สมชัย ศรีสุทธิยากร | มรดกบาป บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เจตนาของการเขียนบทเฉพาะกาลในกฎหมายนั้น โดยหลักทั่วไปจะเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากการใช้กฎหมายเดิมไปสู่กฎหมายใหม่ ซึ่งเกรงว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันโดยไม่มีการทอดช่วงเวลาให้เกิดการปรับตัว อาจเป็นความยากลำบากของผู้ปฏิบัติจนถึงเป็นปัญหาต่างๆ ที่ตามมาในภายหลังได้

แต่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กลับไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวพระที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น

แต่กลับเล่นบทบาทเป็นตัวร้ายที่ตอบโจทย์แค่ความต้องการบรรลุผลสำเร็จทางการเมืองของคนบางกลุ่ม มิได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของบทเฉพาะกาล เราอาจมองแยกได้เป็นสองส่วน

ส่วนแรกเป็นบทที่มีขึ้นชั่วคราวและจบสิ้นไปแล้วเมื่อถึงเวลาปัจจุบัน บทประเภทนี้จะดีหรือเลวถึงวันนี้ก็ได้แสดงบทบาทหน้าที่ของตัวเองจบสิ้นไปแล้วอย่างสมบูรณ์ไม่อาจเรียกกลับได้ จึงไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาแก้ไขสิ่งใด

แต่ยังมีบทเฉพาะกาลอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคตอีกระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเหมือนมรดกที่ส่งมอบให้กับลูกหลานในอนาคต เพียงแต่สิ่งที่ส่งมอบนั้นยังคงเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนการสร้างมรดกบาป

ซึ่งหากวันนี้มีเสียงเรียกร้องเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ในบทเฉพาะกาลจึงจำเป็นต้องมาอภิปรายถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปว่า ข้อใดเป็นบุญหรือบาปต่อบ้านเมือง

มรดกจำนวนและที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา 269 ระบุถึงจำนวนและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแตกต่างไปจากที่เขียนไว้ในตัวบทของรัฐธรรมนูญโดยให้มีจำนวนเป็น 250 คน มาจาก 3 ส่วน คือ ส่วนแรก มาจากการจัดให้การเลือกตามวิธีการที่ระบุไว้ในมาตรา 107 จำนวน 200 คนแล้วส่งให้ คสช.เลือกเหลือ 50 คน ส่วนที่สอง มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาไม่เกิน 400 รายชื่อส่งให้ คสช.เลือกเหลือ 194 คน และส่วนที่สาม มาโดยตำแหน่งที่เกี่ยวกับความมั่นคงจำนวน 6 คน

อายุของวุฒิสภาชุดนี้มีกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง (11 พฤษภาคม 2562) ดังนั้น 250 ชื่อที่ทำหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา จะยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนถึง 10 พฤษภาคม 2567

มรดกผู้ทรงไว้ซึ่งวุฒิและความรอบรู้ที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อมุ่งหวังให้ได้บุคคลที่เป็นกลางทางการเมือง มีความรู้ความสามารถและประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพจึงทิ้งไว้ที่สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่คัดสรรโดย คสช. ประกอบด้วย นายทหาร-ตำรวจที่ยังประจำการ 6 นาย อดีตนายทหาร-ตำรวจถึง 104 นาย ที่เหลือเป็นพลเรือนแต่ก็เป็นส่วนที่เคยปฏิบัติหน้าที่สนองตอบ คสช.ในลักษณะต่างๆ เช่น เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ เป็นสมาชิกสภาปฏิรูป หรือเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น

มรดกชิ้นนี้ แม้ประชาชนไม่อยากได้ แต่เขาก็ให้มาเต็มๆ

มรดกในภารกิจการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภา

มาตรา 272 ของบทเฉพาะกาล ระบุถึงบทบาทของวุฒิสภาที่จะต้องร่วมลงมติเห็นชอบการดำรงตำแหน่งของบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดใน 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดนี้ คือถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 (นับจากวันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสภา ซึ่งถือว่ามีองค์ประกอบครบเป็นรัฐสภา)

การกำหนดเวลา 5 ปี นับว่าเป็นวิธีการคิดที่ชาญฉลาดโดยคิดว่า หากรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปี วุฒิสภายังมีโอกาสร่วมลงมติในการเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง

ตัวเลขเกินครึ่งของสองสภาคือ 375 เสียง จึงถูกแปลความง่ายๆ ว่า มีในมือแล้ว 250 เสียง ขอเสียงจากสภาผู้แทนฯ มาสมทบอีกแค่ 125 เสียง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ไปไหนเสีย ไม่ต้องสนใจว่าพรรคตัวเองจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่งหรือไม่

ถึงเวลานั้น แม้จะผิดหลักธรรมเนียมประชาธิปไตยแต่ก็จะมีข้ออ้างของวิญญูชนจอมปลอมมากมายเพื่อให้ดูดีได้

ยิ่งหากเสียง 250 เสียงยังมีความเป็นเอกภาพและลงมติไม่แตกต่างกันเช่นครั้งการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ลงมติเท 249 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง (คือนายพรเพชร วิชิตชลชัย เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นประธานวุฒิสภา) ยิ่งไม่ต้องกังวลถึงการสืบต่อตำแหน่งต่อไปอีกวาระ

นี่คือมรดกบาปที่รุนแรงยิ่ง

มรดกในการให้วุฒิสภามีอำนาจในการกำกับการปฏิรูปประเทศ

มาตรา 270 ของบทเฉพาะกาล ระบุถึงหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาว่า นอกเหนือจากการทำหน้าที่ปกติแล้ว ยังมีหน้าที่และอำนาจในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ โดยให้รัฐบาลแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้รัฐสภาทราบทุกสามเดือน

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (ที่มาจากการเลือกตั้ง) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 หากนับถึงปัจจุบัน สมควรมีรายงานการดำเนินการในการปฏิรูปประเทศแล้ว 5 ฉบับ แต่เรื่องราวของการปฏิรูปประเทศกลับคล้ายเป็นเรื่องลี้ลับห่างไกลจากการรับรู้ของประชาชน

ในข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า รัฐบาลกลับเพิกเฉยที่จะส่งรายงานตามกำหนด โดยเพิ่งจะส่งรายงานฉบับที่ 3 (รอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2562) มาให้วุฒิสภาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 เท่ากับรัฐบาลละเลยที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในการรายงานการดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกช่วงสามเดือน (ขาดรายงาน ฉบับที่ 4 เดือนมกราคม-มีนาคม 2563 และฉบับที่ 5 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563)

หนำซ้ำคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ จำนวน 11 คณะ ที่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 กำหนดให้มีวาระการทำงาน 5 ปี กลับประสบความล้มเหลวในการทำงานอย่างไม่เป็นท่า บางคณะกรรมการลาออกเกือบหมด เนื่องจากไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาบ้าง ไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบ้าง หรือมีตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลชุดปัจจุบันบ้าง ทำให้ไม่มีผลการทำงานปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม จนนายกรัฐมนตรีต้องออกคำสั่งใหม่ให้ยกเลิกคณะกรรมการชุดเก่าทุกชุดและแต่งตั้งใหม่ (ประกาศเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563)

เท่ากับเกือบ 3 ปีของการปฏิรูป นับแต่ 15 สิงหาคม 2560 มาถึงปัจจุบันแทบศูนย์เปล่า เพราะต้องมาตั้งไข่กันใหม่

แต่กลับน่าแปลกใจว่า มรดกภารกิจที่ทรงเกียรติดีงามนี้ บรรดาสมาชิกวุฒิสภากลับไม่นำพาที่จะไปใช้ตามหน้าที่และอำนาจที่ตนเองมีอยู่ในการกำกับให้รัฐบาลต้องทำสิ่งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

หรือว่าเป็นพวกเดียวกันจึงเกิดอาการตาบอดตาใสแบบเฉียบพลัน

มรดกในการตรากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ

วรรคสองและวรรคสามของมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาลยังระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่จะตราไว้เพื่อการปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 ในรัฐธรรมนูญ (ครอบจักรวาล) ให้เป็นการพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมของรัฐสภา

หากแปลแบบง่ายๆ คือ หากร่างกฎหมายฉบับใดที่รัฐบาลเห็นว่าอาจเพลี่ยงพล้ำหรืออาจตกไปหากประชุมในสภาผู้แทนราษฎรก่อน คณะรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะบอกว่ากฎหมายฉบับนั้นเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศและยืมมือสมาชิกวุฒิสภามาร่วมโหวตในวาระแรกได้เลย เพราะท่านจะออกกฎหมายอะไรล้วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปได้ทั้งสิ้น

มาถึงบรรทัดนี้ พจมาน พินิตนันทน์ (ประชาชน) อาจเปลี่ยนใจไม่อยากได้มรดกบาปของตระกูลสว่างวงศ์แห่งบ้านทรายทอง (คสช.) แล้ว