นิธิ เอียวศรีวงศ์ | วินัย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตั้งแต่ผมยังไม่แตกหนุ่มดี ได้ยินผู้นำไทยมักพูดเสมอว่าคนไทยไม่มีวินัย พูดกันซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้ตลอดมา จนผู้นำทางปัญญาของไทยคนหนึ่งถึงกับสร้างสูตรขึ้นว่า “ทำได้ตามใจคือไทยแท้” และกลายเป็นฐานคติแก่นักไทยศึกษาอเมริกันรุ่นแรกๆ ไปเลยว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างหลวม

และกลายเป็นคำสาบานตัวของนายกรัฐมนตรีที่มาจากกองทัพทุกคน ที่ต้องประกาศว่าคนไทยไม่มีวินัย

ผมออกจะแปลกใจว่าสังคมซึ่งอยู่ร่วมกันมาได้เป็นหลายศตวรรษเช่นสังคมไทยนั้น จะอยู่กันโดยไม่มีวินัยได้อย่างไร เละเทะกันตลอดมาเช่นนี้ เหตุใดจึงไม่ถูกคนอื่นที่มีวินัยกลืนหายไป

แท้จริงแล้ว สังคมไทยก็เหมือนสังคมอื่นๆ คือมีวินัย (หรือระเบียบประเพณีที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน) และต่างยึดถือกันอย่างเคร่งครัดพอสมควร คือพอสมควรขนาดที่คนอื่นฝ่าฝืน ก็รู้ว่าฝ่าฝืน ส่วนจะกล้าว่ากล่าวตักเตือนหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมเห็นคนไทย (สมัยหนึ่ง) ต่างทรุดตัวลงคู้เข่ากับพื้นเวลาสวนกับพระภิกษุในระยะใกล้ชิด ทำกันถ้วนหน้าอย่างไม่มีข้อยกเว้น ทั้งๆ ที่อาจจะนินทาหลวงพ่อลับหลังด้วยก็ตาม เราย่อหรือยืดตัวเราโดยอัตโนมัติ เมื่อต้องพูดกับคนที่เราถือว่าเป็น “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้น้อย” ระดับต่างๆ ยืดหรือยุบได้เป็นอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ขยายไปด้านการจัดองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่ประชาชนจัดกันขึ้นเอง ล้วนมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ได้รับความเคารพและเชื่อฟังอย่างเคร่งครัดทั้งสิ้น เช่น องค์กรเหมืองฝายภายใต้การควบคุมดูแลของ “แก่ฝาย” ไม่เคยได้ยินว่ามีกรณีที่ผู้คนพากันละเมิดอำนาจตามประเพณีของ “แก่ฝาย” สักครั้ง ทั้งๆ ที่ “แก่ฝาย” ก็ไม่ได้มีกำลังผู้คนไว้จัดการปราบปรามลูกนาแต่อย่างใด

ไม่รู้จะบรรยายวินัยคนไทยไปอีกทำไม แค่นี้ก็เห็นอยู่แล้ว

จนกระทั่งเมื่อสังคมไทยย่างเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่แล้วต่างหาก ที่วินัยเหล่านั้นหมดความจำเป็นไป เช่น เมื่อกรมชลประทานไปยึดเอาเหมืองฝายชาวบ้านมาดูแลควบคุมเอง แก่ฝายและประเพณีเกี่ยวกับเหมืองฝายก็หมดหน้าที่ของตน ผู้คนไม่รู้จะยึดถือวินัยเกี่ยวกับเหมืองฝายไปทำไม ในขณะที่วินัยใหม่สำหรับจัดการดูแลรักษาเหมืองฝายของกรมชลประทานก็ไม่เกิด

สังคมสมัยใหม่ปลดปล่อยคนออกจากชุมชน แต่ละคนกลายเป็นปัจเจกบุคคลทั้งในวิถีชีวิตและสำนึก วินัยในทุกสังคมล้วนเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกจากชุมชน กล่าวคือ ชุมชนเป็นผู้กำหนด, สืบทอด, บังคับใช้ และให้รางวัลตอบแทนแก่การปฏิบัติตามวินัย ในขณะที่วินัยใหม่ที่มาพร้อมกับรัฐและสังคมไทยสมัยใหม่ (เช่น เข้าคิว) ไม่มีชุมชนทำหน้าที่อย่างนั้นอีกแล้ว

ดังนั้น แทนที่จะก่นประณามว่าคนไทยไม่มีวินัย ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กว่าที่จะมาดูว่า วินัยใหม่ซึ่งจำเป็นสำหรับชุมชนชาติ (อันเป็นชุมชนชนิดใหม่เหมือนกัน) จะได้รับความเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามได้เพราะอะไร

ผมคิดว่ามีเงื่อนไขอย่างน้อยอยู่ 4 ประการ ที่ทำให้ผู้คนในชุมชนชาติหนึ่งๆ มีวินัยได้จริง ปราศจากเงื่อนไขเหล่านี้ วินัยก็กลายเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจ จะเป็นผลให้คนปฏิบัติตามได้ก็ต้องใช้กำลังบังคับ แม้แต่จะให้รางวัลเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ยอมอยู่ในคำสั่ง ก็จะเป็นการให้รางวัลที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำหน้าเหลอหลาว่า ใช่หรือวะ ไม่ว่ารางวัลมารยาทงาม, รางวัลแต่งกายสุภาพ, ไปจนถึงศิลปินแห่งชาติ และอะไรอื่นที่ขนพองสยองเกล้าพอๆ กัน

เงื่อนไขประการแรกก็คือความเป็นชุมชนชาตินี่แหละครับ

เราปลุกสำนึกชาตินิยมกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่ชาติที่อยู่ในสำนึกที่ถูกปลุกขึ้น เป็นสมบัติของคนชั้นนำ ไม่ใช่ของประชาชนทั้งหมด ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ชาติกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนมีหน้าที่เทิดทูนบูชา ไม่ใช่ “ชุมชน” ที่ให้ความปลอดภัย, ความผาสุก, ความรุ่งเรือง และความยุติธรรมอย่างเสมอหน้าแก่ทุกคน

ในฐานะ “ชุมชน” ชาติเป็นที่รวมของประชาชนที่มีความหลากหลาย ทั้งวัฒนธรรม, ศาสนา, ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเมือง จึงแตกต่างจาก “ชุมชน” ซึ่งคนไทยเคยชินในชีวิต ได้แก่ ชุมชนขนาดเล็กที่ผู้คนพอจะรู้จักหน้าค่าตากัน หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าใครเป็นใคร ซ้ำยังมีความหลากหลายไม่มาก ประโยชน์ที่ตกแก่คนกลุ่มหนึ่งก็อาจเป็นประโยชน์แก่คนอื่น หรืออย่างน้อยก็ไม่ลิดรอนประโยชน์ของคนอื่น ชุมชนอย่างนี้ต่างหากที่สามารถกำกับควบคุมให้สมาชิกมีวินัยชุมชน คือไม่ละเมิดประโยชน์ซึ่งตกแก่ส่วนรวม

แต่การศึกษาไทย ทั้งที่อยู่ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ไม่นำประชาชนไปรู้จักและยอมรับความหลากหลายของกันและกัน เมื่อผมเป็นเด็กต้องเรียนวิชา “ความรู้เรื่องเมืองไทย” ซึ่งสอนให้รู้แต่เพียงว่า แต่ละภาคของประเทศนั้นผลิตสินค้าอะไรส่งออกเป็นหลัก เช่นภาคเหนือส่งออกไม้ซุงและไม้แปรรูป ภาคใต้ส่งออกดีบุก แล้วก็เล่าถึงการผลิตสินค้าเหล่านี้ แต่ไม่สนใจที่จะพูดถึงผู้คนและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเขาในภาคต่างๆ ผมไม่เคยรู้ว่าคนใต้พูดภาษาไทยด้วยสำเนียงที่ต่างจากผม จนขึ้นชั้นมัธยมแล้วและได้พบเพื่อนที่มาจากภาคใต้ ผมไม่รู้ว่าคนที่ถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร นอกจาก “ไม่กินหมู” และมีชื่อเสียงเรียงนามที่แปลกๆ

ความรู้เกี่ยวกับผู้ร่วมชาติของเราช่างผิวเผินเสียจน เป็นไปไม่ได้ที่ผมหรือเด็กไทยคนอื่นจะสำนึกได้ว่าเขาคือสมาชิกร่วมชุมชนเดียวกับเรา

เพราะเรามีเพียงชาติ แต่ไม่มีชุมชนชาตินี่แหละ ที่ผู้ใหญ่ไทยในปัจจุบันบางกลุ่มอาจพูดดังๆ ได้อย่างไม่อายว่า เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง ไล่ชาวมลายูมุสลิมออกไปจากประเทศให้หมด หรือผู้มีอิทธิพลต่อสังคมบางคนกล่าวในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยว่า “ไม่รักพ่อ ก็ออกไปจากบ้านพ่อ” ชัดเจนว่าชาติเป็นสมบัติส่วนตัวของบุคคล ไม่ใช่ชุมชนของพวกเราทุกคนอย่างเสมอหน้า

สํานึกความเป็นชุมชนก่อให้เกิดสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในความเป็นชาติ นั่นคือภราดรภาพ แปลคำนี้อย่างไม่ใช่ตามตัวอักษรก็คือ ความรู้สึกผูกพันกันเป็นพิเศษระหว่างสมาชิกของชุมชนชาติทุกคน ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตาเขาเลย และทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเขาและเรานั้นต่างกันในหลายต่อหลายเรื่องก็ตาม

ผมอยากแปลคำว่าภราดรภาพจากประสบการณ์ส่วนตนดังนี้ สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดในญี่ปุ่นก็คือ เมื่อเพื่อนญี่ปุ่นในที่ทำงานเดียวกัน เดินออกไปหาข้าวกลางวันกินร่วมกันในวันหนึ่ง พบเศษแก้วแตกกระจายบนทางเท้า เขาหยุดแล้วใช้เท้าเขี่ยเศษแก้วไปกองกระจุกอยู่ใต้ต้นไม้ แล้วอธิบายว่าเผื่อคนอื่นไม่ทันมองหรือล้มลงจะเป็นอันตราย

คนอื่นของเขาคือใครก็ไม่รู้ คงไม่ใช่ลูกเมียของเขาแน่ อาจเป็นนักท่องเที่ยวจากเมืองอื่น หรือคนร่วมเมืองเดียวกันก็ได้ นี่แหละครับคือภราดรภาพ คือมีคนอื่นซึ่งสัมพันธ์กับเราในจินตนาการเท่านั้น กลับได้รับความปกป้องจากเรา เท่ากับที่เรารู้ว่า เราก็ได้รับการปกป้องจากเขาเหมือนกัน

ชาติที่ไม่เป็นชุมชนชาติ ย่อมไม่มีทางจะเกิดสำนึกภราดรภาพขึ้นได้ และปราศจากภราดรภาพ ก็ไม่มีทางจะเกิดวินัยของสังคมสมัยใหม่ขึ้นได้ นั่นคือปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างที่เราคาดหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติจากคนอื่น เช่น ไม่แซงคิวเพราะไม่อยากให้คนอื่นแซงเรา

เงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญในการเกิดวินัยก็คือ สภาพความเป็นจริงที่เป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ เมื่อทำตามวินัย ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นความเป็นไปไม่ได้ให้เห็นก่อน

สมัยหนึ่ง ขสมก.พยายามสร้างวินัยการขึ้น-ลงรถเมล์ในกรุงเทพฯ โดยให้ขึ้นทางประตูหน้า ให้ลงทางประตูหลัง ก็มีเหตุผลนะครับ เพราะทางขึ้นก็จะโล่งทำให้ใช้เวลาน้อยลงในการจอดรับผู้โดยสาร นอกจากนี้ ก็ยังให้ความปลอดภัยดีด้วย เพราะเมื่อขึ้นด้านหน้า คนขับก็จะเห็นว่าขึ้นหมดหรือยัง ส่วนคนลงทางประตูหลัง แม้จะพลาดไปบ้างก็เพียงบาดเจ็บไม่ (น่า) ถึงตาย

แต่รถเมล์ในกรุงเทพฯ แน่นเกินกว่าจะได้รับผลดีจากวินัยอันนี้ เช่น ผู้โดยสารที่ได้ที่นั่งด้านหน้า จะฝ่าปลากระป๋องไปลงด้านหลังได้อย่างไร คิดไปเถิดครับ มีเหตุขลุกขลักอีกมากมายในรถเมล์ที่เบียดเสียดกันแน่นอย่างในกรุงเทพฯ

สภาพความเป็นจริงที่ทำให้ไม่อาจปฏิบัติตามวินัยในเมืองไทยได้นั้นมีมากจนพรรณนาไม่หมด ผลตอบแทนจากการฝ่าฝืนระเบียบวินัยมีสูงกว่าความเสี่ยงต่อโทษทัณฑ์ที่จะได้รับจากการฝ่าฝืน แค่ฝ่าไฟแดงไปได้อย่างฉวดเฉียด ก็ทุ่นเวลาทำมาหากินไปได้แยะมากในการจราจรที่แออัดอย่างกรุงเทพฯ

ประเด็นก็คือ จะเรียกร้องให้เคารพวินัยต่างๆ ก็ต้องทำให้สภาพความเป็นจริงเอื้อต่อการปฏิบัติตามวินัยด้วย จะให้ทุกคนเป็นพันท้ายนรสิงห์หมดย่อมเป็นไปไม่ได้ และนั่นคือเหตุที่เรายกย่องพันท้ายนรสิงห์ไงครับ

ยิ่งกว่านี้ ตัววินัยเองก็ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผลด้วย ทรงผมและเครื่องแบบนักเรียนจะได้รับความเคารพก็ต่อเมื่อเหตุผลที่บังคับนั้นต้องฟังได้ วินัยหลายอย่างที่ใช้บังคับนักเรียน, พลทหารเกณฑ์ และประชาชนทั่วไปนั้น มีขึ้นเพียงเพื่อแสดงอำนาจของผู้ตราวินัยขึ้นเป็นกฎเท่านั้น จึงไม่เคยซึมเข้าไปในชีวิตจิตใจของผู้คนจริงตลอดมา

อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ระเบียบวินัยต้องบังคับใช้กันอย่างเสมอหน้า ในชุมชนหมู่บ้าน ถ้าลูกนายบ้านอุตริปีนบ่อน้ำสาธารณะลงไปเล่นน้ำ ครอบครัวของนายบ้านก็ต้องรับผิดชอบไม่ต่างจากชาวบ้านทั่วไป (เช่น หาคนมาวิดน้ำขึ้นจากบ่อให้แห้ง เพื่อให้น้ำสะอาดซึมเข้าใหม่ และต้องประกอบพิธีกรรมขอขมาต่อผีที่ดูแลรักษาบ่อน้ำ) แต่ในชาติที่ไม่เป็นชุมชน เราได้เห็นคนมีอำนาจฝ่าฝืนวินัยอย่างไม่เอื้อต่อประโยชน์ของคนอื่นอยู่เสมอ บางคนเชิดหน้า “ลอยนวล” เพราะตัวระบบเอื้อให้ทำได้อย่างไม่ต้องอาย (เช่น นาฬิกาหรูเป็นทรัพย์คงที่) บางคนทำอย่างที่ต้องถือว่าเป็น “สิทธิ” ด้วยซ้ำ

น่าตลกที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากกองทัพหรือพึ่งพิงอำนาจของกองทัพเรียกร้องให้คนไทยมีวินัย ทั้งๆ ที่พวกเขาฉีกหรือเบี้ยวรัฐธรรมนูญมากับมือตนเอง นั่นน่ะ วินัยสูงสุดเลยนะครับ คำเรียกร้องของเขาจึงไม่เคยบังเกิดผลขึ้นเลย คนไทยที่ไม่มีวินัยนั้นยังมีจมูกดีพอจะเหม็นขี้ฟันได้อยู่นี่ครับ

ด้วยความไม่พร้อมเพราะปราศจากเงื่อนไขจำเป็นต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว ทำให้ผู้มีอำนาจในสังคมสมัยใหม่ของไทยสร้างวินัยให้แก่คนไทยด้วยการบังคับจากภายนอก ในรูปกฎหมายต่างๆ หรือบางครั้งนอกกฎหมายด้วย (เช่น ต้องยืนหรือไม่ยืนต่อเพลงสรรเสริญพระบารมี, ยืนเฝ้าหรือหมอบเฝ้า, กินเหล้าภายใต้ พ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉิน ไปจนถึงอุ้มหาย ฯลฯ ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน) ในขณะที่อำนาจภายนอกก็ไม่บังคับใช้กฎอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม จึงสมควรแล้วที่คนไทยไม่เห็นวินัย (ของมึง) เป็นเรื่องสำคัญ

ตรงกันข้าม ถ้าชาติเป็นชุมชนชาติ วินัยจะเป็นเรื่องภายใน เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้คนปฏิบัติตามโดยไม่ทันได้รู้สึกตัวด้วยซ้ำ หลวงพ่อพุทธทาสซึ่งได้อิทธิพลความคิดจากนิกายเซนของญี่ปุ่น-จีนมากกล่าวว่า พระอริยบุคคลนั้นไม่ต้องยึดถือพระวินัย เพราะมันเป็นธรรมชาติของท่านไปเสียแล้ว ไม่ลักขโมย ไม่ใช่เพราะพระวินัยห้ามไว้ แต่เพราะท่านไม่เห็นว่าทรัพย์สินเป็นที่พึ่งได้ ไม่แต่เพียงทรัพย์สินของคนอื่น แม้แต่ทรัพย์สินของท่านเอง ก็ไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม

วินัยจึงไม่อาจปลูกฝังกันได้ด้วยอำนาจจากภายนอก แต่เจริญขึ้นในจิตใจของผู้คนด้วยวิธีอื่น รวมทั้งท่ามกลางเงื่อนไขที่พร้อมด้วย