สูตรสำเร็จในชีวิตตามหลักพุทธศาสนา | ความไม่ประมาทในธรรม

สูตรสำเร็จในชีวิต (22)

ความไม่ประมาทในธรรม

วันนี้ขอพูดถึง “สูตรสำเร็จแห่งชีวิต” สูตรที่ 21 คือ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
“ความไม่ประมาท” มาจากคำบาลี “อปฺปมาโท” ท่านให้คำจำกัดความว่า ได้แก่ “ความไม่อยู่ปราศจากสติ”
อธิบายแล้วชาวบ้านคงฟังไม่เข้าใจอยู่ดี

ถ้าจะแปลเป็นไทยอีกทีว่า “การมีสติกำกับตลอดเวลา” หรือ “ความไม่เผอเรอ” คงพอฟังเข้าใจใช่ไหมครับ

“ในธรรมทั้งหลาย” (ธมฺเมสุ) ในที่นี้ พระอรรถกถาจารย์ท่านแจงว่า ได้แก่เรื่องเหล่านี้ คือรักษาศีลให้บริบูรณ์, บำเพ็ญเพียร, สัปปุริสธรรม 7, ธรรมขันธ์ 5, โพธิปักขิยธรรม 37

(อยากรู้ว่ามีอะไรบ้างขอให้ไปเปิดหนังสือ “พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม” ของท่านเจ้าคุณพระเทพเวทีเอาเอง หน้ากระดาษไม่พอจะพูดถึง)

ถ้าพูดง่ายๆ ในแง่ปฏิบัติ คำว่า “ธรรมทั้งหลาย” ก็คือความดีความงามทั้งหลายนั้นเองครับ

การไม่ประมาทในธรรมทั้งหลายก็คงหมายถึง การที่เรามีสติกระตุ้นเตือนใจตลอดเวลา พยายามสร้างเสริมความดีงาม เลิกละความชั่วโทษบาปทุกชนิดนั้นเอง

ในแง่ธรรม สติเปรียบได้กับนายยามที่คอยเฝ้าประตูคฤหาสน์ ใครจะเข้าจะออก รู้เห็นหมด ตราบใดที่นายยามแกไม่เผลอสติ โจรไม่มีทางเล็ดลอดเข้าไปขโมยของในคฤหาสน์ได้ตราบนั้น คนเราก็เช่นกัน ถ้ามีสติควบคุมหรือกำกับอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่มีทางเผลอทำผิดทำชั่วได้

พูดให้ต่ำลงมาอีก คนมีสติมักไม่ทำอะไรพลาด

ขับรถไปตามถนน ถ้าใจไม่เหม่อลอย คิดโน่นคิดนี่ไกลตัวก็ไม่พารถลงคูคลองหรือประสานงากับรถบรรทุก
เดินตามฟุตปาธในกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่เผอเรอ สอดส่ายตาดูโน่นดูนี่ ไม่ระวังว่ากำลังเดินอยู่ในเมืองหลวงไม่ใช่ท้องนา ก็ไม่มีทางตกท่อประปา

หรือคนขุดท่อ ถ้าขุดแล้วรู้จักกลบจักฝังไม่ทิ้งไว้อย่างนั้น คนก็ไม่เดินตกตายดอกครับ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อปฺปมาโท อมตํปทํ ปมาโท มจฺจุโนปทํ อปฺปมตฺตา น มียนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา = ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คนไม่ประมาทไม่มีวันตาย คนประมาท (ถึงยังมีชีวิตอยู่) ก็เสมือนตายแล้ว

ดูง่ายๆ ไอ้พวกนัก “ซิ่ง” ทั้งหลาย พอสตาร์ตเครื่องมันก็ตายไปครึ่งตัวแล้ว เสียงรถยังบอกเลยว่า “ต๊ายๆๆๆ” พอพุ่งออกจากที่ไปได้ไม่ถึงไหน ถูกหามขึ้นรถป่อเต็กตึ๊งหรือร่วมกตัญญูแล้ว นี่ในแง่รูปธรรม

ในแง่นามธรรมเล่า ถ้าใครยังประมาทมัวเมาปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ให้วันเวลาล่วงเลยไปเปล่า ไม่ทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวก็จะประสบความล้มเหลวในชีวิต หรือไม่พยายามทำคุณความดีไว้เลย ก็แก่เปล่า และตายเปล่า หาประโยชน์อันใดมิได้

เพราะฉะนั้น เกิดมาทั้งทีพึงเอาดีให้ได้ (ดีทั้งทางโลกและทางธรรม) จะตายทั้งทีพึงทำดีฝากไว้

ดีที่ว่านี้หมายเอาทั้งทางโลกทางธรรม ทางโลก เช่น มีการศึกษาดี มีชีวิตครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ มีเกียรติยศในสังคม ทางธรรม เช่น มีกิเลสเบาบาง มีเมตตากรุณาปัญญาและความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น จนถึงหมดกิเลสโดยสิ้นเชิงก็ยิ่งดีใหญ่

คนไม่ประมาทเท่านั้นจึงจะเรียกว่าเอาดีได้ และตายฝากดีไว้ ขอยกตัวอย่างสั้นๆ สองเรื่อง เรื่องแรก ลูกน้องเศรษฐีคนหนึ่งเดินตามเจ้านายไป เจ้านายเห็นหนูตายตัวหนึ่ง กล่าวว่า ถ้าคนจะเอาดีให้ได้ หนูตายตัวเดียวก็เป็นทุนทำให้เจริญได้ ลูกน้องได้คิดนำหนูตายไปขายเอาเงินซื้อน้ำอ้อยไปแลกดอกไม้ ขายดอกไม้ได้เงินไปซื้อฟืนขาย ได้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นได้ติดต่อกับพ่อค้าเรือ ร่วมลงทุนค้าขายกับพ่อค้าเรือ ชั่วระยะเวลาเพียงสี่เดือนก็ได้เงินเป็นแสนๆ กหาปณะ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้

นี่เป็นตัวอย่างของคนไม่ประมาทในทางโลก

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า อีกสามเดือนข้างหน้าพระองค์จะปรินิพพาน พระสงฆ์จำนวนหนึ่งพากันไปห้อมล้อมคอยรับใช้ใกล้ชิด

มีพระรูปหนึ่งไม่ไปเฝ้าพระองค์เลย คิดว่าอีกไม่นานพระศาสดาจะจากไปแล้ว ควรที่จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมก่อนพระองค์จากไปให้ได้ จึงเร่งบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาจนได้บรรลุธรรมก่อนพระองค์จากไปให้ได้ จนได้บรรลุพระอรหัต พวกพระอื่นๆ หาว่าอกตัญญู พระศาสนาจะจากไปทั้งทียังไม่มาปรนนิบัติรับใช้

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องเข้า จึงตรัสว่า ภิกษุรูปนั้นทำถูกแล้ว เธอมิได้ประมาท นับว่าอยู่รับใช้ใกล้ชิดตถาคตเสียยิ่งกว่าพวกที่ติดสอยห้อยตามเสียอีก พวกนี้ถึงจะเกาะชายจีวรตถาคตก็หาชื่อว่าใกล้ชิดตถาคตไม่

นี่เป็นตัวอย่างของคนไม่ประมาทในทางธรรม

คนที่ประมาท ถึงอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าดอกครับ ผู้เห็นธรรมปฏิจจสมุปบาทเท่านั้นจึงจะชื่อว่าเห็นพระพุทธองค์