ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 กรกฎาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ธรรมลีลา |
เผยแพร่ |
บริบทที่เขียนเรื่องนี้ มาจากการฟังคุณนิ้วกลมสัมภาษณ์คุณสุทธิชัย หยุ่น แล้วประทับใจมาก ทำให้รู้จักคุณสุทธิชัยจากอีกแง่มุมหนึ่งที่ปกติเราไม่รู้จัก ต้องขอบคุณคุณนิ้วกลมที่ทำการบ้านมาดีมาก ได้ประเด็นที่มีประโยชน์ต่อผู้ฟังอย่างยิ่ง
ตอนหนึ่งในบทสนทนา คุณสุทธิชัยเล่าว่า พ่อเป็นคนเห็นความสำคัญว่า ด.ช.สุทธิชัยต้องมีทักษะในการพิมพ์ หากจะเอาดีในการเป็นนักเขียน อุตส่าห์เอาลูกไปที่ทำงาน ให้พนักงานพิมพ์ดีดสอนพิมพ์ดีดให้ลูกชายในวัย 12-13 ปี
เป็นการเริ่มต้นที่ดีกับชีวิตของลูก ซึ่งต่อมาก็ได้ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ตัวจริงเสียงจริง
ผู้เขียนเติบโตมาในครอบครัวที่แม่เป็นนักเขียน สิ่งแรกที่จำได้คือ แม่ลุกขึ้นมาเขียนต้นฉบับ โดยยกเก้าอี้ที่นั่งแต่งตัวเข้ามาตั้งในมุ้ง ใช้ต่างโต๊ะเขียนหนังสือ ตั้งแต่ตีห้า
แต่แม่ไม่มีทักษะในการพิมพ์ ใช้เขียนต้นฉบับด้วยดินสอ และต่อมาก็เป็นปากกาลูกลื่น ลายมือท่านอ่านยากมากๆ
คนที่พิมพ์ดีดคือพ่อ สมัยที่พ่อเป็นผู้แทนราษฎร เห็นพ่อนั่งพิมพ์คำร้องให้ราษฎรเป็นตั้งๆ แต่พิมพ์ช้าใช้นิ้วจิ้ม พิมพ์ดีดที่พ่อใช้เป็นแบบกระเป๋าหิ้ว
นั่นคือภาพที่อยู่ในความทรงจำสมัยเด็กๆ ของผู้เขียนเกี่ยวกับพิมพ์ดีด
ในวัยเด็กผู้เขียนไปโรงเรียนราชินีบน ที่บางกระบือ เส้นทางการเดินทางจากบ้านที่คลองมอญ ถนนจรัญสนิทวงศ์ มาที่ท่าน้ำศิริราช ในสมัยนั้น ประมาณ พ.ศ.2503-2504 ตึกแถวตรงพรานนกนั้น มีร้านที่เปิดเป็นโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดอยู่ 2-3 แห่ง
ที่เรียกว่าโรงเรียนสอนพิมพ์ดีด ก็คือห้องแถวสองห้อง วางโต๊ะ พร้อมพิมพ์ดีด สัก 10 โต๊ะ เก็บค่าเรียนเดือนละ 30 บาท ไปเรียนได้ตลอด 7 วัน ตั้งแต่เช้าจนเย็น เรียนครั้งละ 1 ชั่วโมง
เวลาไปโรงเรียน นั่งรถเมล์สีฟ้าสาย 42 ไปจบสายที่ท่าน้ำศิริราช แล้วข้ามเรือ ไปขึ้นที่ท่าช้าง ต่อรถเมล์สีเขียวไปลงหน้าตลาดบางกระบือ แล้วเดินย้อนกลับมาที่โรงเรียนราชินีบน
เป็นเส้นทางเดียวที่รู้จัก
เวลารถเมล์แล่นผ่านก็หมายตาโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดที่ว่านี้ ราคาค่าเรียนเดือนละ 30 บาท เก็บค่าขนมมาเรียนได้ เรียนหลังเลิกเรียนตอนเย็นเพียง 1 ชั่วโมง ยังสามารถกลับบ้านได้ไม่ทันค่ำ
ที่คิดจะไปเรียนพิมพ์ดีดนั้น เห็นความสำคัญว่า หากจะเอาดีต่อไป ต้องมีทักษะนี้ ไม่มีพ่อ-แม่ชี้แนะเหมือนคุณสุทธิชัย ตอนที่ไปสมัครเรียนนั้น เลือกเรียนพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษ คิดไปอีกช็อตหนึ่งว่า จบ ม.8 แล้ว (สมัยนั้นมี ป.1-ป.4, ม.1-ม.8) ต้องไปต่อต่างประเทศ จะต้องได้ใช้พิมพ์ดีดภาษาอังกฤษแน่
ทั้งหมดนี้ คิดไปเองทั้งนั้น ไม่ได้พูดคุยกับใคร
ที่ว่าโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดนั้น เสียค่าเรียนไปแล้ว พอเอาจริง ไม่มีครูมาสอนดอกค่ะ อาซิ้มที่ดูแล อาจจะเป็นแม่ของเจ้าของกิจการ ชี้ไปที่หนังสือคู่มือพิมพ์ดีดแบบโรเนียว ที่วางอยู่ข้างๆ เครื่องพิมพ์ดีด เปิดดูมีหน้าแรกที่แนะวิธีการวางนิ้วบนแป้นพิมพ์ มือซ้าย จำแถวแรก คือ A S D F มือขวา จำ J K L ; เริ่มต้นเท่านั้นจริงๆ จากนั้น จำแป้นให้ได้ แล้วก็ขยับนิ้วขึ้นแถวบน ขยับลงแถวล่าง นิ้วชี้ต้องขยับมาแป้นข้างหน้าด้วย
ในขณะที่นั่งรถเมล์ไปเรียนก็เห็นภาพตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ ซักซ้อมการพิมพ์ไปด้วยในมโนภาพ
จริงๆ แล้วไปโรงเรียนที่ว่านั้น เพียงอาทิตย์แรกเท่านั้น
พ.ศ.2506 ตอนนั้นผู้เขียนเรียนปริญญาตรีที่อินเดียแล้ว เป็นช่วงที่ปิดเทอมและได้กลับมาเยี่ยมบ้าน เป็นช่วงที่มีงาน Trade fare ครั้งแรก ที่หัวหมาก เป็นงานใหญ่มาก ไปเองไม่ถูก ต้องมีพี่เลี้ยงพาไป
ในงานนี้ หัวสูงมาก ซื้อสองอย่างค่ะ พิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว ภาษาอังกฤษยี่ห้อ Olivetti ราคา 1,750 บาท เป็นสมบัติชิ้นแรกในการทำมาหากินต่อมา
อีกรายการหนึ่งคือ เอ็นไซโคลพิเดีย บริแทนนิก้า ราคาตั้ง 11,000 บาท เป็นนักศึกษาไม่มีเงินดอก แต่บริหารการเงินโดยผ่อนส่งเดือนละ 300 บาท
เมื่อมีพิมพ์ดีดของตัวเอง การฝึกซ้อมก็เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
วิทยานิพนธ์ปริญญาโทและเอก บทความที่ต้องส่งอาจารย์ ต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดพิมพ์เองทั้งสิ้น
ในช่วงที่เรียนอยู่ที่แคนาดานั้น รับจ้างพิมพ์ด้วยค่ะ ได้ค่าจ้างหน้าละ 40 เซ็นต์
นักศึกษารุ่นพี่ทั้งปริญญาโทและเอกที่มาจากอินเดียนิยมให้ผู้เขียนพิมพ์รายงานที่ต้องส่งอาจารย์ เพราะพวกนี้จะใช้ภาษาสันสกฤตเยอะ
และพนักงานที่รับจ้างพิมพ์ดีดชาวแคนาดาจะอ่านต้นฉบับลายมือตรงนี้ไม่ออก ผู้เขียนเลยมีอาชีพรับจ๊อบพิมพ์งานของรุ่นพี่ชาวอินเดียไปโดยปริยาย
สิ่งที่ได้นอกจากรายได้เพิ่ม คือการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการที่รุ่นพี่เหล่านั้นใช้
นักศึกษาปริญญาเอกที่มาจากอินเดียพวกนี้ มักมีปริญญาเอกจากอินเดียมาก่อน หลายคนก็เป็นอาจารย์แล้ว แต่การมาเรียนให้ได้ปริญญาจากแคนาดาเป็นการแสวงหาคุณค่าเพิ่มให้กับตัวเอง
สมัยที่อยู่ที่อินเดีย อาจารย์พวกนี้ก็ไม่เคยต้องพิมพ์งานของตัวเอง เรียกว่า มีพนักงานพิมพ์คอยรับใช้อยู่ เมื่อไปศึกษาในต่างประเทศ มีแต่เนื้อหา แต่ไม่มีทักษะ
ผู้เขียนก็เลยได้งานพิมพ์จากรุ่นพี่พวกนี้
ตอนที่พิมพ์วิทยานิพนธ์ปริญญาโทนั้น มีข้อจำกัดว่า กระดาษที่ใช้พิมพ์ต้องเป็นกระดาษพิเศษที่มีความเหนียว คงทนกว่าเอสี่ที่ใช้พิมพ์รายงาน และตัวอักษรใหญ่กว่าปกติ ต้องเป็นพิมพ์ดีดใหญ่แบบตั้งโต๊ะ แคร่ยาวๆ ต้องเช่าค่ะ ราคาค่าเช่า อาทิตย์ละ 8 เหรียญ ทางบริษัทจะมีบริการยกพิมพ์ดีดมาให้ถึงบ้านเลย
ตอนที่พิมพ์วิทยานิพนธ์ร่างสุดท้าย ความที่ไม่ต้องการจ่ายค่าเช่ามากกว่า 8 เหรียญ ผู้เขียนโปรแกรมตัวเองว่าต้องพิมพ์ให้เสร็จภายใน 7 วัน แทบจะไม่ต้องหลับต้องนอน เย็นวันที่ 7 โทรศัพท์ไปให้ทางบริษัทมารับเครื่องพิมพ์ดีดกลับไปได้ พร้อมกับจ่ายเงิน 8 เหรียญ
ในช่วงที่เรียนอยู่ที่แคนาดา ซื้อเครื่องพิมพ์ดีดขนาดกระเป๋าหิ้วยี่ห้อ Brother ซื้อใหม่เอี่ยม ราคา 50 เหรียญ
ใช้มาตลอด ทั้งพิมพ์งานของตัวเอง และรับจ้างพิมพ์งานให้รุ่นพี่ เรียกทุนคืนไปได้นานแล้ว ตอนจะกลับไทย ติดประกาศขายตามบอร์ดของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย ปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้น ขายได้ 30 เหรียญ คนที่ซื้อไปเป็นนักศึกษาหญิงชาวอินเดียมาเรียนหมอที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
ทั้งหมดที่เล่ามาคือคุณูปการของความสามารถในการพิมพ์ดีดแบบสัมผัสได้
ที่เสียท่ามากๆ คือ ได้แต่ภาษาอังกฤษ
เคยแนะนำนักศึกษาที่จบปริญญาตรีมาใหม่ๆ กำลังหางานว่า ในระหว่างรองานควรไปฝึกทักษะการพิมพ์นะ เมื่อเราต้องแข่งกับผู้สมัครคนอื่น หากคุณสมบัติอื่นเท่ากันหมด แต่เราพิมพ์เป็นด้วย เราก็น่าจะมีโอกาสมากกว่า
นักศึกษาผู้นั้นว่า เธอไม่ได้ไปสมัครตำแหน่งพนักงานพิมพ์ ก็เลยเลิกพูดกัน
ชีวิตการทำงานเป็นอาจารย์ในประเทศไทย 27 ปี พบว่า เจ้าพนักงานพิมพ์ดีดฝ่ายธุรการพิมพ์งานให้ได้เฉพาะภาษาไทย ถ้าเป็นต้นฉบับลายมือภาษาอังกฤษ อาจารย์ต้องพิมพ์เองทั้งนั้น เจ้าพนักงานพิมพ์ดีดมีทักษะเพียงการพิมพ์ค่ะ ไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษพอที่จะอ่านต้นฉบับลายมือออก
เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนที่เขียนต้นฉบับส่งมติชนสุดสัปดาห์ ก็ต้องจ้างเขาพิมพ์ หน้าละ 3 บาทกระมัง เขาพิมพ์ส่งมาสองก๊อบปี้ มีที่ผิดไม่มากค่ะ พนักงานพิมพ์เขาใช้เวลานอกเวลาทำงาน แก้กลับไปให้เขาแก้ใหม่ ใส่ซองส่งไปรษณีย์ลงทะเบียน แต่ละครั้งใช้เวลาร่วมอาทิตย์กว่าต้นฉบับจะถึงมือกองบรรณาธิการ
ผู้เขียนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ก็ตอนที่เลิกเขียนต้นฉบับภาษาไทยด้วยลายมือ แล้วลงมือพิมพ์เองบนคอมพิวเตอร์
เมื่อผ่านช่วงของการปรับตัวมาแล้วก็รู้สึกขอบคุณกับความทันสมัยของเทคโนโลยี
สำหรับต้นฉบับภาษาไทย ผู้เขียนก็ยังไม่ได้พิมพ์สัมผัสเหมือนภาษาอังกฤษ แต่ใช้คล่องพอ และสะดวกกว่าที่จะเขียนด้วยลายมือแล้วให้คนอื่นพิมพ์ให้ ซึ่งก็ยังไม่วายที่จะต้องกลับมาเสียเวลาตรวจทานแก้ไข
งานแปลที่เป็นภาษาไทย 27 เล่มที่ผ่านมา ก็ล้วนผ่านขั้นตอนการเขียนด้วยลายมือ แล้วให้คนอื่นพิมพ์ให้ แต่มติชนสุดสัปดาห์เป็นพื้นที่ที่ฝึกให้ผู้เขียนต้องพิมพ์ต้นฉบับภาษาไทยเองจริงๆ โดยไม่ยกร่างด้วยลายมือมาก่อน
คุณสุทธิชัยเล่าไว้ในคอลัมน์ที่เขียนให้มติชนสุดสัปดาห์นี้แหละว่า ตัวท่านเองเป็นคนรุ่น baby boomer คือเกิด พ.ศ.2489
อ้าว เราอยู่คนละรุ่นกันเหรอ
ไม่ทราบว่า ตัวเองอยู่รุ่นไหน ท่านอาจารย์นิตยาท่านเพิ่งเฉลยว่า รุ่นก่อน Baby boomer เขาเรียกว่า Generation T คือ Traditionalist เป็นพวกหัวเก่า รุ่นสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ
ผู้เขียนว่า ผู้เขียนต้องผิดเหล่าผิดกอของ Generation T แน่เลย
แต่ทั้งสองรุ่นนั่นแหละ เขาฝึกทักษะการพิมพ์ดีดแบบสัมผัสกันนะ เมื่อปรับเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ ก็สามารถทำงานได้คล่องตัวกว่าเยอะทีเดียว เพียงแต่การพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ นิ้วไม่ได้ออกแรงมากเท่าเครื่องพิมพ์ดีดสมัยก่อน
ผลงานของ “ฉัตรสุมาลย์” ในคอลัมน์ “ธรรมลีลา” ในมติชนสุดสัปดาห์ก็ผ่านพัฒนาการการพิมพ์ ตั้งแต่พิมพ์ดีดมาจนดีดพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ ต่อไปอาจจะใช้โปรแกรมพูดแล้วให้คอมพิวเตอร์พิมพ์ให้เสร็จ
ถึงตอนนั้น นิ้วเป็นง่อยไปแล้ว