“เวียงฮอด” หรือ “เวียงหอด” หนึ่งในเส้นทางเสด็จพระนางจามเทวี ไฉนจึงเรียก “เวียงพิสดารนคร”?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“หอด” กลายเป็น “ฮอด” สู่ “เวียงพิสดารนคร”

เส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีจากละโว้สู่หริภุญไชย เมื่อ พ.ศ.1204 นั้น ตำนานมูลศาสนา ซึ่งเขียนราว 500 ปีเศษได้ระบุว่า

ครั้นกระบวนเสด็จเคลื่อนมาถึงแม่น้ำปิง (แม่ระมิงค์, พิงคนที) เลยขึ้นมาจากแก่งสร้อยและดอยเต่ามุ่งหน้าสู่ทางทิศเหนือ ได้ถึงบริเวณแห่งหนึ่ง

มีชาวบ้านหญิงชายพากันออกมาคอยรับเสด็จจำนวนมาก พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้นางกำนัลผู้หนึ่งถามคนทั้งหลายนั้นว่า “ดูกร ชาวพ่อชาวแม่ทั้งหลาย แต่นี้ถึงนครหริภุญไชย ยังประมาณมากน้อยเท่าไร”

คนเหล่านั้นตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่นี้ถึงนครหริภุญไชย นั้น ข้าทั้งหลายได้ยินมาว่าหนึ่งโยชน์แล”

จากข้อความนี้ ทำให้มีการสันนิษฐานว่าชื่อของเมืองฮอดที่เรียกกันในปัจจุบัน มาจากฮอดที่แปลว่าถึงแล้ว

อันที่จริงระยะทางจากเมืองฮอดไปถึงเมืองลำพูนยังไกลมากอีกหลายโยชน์ ดังนั้น คำว่า “ฮอด” ในที่นี้ จึงมีผู้ตีความอีกนัยหนึ่งว่าควรหมายถึง “หอด” มากกว่า

คำว่า “หอด” ภาษาล้านนาหมายถึง หิว อดอยาก กระหายน้ำ หมายความว่าในระหว่างการเดินทางอันยาวไกลนี้ ไพร่พลรู้สึกเหนื่อยและหิวมาก กระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีนั้นได้ผ่านความอดอยาก ทุกข์ยากลำบากมากมาย กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง เมื่อมาถึงหมู่บ้านชุมชนแห่งหนึ่งจึงเรียกชื่อว่า “เมืองหอด”

อาจเป็นไปได้ว่า คำว่าหอด ฟังแล้วเป็นนามที่ค่อนไปทางอวมงคล ทำให้เมื่อวันเวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายศตวรรษ การเรียกชื่อจึงเพี้ยนไป กลายเป็น “ฮอด” ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม

เพราะคำว่า “ฮอด” นั้นแปลว่า “ถึง” หรือ “บรรลุ” เพื่อให้ความหมายเป็นสิริมงคลมากขึ้น

ส่วนคำว่า “เวียงพิสดารนคร” ที่หลายท่านเคยได้ยินว่าเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกแทน “เวียงฮอด” นั้น ปราชญ์ชาวบ้านแถวอำเภอฮอดหลายท่านอธิบายว่า

เป็นคำที่พระพรหมมงคล (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง (มรณภาพเมื่อปี 2562) เป็นผู้อุทานคำว่า “พิสดาร” ขึ้นมาด้วยความตื่นเต้น

ต่อความยิ่งใหญ่อลังการของทุ่งสถูปเจดีย์โบราณสถานจำนวนมาก เมื่อราวปี พ.ศ.2530 เศษๆ ช่วงที่หลวงปู่ทองได้ลงสำรวจซากปรักหักพังของกลุ่มเจดีย์ที่เวียงฮอด ทำให้ผู้ได้ยินคำนี้นำไปใช้เรียกชื่อเวียงฮอดว่า “เวียงพิสดาร” อย่างเป็นทางการ

 

เวียงหอด (ฮอด) อยู่ไหน
ทำไมเจดีย์ไม่เก่าถึงยุคหริภุญไชย

จากการลงพื้นที่สำรวจเวียงฮอดหลายครั้ง พบว่ามีโบราณสถานจำนวนค่อนข้างหนาแน่น แต่อยู่ในสภาพถูกขุดคุ้ยกระจุยกระจาย เนื่องจากสมัยที่พม่าปกครองเชียงใหม่เวียงฮอดได้ร้างไป

ยิ่งช่วงที่มีการสร้างเขื่อนภูมิพลใหม่ๆ ราว พ.ศ.2505-2518 โบราณสถานของเวียงฮอดได้จมอยู่ใต้น้ำ ชำรุดทรุดโทรม น้ำหลังเขื่อนภูมิพลเพิ่งจะแห้งแล้งไปในช่วงไม่เกิน 15 ปีมานี้เอง ทำให้สามารถมองเห็นโบราณสถานได้ชัดเหมือนยุคแรกสร้าง

เท่าที่พบหลักฐานมักเป็นซากเจดีย์สมัยล้านนามากกว่าสมัยหริภุญไชย กรณีนี้อธิบายได้เป็น 2 นัย

นัยแรก อาจเป็นการสร้างใหม่ในยุคล้านนาราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 เป็นการครอบทับร่องรอยเดิมของยุคหริภุญไชยที่เคยมีมาก่อนมาแล้ว

นัยที่สอง นายปรีชา สุตาคำ คนในพื้นที่อำเภอจอมทอง เสนอว่า บางทีกลุ่มโบราณสถานจำนวนมากที่ถูกเรียกว่าเวียงพิสดารนครเหล่านี้ อาจไม่ใช่ “เวียงหอด” หรือ “เวียงฮอด” ดั้งเดิมที่พระนางจามเทวีเสด็จผ่าน ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคหริภุญไชยก็เป็นได้

แต่จุดทุ่งเจดีย์นี้อาจเป็นเวียงหน้าด่านที่สร้างขึ้นใหม่ในยุคล้านนา ช่วงที่มีสงครามระหว่างอยุธยา-ล้านนาบ่อยครั้งก็เป็นได้ สร้างเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย

กล่าวคือ ก่อนที่กษัตริย์ล้านนาจะยกทัพออกจากเมืองเชียงใหม่ต้องผ่านเวียงฮอด อาจมีการสร้างเจดีย์เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย 1 องค์ ครั้นเมื่อกลับมาพร้อมกับชัยชนะก็จะสร้างอีก 1 องค์ โดยรวมแล้วเป็นเจดีย์ในลักษณะที่เรียกว่า “เจดีย์ชัยมงคล” จึงมีจำนวนมากเป็นพิเศษมากกว่าที่อื่นๆ

ส่วน “เวียงหอดโบราณยุคหริภุญไชย” ที่พระนางจามเทวีสร้างนั้น นายปรีชา สุตาคำ เสนอว่าน่าจะเป็นบริเวณพื้นที่สวนลำไยแถวแปลงนาข้าวของชาวบ้าน ที่อยู่ใกล้ทางหลวงแผ่นดิน 2012 ฮอด-บ้านวังลุง

จุดที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อราวกลางปี 2561 ก็เป็นได้ เพราะว่าจุดนั้นได้พบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยหริภุญไชยจำนวนหนึ่ง ได้แก่ ภาชนะดินเผาประเภทไห คนที ไม่เคลือบ

แต่ปัจจุบันบริเวณนี้พื้นดินถูกทับถมจมธรณีไปหมดแล้ว ไม่เหลือร่องรอยของโบราณสถานให้เห็น ทำให้คนรุ่นหลังจึงไปชี้จุด “ทุ่งเจดีย์หลายองค์” ว่าคือ “เวียงหอด” หรือ “เวียงฮอด” แทน

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องสถานที่ตั้งของเวียงหอดอยู่ที่ไหนกันแน่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันอย่างละเอียดอีกต่อไป

แต่อย่างน้อยที่สุด การพบกลุ่มก้อนเจดีย์จำนวนมหาศาลแถวอำเภอฮอด ก็เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า เมืองฮอดยังมีสำคัญ และมีความเจริญต่อเนื่องมาจนถึงยุคล้านนาในฐานะเวียงหน้าด่านของเชียงใหม่ แม้ว่าอาณาจักรหริภุญไชยล่มสลายไปแล้ว

ดิฉันได้จัดทำบันทึกการลงสำรวจพื้นที่โบราณสถาน ณ จุดสันนิษฐานที่เรียกกันว่าเวียงฮอด ได้พบแหล่งที่น่าสนใจ เช่น วัดพระเจ้าโท้ กลุ่มโบราณสถานเวียงพิสดารนคร วัดอูปแก้ว ฯลฯ

 

วัดพระเจ้าโท้ (น้ำโทะ)

ตั้งอยู่ที่บ้านหลวงฮอด ถนนสายเชียงใหม่-ฮอด จากการสัมภาษณ์ พระสมพร สิริภทฺโท เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าโท้ อธิบายว่า “โทะ” หรือ “โท้” แปลว่าใหญ่ เนื่องจากมีพระพุทธรูปประธานในพระวิหารขนาดใหญ่มาก สร้างในลักษณะที่ชาวล้านนาทั่วไปนิยมเรียกว่า “พระเจ้าตนหลวง” แต่คนแถวฮอดที่นี่เรียก “พระเจ้าโท้” หรือ “พระเจ้าน้ำโทะ”

ชาวฮอดเชื่อว่าจุดนี้เป็นสถานที่ปลงศพของแม่ทัพนายกองไพร่พลบริวารที่เดินทางมากับขบวนเสด็จของพระนางจามเทวี

ที่นี่มีเรื่องราวของท้าวพระญาที่เป็นทหารเอกของพระนางจามเทวี พบซากฐานพระนอนขนาดใหญ่มหึมา ก่อด้วยอิฐทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง-ยาว ประมาณ 4 x 10 เมตร

 

กลุ่มโบราณสถานเวียงพิสดารนคร (เวียงฮอด)

เริ่มจากด้านทิศใต้ของวัดพระเจ้าโท้ซึ่งมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน ส่วนด้านทิศตะวันออกของวัดพระเจ้าโท้จะพบซุ้มประตูโขงขนาดใหญ่ ตกแต่งลวดลายปูนปั้นสมัยล้านนา พบบ่อน้ำ ไม้สรีมหาโพธิ์

ไกลออกไปที่ทุ่งนามองเห็นกลุ่มเจดีย์จำนวนหลายองค์เกลื่อนดารดาษที่ถูกทิ้งร้าง ครั้งหนึ่งถูกน้ำท่วมระหว่างปี 2505-2518 หลังจากการสร้างเขื่อนภูมิพล ทำให้ไม่มีใครทราบว่ามีเจดีย์นับ 30 องค์ซุกซ่อนอยู่

จนกระทั่งช่วง 15 ปีมานี้น้ำค่อยๆ แห้งไป ชาวฮอดจึงได้เห็นเจดีย์โผล่ขึ้นมาจำนวนมาก รู้สึกประหลาดใจ จนกลายเป็นที่มาของการที่หลวงปู่ทองได้เรียกว่า “เวียงพิสดารนคร” ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

หากเรานั่งรถผ่านบริเวณสองฝั่งของทางหลวงหมายเลข 1012 สายฮอด-บ้านวังลุง จะเห็นเจดีย์เรียงรายกันเป็นระยะ ตามที่นายปรีชา สุตาคำ ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่าเจดีย์เหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อขอความเป็นสิริมงคลในการเดินทางลงไปรบทัพจับศึกของเจ้านาย-แม่ทัพ

เพราะเส้นทางต่อจากนี้ไปนั้น จะพบกับเกาะแก่งจำนวนมาก การเดินทางจะลำบากขึ้นในกรณีที่เดินทางลงสู่ทางใต้ ในทางกลับกัน หากเดินทางจากใต้ขึ้นเหนือจนมาถึงบริเวณนี้ ถือเป็นที่ราบแห่งแรกที่พ้นจากเกาะแก่งอันตรายมา นิยมใช้เป็นจุดแวะพักจากการเดินทางที่เหนื่อยล้า

ทำให้มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ในทำนองว่า หากเจดีย์เหล่านี้ไม่ใช่เจดีย์ประเภท “ชัยมงคล” ที่กษัตริย์สร้าง ก็อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อการแก้บนของคนเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายหรือการรบ เนื่องจากบริเวณรายรอบของเจดีย์แต่ละองค์นั้นมักตั้งโดดๆ ไม่มีวิหารหรือเสนาสนะอื่นใดที่จะมีองค์ประกอบเป็นวัดได้เลย คล้ายลักษณะของ “ทุ่งเจดีย์”

โบราณวัตถุที่บรรจุอยู่ในองค์เจดีย์เหล่านั้น มีคนมาลักลอบขุดไปหลังจากที่กรมศิลปากรมากู้เอาไปแล้วส่วนหนึ่ง ช่วงก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพลปี 2500 โบราณวัตถุดังกล่าวนี้ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นโบราณวัตถุสมัยล้านนาทั้งสิ้น

โบราณสถานร้างริมห้วยแม่งูด บ้านห้วยหินดำ ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นซากกองอิฐขนาดใหญ่ที่ถูกไมยราพปกคลุม จนแทบจะมองไม่เห็น กองอิฐมีลักษณะคล้ายฐานอาคารขนาดใหญ่ เมื่อสำรวจแล้วพบว่ามีขนาดฐานโดยประมาณ 10 x 15 เมตร โดยรอบเจดีย์พบเศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบกระจายอยู่ตามริมถนนใกล้กับซากโบราณสถานนั้น โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่สร้างขึ้นสมัยหลังวัฒนธรรมหริภุญไชยทั้งสิ้น ไม่ว่ากระพรวนสำริด สากดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน ชิ้นส่วนภาชนะเคลือบเนื้อแกร่ง

เจดีย์แม่อุ๊ยป่วน (ชาวบ้านเรียกเจดีย์หางบ้าน) บริเวณนี้เคยพบพระพุทธรูปสำริดเมื่อราว 50-60 ปีที่แล้วชาวบ้านได้ช่วยกันหามออกไปจากกรุด้านล่างหลังจากเจดีย์ถล่มลงมาซึ่งใช้กำลังคนหามถึง 4-5 คน และยังพบแร่หินสีขาวกระจายทั่วไป คาดว่าน่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของพระแก้วขาวฮอด

วัดสันกู่ บริเวณสบแจ่ม (น้ำแม่แจ่มไหลมาบรรจบน้ำแม่ปิง) มีเรื่องเล่าจากคนในพื้นที่ว่า เป็นวัดที่บรรจุกระดูกศพทหารเอกของพระนางจามเทวีที่คอยอารักขาพระนางตลอดการเดินทางมาเสียชีวิตลง ณ ที่แห่งนี้ ยังเหลือซากอิฐซากหินเก่า ต่อมามีการครอบบูรณะใหม่เรียกว่า “พระธาตุพระนางจามเทวี”

 

วัดพระธาตุอูปแก้ว (ใหม่) และวัดดอยอูปแก้ว

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนดอยขนาดย่อม พบว่ามีการสร้างวิหาร เจดีย์ เสนาสนะต่างๆ มากกว่า 30 จุด กระจายบนยอดดอยทั้ง 4 ลูก ซึ่งแต่ละดอยสามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน ทั้งยังมีเส้นทางไปมาหาสู่กันได้

ศาสนสถานที่สำคัญ คือวิหารบนดอยอูปแก้ว ชาวบ้านเชื่อกันว่าบริเวณวิหารบนยอดดอยแห่งนี้พระนางจามเทวีมาบวชชีพราหมณ์ ณ ที่แห่งนี้หลังจากสละราชสมบัติและสิ้นพระชนม์ที่นี่ก่อนจะนำพระบรมศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดจามเทวี

ปัจจุบันเป็นที่พำนักอาศัยของแม่ชี

จุดที่สร้างวิหารนี้ ครั้งหนึ่งเป็นเส้นทางพ่อค้าวัวต่างมาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเข้ามายังอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

 

ยอดเขา “นมนาง”

เป็นมุขปาฐะของคนในพื้นที่ ลักษณะเป็นดอยคู่คล้ายทรวงอกสตรี มีเรื่องเล่ากันว่าเป็นสถานที่ที่เจ้าชายรามราช พระราชสวามีของพระนางจามเทวีได้ตามเสด็จมาส่งพระนางจามเทวีด้วย เมื่อมาถึงเวียงฮอดและรู้ว่าใกล้ถึงนครหริภุญไชยแล้ว จึงขอลากลับนครลวปุระ ณ บริเวณดอยนมนางแห่งนี้ และบ้างว่าต่อมาเจ้าชายรามราชทรงผนวชที่นี่กระทั่งสิ้นพระชนม์และได้มีการฝังพระศพของพระองค์บนดอยแห่งนี้ด้วย

อันเป็นเรื่องเล่าที่ขัดแย้งกับตำนานกระแสหลัก ซึ่งเขียนว่า เจ้าชายรามราชไม่ได้ร่วมกระบวนเสด็จตามพระนางจามเทวีมาด้วย แต่ทรงออกผนวชที่เมืองละโว้

อย่างไรก็ดี บนดอยนมนางได้พบซากศิลาแลงและอิฐรุ่นเก่าจำนวนมาก ประเมินโดยสายตาก้ำกึ่งว่าน่าจะเก่าถึงสมัยหริภุญไชย อันเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีกันต่อไปในอนาคต