จะรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ “กิเลสของผู้เฒ่า” ว่าจะปล่อยให้ “ลูกหลาน” สานฝันของพวกเขาหรือไม่

เมื่อ “ความฝันแห้งแล้ง”

การชุมนุมของนักศึกษาเริ่มอีกครั้ง หลังพักยาวเพราะสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และรัฐบาลมีมาตรการเข้มระดับประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามการรวมตัวและอีกมากมาย

การชุมนุมที่กลับมาในวันเสาร์ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินเป็นที่รวมตัว

ถ้าถามว่ามีคนเข้าร่วมมากหรือไม่ หากใช้ปริมาณของม็อบก่อนหน้านั้นมาเป็นตัววัดเทียบก็ถือว่าไม่มาก แต่หากมองในประเด็นที่ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ถือว่ามากันมากผิดคาด

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การติดตามความเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ถือว่าเป็นความตื่นตัวครั้งใหญ่มาก

และเมื่อปฏิบัติการ “เราจะไม่ทน-ให้มันจบในรุ่นเรา” แผ่กระจายไปสู่จังหวัดต่างๆ อย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการกระจายเปิดเวทีเล็กๆ กันทั่ว ด้วยการเรียกร้องในเรื่องเดียวกัน

“หยุดคุกคามประชาชน-ยุบสภา-เขียนรัฐธรรมนูญใหม่”

ไม่ว่าใครก็ตามที่ติดตามเนื้อหาที่เด็กๆ เรียกร้อง จะพบว่าแก่นแกนของ “จะไม่ทนอีกต่อไป” และ “ให้มันจบในรุ่นเรา” คือ “ความทดท้อกับชีวิตที่มองไม่เห็นความหวังในอนาคต”

ชีวิตในอนาคตทุกมิติถูกตีความเป็นเรื่องเลวร้าย สิ้นหวัง

และให้ชัดลงไปอีกคือ เด็กและคนหนุ่มคนสาวรุ่นนี้มีความคิดว่า “คนรุ่นเก่า” ที่พยายามยึดอำนาจการบริหารประเทศไม่ยอมปล่อยในปัจจุบัน คือ “คนที่สร้างภาระไว้ให้คนรุ่นหลัง”

หรืออย่างน้อยที่สุดคือ “คนรุ่นเก่าไม่กล้าหาญพอที่จะต่อสู้เพื่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานมีอนาคตที่ดี ยอมจำนนกับอำนาจบาตรใหญ่ที่ทำลายหลักยึดของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เท่าเทียม ปล่อยให้ความยุติธรรม 2 มาตรฐาน และการไล่ล้างทำลายคนเห็นต่างกระทำการโดยไม่คิดต่อต้านอย่างจริงจัง”

เด็กและคนหนุ่ม-สาวทนกับอนาคตประเทศที่ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไม่ได้ พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อจัดการให้ “จบในรุ่นเรา”

ความขัดแย้งครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้ว ในประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย

เป็นความขัดแย้งที่เริ่มเห็นว่าเป็นร่องรอยระหว่าง “คนหนุ่มคนสาว” กับ “คนแก่รุ่นก่อน”

เป็นความไม่เข้าใจเป้าหมายชีวิตของกันและกันระหว่างคนต่างวัย

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” ได้สำรวจเรื่อง “ผู้สูงวัยใส่ใจสังคมมากแค่ไหน”

ผู้ตอบคำถามร้อยละ 72.80 อายุ 60-69 ปี, ร้อยละ 23.52 อายุ 70-79 ปี, ร้อยละ 3.68 อายุ 80 ปีขึ้นไป

ในคำถามที่ว่า “ท่านเป็นสมาชิกของกลุ่มองค์กรใดหรือไม่” ร้อยละ 76.32 ไม่เป็น, ร้อยละ 23.68 เป็น

ในคำถามที่ว่า “ท่านเข้าร่วมงานอาสาสมัครในวัด/ศาสนสถาน หรือในชุมชนหรือไม่” ร้อยละ 83.52 ไม่เข้าร่วม, ร้อยละ 16.48 เข้าร่วม

หากแปลความก็หมายถึง “คนรุ่นเก่า” ส่วนใหญ่อยู่ในโลกส่วนตัว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมสังคมกันแล้ว

และเมื่อถามว่า “ท่านใช้สื่อทางสังคม (Social Media) ต่อไปนี้หรือไม่ LINE ร้อยละ 44.72 ใช้, ร้อยละ 55.28 ไม่ใช้, Facebook ร้อยละ 30.56 ใช้, ร้อยละ 69.44 ไม่ใช้, Youtube ร้อยละ 29.60 ใช้, ร้อยละ 70.40 ไม่ใช้, Instagram ร้อยละ 4.80 ใช้, ร้อยละ 95.20 ไม่ใช้, Twitter ร้อยละ 3.44 ใช้, ร้อยละ 96.56 ไม่ใช้

ในความรู้สึกของคนหนุ่มคนสาว และเด็กๆ เมื่อเห็นข้อมูลนี้ย่อมนึกไปในทางว่า “เหมือนอยู่กันคนละโลก”

อย่างไรก็ตาม ว่าไปแล้วนั่นเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะธรรมชาติของคนเฒ่าคนแก่ย่อมแสวงหาความสงบ ชีวิตต้องการความเรียบง่าย ลดความรุงรังจากเรื่องของคนอื่นให้มากที่สุด

ขณะที่คนหนุ่มคนสาวที่โลกในอนาคตยังยาวไกล ย่อมมีธรรมชาติไปในทางสร้างตัวสร้างตน ชีวิตต้องหล่อเลี้ยงด้วยความหวังอลังการ

เมื่อ “ผู้เฒ่า” ยังระเริงในอำนาจ แต่ไม่พิสูจน์ว่าสามารถพอสร้างอนาคตที่เป็น “ความหวังได้”

ซ้ำยังชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า นำพาประเทศย้อนทางกับความฝันของคนรุ่นใหม่

เมื่อเกิดสถานการณ์ “เราจะไม่ทนอีกต่อไป-ให้มันจบในรุ่นเรา” จึงเป็นเรื่องปกติ

การแตกหักนี้จะรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ “กิเลสของผู้เฒ่า” ว่าจะปล่อยให้ “ลูกหลาน” สานฝันของพวกเขาหรือไม่