มุกดา สุวรรณชาติ : การเปลี่ยนแปลงใหญ่มาแล้ว รออยู่นอกสภา

มุกดา สุวรรณชาติ

ประเมินสถานการณ์

สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ มีแรงกดดันที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน

1. แรงกดดันจากเศรษฐกิจตกต่ำ ที่สร้างความยากลำบากให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะฟื้นเพราะเป็นการตกต่ำมากที่สุดในรอบ 50 ปี แต่ผู้บริหารประเทศไม่มีแนวทางการแก้ไข

หลังจากนี้อีก 3 เดือนธุรกิจจะล้มอย่างมากมาย คนจะตกงานชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน

2. แรงกดดันจากโรคระบาด Covid-19 เรื่องนี้เป็นตัวแปรที่ยังประเมินไม่ได้ เพราะการระบาดของโรคนี้เกิดซ้ำได้ง่าย

ที่จริงแล้วการเสียชีวิตจากโรคนี้สำหรับประเทศไทยมีน้อยมาก แต่ที่ผ่านมามีการโฆษณาที่สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน จนอยู่ในขั้นแตกตื่น

ในหลายประเทศเขาใช้วิธีทำความเข้าใจและให้ประชาชนปรับตัวต่อสู้กับโรค เพราะประเมินแล้วโรคระบาดนี้จะคงอยู่คล้ายกับไข้หวัด จำนวนผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้มีอัตราสูง ถ้าหากตื่นตระหนกปิดบ้านปิดเมือง ระบบเศรษฐกิจก็จะพังทลายทั้งหมด

สภาพของไทยในวันนี้ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะขู่เอาไว้มาก แต่อยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา คนก็ต่อต้าน

ตอนนี้งานไม่มีทำ รายได้ไม่มีเข้าประเทศ ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วเกิดมีผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยถ้าเกิดตื่นตระหนกและปิดเมืองกันครั้งใหม่คงจะเสียหายมากกว่านี้

ผู้บริหารต้องกำหนดแนวทางและวิธีการที่จะสู้กับโรคระบาดแบบนี้เสียใหม่ให้ถูกต้องตามสภาพเป็นจริง

3. แรงกดดันทางการเมือง ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 จนถึงการรัฐประหาร 2557

แม้การสืบทอดอำนาจจะทำสำเร็จในปี 2562 แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเมื่อรัฐบาลไม่มีฝีมือบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ประชาชนก็ต้องการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามปกติ ได้ลงทุนลงแรงมาตั้งแต่ปี 2557 และปกครองใต้อำนาจการรัฐประหารจนมาถึงหลังเลือกตั้ง 2562 ปัญหาที่สร้างไว้ก็มีมากมาย การจะลงจากหลังเสือจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ความขัดแย้งขยายแน่

กลุ่มที่อาจจะเป็นปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

1. กลุ่มนักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหวทั่วประเทศ

2. กลุ่มการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อแย่งชิงตำแหน่งในรัฐบาล

3. การเคลื่อนไหวของรัฐบาลเพื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมและการตั้งกรรมการปฏิรูป

4. การเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน

 

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาจะมีต่อเนื่อง

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาครั้งนี้ถือเป็นภาค 2 ต่อจากภาค 1 ซึ่งถูกสกัดด้วยโรคระบาด covid-19 ถ้ามองดูข้อเสนอเป็นข้อเสนอทางการเมือง

1. ให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนจัดการเลือกตั้งใหม่

2. ให้หยุดคุกคามประชาชน หยุดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

3. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากตัวแทนประชาชน

วิเคราะห์การเคลื่อนไหวล่าสุดได้ว่านี่เป็นแค่การทดสอบกำลัง แต่ข้อเรียกร้องเป็นเรื่องจริงจัง และจะมีการชุมนุมซ้ำในช่วงเปิดภาคเรียน

สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อประชาชนซึ่งนับวันจะหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เชื่อได้ว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวซ้ำ โดยมีข้อเรียกร้องทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มเข้ามา คนที่เดือดร้อนก็จะเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกลุ่มนักศึกษายกปัญหาใดขึ้นมาก็ล้วนแล้วแต่จะเป็นบาดแผลที่เห็นได้ทั่วทั้งประเทศ ถ้าเกิดการทุจริตในโครงการต่างๆ นั่นจะกลายเป็นฟางก้อนสุดท้ายของปัญหาชาวบ้าน ที่ถูกประกายไฟทางการเมือง ลามไปติด และจะลุกลามต่อเนื่องไปสู่ทุกๆ ปัญหา

กลุ่มคนหนุ่ม-สาวและนักศึกษามีข้อเสนอที่ถูกต้องคือ ถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้จะต้องเปลี่ยนผู้บริหารที่มีความสามารถเข้ามาแทน และการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับจากตัวแทนประชาชน มันเป็นวิธีเดียวที่จะได้กติกาที่เหมาะสมและยุติธรรม เพื่อจะได้คัดเลือกและตรวจสอบบุคคลที่จะเข้าไปบริหารและปกครอง จึงจะแก้ไขและพัฒนาประเทศชาติได้

การนัดชุมนุมของฝ่ายที่ต้องการเชียร์รัฐบาล จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลเพราะจะทำให้การชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมที่ฝ่ายไหนจะชุมนุมแสดงพลังและเจตนารมณ์ก็ทำได้ตามสิทธิประชาธิปไตย

ถ้าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้รับสิทธิประโยชน์อันใด ฝ่ายต่อต้านก็ต้องเรียกร้องสิทธิประโยชน์อันนั้น และข้อยกเว้นที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ ก็ต้องให้เหมือนกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดในประเทศเสรีประชาธิปไตยที่เจริญแล้วทั่วโลก

 

การชุมนุมทางการเมือง…
ต่อไปจะเป็นแบบ New Normal

การชุมนุมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทีมงานเราคงไม่เคยมีบทเรียน และตามเด็กยุคนี้ไม่ทัน แต่คาดว่าคงจะคล้ายกับเมื่อต้นปี คือการกำหนดเวลานัดหมายคงไม่ต้องกำหนดล่วงหน้านาน คงเลือกสถานที่ที่เดินทางไปมาสะดวก มีห้องน้ำ มีแหล่งอาหาร อยู่บริเวณใกล้เคียง ปลอดภัย

ระยะเวลาการชุมนุมคงไม่จำเป็นต้องนานมาก แต่ก็ยาวพอที่จะมีการอภิปรายตามหัวข้อที่กำหนดได้ เริ่มและเลิกการชุมนุมในช่วงเวลาที่เหมาะสม ผู้มาร่วมจะมาได้สะดวก กลับได้สะดวก เช่น 17.00 น. ถึง 22.00 น. ทั่วโลกทำกันอย่างนี้ ไม่ต้องชุมนุมทีละ 3 เดือน

แต่การร้องขอให้คนเข้าร่วมชุมนุมแสดงพลังหรือความต้องการ พวกเขาต้องพยายามอธิบายเป้าหมายให้ชัดเจนในการขอให้คนเข้าร่วมเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง เพื่อเป็นการแสดงพลังของประชาชนต่อข้อเรียกร้องนั้นๆ มิฉะนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะยังดูอยู่หน้าจอ

การชุมนุมทางการเมืองไม่ใช่การระดมกำลังไปสู้รบ แต่เป็นการระดมกำลังอย่างสันติ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่าการเดินทางเข้าคูหาไปเลือกตั้ง การชุมนุมทางการเมืองในยุคใหม่จะพบว่ามิใช่เพียงผู้เข้าร่วมในสถานที่นั้นที่รับรู้ได้ ยังมีการถ่ายทอดผ่านระบบการสื่อสารต่างๆ ทำให้มีผู้รับฟังและชมเป็นหลักแสน และยังมีการส่งต่อไปอีกเป็นหลักล้าน

 

เรื่องการปรับ ครม.ของรัฐบาล…แบ่งกันได้

ความขัดแย้งภายในรัฐบาลยังไม่อยู่ในระดับที่จะทำให้รัฐบาลล้มได้ เพราะทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลยังคงรอคอยให้งบประมาณผ่านสภาและออกมาปฏิบัติเพื่อลงในพื้นที่ต่างๆ ทั้งงบฯ ช่วยเหลือ covid-19 จำนวน 1.9 ล้านล้าน (เกือบหมดแล้ว เหลือแต่ที่จะช่วย SME ซึ่งค้างท่อจ่ายไม่ออก จนมีธุรกิจล้มทุกวัน) และงบประมาณปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้าน

แต่ความแข็งแกร่งของกำลังของกลุ่มการเมืองจะวัดได้ต้องดูการปรับ ครม. ว่าใครดำรงตำแหน่งกระทรวงที่มีความสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไร

ถ้าความแข็งแกร่งของ พล.อ.ประวิตรเหนือกว่าอย่างแท้จริงก็จะได้กระทรวงมหาดไทยไปดูแล นั่นหมายถึงสามารถจะกระจายงบประมาณต่างๆ ไปให้จังหวัดและเป็นที่ยอมรับของพวก ส.ส.จากทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลและบารมีจะแผ่มาถึงฝ่ายค้านด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลยังไงก็ต้องช่วยประชาชนผ่านงบประมาณเหล่านั้นในทุกจังหวัดแม้จะไม่มี ส.ส.พรรครัฐบาลอยู่ในจังหวัดนั้นเลยก็ตาม กระทรวงมหาดไทยจึงเป็นกระทรวงสารพัดนึกที่แม้ไม่สามารถบำบัดทุกข์ได้อย่างถาวร แต่ก็สามารถแจกจ่ายงบประมาณไปตามท้องที่ต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล นายอำเภอ ผู้ว่าฯ นายก อบจ. และ ส.จ. ดังนั้น จะเป็นที่ชื่นชมของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ชาวบ้านก็จะได้รับผลตอบแทนเล็กน้อยจากงบประมาณเหล่านี้ด้วย

ถ้า พล.อ.ประวิตรไม่ได้คุมกระทรวงมหาดไทย แสดงว่าที่ออกแรงดันกันมาเป็นเดือน ถือว่าเสียหาย

ส่วนกระทรวงพลังงานอันนี้ไม่ได้มีไว้ให้ระดับตัวเล็กตัวน้อยหรือชาวบ้านมายุ่งเกี่ยว เป็นงานระดับนโยบายที่จะมีผลต่อนายทุนระดับกลางระดับใหญ่ แต่ถ้านายกฯ ต้องสูญเสียทั้งมหาดไทยและพลังงาน แสดงว่าอำนาจกำลังเปลี่ยนขั้วแล้ว

ดูสีหน้าหัวหน้า พปชร. วันที่ 21 กรกฎาคม คิดว่าตกลงกันได้แล้ว 80%

 

การเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน…ยังไม่แรงพอ

ถ้ามองเกมนอกสภายังคงเป็นบทบาทของคณะก้าวหน้ากับพรรคก้าวไกล เป็นพวกเดียวที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่เกมในสภาทุกพรรคก็มีบทบาทในการอภิปราย และเป็นการเดินเกมไปตามระบบรัฐสภา ไม่มีผลอะไรต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้เสียงของฝ่ายรัฐบาลไม่ได้อยู่ในสภาพปริ่มน้ำเหมือนหลังเลือกตั้งใหม่ๆ แต่ลิงที่เป็นกำลังหนุนก็เรียกร้องจะกินกล้วยตลอดเวลา

บทบาทของพรรคเพื่อไทยเริ่มทำให้ประชาชนที่เป็นกองเชียร์แปลกใจ ไม่ใช่การแพ้เลือกตั้งที่ลำปาง เพราะการไม่มีคนลงสมัครในครั้งนั้นคนทั่วไปคิดว่าเป็นผู้สมัครไม่ใช่พรรค

แต่เหตุการณ์ล่าสุดกรณีคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่มีข่าวว่าได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการงบประมาณและถูกถอดชื่อเปลี่ยนตัวในตอนท้าย ย่อมเป็นที่แปลกใจของคนที่ติดตามการเมืองมาตลอด

เพราะฝีมือระดับคุณเรืองไกรคือมือกระบี่ระดับแนวหน้าที่สามารถทะลวงฟันเจาะแนวตั้งรับคู่ต่อสู้ได้อย่างดีที่สุด สามารถจะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนในการทำงานด้านงบประมาณ

การเปลี่ยนตัวคุณเรืองไกรออกจากกรรมาธิการงบประมาณถ้ามีมือดีกว่า มีฝีมือเหนือกว่าเข้ามาแทนก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าเป็นเหตุผลเพราะว่าคุณเรืองไกรไม่ใช่ ส.ส.ก็เป็นเรื่องฟังไม่ขึ้น เพราะการตั้งกรรมาธิการชุดนี้ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.

ประชาชนจึงไม่ได้หยุดคิดแค่การแย่งตำแหน่ง แต่ยังมองไปไกลถึงว่านี่จะเป็นการล้มบอลหรือไม่ ถึงไม่เอาตัวจริงลงสนาม

แต่คิดว่ามืออาชีพระดับเรืองไกรคงหนักแน่นพอที่จะไม่ทิ้งการต่อสู้ไป แต่จะขยับย้ายที่ยืนไปตรงจุดใดต้องแล้วแต่จะเลือกเพราะมีคนเสนอมาจนโทรศัพท์ดังไม่หยุด

อนาคตของเพื่อไทย พปชร. และ ปชป. ยามนี้คล้ายกันตรงที่ว่า ฐานมวลชนของแต่ละพรรคไม่ถูกใจการทำงานของผู้บริหาร และ ส.ส.ที่ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ

 

กฎหมายนิรโทษและกรรมการปฏิรูป
แค่รางวัลปลอบใจ

เนื้อหาคงยังวิจารณ์ไม่ได้ จนกว่าจะเห็นการทำงานและแนวทางปฏิรูปของแต่ละกลุ่ม แต่ดูจากประวัติทางการเมือง และระยะเวลาของการตั้งกรรมการปฏิรูป ก็ไม่ตรงกับคำขวัญที่ว่า…ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง…เพราะเคลื่อนไหว เรียกร้องล้มเลือกตั้งมากว่า 6 ปี จนเกิดรัฐประหาร ก็ไม่เห็นมีใครทำตามสัญญา แถมยังใช้เวลานานมาก และเห็นได้ชัดแล้วว่ามันไม่ได้มีการปฏิรูปอะไรเลย

ผลที่ออกมาจึงกลายเป็นเครื่องมือของการรัฐประหาร 2557 และการสืบทอดอำนาจโดยการเลือกตั้ง 2562 แถมได้รัฐธรรมนูญฉบับที่แย่ที่สุด ฉบับ 2560 ที่ร่างขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจอย่างแท้จริง ซึ่งแก้ไม่ได้จริงโดยสภา

และเมื่อมาตั้งกรรมการปฏิรูปในช่วงเวลานี้ มันก็เหมือนกับการให้รางวัลคนที่ร่วมมือกันจนเกิดการรัฐประหารตั้งรัฐบาลเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จนกระทั่งเลือกตั้งแปลงกายให้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

คนที่ได้รางวัลจึงมีทั้งสมาชิกสภาต่างๆ และกรรมการต่างๆ ที่จะได้คือค่าตอบแทนเบี้ยประชุมจากภาษีประชาชน

ส่วนการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ประชาชนที่รัฐบาลเรียกว่า “ฝ่ายตรงข้าม” คงไม่อยากได้เพราะคนเหล่านี้สู้กับการปล้นอำนาจมาอย่างยาวนาน ถูกจับติดคุกหลายครั้งหลายคดี มีคนมาสู้ต่อก็โดนเล่นงานอีก

เอาแค่เรื่องชุมนุมทางการเมืองไม่กี่วันนี้ ถ้ายังไม่ยอมรับว่าเป็นสิทธิ มันก็เดินต่อไม่ได้แล้ว ที่พวกเขาจับตามองคือการดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้ามของพวกเขา เช่นกัน คงจะจุดชนวนเรื่องการสังหารประชาชนขึ้นมาอีกแน่

กฎหมายนี้น่าจะสร้างความขัดแย้งมากกว่าปรองดอง

 

สรุปโดยรวมว่า ถ้ารัฐบาลไปไม่ไหวแล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ การเปลี่ยนแปลงใหญ่จะยังไม่เกิดขึ้น ช่วงเวลาที่ยากลำบากจะยืดออกไปอีก เพราะความสามารถของรัฐบาลชุดนี้ยังไม่อยู่ในระดับที่จะมาแก้ปัญหาได้

ดังนั้น ในช่วงเวลาอีกไม่กี่เดือน ปัญหาเศรษฐกิจจะผลักดันให้ผู้คนเดือดร้อน จนเกิดปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรมขึ้นอย่างมากมาย

แต่ข้อเรียกร้องเรื่องยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของนักศึกษาเป็นหัวใจของการสืบทอดอำนาจ ที่กลุ่มอำนาจเก่าได้ลงทุนลงแรง สร้างม็อบ ทำรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ Design รัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลชุดนี้จะยอมทำตามข้อเสนอของเยาวชนที่ก้าวหน้าเหล่านั้น และมันจะไปลงเอยที่ข้อเสนอเรื่องอย่าคุกคามและจำกัดเสรีภาพของประชาชน เพราะรัฐบาลก็จะจำกัดการเคลื่อนไหว ความขัดแย้งก็จะขยายตัวขึ้น

ยุค 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ยุทธศาสตร์ของกลุ่มอำนาจเก่าคือปราบนักศึกษาที่ก้าวหน้าด้วยกำลัง ความขัดแย้งจึงขยาย ผลักดันให้คนหนุ่ม-สาวใช้อาวุธต่อสู้บ้าง

แต่ครั้งนี้จะแรงขึ้นแค่ไหน เมื่อใด ขณะนี้ยังไม่มีใครบอกได้

ตัวแปรความแรงของสถานการณ์คือรัฐบาล ว่ากำหนดยุทธศาสตร์ไว้อย่างไร อันนี้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ 20 ปี สถานการณ์วันนี้คงทำได้ระยะสั้นเพียงแค่ 20 สัปดาห์เท่านั้น