มนัส สัตยารักษ์ | ผลพวงแห่งข้อยกเว้น ผลพวงแห่งความคับแค้น

ค่อนข้างช้าไปแล้วที่เขียนถึงกรณีอังกฤษแบนสินค้ากะทิจากไทย โดยอ้างองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม หรือ PETA (People for Ethical Treatment of Animal) ชี้ว่า การให้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์

เป็นเหตุผลที่คล้ายกับเมื่อครั้งที่พวกเขาอ้างขณะล่าอาณานิคมทางซีกตะวันออกในสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย และเราต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปไปในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

นั่นคือ เป็นเหตุผลเดียวกับที่หมาป่าอ้างกับลูกแกะในนิทานอีสป

นาทีแรกที่รับทราบข่าวนี้ ทำให้ย้อนไปนึกถึงความเจ็บปวดของชาวไทยในครั้งนั้นทันที ถึงแม้จะเกิดไม่ทัน แต่ได้อ่านบันทึกประวัติศาสตร์ก็สร้างความเจ็บแค้นฝังใจ

ขณะเดียวกันก็นึกถึงพระปรีชาของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงมีพระเนตรยาวไกลวางนโยบายปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงประเทศรอและรับมือการกระทำของหมาป่า จนในที่สุดไทยก็สามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้เป็นประเทศหนึ่งเดียวในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์

วันนี้เราอยู่ในปี ค.ศ.2020 ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โลกได้เริ่มยุค multipolar world ที่ไม่ควรจะมีนักเลงอันธพาลแบบ “หมาป่า” อีกแล้ว ทุกประเทศน่าจะมีปากมีเสียงเท่าเทียมกัน

นาทีถัดมาจึงนึกถึงว่าในวันเวลานี้ เราพอจะมี “ปากเสียง” หรืออำนาจต่อรองอะไรบ้างที่จะช่วยให้เราเท่าเทียมกันในการรักษาประโยชน์ของตนเอง?

จริงอยู่ที่แต่เดิมเรามีข้าว ยางพารา และการท่องเที่ยวเป็นตัวชูโรง แต่โลกที่เคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ปากเสียงของเราอ่อยลงไปตามลำดับ มีเหลืออยู่เพียงเรื่องเดียว คือ “การต่อสู้กับสถานการณ์โควิด” ที่มีคำรับรองจากองค์กรโลก

แต่ก็เกิดกรณีที่อาจจะทำให้เราอาจจะต้องเผชิญกับ “สถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบ 2” ขึ้นมาทันที สืบเนื่องมาจาก “ข้อยกเว้น” มาตรการป้องกันการระบาดของ ศบค.

ความฝันที่เราจะมีปากเสียงในยุค multipolar world ปลาสนาการหายไปสิ้น

เราต้องเผชิญหน้าสถานการณ์โควิด-19 กะทันหัน จึงขอรวบรัดประเด็นลิงเก็บมะพร้าวไว้สั้นๆ

เรามี “เพื่อน” ที่เข้าใจวิถีชีวิตเกษตรกรไทย คือสื่อจีนและสื่อญี่ปุ่น

“เซี่ยงไฮ้ เดลี่” เว็บไซต์ดังของจีนกล่าวว่า ไทยกำลังถูกกลั่นแกล้งและกีดกันทางการค้า ในความเป็นจริงแล้ว การใช้ลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทยส่วนหนึ่งเป็นเพียงการแสดงโชว์นักท่องเที่ยวเท่านั้น และลิงที่มาแสดงโชว์ก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี การเก็บมะพร้าวในเชิงอุตสาหกรรมในไทยแทบไม่มีการใช้แรงานลิงเพราะไม่จำเป็น

สำนักข่าวเกียวโด ประเทศญี่ปุ่น เดินทางไปหาข้อเท็จจริงที่หมู่บ้านบางมั่น ตำบลนาพญา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวและเลี้ยงลิงกังเก็บมะพร้าว ทีมงานข่าวพบว่า ความเป็นอยู่ของลิงกังกับเจ้าของเป็นความผูกพันกันมาแต่โบราณหลายชั่วอายุคนแล้ว ลิงกังที่เลี้ยงไม่ได้จับมาจากป่า (เพราะเป็นสัตว์คุ้มรอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) เกษตรกรผู้เลี้ยงลิงได้ขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิปแสดงการครอบครอง ก่อนจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ในปี พ.ศ.2535

การเลี้ยงและฝึกลิงเพื่อให้ทำงานเก็บมะพร้าวถือว่าเป็นภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยแต่ดั้งเดิม ลิงถูกฝึกหัดจนรู้หน้าที่และรู้วิธีรักษาความปลอดภัยของตัวเอง ใช้ภาษาที่เข้าใจระหว่างกันโดยไม่ต้องทุบตี

นอกจากสื่อต่างประเทศข้างต้นแล้ว สื่อไทยและทางราชการไทยก็คงจะพยายามชี้แจงให้สังคมโลกเข้าใจด้วย ราชการไทยทราบดีว่าเหตุผลหนึ่งที่อังกฤษและอียูบางประเทศหลงเชื่อ PETA ก็เพราะ PETA ได้ข้อมูลที่บิดเบือนมาจากคนไทยที่หวังผลทางการเมือง

และถ้าเราเสียหายมากกว่านี้ก็อาจจะพิจารณาฟ้องร้อง PETA ให้รับผิดชอบที่ใช้ข้อมูลเท็จให้ร้ายประเทศไทยได้

ประเทศไทยวันนี้กำลังรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยงแห่งใหม่ 2 พื้นที่ คือที่จังหวัดระยองกับกรุงเทพมหานคร

ซึ่งถ้าหากเราแพ้ ก็จะกลายเป็นการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง ที่คงจะสาหัสและอาจจะเอาไม่อยู่เหมือนรอบแรกก็ได้

ศบค. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผอ. ถูกวิพากษ์วิจาณ์อย่างหนักและรุนแรง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ “การ์ดตก” ยอมอนุโลมให้กลุ่มบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น VIP หรือเป็นแขกของรัฐบาล ได้รับ “ข้อยกเว้น” ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค.

กลุ่มหนึ่งใช้เอกสิทธิ์ทางการทูต ได้ “ข้อยกเว้น” กับระเบียบที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลและไม่ถูกกักกันในจุดที่ทางการกำหนด

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นทหารอียิปต์ ใช้ความเป็นทหารและ “พันธะทางทหารที่มีต่อกัน” เป็นข้ออ้างและ “ข้อยกเว้น” ในการบินมาลงที่สนามบินอู่ตะเภา และพักในโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง รวมทั้งออกไปเที่ยวศูนย์การค้า

ทำให้ สธ.ไทยต้องตรวจสอบย้อนหลังจากกล้องวงจรปิดว่าทั้งสองกลุ่มสัมผัสใครและสถานที่ใดบ้าง

ในที่สุดที่จังหวัดระยองต้องถึงกับ “ล้างเมือง” ล้างศูนย์การค้า ปิดโรงแรมที่ทหารอียิปต์มาพัก

ลามไปถึงปิดโรงเรียนในจังหวัดระยอง 120 กว่าแห่งโดยไม่มีกำหนด

ระยองเป็นเมืองท่องเที่ยว เท่ากับว่า พอปลดล็อกเพื่อรับวิกฤต เมื่อนายกรัฐมนตรีและคณะไปปลุกปลอบสร้างความมั่นใจต่อชาวระยองก็เห็นได้ว่าชาวระยองบางส่วนไม่ได้ตอบรับ เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีหันไปโทษสื่อที่เพิ่มความรุนแรงเกินเหตุ

แม้แต่คำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง (ซึ่งน่าจะเป็นการย้ายตามวาระปกติก่อนสิ้นปีงบประมาณ) ก็ถูกสื่อวิจารณ์ไปในเชิงลบว่าถูกลงโทษ

ถ้าจะกล่าวในเชิงวิเคราะห์ก็กล่าวได้ว่า สภาวการณ์ทั้งหมดหนนี้สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรม “ข้อยกเว้น” ที่ผู้นำชอบและถนัดใช้ในการบริหารบ้านเมือง ใช้กันมาจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมหรือประเพณีในสังคมเผด็จการ

พล.อ.ประยุทธ์ในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ในฐานะหัวหน้าคณะ คสช. มี ม.44 เป็นดาบอาญาสิทธิ์อยู่ในมือ ได้ให้กำเนิด “ข้อยกเว้น” โดยยกเว้นการที่ต้องปฏิบัติเมื่อเห็นว่ามันจะเป็นผลร้ายต่อตัวเองหรือพรรคพวก

ตัวอย่างที่ฮือฮากันมาก คือ ยกเว้นว่า ผู้บริหารระดับสูงไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน (ด้วยตรรกะบิดเบี้ยวว่า) ผู้บริหารระดับสูงไม่ทุจริต เป็นต้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ “ข้อยกเว้น” จะไม่มีมาตรฐาน แต่จะเปิดกว้างอย่างอ้าซ่าและชะเวิกชะวาก

ว่ากันอันที่จริง อย่าว่าแต่ระเบียบ ข้อบังคับหรือกฎหมายธรรมดาเลยที่ถูกยกเว้น แม้แต่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดก็ถูกเหยียบและก้าวข้ามมาแล้ว

หลังจากนั้น ก็เกิดผลพวงแห่งข้อยกเว้นตามมาเป็นพรวน จนในที่สุดก็เกิดผลพวงแห่งความคับแค้น หรือ The Grapes of Wrath

เมื่อรัฐบาลและหัวหน้ารัฐบาลชอบวัตรปฏิบัติเช่นนี้ มีหรือที่ลูกทีมใน ศบค.จะไม่ถือปฏิบัติตาม เราจึงมีผลพวงจากข้อยกเว้นมากมาย จนกระทั่งไม่มีผู้ใดกล้าปฏิเสธความเป็น “แขกของรัฐบาล” จึงไม่มีใครเห็นว่าการยกเว้นเป็นความผิดพลาด

ข้อความข้างต้นพิสูจน์ได้จากการตอบคำถามผู้สื่อข่าวของบรรดาผู้รับผิดชอบทั้งหลายแหล่ที่เกี่ยวข้องกับการต้อนรับคนติดเชื้อโควิด-19 จากต่างชาติหนนี้…ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน การท่าอากาศยาน ตรวจคนเข้าเมือง สาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพไทย กองทัพอากาศ โรงแรมที่จัดให้คนต่างชาติเข้าพักหรือกักกันตัว ฯลฯ

ไม่มีใครเลยที่เห็นว่าตัวเองบกพร่องหรือผิดพลาด

จนในที่สุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ออกมากล่าวรับตามวิสัยของจิตแพทย์ที่ดี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ว่า

“เหตุกาณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่กล่าวโทษใคร เพราะเขาได้รับอนุญาต ไม่ใช่ข้อผิดพลาดอะไร ชุดข้อมูลนี้เราจะนำไปปรับปรุงวิธีการทำงาน ปิดจุดอ่อนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

ถ้าจะโทษใครสักคนก็ต้องโทษนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ให้กำเนิด “ข้อยกเว้น” (ตรงนี้ผู้เขียนพูดเอง)