ในประเทศ / แนวรบด้าน ‘บูรพา’ 3 ป. ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ในประเทศ

 

แนวรบด้าน ‘บูรพา’

3 ป.

ยังไม่เปลี่ยนแปลง

 

3ป.แห่งบูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ควงแขนไปทำกิจกรรมสำคัญ ในห้วงกระแสปรับคณะรัฐมนตรีกำลังเข้าสู่ช่วงสำคัญ

โดยเมื่อ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา เดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษไปยัง จ.เชียงใหม่

เพื่อเปิดโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

พร้อมกันนั้น นายกฯ กล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 68 พรรษา 28 กรกฎาคม 2563 และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสดุดีจอมราชา กับผู้ร่วมงาน

 

วันเดียวกันนั้นเอง

พล.อ.อนุพงษ์ได้ออกมาตอกย้ำความสัมพันธ์อันแนบแน่นของ 3 ป.

“ส่วนตัวหากใครที่ทราบประวัติความสัมพันธ์ระหว่างผมกับนายกรัฐมนตรีที่อยู่ด้วยกันมานาน มีความผูกพันกัน อยู่บ้านหลังเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกันเป็น 10 ปี”

“หากนายกรัฐมนตรีเห็นความจำเป็นว่าจะให้บุคคลใดเข้าหรือออกในการปรับคณะรัฐมนตรี รวมถึงผมด้วย เพราะนายกรัฐมนตรีต้องแบกรับการทำงานของรัฐบาล ที่ต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติ รวมถึงต้องแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากปรับเอาคนที่มีความสามารถมาทำงานก็เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี”

“ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทั้งผู้บังคับบัญชา และผมเคารพเหมือนพี่ชาย ถ้ามาทำหน้าที่แทน ก็ไม่เป็นปัญหา และผมเองไม่ติดใจ และจะสบายใจ ขอให้นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศได้”

ซึ่งก่อนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็กล่าวในทำนองเดียวกัน

โดยบอกว่าที่มีการเสนอตามหน้าข่าวต่างๆ ว่า 3 ป.แตกกัน ก็ต้องถามว่าใครเป็นคนเขียนข่าว

“เรื่องนี้ขอให้ฟังผมก็แล้วกัน”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่ากระแสตีให้ 3 ป.แตกกันเป็นไปไม่ได้ใช่หรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวพร้อมส่ายศีรษะ

“เป็นไปไม่ได้”

 

การเปิดใจ 2 ใน 3 ป.นี้

เกิดขึ้นท่ามกลางการจับตาว่า 3 ป.จะปรับดุลอำนาจกันอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประวิตรก้าวไปเป็นหัวพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ควรมีตำแหน่งทางการเมืองรองรับอย่างสมฐานะ

ไม่ใช่เพียงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี “ลอยๆ” อย่างปัจจุบัน

เริ่มแรกเริ่มคาดหมายว่า พล.อ.ประวิตรอาจจะคุมกระทรวงกลาโหมแทน พล.อ.ประยุทธ์ที่นั่งควบอยู่ หรือได้ดูแลตำรวจแห่งชาติ

แต่พลันที่มีเสียงจาก พล.อ.ประยุทธ์

“ผมทำผิดพลาดอะไรในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถ้าไม่ผิดแล้วจะเปลี่ยนทำไม”

ประกอบกับหลังกระแสข่าวพุ่งขึ้นสูง พล.อ.ประวิตรได้ขึ้นไปรับประทานอาหารกับ พล.อ.ประยุทธ์

แม้จะไม่มีรายละเอียดหารือระหว่างรับประทานอาหาร

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้บอกเป็นนัยๆ ว่า กินก๋วยเตี๋ยวกับ พล.อ.ประวิตร

ซึ่งเป็นการยืนยันถึง “การกินเส้น” มิใช่ “ไม่กินเส้น” อย่างที่มีคนตั้งข้อสังเกต

เรื่องไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของ พล.อ.ประวิตรจึงจบลงรวดเร็ว

 

แต่นั่นก็เฉพาะเก้าอี้ในกลาโหม

เพราะหลังจากนั้น มีกระแส ส.ส.พปชร.จำนวนหนึ่ง

เสนอให้มีการล่ารายชื่อเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตรในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแทน พล.อ.อนุพงษ์

โดยเหตุผล พล.อ.อนุพงษ์ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ส.ส.ในพรรค

และให้ พล.อ.ประวิตรมาคุมเลือกตั้งในทุกระดับ

แต่ พล.อ.ประวิตรรีบมายุติกระแสข่าว ส.ส. เสนอให้นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบรองนายกรัฐมนตรี

โดยบอกทีเล่นทีจริงว่า “ขนาดเดินยังไม่ไหวเลย”

พร้อมย้ำว่า “ไม่ต้องเป็นตัวเอง คนอื่นก็ทำได้”

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์บอกว่า

“จะปรับคณะรัฐมนตรีกันอย่างไร ผมไม่เป็นปัญหา และไม่มีอะไรในใจแม้แต่สักนิด”

 

จากท่าทีของ 3 ป.ข้างต้นจึงยืนยันว่า 3 พี่น้องบูรพาพยัคฆ์ยังคงเหนียวแน่นในความสัมพันธ์

และยังคงเป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์ 3 ป.”

นั่นคือ พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตรขยับขึ้นไปเป็นหัวหน้าพรรค พปชร. เพื่อคุมงานการเมือง คุมเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ให้เป็นเอกภาพทั้งระบบไม่ให้เกิดความวุ่นวายอย่างที่ผ่านมา

ส่วน “น้องรอง” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่รัฐบาล คสช.

เป็นที่ทราบกันดีว่ากระทรวงนี้มีความสำคัญนอกจากคุมข้าราชการในสังกัดทั่วประเทศแล้วยังคาบเกี่ยวไปถึงมวลชน และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั้งระบบด้วย

สำหรับ “น้องเล็ก” คือ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในฐานะผู้นำประเทศ

3 ประสานนี้คือกลไกสำคัญที่จะต้องเชื่อมโยงให้เป็นเนื้อเดียวกันเพื่อให้ศูนย์อำนาจมีความมั่นคงและแข็งแกร่ง

สามารถเอาชนะศึกการเมืองในทุกรูปแบบ

 

กระแสข่าวความขัดแย้งใน “3 ป.” จึงมีแนวโน้มที่จะไม่เป็นจริง

โดยจะต้องรอดูการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

หากเป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมา ยิ่งชี้ชัดว่า 3 ป.ยังคงกุมการนำเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

ทั้งนี้ อย่างที่ทราบทั่วไป ตอนแรกมีรายงานข่าวว่า ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่ง พล.อ.ประวิตรนั่งเป็นประธานด้วยตนเอง

มีมติเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อปรับ ครม.ดังนี้

  1. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  2. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
  3. นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

และ 4. นายสุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

แต่พอออกจากที่ประชุม พล.อ.ประวิตรออกมาบอกว่า พรรคมีโควต้ารัฐมนตรี 2-3 เก้าอี้เท่านั้น

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์อิงกระแสสังคมอย่างเต็มที่ นั่นคือ ไม่ยอมรับโผข้างต้น โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

และต้องการจะขอจัดทีมเศรษฐกิจเอง

นั่นจึงนำไปสู่กระแสข่าวโผของพรรค พปชร.ถูกฉีกทิ้ง

กลุ่ม 2 มิตรของนายสุริยะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ทุ่มเทแรงกาย ดัน พล.อ.ประวิตรขึ้นหัวหน้าพรรค ต้องกลืนเลือดอีกครั้ง

เพราะ พล.อ.ประวิตรเลือกจะยืนข้าง พล.อ.ประยุทธ์มากกว่าจะอยู่กับ ส.ส.หรือฝ่ายการเมือง

ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นปมคุกรุ่นระหว่าง 3 ป.กับนักการเมืองใน พปชร.

ที่แม้ตอนนี้ฝ่าย ส.ส.อาจจะต้องนิ่งเงียบเอาไว้ก่อน

แต่ในอนาคต ความรู้สึกถูก “หักหลัง” อาจจะมีการเอาคืนจากเหล่านักการเมืองนี้ก็ได้

 

ซึ่งก็อย่าประมาท เพราะว่าไป โผการปรับคณะรัฐมนตรีที่แย้มๆ ออกมาโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้มีเสียงตอบรับในเชิงบวกนัก

ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ในอนาคตอันใกล้จากวิกฤตไวรัสโควิด-19 แล้วหากแก้ไขได้ไม่ดี

ความนิยมในรัฐบาลก็อาจดิ่งเหว

ซึ่งถึงตอนนั้น ส.ส.พปชร.ที่กลืนเลือดมาหลายอึก ก็อาจจะไม่เป็นหนึ่งเดียวกับ “3 ป.” ก็ได้

อันอาจจะนำไปสู่วิกฤตในสภา จนควบคุมไม่ได้

และยิ่งเมื่อมาผสานไปกับกระแส “เยาวชนปลดแอก” ที่นับวันจะขยายตัวออกไป ภายใต้ธงนำ ยุบสภา-แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทำให้พื้นที่การเมืองในอนาคต กลายเป็นพื้นที่อันตราย

โดยมีวิกฤตเศรษฐกิจ และที่เพิ่งเกิดขึ้นมาซ้ำซ้อนอยู่ตอนนี้

นั่นคือ ความรู้สึกถึงการไม่มี “ความยุติธรรม” ในสังคม จากกรณีสั่งไม่ฟ้องทายาทกระทิงแดง ที่ขับรถชนตำรวจ

ได้กลายเป็น “เชื้อไฟ” ที่จะสุมและเร่ง “สถานการณ์” ให้เลวร้ายลง

 

สอดคล้องกับซูเปอร์โพล ที่สำรวจเรื่องคนรุ่นใหม่ กับผู้ใหญ่ทางการเมือง จำนวน 1,541 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.8 ระบุ ระดับคุณธรรมของนักการเมืองยุค พล.อ.ประยุทธ์ มีค่อนข้างน้อย ถึงไม่มีเลย ในขณะที่ร้อยละ 17.2 ระบุ ค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.6 ระบุ คนรุ่นใหม่จะไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามผู้ใหญ่ทางการเมืองสั่งสอน ในขณะที่ร้อยละ 28.4 เชื่อฟัง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.4 ระบุ คนรุ่นใหม่มองผู้ใหญ่ทางการเมืองทำตัวไม่ดี ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ในขณะที่ร้อยละ 32.6 ระบุ ทำตัวดี

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.2 ระบุ การใช้กฎหมายบังคับจับกุม จะช่วยห้ามปรามคนรุ่นใหม่ไม่ได้ ในขณะที่ร้อยละ 43.8 ระบุ ช่วยได้

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.0 ระบุ คนรุ่นใหม่มองการเมืองปัจจุบันเป็นการเมืองเก่า ในขณะที่ร้อยละ 21.0 ระบุ เป็นการเมืองใหม่

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.5 ระบุ ไม่เห็นผลงานของรัฐบาลที่ทำประโยชน์อะไรให้กับเยาวชน ในขณะที่ร้อยละ 24.5 ระบุ เห็นผลงาน

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.4 ระบุ คนรุ่นใหม่สิ้นหวังในการมองอนาคตของประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 41.6 มีความหวัง

 

แม้หลายฝ่ายจะมีคำถามต่อซูเปอร์โพล ที่ดูจะเอนเอียงไปในฟากฝ่ายมีอำนาจ

แต่ผลที่ออกมา ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นผลดีต่อรัฐบาล

จะมองในแง่บวกก็ได้เพียงว่าเป็นสัญญาณเตือนถึงการไม่ยอมรับรัฐบาลภายใต้การนำของ 3 ป.

โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ ที่ส่วนหนึ่งเข้าไปร่วม “เยาวชนปลดแอก” ที่กู่ตะโกน ประยุทธ์ ออกไปๆๆ

ดังนั้น แม้ 3 ป.จะอยู่ในสถานการณ์ “ปกติ” ยังเหนียวแน่นระหว่างพี่น้องตอนนี้

แต่กระแสรอบๆ 3 ป. ทั้งในพรรค พปชร. พรรคฝ่ายค้าน กลุ่มการเมือง และรวมถึงกระแสคนรุ่นใหม่

สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไป

     เปลี่ยนไปสู่ “แนวรบ” ที่มี 3 ป.เป็นเป้าหมายที่จะถูกทำลาย