 ตอบว่าไม่แน่ใจ เหตุผลเพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช. มองว่าอาจจะเป็นการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์

การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นคือ การให้ความเชื่อมั่นในอำนาจประชาชน ว่าการปกครองที่ดีที่สุดคือของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

ดังนั้น การรักในสิทธิตัวเองของประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เชื่อมกับประชาชนมากที่สุด

แต่คำตอบของประชาชนยังอ้ำอึ้งกับบทบาทของพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของตัวเอง

จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนอย่างชัดเจนไม่น้อยว่า ในความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อประชาธิปไตยนั้นอยู่ในจุดใด

และเป็นคำตอบด้วยว่า ในโครงสร้างอำนาจการเมืองการปกครองประเทศอันใหม่ ที่ชัดเจนว่าสิทธิประชาชนถูกจำกัดลง และเพื่มอำนาจให้คณะบุคคลมากขึ้น

ทำไมประชาชนจึงไม่รู้สึกถึงความสูญเสีย