‘ดุสิตธานี’ เป็นเมืองตุ๊กตา ไม่ใช่โมเดลทดลองประชาธิปไตย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ดุสิตธานี” นอกจากจะเคยเป็นชื่อของโรงแรมชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศแล้ว ก็ยังเป็นชื่อของ “เมืองจำลอง” ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างขึ้น

ก็เมืองจำลองเดียวกันกับที่หลักสูตรการศึกษาไทยพยายามบอกว่า เป็นเมืองที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างขึ้นเพื่อทดลองใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในไทยนั่นแหละนะครับ

แต่ในความเป็นจริงนั้น ข้อมูลทางประวัติศาสตร์กลับชี้ชวนให้เราเห็นไปในอีกทิศทางหนึ่งว่า ในสมัยที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างดุสิตธานี ไม่มีใครพูดหรือคิดว่าดุสิตธานีนั้นเป็นแบบเรียนประชาธิปไตย ตรงกันข้าม ส่วนใหญ่ของข้าราชการต่างคิดคล้ายๆ กันว่า “ในหลวง” ท่านโปรดเล่นเมืองตุ๊กตาต่างหาก

 

แม้จะเรียกว่า “เล่น” แต่อะไรที่เรียกว่าดุสิตธานีนั้น ก็ดูจะวิจิตรพิสดารกว่าการเล่นของคนทั่วไปอยู่มาก

เพียงแค่การที่ “เมืองตุ๊กตา” แห่งนี้ ไม่ได้ทำอย่างหยาบๆ แต่ย่อส่วนตึกรามบ้านช่องและถนนหนทางอย่างประณีต ยิ่งกว่านั้นยังเปิดรับสมัครราษฎรของเมืองในหมู่ข้าราชบริพาร พร้อมทั้งจัดการปกครองอย่างเทศบาลนครของยุโรป ซึ่งทำให้มีการเลือกตั้งคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ “นคราภิบาล” รวมทั้งมีการประชุมของผู้แทนเพื่อออกกฎระเบียบสำหรับใช้ในเมืองตุ๊กตานี้ด้วย ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นของเล่นที่ไม่ได้ธรรมดาเลยสักนิด

นักประวัติศาสตร์ระดับไอคอนอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยอธิบายเกี่ยวกับดุสิตธานีเอาไว้เมื่อนานมาแล้วในทำนองที่ว่า ความสัมพันธ์กับโลกจริงๆ ที่อยู่ข้างนอก ส่งผลทำให้ภายในเมืองตุ๊กตาแห่งนั้นไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ได้เลย เพราะไม่ว่าเมืองนี้จำลองนครยุโรปมาได้ใกล้เคียงอย่างไรก็ตาม แต่มันเป็นเมืองตุ๊กตาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันไม่ “จริง”

ที่ อ.นิธิอธิบายว่า ไม่จริง ไม่ใช่มันไม่ “จริง” เพราะเข้าไปอาศัยหลับนอนในนั้นไม่ได้ หรือเข้าไปทำมาหากินเลี้ยงชีพในนั้นไม่ได้เท่านั้น แต่ไม่ “จริง” ที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในเมืองนั้น ไม่ได้ตัดขาดออกไปจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย ภายนอกดุสิตธานี

แน่นอนว่า ไม่มีใครลืมหรอกว่าเอดิเตอร์ของหนังสือดุสิตสมิต ที่พิมพ์แจกจ่ายในดุสิตธานีนั้น ไม่ใช่ราษฎรสามัญ แต่คือ “พระเจ้าอยู่หัว” ในสังคมข้างนอก ซึ่งก็คือชีวิตจริงของทุกคนยืนอยู่ตรงนั้น และก็ไม่มีใครลืมว่านคราภิบาลนั้นคือ “เจ้าพระยายมราช” รวมทั้งไม่ได้ลืมความสัมพันธ์ที่เป็นจริงระหว่างเจ้าพระยายมราชกับพระเจ้าอยู่หัวในสังคมนอกดุสิตธานี

ทุกคนในดุสิตธานีล้วนสำนึกได้ดีว่าของจริงของแต่ละคนคืออะไร และด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์ในดุสิตธานีจึงเป็นแค่ “ของหลอกๆ” กันเท่านั้น

 

ดังนั้น ราษฎรของดุสิตธานีทุกคนจึงรู้ดีว่า หนังสือพิมพ์ “ฟรี เปรส” (Free Press) ของดุสิตธานีนั้นใครฟรี และแต่ละคนพึงฟรีได้แค่ไหน?

เช่นเดียวกับการอภิปรายในสภานคราภิบาล ความเห็นของราษฎรในเรื่องภาษี หรือประสิทธิภาพการทำงานของคณะผู้ปกครอง ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ “การปกครองตนเอง” เป็นไปได้มากกว่า “ตุ๊กตา” ย่อมมีไม่ได้จริงในดุสิตธานีหรอกนะครับ

อันที่จริง อาจไม่จำเป็นจะต้องพูดอะไรกันให้มากความ เกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันของเมืองตุ๊กตากับประชาธิปไตย ถ้าเราสำนึกว่า รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงสร้างดุสิตธานีขึ้นนี้ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความที่พยายามชี้ให้เห็นอย่างตรงๆ เลยว่า เมืองไทยนั้นไม่อาจใช้ระบบรัฐสภาได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.นิธิก็ได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า นอกจากเจ้าจะใช้เงินเข้าสู่สภาแล้ว ในสภานั้นเองก็จะตีกันวุ่น หรืออภิปรายเลอะเทอะจนไม่ได้สาระอะไร เก็บการบริหารรัฐกิจไว้กับ “มืออาชีพ” ดีกว่า

และถ้าจะมีพระราชประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับเมืองตุ๊กตาแห่งนี้ มากกว่าเรื่องของการ “ทรงพระสำราญ” ก็คงเป็นเรื่องของการฝึกการบริหาร หรือความพยายามที่จะปฏิรูประบบราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นก็คือ การฝึกให้ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชบริพารใกล้ชิด สามารถประสานงานกันเพื่อกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ก็ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับประชาธิปไตยหรอกนะครับ

 

ความร่วมมือกันเพื่อการประสานงาน (Coordination) เป็นจุดอ่อนของระบบราชการสมัยใหม่ไทยนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้นมาแต่แรกแล้ว

และความแตกร้าวชิงดีชิงเด่นกันอย่างหนักในหมู่เสนาบดี ซึ่งมีหลักฐานอ้างถึงไว้หลายแห่ง ก็เป็นเพียงปลายยอดของปัญหาเท่านั้น

เพราะที่จริงแล้ว แม้ในหมู่ข้าราชการระดับล่างลงมา ก็พากันยึด “สังกัด” มูลนายของตนอย่างเหนียวแน่น และมุ่งจะขยายอำนาจและผลประโยชน์ของกรมหรือกระทรวงที่ตนสังกัดมากกว่ามุ่งไปที่ภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นพระบรมราโชบาย

ถึงขนาดที่ข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมร่วมกับเสนาบดีลาออกประท้วงพระเจ้าอยู่หัวกันเลยทีเดียว

แนวคิดเรื่องดุสิตธานีคือการสอนประชาธิปไตยแก่คนไทยนั้น เพิ่งมาโฆษณากันหลัง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธวิธีของฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการตอบโต้กับการเถลิงอำนาจของคณะราษฎร (และคณะอะไรอื่นๆ ซึ่งตามมา) เท่านั้น

นั่นจึงเท่ากับเป็นการเสนอให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายสนับสนุนและปกป้องประชาธิปไตย ยิ่งกว่ากลุ่มอะไรอื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคณะราษฎร, คณะรัฐประหาร, คณะทหาร หรือคณะปฏิวัติ ฯลฯ ซึ่งผลัดกันเข้ามาถืออำนาจทางการเมืองของไทย

ทั้งๆ ที่หากตรวจสอบดูก็จะรู้ว่า คนที่จะเข้ามาเป็นราษฎรของดุสิตธานีได้นั้นไม่ใช่คนไทยธรรมดา นอกจากข้าราชบริพารแล้วก็มีคหบดีบางคนที่ได้เข้าไปอยู่ด้วย แต่ดุสิตธานีไม่มีสามัญชนคนธรรมดา และในสมัยรัชกาลที่ 6 สามัญชนคนธรรมดาไม่ใช่คนที่ไร้หน้าตาเสียทีเดียว ถ้าเรากลับไปดูฎีการาษฎรที่ถวายความเห็นหรือร้องเรียนแก่ราชสำนัก หรือกลับไปอ่านหนังสือพิมพ์ของสมัยนั้น จะเห็นได้ว่าสามัญชนคนธรรมดานั้นมีความเคลื่อนไหวในสังคมการเมืองของไทยให้เห็นแล้ว

แต่คนเหล่านี้ไม่มีที่ของตนในดุสิตธานี เพราะดุสิตธานีไม่ใช่แบบจำลองของสังคมไทย ถ้าจะมีเวทีของการต่อรองเกิดขึ้นในดุสิตธานี เวทีนั้นก็เป็นเพียงเวทีของคนใหญ่คนโตผู้มีอำนาจในระดับต่างๆ เท่านั้น

 

ท้ายสุด อ.นิธิยังเสนอไว้ด้วยว่า อันที่จริงแล้ว “ดุสิตธานี” เป็นประจักษ์พยานของการวางรากฐานประชาธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการเกี้ยเซี้ยกันระหว่างคนมีอำนาจนั้นเป็นปกติธรรมดาของโครงสร้างอำนาจทั้งหลาย เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดในโครงสร้างนั้นจนตั้งอยู่ต่อไปไม่ได้

ประชาธิปไตยไทยหลัง 2475 สืบมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือเวทีเกี้ยเซี้ยระหว่างใครก็ตามที่ทะลุขึ้นมาอยู่ในวงของอำนาจได้ ไม่ได้รวมประชาชนส่วนใหญ่เอาไว้ ดังนั้น จึงน่าจะเรียก “ประชาธิปไตยไทย” ว่า “ประชาธิปไตยแบบดุสิตธานี”

ดุสิตธานีไม่เคยถูกใช้เป็นโมเดลสำหรับทดลองประชาธิปไตยในไทยอย่างที่ถูกกล่าวอ้างเลย และมันคงน่าใจหายมากกว่านั้น ถ้าอันที่จริงแล้ว “ประชาธิปไตยแบบดุสิตธานี” นั่นแหละ คือสิ่งที่ใครหลายคนเหล่านั้นต้องการ