การศึกษา / เปิดผลงาน 1 ปี ‘3 รมต.ศธ.’ ทำไม?? นักวิชาการให้ ‘ไม่ผ่าน’

การศึกษา

 

เปิดผลงาน 1 ปี ‘3 รมต.ศธ.’

ทำไม?? นักวิชาการให้ ‘ไม่ผ่าน’

 

ครบรอบ 1 ปีเต็มในการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่ชื่นชอบการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเห็นว่ามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศ พูดจริงทำจริง กล้าตัดสินใจ บ้านเมืองเรียบร้อยขึ้น รวมถึงสามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ได้อย่างดี

ขณะเดียวกัน ก็มีบางส่วนมองว่าการบริหารงานยังมีข้อบกพร่อง แก้ไขไม่ตรงจุด ตัดสินใจไม่ดี ล่าช้า แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งบริหารประเทศไม่มีประสิทธิภาพ

สำหรับการบริหารงานด้าน “การศึกษา” ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การบริหารงานของ 3 รัฐมนตรี ศธ. ทั้งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ดูเหมือนยังไม่ได้ดั่งใจ และยังเป็นที่อึดอัดขัดใจของใครหลายๆ คน

แม้ว่าเจ้ากระทรวงอย่างนายณัฏฐพลได้พยายามแสดงฝีไม้ลายมือในการบริหารจัดการรูปแบบการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทั้งจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านโทรทัศน์ หรือระบบ “ออนแอร์” ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563

รวมถึงมอบให้สถานศึกษาที่มีความพร้อม จัดการเรียนการสอนผ่านระบบ “ออนไลน์” เพื่อรองรับช่วงเปิดเทอม สลับกับการเรียนในห้องเรียนปกติ

หรือหากกรณีเชื้อโควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 ภายหลังสถานศึกษาเปิดเรียนตามปกติแล้ว

แต่ดูเหมือนยังไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจเท่าที่ควร

 

นอกจากนี้ นโยบายต่างๆ ที่นายณัฏฐพลได้ประกาศเอาไว้ในช่วงที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.รวมถึงภาพของ “นักบริหารรุ่นใหม่” ที่หลายๆ คนต่างพากันคาดหวังว่าจะผลักดันให้เกิด “การปฏิรูปการศึกษา” ได้สำเร็จ และนำพาการศึกษาไทยไปได้ไกลกว่าที่เคยเป็น

หน่วยงานหลักๆ ในการจัดการศึกษาของประเทศ ที่เสมา 1 ดึงมากำกับดูแลเอง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จะช่วยผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาที่ค้างคาอยู่ เดินหน้าต่อไปได้

แต่ดูเหมือน 1 ปีผ่านไป การปฏิรูปการศึกษาแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมองไม่เห็นอะไรที่เป็นประโยชน์กับ “นักเรียน” จะมีเพียงก็แต่การ “ปรับโครงสร้าง” เพื่อ “เอาใจ” บรรดาผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เท่านั้น

โดยแบ่งอำนาจหน้าที่ให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ดูภาพรวมการจัดการศึกษาทั้งจังหวัด และดูภาพรวมทุกสังกัด ส่วนอำนาจในการบริหารบุคลากร ทั้งการแต่งตั้ง โยกย้ายและการลงโทษทางวินัย ให้เป็นหน้าที่ของ สพท.ต้นสังกัด ตามที่ สพท.เคลื่อนไหวมาโดยตลอด

รวมทั้งได้ปรับโครงสร้างโดยจัดตั้งศูนย์อาชีวะในระดับภูมิภาค สังกัด สอศ.สวนทางกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ที่พยายามปรับลดโครงสร้างให้เล็กลง และลดสายบังคับบัญชาให้สั้นลง

นอกจากนี้ การพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี และภาษาอังกฤษ ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก

ส่วนปัญหา “หนี้สินครู” ขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับสถาบันการเงิน และหารือกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครู

แต่ดูเหมือนจะยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร!!

 

ส่วนผลงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ในรอบ 1 ปี อย่างคุณหญิงกัลยาที่ชูแนวทาง “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” โดยเจ้าตัวพยายามผลักดันตั้งแต่รับตำแหน่งเสมา 2 คือเรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) โดยสำนักงานส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ สพฐ.จัดอบรมครูออนไลน์หลักสูตรการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับครู หรือ coding for Teacher (C4T)

การเตรียมความพร้อมเพื่อการทดสอบ PISA 2022 โดยใช้แนวทางการพัฒนาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพื่อการยกระดับผลการสอบ PISA ของไทย

นอกจากนี้ ในฐานะที่ดูแลสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรและประมง สังกัด สอศ.ยังเดินหน้ายกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง เป็น Digital Agri College ทั้ง Digital Farming, Digital Community และ Digital Farmer พร้อมกับพัฒนาครูอาชีวศึกษาเกษตร โดยจัดทำแผนงาน และพัฒนาหลักสูตรในการพัฒนาครูให้มีความรู้การเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น

การสร้างความเท่าเทียมการศึกษาไทย ให้เด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ

ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้กลไกของสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนด้านการปฏิรูปการศึกษา และผลักดันนโยบายต่างๆ

 

ขณะที่เสมา 3 นางกนกวรรณเจ้าของสโลแกน “ทำได้ ทำทันที ทลายทุกข้อจำกัด” ได้แถลงผลงานในรอบ 1 ปี โดยผลงานสำคัญๆ อาทิ การขับเคลื่อนสำนักงานส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สู่ “กศน. WOW (6G)” การเกลี่ยเพิ่มอัตราตำแหน่ง การสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง ข้าราชการครู กศน.จำนวน 891 อัตรา เพื่อให้ กศน.อำเภอ มีบุคลากรขับเคลื่อนงานได้เต็มประสิทธิภาพ

ขยายผลจากทรัพยากรที่สำนักงาน กศน.มีอยู่ โดยเฉพาะห้องสมุดทั่วประเทศ เพื่อจัดทำ Co-Learning Space ที่มีความพร้อมบริการประชาชนทุกช่วงวัย และพัฒนาห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” 103 แห่งทั่วประเทศ เป็นห้องสมุดดิจิตอล

ส่วนระยะต่อไป ได้กําหนดเป้าหมายสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “เรียนรู้ออนไลน์-สร้างงานสร้างอาชีพ-ก้าวสู่สังคมสุขภาวะอย่างมีคุณภาพ” โดยใช้ระบบดิจิตอลสนับสนุน

นอกจากนี้ ยังสร้างขวัญกำลังใจให้ “ครูโรงเรียนเอกชน” ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยเพิ่มสวัสดิการการรักษาพยาบาลครูเอกชน จากเดิม 100,000 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 150,000 บาทต่อปี

มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563!!

 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการได้สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานของ 3 รัฐมนตรี ศธ.อาทิ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ภาพลักษณ์ของนายณัฏฐพลในช่วงแรก เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลง ทำงานลักษณะเดียวกับภาคเอกชน ที่เน้นความคล่องตัว ตัดสินใจได้ดี รวดเร็ว มีข้อมูลรอบด้าน ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ทั้ง 2 คน เสริมในส่วนที่ขาด

แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของ 3 รัฐมนตรี ยังคงดูดี แต่แบบมีเงื่อนไข กลายเป็นติดกับดักระบบราชการ จึงต้องกลับมาทบทวนการทำงานว่าเรื่องใดทำดี หรือไม่ดี และเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง

โดยรวมแล้ว ทั้ง 3 รัฐมนตรี ศธ.เสียเวลา 1 ปี ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ค่อนข้างมาก แต่การทำงานไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง…

ให้คะแนนการทำงานแค่ 5 จาก 10 คะแนนเต็ม คือผ่านแบบมีเงื่อนไข!!

 

ขณะที่ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มองว่า ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง จากที่นายณัฏฐพลเคยแถลงนโยบายว่าจะรื้อระบบการบริหารจัดการ ศธ.โดยเฉพาะ สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ที่สุด แต่การกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา กระบวนการสรรหา คัดเลือก และพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียน ยังใช้ระบบเดิม ยังไม่เห็นการปฏิรูปหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน รวมถึงโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไข คือครู

จึงฟันธงว่า นโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั้น ผิวเผิน ไม่ลงมือทำจริง ให้แค่ 4 คะแนน จาก 10 คะแนนเต็ม…

ส่วนการทำงานของคุณหญิงกัลยาที่ชูนโยบายโค้ดดิ้ง เรียกว่าเปิดตัวมาดี แต่เริ่มดร็อป เพราะการกระจายภารกิจอยู่เฉพาะกลุ่ม ไม่เกิดการกระจายไปทั่วประเทศ

ให้คะแนนคุณหญิงกัลยาผ่านครึ่งพอดี

ขณะที่นางกนกวรรณที่ดูแล กศน.ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดการศึกษาตลอดชีวิต แต่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องนี้ และบางเรื่องอย่างเพิ่มเงินค่ารักษาพยาบาลให้ครูโรงเรียนเอกชน ก็เป็นการทำเชิงประชานิยม

ให้ 4 คะแนน “ไม่ผ่าน” เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

    ถือเป็น “งานหนัก” สำหรับรัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คน ที่จะต้อง “ปฏิรูป” หรืออาจถึงขั้น “ปฏิวัติ” วิธีทำงานใหม่ ก่อนที่จะย่ำแย่ไปกว่านี้!!