แมลงวันในไร่ส้ม / ม็อบแฮมทาโร่ เมื่อคนรุ่นใหม่ ปะทะ ‘อำนาจเก่า’

แมลงวันในไร่ส้ม

ม็อบแฮมทาโร่

เมื่อคนรุ่นใหม่

ปะทะ ‘อำนาจเก่า’

 

การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก สหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและอีกหลายกลุ่ม ที่กลับมาอีกครั้งหลังจากโควิดเบาบางลงไป กำลังขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในขณะนี้

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการสกัด และใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งทั้งมาตรการดิสแทนซิ่งและข้อกำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้กิจกรรมรวมตัวทุกเรื่องต้องยุติ

ย้อนกลับไปต้นปี 2563 สภาพการเมืองที่เกิดปัญหาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายประชาธิปไตย รวมถึงนักเรียนและเยาวชน ปัญญาชน

การชุมนุมในรูปแบบใหม่คือแฟลชม็อบของเยาวชนนักเรียน-นักศึกษา ถือว่า “จุดติด” ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

สถาบันการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมออกมาจัดแฟลชม็อบ พร้อมติดแฮชแท็กข้อความโจมตีรัฐบาล รวมแล้วเกือบ 50 แห่ง

ระหว่างวันที่ 24-27 กุมภาพันธ์ มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีก 5 คน รวม 6 คน

มีการอภิปราย 4 วัน จาก 24-27 กุมภาพันธ์ และลงมติในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ คะแนนเสียงที่มากกว่าทำให้รัฐบาลยังได้คะแนนไว้วางใจให้ทำงานต่อไป

การอภิปรายเรื่องปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอ ของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

และยิ่งทำให้ขยายอุณหภูมิความไม่พอใจในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้รักประชาธิปไตยทั่วไป

วันที่ 28 กุมภาพันธ์มีการชุมนุมแบบแฟลชม็อบในสถาบันศึกษาทั่วประเทศในวันเดียว 9 แห่ง และมีการชุมนุมครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ในชื่อคืนสู่เหย้าไม่เอาไอโอ (ชา)

สถานการณ์โควิดเริ่มรุนแรงในตอนต้นเดือนมีนาคม ทำให้ม็อบที่เพิ่งจุดติดต้องรีรอดูสถานการณ์

9 พฤษภาคม มีการก่อตั้งเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.)

มีเป้าหมายสร้างความเคลื่อนไหวด้วยความหลากหลายจากหลายองค์กรที่มีแนวทางการเคลื่อนไหวของตนเอง แต่มีแนวทางในการเดินทางร่วมกัน โดยการดำเนินงานจะเน้นความเป็นอิสระในองค์กรของตน เคียงข้างประชาชน เพื่อประชาธิปไตย จะดำเนินงานตามหลักเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนตามกรอบของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่สนับสนุนความรุนแรงที่จะกระทำต่อประชาชนทุกประการ

อย่างไรก็ตาม แม้มีอุปสรรคจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ออกมาแสดงพลังในวาระต่างๆ อาทิ 22 พฤษภาคม ครบรอบการรัฐประหารของ คสช., 24 มิถุนายน ครบรอบเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

และล่าสุด เกิดกรณีทหารอียิปต์ที่ จ.ระยอง เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม

นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนายณัฐชนน พยัฆพันธ์ สมาชิกกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ถูกตำรวจจับและตั้งข้อหาจากการชูป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมขณะลงพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม

กลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มฟรียูธ และ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) โพสต์เฟซบุ๊กนัดหมายชุมนุมว่า “ทนกันพอหรือยัง 18 กรกฎาคมนี้เจอกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยดีไหม”

และวันรุ่งขึ้นโพสต์ว่า “เอาจริง 17:00 น. ใครไม่ทนให้ไปกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย!!”

ผลคือ วันที่ 18 กรกฎาคม ก่อนเวลานัดหมาย มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากจนเต็มพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ราชดำเนินกลาง

แฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก พุ่งติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย มีผู้ทวีตถึง 3 ล้านครั้งภายใน 24 ชั่วโมง

ขณะที่แฮชแท็ก #ให้มันจบที่รุ่นเรา ตามมาเป็นอันดับ 2

แกนนำประกาศชุมนุมข้ามคืน แต่เกิดเหตุการณ์คนนอกเข้ามาก่อกวนหลายครั้ง จึงประกาศยุติการชุมนุม ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของเยาวชนปลดแอก และ สนท.หรือสหภาพนิสิตนักศึกษาฯ ที่ร่วมจัดการชุมนุมคือ 1.ให้เลิกคุกคามประชาชน 2.เร่งแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย 3.ให้นายกฯ ยุบสภา และลาออก

กลายเป็นข้อเรียกร้องที่นำไปเคลื่อนไหวในการชุมนุมต่างๆ

วันที่ 20 กรกฎาคม นายภูมิวัฒน์ แดงกสิวิทย์ ตัวแทนแนวร่วมกลุ่มนวชีวิน ทำกิจกรรมอดอาหารประท้วงรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาปากท้อง และนอนค้างคืน

วันที่ 25 กรกฎาคม มีการชุมนุม “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” ของกลุ่มเสรีเทยพลัส ซึ่งประกอบด้วยผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ 3 ข้อเช่นเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม แนวร่วมกลุ่มนวชีวิน จัดกิจกรรม “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้วยรูปแบบการประท้วงแปลกใหม่ นำเพลงการ์ตูนมาใช้ในการขับเคลื่อนการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

เพลงประกอบการ์ตูนเรื่องแฮมทาโร่ ที่กลุ่มผู้เคลื่อนไหวนำมาร้องประกอบการชุมนุม มีเนื้อความเชิญชวนให้ออกมาวิ่ง มาเคลื่อนไหว และปิดท้ายแต่ละท่อนด้วยคำว่า ‘อาหารที่ชื่นชอบที่สุด คือเงินภาษีประชาชน, โดยมีการตะโกน “ยุบสภา ยุบสภา ยุบสภา” ประกอบ

มีการเดินวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเปรียบเทียบว่า การเมืองไทยตกอยู่ในวัฏจักรของความล้มเหลว เสมือนหนูแฮมสเตอร์ที่อยู่ในกรง วิ่งวนอยู่ในกงล้อ และกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการทำลายกงล้อ และออกจากกรงดังกล่าวนี้

สัญลักษณ์การ์ตูนแฮมทาโร่และเพลงแฮมทาโร่ฉบับดัดแปลงเนื้อเพลง แพร่กระจายออกไป และไปดังกระหึ่มในการชุมนุมต่างๆ

 

ผลจากการเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอก สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาฯ และกลุ่มนวชีวิน ที่นำเอาสัญลักษณ์แฮมทาโร่มาใช้ในการรณรงค์ ทำให้เกิดการตื่นตัวในมหาวิทยาลัย โรงเรียน และสถานศึกษาทั่วประเทศ

มีข่าวผู้บริหารมหาวิทยาลัย โรงเรียน พยายามออกมาขัดขวาง ไม่ให้นักเรียน-นักศึกษาจัดการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าไปขอตรวจค้นในการชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ขณะที่ทางรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงจับตาและส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่หาข่าวอย่างใกล้ชิด

กองเชียร์รัฐบาล ผู้สนับสนุนการรัฐประหาร ออกมาแสดงภูมิรู้และความเห็นว่า บรรดาเยาวชนกำลังถูกพรรคการเมืองบางพรรคจูงจมูก

ขณะที่สภาผลักดันตั้งกรรมาธิการรับฟังความเห็นผู้ชุมนุม เมื่อฝ่ายค้านไม่เล่นด้วย เพราะเห็นว่ามาทำหน้าที่เป็นกันชนให้รัฐบาล

ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นกำลังท้าทายอำนาจของรัฐบาลที่ต่อเนื่องจากรัฐประหาร 2557

การท้าทายนี้จะยุติอย่างไร เป็นข่าวใหญ่ที่กำลังเดินขึ้นพื้นที่สื่อ ทั้งใหม่และเก่า