สุรชาติ บำรุงสุข | วิกฤตศรัทธา! เรื่องเล่าจากปี 2516

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หนึ่งในจุดจบของรัฐบาลที่เห็นได้ชัดก็คือ การเกิดสภาวะ “วิกฤตศรัทธา” ซึ่งวิกฤตนี้ไม่แต่เพียงทำลายความเชื่อถือของสังคมที่มีต่อรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ยังทำลายของความชอบธรรมของรัฐบาลเองอีกด้วย และสภาวะดังกล่าวด้านหนึ่งอาจนำไปสู่การยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินอนาคตของรัฐบาล หรือในอีกด้านหนึ่งอาจต้องเผชิญกับการต่อต้านและการประท้วงบนถนน

หากย้อนกลับไปดูอดีตของการเมืองไทยแล้ว บทเรียนสำคัญที่แม้อาจจะดูเป็นเรื่องเก่า แต่ก็เป็นบทเตือนใจที่ดีสำหรับทุกรัฐบาลเสมอว่า “จุดเริ่มต้นของวิกฤตศรัทธาคือจุดจบของรัฐบาล” เพราะเมื่อไหร่ที่สาธารณชนไม่มีความเชื่อถือต่อรัฐบาลเหลือแล้ว เมื่อนั้นโอกาสของรัฐบาลที่จะอยู่ต่อไปจะกลายเป็นความยากลำบากทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นจึงมีแต่เพียงว่า รัฐบาลดังกล่าวจะจบลงอย่างไร และจะจบลงเมื่อใดเท่านั้น ดังจะเห็นได้จาก “กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร” ในปี 2516

วิกฤตทุ่งใหญ่!
เหตุการณ์นี้เริ่มต้นในช่วงปลายเดือนเมษายน 2516 เมื่อมีทหารและตำรวจนำเอาเฮลิคอปเตอร์เข้าไปล่าสัตว์ในบริเวณเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ จนสุดท้ายเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวได้ตกลงที่บางเลน นครปฐม และในพื้นที่ที่เครื่องตกนั้น กลับพบซากสัตว์ป่า และขณะเดียวกันนิสิตนักศึกษาจากชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ยืนยันด้วยบันทึกและภาพถ่ายว่า เครื่องดังกล่าวได้นำทหาร ตำรวจ และพลเรือนเข้าไปล่าสัตว์ แต่รัฐบาลโดยจอมพลถนอม กิตติขจรกลับแถลงยืนยันว่า พวกเขา “ไปปฎิบัติหน้าที่ราชการลับ ซึ่งลับมาก จนไม่อาจเปิดเผยได้” (2 พฤษภาคม 2516)

อีกทั้งเพื่อช่วยเหลือในทางรูปคดี ฝ่ายเจ้าหน้าที่จึงแก้ตัวเพื่อให้ดูสมจริงว่า ซากสัตว์ที่เห็นจากเครื่องนั้น เป็นการ “พรางตัว ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ จึงทำตัวเป็นนักล่าสัตว์บังหน้า” ฉะนั้นสำหรับผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้ ถือว่าพวกเขาตายในขณะปฎิบัติหน้าที่ราชการ

พันเอกณรงค์ กิตติขจร ยืนยันอีกครั้งว่า “เรื่องนี้เป็นความลับ ยังบอกอะไรไม่ได้…” และกล่าวหาว่า อธิบดีกรมป่าไม้สร้างเรื่องนี้ขึ้นมา อีกทั้งฝ่ายทหารอย่างผู้บังคับการกองการบินขนส่งทหารบก ออกมาตอกย้ำว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ “พาลหาเรื่องกล่าวหาทหาร” (3 พฤษภาคม 2516)

นอกจากนี้จอมพลถนอมออกมากล่าวอีกครั้งว่า “ทหารและตำรวจที่อยู่ในเฮลิคอปเตอร์ตกไปราชการลับจริง ด้วยปัญหาความปลอดภัยระหว่างที่นายพลเนวินแห่งพม่าเดินทางมาเยือนไทย โดยผู้ไปปฎิบัติราชการลับ เดินทางไปชายแดนด้านกาญจนบุรี” (9 พฤษภาคม 2516) และพันเอกณรงค์ ออกมากล่าวเพิ่มเติมเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่ที่เดินทางเข้าไปในทุ่งใหญ่นั้น “ไปราชการลับจริง…” (10 พฤษภาคม 2516) หรือพลเอกประภาส จารุเสถียร ก็ออกมายืนยันในทิศทางเดียวกันว่า “ก็มันเป็นราชการลับ พูดไม่ได้…” (19 พฤษภาคม 2516) และย้ำอีกครั้งว่า “เจ้าหน้าที่ที่ไปราชการลับได้ไปตั้งแคมป์ที่ทุ่งใหญ่ เขตต่อชายแดนพม่า โดยเอาเฮลิคอปเตอร์ไปด้วย…” (29 พฤษภาคม 2516)

อีกทั้งเพื่อให้คำกล่าวของผู้นำรัฐบาลมีความสมจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ออกมาสร้างเรื่องในอีกแบบว่า เป็นความผิดของสื่อที่นำเสนอเรื่องนี้ เพราะ “เขาสัตว์ที่พวกคุณ[สื่อ]ว่าเป็นเขากระทิงก็เป็นเพียงเขาวัวธรรมดา ที่มีการขัดถูอย่างสะอาดเรียบร้อยแล้ว เนื้อหรือขากระทิงก็เป็นเพียงเนื้อเค็มธรรมดาเท่านั้น… พวกหนังสือพิมพ์ไปถ่ายรูปที่ไหนกันมาลง และเขาวัวหรือกระดูกอะไรที่เฮลิคอปเตอร์เหล่านั้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครโยนมาในตอนนั้น” (29 พฤษภาคม 2516)

วิกฤตและจุดจบ
ผลการสอบสวนออกมาในแบบที่ค้านกับความรู้สึกของสังคมว่า “การนำเฮลิคอปเตอร์ไปใช้ครั้งนี้เป็นคำสั่งของผู้บัญชาการทหารบกซึ่งเป็นราชการลับ และราชการลับที่ไปปฎิบัติครั้งนี้ ให้ถือเอาป่าทุ่งใหญ่ กาญจนบุรี เป็นฐานปฎิบัติการ…” (5 มิถุนายน 2516) เพราะคำแถลงดังกล่าวไม่เพียงแตกต่างจากภาพและข้อมูลที่ปรากฎในสื่ออย่างชัดเจน หากคำอธิบายของฝ่ายรัฐบาลไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่า “รัฐบาลโกหก” และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลกำลังหมดลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำทหารที่เป็นรัฐบาลนั้น มักจะเชื่อว่า พวกเขายังมีอำนาจในการควบคุมทางสังคม เพราะมีกองทัพและหน่วยราชการอยู่ในมือ จนอาจจะไม่ตระหนักว่า สภาวะของศรัทธาที่หมดลงนั้น กำลังก่อตัวเป็นวิกฤต และอาจเป็นดัง “พายุลูกใหญ่” ในอนาคต

ความเชื่อถือของสังคมต่อรัฐบาลที่หมดสิ้นลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อนิสิตนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ฯ จัดทำหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ออกจำหน่ายราคาเล่มละ 5 บาท ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยอดจัดพิมพ์จำนวน 5,000 เล่มนั้น ขายหมดในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ภาพถ่ายจากหนังสือพิมพ์เก่าในวันนั้น จะเห็นได้ว่า มีประชาชนเข้ามาแย่งกันซื้อเป็นจำนวนมาก

แต่รัฐบาลอาจจะไม่เข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า สถานะของรัฐบาลกำลังทรุดตัวลงอย่างมาก และการปกป้องบรรดา “พรานบรรดาศักดิ์” (คำที่ใช้ในยุคนั้น) ของรัฐบาลด้วยการ “สร้างเรื่องปลอม” นั้น ได้กลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” เพราะสังคมแสดงท่าทีที่ชัดเจนที่ไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร วิกฤตนี้ยังทำให้ความชอบธรรมของการเป็นรัฐบาลหมดตามไปด้วย

ปัญหานี้ในเวลาต่อมาขยายตัวมากขึ้น เมื่อมีการลบชื่อ 9 นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะมีการจัดพิมพ์หนังสือที่ล้อเลียนจอมพลทั้งสอง อันนำไปสู่การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาในวันที่ 21 มิถุนายน 2516 ที่บริเวณหอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สลายตัวในวันถัดมา ซึ่งถือว่าเป็นการชุมนุมประท้วงที่ใหญ่ที่สุดนับจากการประท้วงเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน

จากจุดนี้เองคือ เส้นทางที่พาการเมืองไทยเดินไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และนำไปสู่จุดจบของรัฐบาลจอมพลถนอม อันเป็นจุดของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองไทยที่พลังของนิสิตนักศึกษาและประชาชนร่วมใจกันในการโค่นล้มรัฐบาลทหาร จนต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของสังคมไทยหลังจากเหตุการณ์ 2475 แล้ว

บทเรียนจากกรณีทุ่งใหญ่ที่นำไปสู่ชัยชนะของนิสิตนักศึกษาประชาชนในปี 2516 ชี้ให้เห็นว่า เมื่อสังคมไม่เหลือศรัทธาต่อรัฐบาลแล้ว อนาคตของรัฐบาลที่เหลืออยู่จึงตั้งอยู่บนความเปราะบางอย่างยิ่ง และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงใหญ่แล้ว อายุขัยของรัฐบาลก็สิ้นสุดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

วิกฤตศรัทธาปัจจุบัน
สถานการณ์การเมืองในปี 2563 อาจจะแตกต่างอย่างมากจากบริบทในปี 2516 แต่สิ่งที่ไม่แตกต่างกันไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรก็ตามคือ ศรัทธาของสังคมที่มีต่อรัฐบาลยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงอยู่ในอนาคต เพราะศรัทธาที่หมดสิ้นลงก็คือ การหมดลงของความชอบธรรมของรัฐบาลในตัวเอง และคงต้องตระหนักเสมอว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะมีรูปแบบ หรือมีอำนาจเช่นไร แต่หากสังคมไม่ยอมรับแล้ว ก็คือการนับถอยหลังของอายุรัฐบาล

วันนี้การที่ตำรวจทำสำนวนใหม่และอัยการไม่ส่งฟ้องในคดีบุตรชายของกลุ่มทุนใหญ่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ไม่เพียงทำลายสถานะของระบบกฎหมายไทย ที่ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยว่า “คุกมีไว้ขังคนจน [เท่านั้น]” หากแต่ยังทำให้สังคมเกิดคำถามอย่างมากกับกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ในอีกด้านคือ ผลกระทบทางการเมืองที่รัฐบาลจะต้องแบกรับในฐานะหัวหน้าสูงสุดของหน่วยราชการไทย (ทั้งตำรวจและอัยการ) และผลกระทบนี้อาจจะกลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ในทางการเมืองต่อรัฐบาลอย่างหนีไม่พ้นด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ในอีกด้านว่า รัฐบาลนี้มีภาพลักษณ์ของการพันธมิตรกับกลุ่มทุนอย่างชัดเจน อีกทั้งรวมถึงการที่ทุนกลุ่มนี้บริจาคเงินจำนวนมากให้แก่รัฐบาลด้วย

ดังนั้นการถอนคดีดังกล่าวกำลังเป็นความท้าทายทางการเมืองครั้งใหญ่ของรัฐบาล คู่ขนานกับความท้าทายที่เกิดจากการประท้วงแบบต่อเนื่องของคนหนุ่มสาว จนอาจจะต้องยอมรับว่า การถอนคดีเป็นดังการ “เติมเชื้อไฟ” ให้แก่การประท้วงในตัวเอง แม้จะตอบไม่ได้ว่า วิกฤตศรัทธาที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้จะจบลงอย่างไร แต่อย่างน้อยตอบได้ว่า วิกฤตนี้ก่อตัวเป็น “พายุลูกใหญ่” ที่กำลังถาโถมเข้าใส่รัฐบาลอย่างแน่นอน!