Rembrandt van Rijn ศิลปินผู้ถ่ายทอดความจริงแท้แห่งชีวิตลงในภาพวาด

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เนื่องในโอกาสที่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นเดือนครบรอบ 414 ปีชาตกาลของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะโลก

เราเลยขอถือโอกาสหยิบเรื่องราวของเขามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เรมบรันต์ ฟัน ไรจน์ (Rembrandt van Rijn)

จิตรกร นักวาดภาพลายเส้น และศิลปินภาพพิมพ์ชาวดัตช์ ผู้เป็นปรมาจารย์และนักบุกเบิกในการทำงานศิลปะหลากแขนง เขาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก และเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะดัตช์

Portrait of Saskia van Uylenburgh (1635) ภาพวาดภรรยาของเรมบรันต์

เรมบรันต์เป็นจิตรกรชั้นครูผู้เชี่ยวชาญในการทำงานหลากรูปแบบ หัวข้อ และสไตล์ ทั้งภาพเหมือนบุคคล ภาพทิวทัศน์ ภาพหุ่นนิ่ง ภาพสัตว์ ภาพวาดในเชิงศาสนาและเทวตำนาน หรือภาพวาดในเชิงอุปมานิทัศน์ (Allegorical การเล่าเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบแทนการบอกเล่าความหมายโดยตรงหรือการใช้ภาษาเขียนออกมา) และภาพในเชิงประวัติศาสตร์

เขามีชีวิตและทำงานอยู่ในช่วงเวลาแห่งความมั่งคั่งและรุ่งโรจน์ทางศิลปวัฒนธรรมดัตช์ ที่ถูกเรียกขานว่า “ยุคทองเนเธอร์แลนด์” (Dutch Golden Age)

The Storm on the Sea of Galilee (1633) ภาพวาดฉากทิวทัศน์ทะเลภาพเดียวของเรมบรันต์ที่เล่าเรื่องราวปาฏิหารย์ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลปัจจุบันหายสาบสูญจากการถูกขโมยไปในปี 1990

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานจิตรกรรม ซึ่งส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการและความก้าวหน้าของงานจิตรกรรมในยุโรปยุคต่อๆ มาอย่างมหาศาล

เรมบรันต์เป็นศิลปินผู้เปี่ยมพรสวรรค์ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่วัยเยาว์

เขาใช้เทคนิคอันหลากหลาย และคิดค้นพัฒนารูปแบบการทำงานอันแปลกใหม่ ด้วยทักษะในการใช้ฝีแปรงอันละเมียดละไมและหยาบกระด้างอย่างจงใจ เพื่อสร้างความสมจริงอันสุดยอด

รวมถึงสอดแทรกพลังความเคลื่อนไหวแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ลงในภาพวาดของเขา

เขาเป็นจิตรกรผู้ขึ้นชื่อในการใช้สีสันอันหนักแน่นและการใช้องค์ประกอบที่สร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่างแสงและเงาอย่างมีจังหวะจะโคน ผนวกกับฝีแปรงอันอิสระและกระฉับกระเฉงในการสร้างมิติสะท้อนบุคลิกลักษณะภายในของคนที่เป็นแบบและใส่ชีวิตลงไปในภาพที่เขาวาด

เรมบรันต์ยังเป็นที่รู้จักจากความสามารถอันเอกอุ ไม่เพียงในการวาดภาพเหมือนบุคคลอันสมจริงอย่างยิ่ง หากแต่ยังสามารถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอันลึกซึ้ง ไปจนถึงความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์แบบ และความเสื่อมโทรมของมนุษย์ออกมาในภาพวาดของเขาได้อย่างน่าทึ่ง

Slaughtered Ox หรือ Carcass of Beef (1655) ภาพวาดวัวที่ถูกชําแหละแขวนร้านขายเนื้อสัตว์ภาพวาดนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลงานชิ้นเอกของฟรานซิสเบคอนอย่าง Figure with Meat (1954) นั่นเอง

เขาเชื่อว่าอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ และมักจะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ในชีวิตของผู้คนต่างๆ ลงไปในภาพที่เขาวาด

ไม่ว่าภาพนั้นจะเป็นภาพในเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา หรือภาพวาดสะท้อนสังคมก็ตามที

ในช่วงยุคทองของเนเธอร์แลนด์ การวาดภาพบุคคลกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก จากการเปิดเส้นทางการค้าระหว่างประเทศใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมอันแปลกใหม่จากต่างประเทศ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้พ่อค้าวาณิชและชนชั้นกลางมีฐานะมั่งคั่งขึ้นจนสามารถจ้างวานให้ศิลปินวาดภาพของตัวเองมาประดับบ้าน หรือภาพหมู่เพื่อประดับอาคารสำนักงาน

เรมบรันต์เป็นหนึ่งในนักวาดภาพบุคคลที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังที่สุดในช่วงเวลานั้น

The Three Trees (1643) ภาพพิมพ์โลหะ

จากความสามารถในการจับเอาความแตกต่างทางบุคลิกภาพและอารมณ์ความรู้สึกอันเฉพาะตัวของคนในภาพวาดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบจนยากจะหาใครเสมอเหมือน

ที่สำคัญคือ เรมบรันต์จะไม่พยายามวาดให้คนดูสวยงามเกินกว่าที่พวกเขาเป็น

หากแต่วาดพวกเขาให้ออกมาเป็นอย่างที่พวกเขาเป็นจริงๆ นั่นทำให้ภาพวาดของเขาเต็มไปด้วยความจริงใจ ไร้การเสแสร้ง แทนที่จะประจบเอาใจแบบที่ว่าจ้างให้เขาวาดภาพ

เรมบรันต์กลับวาดให้พวกเขาดูเป็นมนุษย์จริงๆ มากกว่า

หนึ่งในภาพวาดเหมือนบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุด และได้รับการยกให้เป็นผลงานชิ้นเอกของเรมบรันต์ก็คือผลงานที่มีชื่อว่า The Night Watch (1642) (ผู้รักษาความสงบยามค่ำคืน) ภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ถึง 3.63 x 4.37 เมตร ซึ่งเป็นภาพหมู่บุคคลที่เรมบรันต์ถูกว่าจ้างโดย ร.อ.ฟรานซ์ แบนนิ่ง ค็อคค์ และสมาชิกของกลุ่ม Kloveniers หรือกองกำลังพลเมืองติดอาวุธ อาสาสมัครผู้ปกป้องเมืองแห่งอัมสเตอร์ดัม ให้วาดภาพหมู่ของสมาชิกในกลุ่ม

The Night Watch (1642)

เรมบรันต์วาดภาพนี้ขึ้นตอนที่เขาอายุเพียง 36 ปีเท่านั้น

ภาพวาดนี้เป็นผลงานชิ้นแรกๆ ที่สร้างชื่อเสียงอันรุ่งโรจน์ และส่งให้เขากลายเป็นจิตรกรที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น

มันเป็นภาพวาดที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะในการวาดภาพที่จับเอารายละเอียดทางอารมณ์อันท่วมท้นของผู้คนแสดงออกมาทั้งทางสีหน้าและภาษากาย

แต่ในขณะเดียวกันก็สำรวจไปถึงจิตวิญญาณของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง

เดิมทีภาพนี้มีชื่อจริงว่า Militia Company of District II under the Command of Captain Frans Banninck Cocq หรือ The Shooting Company of Frans Banning Cocq and Willem van Ruytenburch

ส่วนชื่อที่ติดปากคนอย่าง “The Night Watch” นั้น ความจริงเกิดจากความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงของนักประวัติศาสตร์ที่คิดว่าฉากที่เกิดขึ้นในภาพเป็นตอนกลางคืน

หากแต่ความเป็นจริงแล้ว ภาพวาดนี้เป็นฉากในเวลากลางวันต่างหาก

แต่ความมืดในภาพนี้เกิดจากคราบฝุ่น การซ่อมแซมที่ย่ำแย่ และการลงน้ำมันเคลือบเงาหนาหนักหลายชั้นของนักสะสม เพื่อปกป้องภาพเขียนจากกาลเวลาและความเสียหายต่างๆ

และเพื่อเป็นการปิดบังฝีแปรงอันอิสระของเรมบรันต์จากนักวิจารณ์ ที่มักจะคิดว่าสไตล์ของเขาเหมือนภาพวาดไม่เสร็จ ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานที่ก้าวล้ำเกินไปจนไม่เป็นที่ยอมรับในยุคนั้น

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพวาดนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงสภาพเดิมมากที่สุด

เมื่อนั้น สีสันอันสดใสและแสงสีในยามกลางวันอันเจิดจ้าที่แท้จริงของภาพจึงได้เปิดเผยออกมา

มีเรื่องที่น่าเสียดายอีกประการเกี่ยวกับภาพวาดภาพนี้ก็คือ ภาพวาดในยุคสมัยนั้น ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าภาพวาดที่คนมีเงินจ้างให้จิตรกรวาดขึ้นเพื่อเอาไว้แขวนประดับอาคารบ้านเรือน ปราสาท ราชวัง คฤหาสน์ หรือแม้แต่อาคารสำนักงานต่างๆ

ไม่ได้เป็นผลงานศิลปะล้ำค่าอย่างในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ ภาพวาดนี้จึงเคยถูกเจ้าของที่ซื้อต่อมาอีกทอด เฉือนขอบของภาพทั้งสี่ด้านออกไปหลายนิ้ว เพื่อให้แขวนโชว์อยู่ระหว่างเสาสองต้นของอาคารศาลาว่าการเมืองอัมสเตอร์ดัมได้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติในยุคก่อนศตวรรษที่ 19)

ผลลัพธ์ก็คือ บุคคลที่เป็นองค์ประกอบทางซ้ายของภาพหายไปสองคน

และภาพก็สูญเสียมิติทั้งความกว้างและความลึกไป

กว่าที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นหลังจะรู้ว่าภาพนี้ถูกเฉือนออกไป ก็ตอนได้เห็นภาพเต็มที่ศิลปินดัตช์ในศตวรรษที่ 18 อย่างเฆอร์ริต ลุนเดนส์ (Gerrit Lundens) คัดลอกเอาไว้เพื่อศึกษา

ซึ่งภาพคัดลอกที่ว่านี้ถูกแสดงอยู่ในหอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน

ส่วนภาพ The Night Watch ของจริง ในปัจจุบันก็กลายเป็นภาพวาดชิ้นเอกของโลก และเป็นผลงานศิลปะอันล้ำค่าที่สุดที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ (Rijksmuseum) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

นอกจากวาดภาพเหมือนของคนอื่นแล้ว เรมบรันต์ยังเป็นศิลปินที่มีชื่อเลื่องลือในการวาดภาพเหมือนของตัวเองในแต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่วัยหนุ่มจนวัยชรา

Self Portrait (1658)

ราวกับเป็นการบันทึกชีวประวัติของตัวเอง เช่นเดียวกับตอนที่เขาวาดภาพให้คนอื่น

ไม่ว่าเขาจะวาดตัวเองในช่วงเวลาไหน เขาก็ใช้ภาพวาดของเขาสำรวจและวิจารณ์ตนเองอย่างจริงใจ และไม่โอ้อวดเสแสร้งเลยแม้แต่น้อย

นอกจากภาพวาดสีน้ำมันแล้ว เรมบรันต์ยังเป็นศิลปินภาพพิมพ์ผู้มีบทบาทในการยกระดับงานภาพพิมพ์ให้กลายเป็นศิลปะที่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะงานภาพพิมพ์โลหะ (Etching)

Self-Portrait with Beret and Turned-Up Collar (1659)

ถึงแม้จะประสบความสำเร็จอย่างมากๆ ตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่ในช่วงบั้นปลาย เรมบรันต์กลับประสบกับปัญหาทางการเงินและวิกฤตส่วนตัวรุมเร้า แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังเป็นศิลปินที่ได้รับการนับหน้าถือตา และเป็นปรมาจารย์คนสำคัญ ผู้ฝึกสอนลูกศิษย์ที่จะกลายเป็นศิลปินชาวดัตช์คนสำคัญในภายหลังอีกหลายคน

ศิลปินชาวฝรั่งเศสอย่างออกุสต์ เรอนัวร์ ยกย่องว่าเรมบรันต์เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน ศิลปินร่วมชาติรุ่นหลังอย่างแวน โก๊ะห์ กล่าวว่า เรมบรันต์เป็นศิลปินผู้ขุดลึกลงไปยังความลึกลับมหัศจรรย์ที่ไม่อาจบรรยายเป็นคำพูดในภาษาใดๆ ได้ ราวกับเป็นผู้วิเศษ

The Hundred Guilder Print (1647–49) ภาพพิมพ์โลหะ

ทุกวันนี้ผลงานของเรมบรันต์ยังคงเป็นองค์ประกอบอันสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของศิลปะวัตนธรรมดัตช์ และเป็นมรดกทางศิลปะอันยิ่งใหญ่ ที่ส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลังอย่างนับไม่ถ้วน

จวบจนทุกวันนี้