อภิญญา ตะวันออก : ละครบาสักกับบทเล่านอกโรง

อภิญญา ตะวันออก

ความทรงจำเยาว์วัยพอจำความได้ แม่คงอยากดูละครเอามากๆ เลยกระเตงฉันไปด้วย

แม้ว่าจะเล็กมากและแม่กลัวว่าเกิดฉันงอแง แต่เปล่า ฉันจ้องตาแป๋วไปที่ตัวละครในชุดเครื่องทรงโบราณนั่นอย่างมีสมาธิจดจำ ต่อมาจึงรู้ว่าเป็นละครชาตรี แต่ก็ไม่พบการแสดงแบบนี้อีกเลย

จากนั้นฉันก็รู้จักงิ้วย่านพระประแดง รวมทั้งลิเกที่ปิดวิกแสดงคราวละนานๆ ส่วนใหญ่ได้ดูแต่ตอนเปิดโรงสั้นๆ ประสบการณ์ละครพื้นบ้านที่จำกัดแค่นั้น ดูจะเป็นความซุกซนแบบเด็กๆ ที่พวกเราพากันไปแอบดูนางเอกลิเกคณะบุษบา นางนุ่งผ้าซิ่นกำลังถุนยาแถมหน้าตาไร้เครื่องสำอาง ไม่ต่างจากหญิงบ้านๆ ที่นั่งเฝ้าโรงแต่เดียวดาย

คงเหมือนฉันตอนนี้ ผู้ติดกับดักเรื่องราวยุคเก่าที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ไม่ต่างจากกรณีละครบาสักกัมพูชา

พลันความหมายบางอย่างก็พลัดหลงเข้ามาและเฉิดฉายในจิตใจ

มันคือการแสดงท้องถิ่นแบบงิ้วผสมลิเกแถบลุ่มน้ำบาสักและแม่โขงตอนปลาย

อนึ่ง ละครบาสักฉบับกัมปูเจียกรอมในมุมของฉัน โดยจริงแล้ว แม่น้ำบาสักมีทั้งส่วนที่ไหลผ่านกรุงพนมเปญกัมพูชาตรงส่วนที่แม่น้ำสี่สายมาบรรจบกันและเรียกว่าจตุรมุข

แต่ละครบาสักที่ฉันรู้จักครั้งแรกนั้นน่าจะมาจาก “อินโดจีน” ภาพยนตร์ยุค 80 และอีกครั้งที่นักสร้างหนังฝรั่งเศสยุคนั้น สามารถหยิบเอาศิลปะการแสดงท้องถิ่นมาประดับเป็นศาสตร์หนังอย่างสมบูรณ์ จนคนดูอย่างฉันไม่อาจแยกแยะได้ว่า นี่คือวัฒนธรรมของชาวกัมพูชาใต้ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างจากชาวอันนัมอย่างสิ้นเชิง

โดยเฉพาะอิทธิพล “ละครฮี” หรืออุปรากรจีนที่แฝงอยู่ในละครบาสักด้วยแล้ว มีแนวโน้มว่าจะทำให้รู้สึกว่า ละครบาสักคือผลิตกรรมอันเกิดจากอันนัมหรือเวียดนามเลยทีเดียว

แต่ลึกไปกว่านั้น คือการที่ละครบาสักหาใช่การแสดงพื้นบ้านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการต่อสู้ของชนพื้นถิ่นที่มีต่ออำนาจรัฐ หรืออย่างน้อยภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้รู้สึกเช่นนั้น

เช่นเดียวกับความเป็นชนชาติ 2 วัฒนธรรมระหว่างชาวอันนัม-กัมปูเจียกรอม และงิ้วอุปรากรจีนกับลิเกที่อยู่ในละครบาสักนั่น

 

ต้องแจงว่า ในส่วนของกัมพูชากลางนั้น ลิเกคือการแสดงพื้นบ้านอีกแขนงที่ไม่เกี่ยวกับละครบาสัก แต่สำหรับมุมมองจากคนนอกเช่นฉัน อาจแยกความเป็นลิเกแขมฺร์กับละครบาสักได้ไม่ดีนัก นอกจากค้นพบว่า ละครบาสักดูจะเป็นการแสดงที่จับใจชาวเขมรกลางนัก โดยเฉพาะในความระหกระเหินของละครพื้นบ้านแขนงนี้ ช่างมีความเป็นมาไม่น้อย

ด้วยเหตุนั้น เราจึงเว้นไปก่อนเถิดว่า ละครบาสักถือกำเนิดโดยกลุ่มใดกันแน่

แต่ใกล้เคียงที่สุดนั้น สำหรับกัมพูชากลางคือราวปี 1930 ที่เริ่มบันทึกว่าละครบาสักมีตัวตนในเขตนี้ และเฟื่องฟูอย่างมากในทศวรรษ 40 เมื่อเหล่าคหบดีนิยมมีคณะละครบาสักกันอย่างเอิกเกริกเหมือนกับที่กษัตริย์เขมรมีละครส่วนพระองค์

กระนั้นก็ไม่พบหลักฐานว่าราชสำนักกัมพูชาให้การอุปถัมภ์ละครบาสักแต่อย่างใด

ที่น่าสนใจคือพบว่าความอลังการในการแสดงละครชุดนี้ ที่ประกอบด้วยบทร้องของดนตรีพิณพาทย์ เครื่องทรงแบบราชสำนักผสมผสานกับชุดอุปรากรจีน อาวุธดาบ ธนู หอก ทวน เสริมส่งให้ละครที่ดัดแปลงจากละครพื้นบ้านมีความยิ่งใหญ่โบราณ

จึงไม่แปลกที่ละครบาสักแนวจักรๆ วงศ์ๆ อาทิ สังข์ศิลป์ชัยและอื่นๆ เป็นที่นิยม โดยเฉพาะคณะบัณฑิต เปรง แห่งจังหวัดกำปงจามที่โด่งดังอย่างมากเพราะคนดูล้นหลามถึงขนาดปิดวิกแสดงกันข้ามปีเลยทีเดียว

เล่ากันว่า รสนิยมดูละครของชาวเขมรนั้นแพร่และกว้างขวาง ใช่แต่เฉพาะชนชั้นกษัตริย์เท่านั้นที่นิยมการละคร แต่ทุกหมู่ชนประชาราษฎร์ ทั้งนักสรก-ชาวสแรและยาจก-เศรษฐี ล้วนมีรสนิยมอันสมบูรณ์เดียวกัน

จึงไม่แปลกว่ากษัตริย์เขมรบางรัชกาล เพียงเพื่อคงไว้ในนางละครส่วนพระองค์ ทรงถึงกับยอมหลักเหลี่ยมการเมืองแก่ข้าหลวงฝรั่งเศสและพระราชอำนาจบางส่วนเลยทีเดียว

 

และนับว่าละครบาสักเป็นแบบฉบับความบันเทิงที่มาพร้อมกับการต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองดังเช่นที่ผู้นำท้องถิ่นกัมปูเจียกรอมต้องสูญเสียและจบชีวิตคนแล้วคนเล่าจากการกวาดล้าง ติดคุกและถูกสังหาร

ดังนี้ ความบันเทิงของละครบาสักจึงมาพร้อมกับการเมืองร่วมสมัย

แต่พัฒนาการละครบาสักของชาวเขมรกลางราวทศวรรษ 50 นั้นได้เคลื่อนเป็นละครโบราณชั้นสูง มีการนำเนื้อหาเทพนิยายมาดัดแปลงจนกลายเป็นละครพื้นบ้าน ถึงขนาดที่ว่า ยุคสังคมใหม่กัมพูชาราว 1960-1975 เมื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์เฟื่องฟูนั้น ละครบาสักก็ยังครองใจชาวประชา

มีผลิตกรรมภาพยนตร์จำนวนมากที่ยึดเอาละครบาสักเป็นโมเดลความสำเร็จที่วัดจากรายได้และบริษัทภาพยนตร์ กึ่งหนึ่งหรือกว่านั้น นำละครพื้นบ้านและละครบาสักมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ กวาดรายได้อย่างถล่มทลายเลยทีเดียว

จนกล่าวได้ว่า ละครบาสักได้สร้างเศรษฐีใหม่ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์กัมพูชาจำนวนมาก

คุณูปการดังกล่าวนี้ นอกจากเสริมส่งต่อคนในวงการละครบาสักแล้ว ยังทำให้โลกภาพยนตร์กัมพูชากลายเป็นสินค้าส่งออกตีตลาดในภูมิภาค แบบเดียวกับหนังอินดียที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

อย่างลึกซึ้งที่จะกล่าวว่า ละครบาสักจึงเป็นเหมือนเครื่องมือส่งออกทางวัฒนธรรมมากกว่าความเป็นละครพื้นบ้านของชาวเขมรใต้ การต่อสู้ที่มาจากฐานรากหญ้าประชาชนยุคนั้น ที่หลงเหลือเป็นเพียงชาวกัมปูเจียกรอมและชนกลุ่มน้อยเวียดนามในยุคหลัง

กระนั้น พลังของละครบาสักก็ยังถูกจดจำและถ่ายผ่านในรูปแบบการแสดงพื้นบ้าน จากละครถึงภาพยนตร์ จากสมัยอาณานิคมยุคแรกจนสู่ยุควัฒนธรรมตะวันตกและสงครามกลางเมืองของทศวรรษที่ 70 และจากสังคมเขมรเก่าสู่ยุคสังคมใหม่

ทุกวันนี้เศษฟิล์มที่พบจากเขมรแดงทำลายกลายเป็นหลักฐานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ล้วนแต่เป็นหนังเขมรที่ดัดแปลงมาจากละครบาสักเกือบทั้งสิ้น

 

พลันนั่นเอง ที่บทบาทของละครบาสักยามชราก็กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง สำหรับมุมมองการเดินทางอันถ่ายผ่านที่มาจากละครบาสักกัมพูชาที่อยู่ในความรู้สึกของฉันและข้อจดจำน้อยๆ จากปริง สาคร นักแสดงละครบาสักรุ่นสุดท้ายผู้กล่าวว่า

“ความสามารถของศาสตร์แขนงนี้ อยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ แต่ถ้าเราขาดแคลนมันเสียแล้ว ก็ยากนักที่จะขับเคลื่อนและสร้างขึ้นใหม่ภายในวันเดียว”

ในวันที่ไปกับมนต์ขลังละครบาสักที่กำลังจะถึงกาลอวสาน อีกศิลปินพื้นบ้านกัมพูชาคนสุดท้ายกำลังจะลาโลกไปพร้อมๆ กับวิกแสดงของละครบาสักที่นับถอยหลังวัยปิดตัวอย่างถาวรนั้น ความเห็นของปริง สาคร ช่างเบาหวิวราวสายลม

เป็นที่รู้กันว่า หลายเรื่องของละครพื้นบ้านแนวประเพณีจำนวนมากที่ถูกนำไปดัดแปลงแสดงในรูปละครบาสักนี้ มีทำนองเจิงเดียวกับรามายณะในแง่ที่เป็นสมบัติร่วมสมัยของชาวสุวรรณภูมิร่วมกัน

ดังนั้น จึงใช่แต่สูญเสียหัวใจละครพื้นบ้านเขมรเท่านั้น แต่การล้มหายตายจากของละครบาสักที่ละครอื่นๆ ซึ่งร่วมสมัยทางวัฒนธรรมในหมู่ชาติพันธุ์อาคเนย์

ซึ่งในเชิงปัจเจกนั้น ฉันรู้สึกอาลัยนัก