จัตวา กลิ่นสุนทร : ชีวิตเข้าๆออกๆเรือนจำของวีระกานต์

วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ เราเป็นเพื่อนกันมานานแล้ว (3)

ถึงแม้วัยของเราจะแตกต่างกันพอสมควร แต่เมื่อเวลาเดินทางมาถึงปี พ.ศ.2563 เราต่างอยู่ในสังคมผู้สูงวัยของประเทศนี้เหมือนกันแล้ว

ผมเรียนเมื่อครั้งที่แล้วว่าการเขียนถึงวีระกานต์ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องเวลา แต่เขียนในมุมมองของตัวเองที่ได้เคยพบพานร่วมงานกันมาระยะหนึ่งจนเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนกันก่อนที่เขาจะเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัวเพื่อสร้างสีสันในเวทีการเมือง แต่เรายังมีความรู้สึกว่าไม่ได้เหินห่างไกลกัน ตามที่กล่าวแล้วว่างานของเขากับงานอาชีพของผมมันแยกกันไม่ออก

ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อนึกถึงเรื่องราวบางสิ่งบางอย่างในอีกมุมหนึ่ง หรือหลายมุมขึ้นมาได้ เช่น การได้พบกันครั้งแรกๆ หลังจากที่เขาเดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสู่งานสื่อมวลชน คือกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งบางครั้งเราได้เที่ยวเตร่ซุกซนกันบ้างตามประสาของคนหนุ่มแถวย่านบางลำพู และ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ห่างไกลจากบริเวณถนนราชดำเนินเท่าไร

ชีวิตทางการเมืองของเขาดำเนินมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ โลดแล่นเดินหน้าอย่างโลดโผนโจนทะยานอย่างไม่เคยย่อท้อเกรงกลัวในทุกๆ เรื่อง รุ่งเรือง ล้มลุกคลุกคลาน เต็มไปด้วยสีสันตลอดมาบนเวทีการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย

เพราะวีระกานต์เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงคนหนึ่ง

 

ถ้านับกันว่าการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร เป็นรัฐมนตรี คือความสำเร็จทางการเมือง วีระกานต์ย่อมประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเขาได้เป็น ส.ส.กรุงเทพฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่ออายุประมาณ 28 ปี ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการขณะอายุเพียง 33 ปี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อายุ 38 ปี

ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวัน ปี พ.ศ.2529 ได้สักระยะหนึ่ง หลังจากนั่งตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร นิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ มาถึง 10 ปีเต็ม

มีนายตำรวจหนุ่มซึ่งจำได้ว่ายังติดยศแค่ร้อยตำรวจเอก หาทางเข้ามาตีสนิทโดยพยายามโทรศัพท์ติดต่อเพื่อนัดหมายขอพบโดยวางฟอร์มพอสมควร โดยบอกว่ามีข่าวเด็ดยอดเยี่ยมมาเสนอให้

ผมตอบรับไปร่วมรับประทานอาหารตามคำเชื้อเชิญเพื่อทำความรู้จักยังโรงแรมแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท

อ่านเกมดูแล้วเป็นการพยายามเดินงานเพื่อฝากฝังตัวเองเข้ามาเพื่อผลประโยชน์หลายอย่างในอนาคตแน่ๆ

ส่วนข่าวที่บอกว่ายอดเยี่ยมนั้นเป็นเทปบันทึกการปราศรัยหาเสียงของวีระกานต์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ปี พ.ศ.2529

ในแง่มุมของข่าวเวลานั้นต้องบอกว่าพอใช้ได้ เนื่องจากผู้สื่อข่าวในพื้นที่เขาได้ดำเนินการอัดไว้เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเป็นข่าวใหญ่มากสำหรับคำปราศรัยที่ล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง เป็นการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอย่างปฏิเสธไม่ได้

ผมได้พยายามฟังจนจบ แต่คิดอยู่ลำพังคนเดียวว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะถอดคำปราศรัยมาลงตีพิมพ์ เพราะถ้าพิมพ์ออกเผยแพร่ หนังสือพิมพ์คงเจอข้อหาไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมนำเทปดังกล่าวมายื่นให้หัวหน้าข่าวเวลานั้นบอกว่าลองเอาไปพิจารณาว่าจะใช้ทำอะไรได้บ้าง นำลงตีพิมพ์ได้หรือไม่?

หัวหน้าข่าวรับไปแต่ดันทะลึ่งแอบโทร.ไปบอกกับวีระกานต์เรียบร้อย พร้อมทั้งเก็บเทปนิ่งเฉย ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ทำอะไรเนื่องจากว่าถึงอย่างไรมันก็ลงตีพิมพ์ไม่ได้อยู่แล้ว

 

หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน ความจำได้พาย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งกว่า 3 ทศวรรษว่า ตำรวจนายนั้นซึ่งต่อมาก็มียศเติบโตขึ้นแต่ได้เพียงแค่นายพัน ไม่มีโอกาสติดยศนายพลเหมือนเพื่อนๆ ร่วมรุ่น ได้พยายามหันเหจะไปไต่เต้าเอาดีด้วยการสมัครผู้แทนราษฎรทางจังหวัดภาคตะวันออก แต่ก็สอบตกต่อเนื่องติดต่อมาทุกสมัย บางหนได้รับเลือกแต่ถูกใบแดง

เมื่อพ้นโทษหันไปสมัครสมาชิกวุฒิสภาได้รับเลือกตั้งเข้ามา แต่เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ทหารยึดอำนาจรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปี พ.ศ.2549 ไม่ได้เข้าสภาเหมือนเดิม

พวกเราที่รู้จักกับตำรวจคนนี้ต่างลงความเห็นเหมือนกันหมดว่ามันเป็น “เวรกรรม” ที่ตัวเองถูกกล่าวหาไปหลอกลวง (คุณย่า) เศรษฐีสูงวัย ซึ่งขณะนั้นอายุกว่า 80 ปีแล้ว โดยมีความสงสัยว่ายักย้ายถ่ายเททรัพย์สมบัติของคุณย่าจนหมดเกลี้ยงทั้งเงินสดและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากคุณย่าไม่มีทายาท มันจึงวางแผนหลอกล่อหอบหิ้วคุณย่าจากบ้านเกิดไปเสียชีวิตยังต่างจังหวัด ถามว่าทำไมคุณย่าไม่หนีกลับกรุงเทพฯ คำตอบคือท่านเดินไม่ได้ ต้องนั่งวีลแชร์

กลับมาที่หัวหน้าข่าว ซึ่งเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ คบไม่ได้ เป็นมนุษย์แบบประเภทเกลียดตัวกินไข่ ด่าว่าคนเล่นการพนัน แต่ตัวเองชอบเล่น ตำหนิติเตียนคนวิ่งเต้นเส้นสาย แต่พอถึงเวลาตัวเองกลับวิ่งเต้นขอตำแหน่งให้เมีย เมื่อไม่มีใครสามารถผลักดันช่วยเหลือได้ กลับใช้หน้าหนังสือพิมพ์ หาเรื่องตำหนิติเตียนด่าว่าเขาสารพัดจนเจ้าของทนไม่ไหวขอให้หยุดเขียน

ไม่รู้เหมือนกันว่าคนแบบนี้มีเพื่อนได้อย่างไร เป็นคนเลี้ยงไม่โต เลี้ยงไม่เชื่อง

ถามว่าทำไมผมรับเข้ามาทำงานสยามรัฐ? ต้องบอกว่าเพราะความสงสารที่ไม่มีงานทำ โดยเพื่อนร่วมงานของผมเป็นผู้ชักนำผลักดันแกมขอร้องให้รับเข้ามา

แต่เขาคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำอะไรต่อมิอะไรไปเยอะแยะลับหลังผม ทั้งการพูดจาให้ร้าย กีดกันหลังจากที่ได้ออกจากสยามรัฐไปแล้วผมจะไม่รู้

จริงๆ แล้วผมพอรู้อยู่บ้าง แต่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวให้ความสนใจกับพวกความคิดต่ำชั้น รวมทั้งเรื่องเอาเทปของวีระกานต์ซึ่งปราศรัยหาเสียงช่วยนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ นายทุนพรรคที่ผมได้มาจากตำรวจไปบอกเจ้าตัวเขาก่อนซึ่งถือว่าผิดมารยาทของสื่ออย่างมาก

อีกมุมหนึ่งจะว่าผมได้ทดสอบเพื่อลองใจย่อมจะได้ ด้วยพอรู้ระแคะระคายว่าวีระกานต์เป็นเพื่อนกับเขาเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะวีระกานต์เป็นคนอุดมไปด้วยเพื่อนตามแบบของคนที่มีนิสัยดีเป็นกันเอง รื่นเริง พร้อมเป็นมิตรกับผู้คนทั่วไปได้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสมากกว่าการปฏิเสธ

 

เมื่อวีระกานต์ถูกศาลจังหวัดบุรีรัมย์ตัดสินจำคุก 4 ปี ในคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ซึ่งนับได้ว่าเขาต้องเดินเข้าคุกเป็นครั้งที่ 2 (22 มิถุนายน 2531- 22 กรกฎาคม 2531) ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ห่างจากการถูกตัดสินจำคุกคดีกบฏครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2520 อีก 11 ปี

แต่สำหรับครั้งนี้เขาอยู่ในคุกเพียงแค่ 1 เดือน โดย พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ (ถึงแก่อสัญกรรม) ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ โดยได้รับสิทธิทางการเมืองคืนมาด้วย

ตามความเป็นจริงตำรวจที่พยายามมาวิ่งเต้นเอาใจเพื่อเกาะเกี่ยวเดินตามเพื่อจะไต่เต้าโด่งดังมันพอมีประโยชน์ในบางเรื่องเหมือนกัน เนื่องจากเขาพยายามเดินสายวิ่งเต้นไปทั่วทั้งนักการเมือง ทหาร ไม่นับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่

ทำให้ผมมีโอกาสได้รู้จักกับนายทหารระดับยศพันเอก ซึ่งขณะนั้นเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่งขณะนั้นกำลังจะมีอนาคตทางราชการรุ่งโรจน์ถึงตำแหน่งนายพลแน่ๆ

แต่ต้องมามีอันเป็นไประหว่างเดินทางไปในราชการสำคัญยังจังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกเกิดอุบัติเหตุเครื่องเกี่ยวกับสายไฟฟ้าแรงสูงตกลงแถวๆ มีนบุรี กรุงเทพฯ ในเที่ยวกลับจะถึงที่หมายอยู่แล้ว เสียชีวิตหมดทั้งลำพร้อมด้วยนักบิน ช่างเครื่อง

 

ท่านผู้อ่านสูงวัยร่วมสมัยกับผม และติดตามข่าวสารบ้านเมืองชนิดเข้าเส้นเลือด บางทีอาจจะพอนึกออกบ้าง ถ้าหากท่านที่ต้องการเก็บบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ที่ผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ คงสามารถหาเอาได้ ด้วยเหตุว่าอุบัติเหตุจากเครื่องเฮลิคอปเตอร์ คงมีไม่มากจนเกินกำลังการค้นหา

นายทหารยศพันเอก ซึ่งผมพอจำได้ว่า 2 ท่าน ไม่รวมนักบิน ช่างเครื่องเสียชีวิตจากภารกิจที่เจ้านาย คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 21) เข้าใจว่าตามเวลาที่กล่าวถึงท่านยังเป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เพื่อนำหมายไปปล่อยตัววีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ จากศาลจังหวัดบุรีรัมย์