ธงทอง จันทรางศุ | ขอ… “เงิน”

ธงทอง จันทรางศุ

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงได้ยินข่าวว่าเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับองค์การค้า สกสค. หรือหน่วยงานที่เราเรียกชื่อดั้งเดิมว่าองค์การค้าคุรุสภากันมาบ้างแล้ว

เมื่อได้ยินข่าวก็อดใจหายไม่ได้ ทำให้นึกถึงร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ริมถนนราชดำเนินกลาง

นึกถึงร้านดาราภัณฑ์ หน้าท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ถนนสุขุมวิทขึ้นมาทันใด

ร้านค้าทั้งสองแห่งนี้เคยเป็นที่พึ่งของผมในวัยเด็กมาช้านาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านดาราภัณฑ์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของผมเลย บ้านของผมเวลานั้นอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 40 หรือซอยบ้านกล้วยใต้ ถ้าไม่ติดธุระปะปังอะไร วันเสาร์ตอนเช้าผมต้องเดินจากบ้านไปที่ร้านที่ว่านี้เสมอเพื่อไปซื้อหนังสือสักหนึ่งเล่มหรือสองเล่มแล้วนำกลับมาอ่านตลอดสัปดาห์

เวลาอ่านก็ค่อยๆ แทะเล็มไปนะครับ ไม่กล้าอ่านเร็ว กลัวอ่านจบก่อนถึงวันเสาร์หน้า

อาการเหมือนเด็กกินขนมอร่อยที่มีน้อยชิ้นอย่างไรอย่างนั้น

หนังสือที่ผมซื้อหาบ่อยครั้งและเป็นผลงานการพิมพ์ขององค์การค้าคุรุสภาโดยตรง ไม่ใช่หนังสือฝากขายจากสำนักพิมพ์อื่นได้แก่หนังสือชุดที่มีชื่อเรียกว่า “หนังสือชุดภาษาไทย” หน้าตาหนังสือแต่ละเล่มเรียกว่าเป็นขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ก มีความหนาประมาณ 200 หน้า จะขาดจะเกินจากนี้ไปอีกไม่เท่าไหร่

หนังสือชุดนี้เกิดขึ้นโดยดำริของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเวลาที่ผมเป็นเด็กและท่านเป็นนักการศึกษาผู้ยิ่งยงของเมืองไทยผู้หนึ่ง

ม.ล.ปิ่นท่านคิดว่าควรมีการจัดพิมพ์หนังสือภาษาไทยที่มีสาระและคุณภาพดีในราคาย่อมเยาให้ผู้คนได้ซื้อหามาอ่านได้โดยสะดวก คิดแล้วท่านก็สั่งการให้องค์การค้าคุรุสภาซึ่งอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตามนโยบายนี้ โดยมีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อคัดเลือกหนังสือมาจัดพิมพ์ต่อเนื่องกันไป บางเรื่องก็เป็นเล่มปลีก คือจบภายในเล่มเดียว บางเรื่องก็เป็นหนังสือชุด คือมีความยาวต่อเนื่องกันหลายเล่มจะจบเนื้อความทั้งหมด

ตัวอย่างหนังสือชุดที่สำคัญคือประชุมพงศาวดาร ซึ่งมีความยาวหลายสิบเล่ม

และอีกชุดหนึ่งคือสาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นพระนิพนธ์โต้ตอบกันระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีความยาวต่อเนื่องกัน 26 เล่ม บวกด้วยหนังสือดัชนีค้นคำอีกหนึ่งเล่ม รวมครบชุด 27 เล่ม

หนังสือชุดภาษาไทยในเวลาที่ผมเป็นแฟนคลับซื้อหาเป็นประจำทุกวันเสาร์นั้น ถ้าเป็นหนังสือปกแข็งราคาเล่มละ 14 บาท ถ้าเป็นหนังสือปกอ่อนราคาเล่มละ 10 บาท

แต่ละสัปดาห์ผมได้เบี้ยเลี้ยงกินขนมจากพ่อ-แม่เวลาไปโรงเรียนวันละ 5 บาท เพราะโรงเรียนมีอาหารกลางวันให้กินอยู่แล้ว ห้าบาทนี้ถือเป็นอดิเรกลาภ สำหรับซื้อน้ำซื้อขนมเป็นอาหารเสริม

ด้วยความงกและอยากอ่านหนังสือที่ถูกใจ ผมจึงมีนโยบายส่วนตัวที่จะใช้เงินเพียงแค่วันละ 3 บาท เหลือวันละ 2 บาท รวมกันเข้าเป็นสัปดาห์ละ 10 บาท ซื้อหนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภาที่เป็นปกอ่อนได้หนึ่งเล่มพอดี

ทุกวันนี้ยังภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ผมมีหนังสือชุดสาส์นสมเด็จของคุรุสภา ครบชุด 27 เล่มอยู่ในความครอบครอง

เป็นหนังสือปกอ่อน 26 เล่ม เป็นปกแข็งเสียเล่มหนึ่ง เพราะเล่มที่ว่านั้นปกอ่อนขาดชุดไปแล้ว เหลือแต่ปกแข็งวางขายอยู่ เสียดายเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 4 บาทน้ำตาแทบไหล ฮา!

หนังสือชุดนี้ได้เป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้ของผมยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้

ไม่น่าเชื่อนะครับว่าหนังสือดีอย่างนี้ นอกจากฉบับพิมพ์ขององค์การค้าคุรุสภาเมื่อตอนผมเป็นเด็กนักเรียนแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานหรือสำนักพิมพ์ใดพิมพ์ขึ้นได้ครบชุดอีกเลย ด้วยเหตุผลสารพัดอย่าง จนผมมาเปรยเรื่องนี้ขึ้นในที่สาธารณะแห่งหนึ่งเมื่อปีก่อน

มาถึงวันนี้ก็ได้รับทราบด้วยความชื่นใจว่า สำนักพิมพ์ต้นฉบับ ซึ่งมีคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เป็นหัวเรือใหญ่ ใจกล้าที่จะพิมพ์หนังสือชุดสาส์นสมเด็จขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยรวบรวมจากหนังสืองานศพของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ของกรมศิลปากร มาอยู่ด้วยกันให้ครบชุด เป็นหนังสือขนาดความหนาเล่มละประมาณ 600 หน้า จำนวนถึง 10 เล่มเป็นหนึ่งชุด ราคาเป็นมิตรคบหากันได้สบาย

ย่อหน้าข้างบนนี้เขาเรียกว่าโฆษณาแฝงครับ

แต่ประเด็นสำคัญที่จะนำเสนอในวันนี้ไม่ใช่การโฆษณาขายหนังสือ

หากแต่คือการตั้งคำถามกับเมืองไทยและพวกเราด้วยกันเองว่า ยังมีหนังสือดีที่ควรจะมีการจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อสืบอายุและสื่อความรู้ให้ต่อเนื่องไปอีกจำนวนมาก

เราจะมีหน่วยงานหรืองบประมาณของทางราชการสนับสนุนดูแลเรื่องนี้ได้บ้างหรือไม่

ลำพังกรมศิลปากรนั้นก็พยายามทำเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ได้แต่เพียงพอสัณฐานประมาณเท่านั้น

เอกชนเช่นสำนักพิมพ์ต้นฉบับเขาก็ทำอยู่บ้าง แต่ต้องใช้ทุนรอนมากอยู่ จะทำอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลังพอสมควร

วันนี้เลยมาขายความฝันว่า ถ้าทางราชการของเราเห็นความสำคัญเรื่องนี้ จะมอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นผู้ปฏิบัติก็ไม่ว่ากัน ผมขอแต่ให้มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนและจัดงบประมาณให้ในลักษณะที่เป็นกองทุน ยกตัวอย่างเช่น ตั้งเป็นเงินประเดิมไว้สักยี่สิบสามสิบล้านบาท

เทียบกับงบประมาณประจำปีสามล้านล้านบาทแล้ว เงินจำนวนนี้ขี้ผงเต็มที

เงินดังกล่าวเมื่อได้มาแล้วก็มีคณะกรรมการมาวางแผนว่าจะจัดพิมพ์หนังสือเรื่องอะไรบ้าง พิมพ์แล้วก็ขายในราคาที่พอเลี้ยงตัวได้ ไม่ต้องคิดกำไร หวังแต่เพียงเอาเงินจำนวนนั้นหมุนเวียนกลับมาพิมพ์หนังสือเล่มต่อไป ราคาขายก็กำหนดไว้ในอัตราที่เป็นมิตรกับผู้ซื้อ

ผู้ซื้อนั้นนอกจากประชาชนคนทั่วไปเช่นผมแล้ว ถ้าจะมีนโยบายไปยังสถานศึกษาทั้งหลาย เอาแต่เพียงแค่โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศว่าขอให้จัดงบประมาณซื้อหนังสืออย่างนี้เข้าห้องสมุด อย่าให้กองทุนต้องแจกฟรี เด็กนักเรียนชั้นมัธยมก็จะมีหนังสือคุณภาพอ่านกันทั่วถึง

ถ้าบริหารกันดีๆ มีฝีมือ ภายในรอบปีกองทุนก็จะพิมพ์หนังสือได้หลายเล่มหลายชุด และมีเงินหมุนเวียนกลับเข้ามาพิมพ์เล่มต่อไปได้อีก ขาดเหลือเล็กน้อยทางราชการก็จัดงบประมาณเติมให้ปีละห้าล้านสิบล้าน ทำอย่างนี้เราก็จะมีหนังสือดีไว้ให้ลูกหลานอ่านได้ไม่รู้จบ

ผมพูดอย่างนี้อาจมีคนเถียงว่า ให้ทำเป็นหนังสืออีบุ๊กเถิด ราคาย่อมเยากว่ากันมาก

จะทำอีบุ๊กผมก็ไม่ว่าครับ แต่หนังสือเป็นเล่มแบบพลิกอ่านได้ทีละหน้านี้ อ่านแล้วซึมซับดีกว่าอีบุ๊กมาก พลิกกลับไปกลับมาก็สะดวก ใช้งานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สาแก่ใจยิ่งนัก

หนังสือดีน่าอ่านที่เป็นสมบัติเก่าแก่ของบ้านเมืองมีมากมายนัก นึกตัวอย่างแต่เพียงแค่วรรณคดีสำคัญระดับประเทศ เช่น รามเกียรติ์ สามก๊ก ราชาธิราช ขุนช้างขุนแผน อิเหนา เรื่อยไปจนถึงพระราชนิพนธ์เรื่องเอกของหลายรัชกาล เช่น ไกลบ้าน พระราชพิธีสิบสองเดือน ก็นับกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว

ดูเหมือนผมได้เคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่า คนเราถ้าไม่อ่านหนังสือเสียแล้วจะเอาความรู้มาจากที่ไหน หนังสือคือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่คนรุ่นก่อนท่านสะสมไว้เป็นสมบัติให้กับเราผู้เป็นลูกหลาน แทนที่เราจะต้องเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ ท่านผู้ใหญ่ท่านขึ้นต้นไว้ให้เสียตั้งมากมายแล้ว เราเพียงอ่านเรื่องย้อนหลังให้รู้ความเก่า แล้วก้าวเดินต่อไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจมั่นคง จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปข้างไหนไม่ว่ากัน

อีกประการหนึ่ง ถ้าไม่เคยอ่านหนังสือดีก็จะใช้ภาษาดีไม่ได้

สังเกตไหมครับว่า การใช้ภาษาทุกวันนี้แปรเปลี่ยนไปเป็นอันมาก จริงอยู่ ผมไม่ปฏิเสธว่าภาษานั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่หลักการใช้ภาษาที่ดีก็ควรทำให้ปรากฏและเป็นแบบอย่างได้ ไม่ใช่มะงุมมะงาหรากันโดยไร้จุดหมาย

ที่พูดมายืดยาวทั้งหมดนี้สรุปว่า ขอรับนโยบายและขอเงินสนับสนุนเพื่อทำงานสำคัญของชาติในเรื่องนี้เถิด

นี่ถ้า ม.ล.ปิ่น มาลากุล ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ละก็ เรียบร้อยไปนานแล้วครับ

นี่ก็จนใจว่าท่านไปสวรรค์นานแล้ว เลยต้องมาร้องขึ้นในที่นี้ เผื่อจะมีท่านผู้ใหญ่สนใจความคิดนี้บ้าง

เห็นท่านนายกรัฐมนตรีมาสำนักพิมพ์มติชนเมื่อหลายวันก่อน จะไปดักพูดเรื่องนี้ก็ไม่ทันเสียแล้ว

แหม…เสียดาย