เหรียญรุ่นแรก 2515 มงคล “หลวงพ่ออินทร์” พระเกจิดัง-วัดย่านซื่อ

โฟกัสพระเครื่อง

เหรียญรุ่นแรก 2515 มงคล “หลวงพ่ออินทร์” พระเกจิดัง-วัดย่านซื่อ

แหล่งธรรมในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องราวของอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง สำหรับ “วัดย่านซื่อ” ก็เช่นกัน

ตั้งอยู่ ต.ย่านซื่อ อ.กันตัง จ.ตรัง บนที่ดินเนื้อที่ 13 ไร่ 4 ตารางวา สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2425 โดยขุนสุนทร ร่วมกับชาวบ้านย่านซื่อ ปัจจุบันมีอาคารเสนาสนะต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ อุโบสถ, ศาลาการเปรียญ, กุฏิสงฆ์จำนวน 10 หลัง เป็นต้น

มีเจ้าอาวาสมาแล้ว 9 รูป เจ้าอาวาสรูปแรกคือ “พระสุก” แต่เจ้าอาวาสรูปที่โด่งดังมากที่สุด คือ “หลวงพ่ออินทร์ อินทสโร” หรือ “พ่อท่านอินทร์” เจ้าอาวาสวัดย่านซื่อรูปที่ 4 ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ.2460-2513 พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในเมืองตรัง

บรรดาวัตถุมงคลหลวงพ่ออินทร์ ล้วนเป็นที่ปรารถนา คือ ผ้าประเจียด ฯลฯ แต่ที่มีความต้องการและเสาะแสวงหาอย่างสูง ด้วยเป็น “เหรียญรุ่นแรก” ของท่าน

“หลวงพ่ออินทร์ อินทสโร” หรือ “พ่อท่านอินทร์”

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ รุ่น 1 สร้างขึ้นเมื่อปี 2515 เพื่อแจกให้แก่ประชาชนที่มาร่วมพิธีฌาปนกิจศพ

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ จัดสร้างเป็นเนื้อรมดำและเนื้อนวโลหะ

ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงพ่ออินทร์ นั่งขัดสมาธิเต็มองค์ เขียนข้อความด้านบนว่า “หลวงพ่ออินทร์ อินทสโร วัดย่านซื่อ ตรัง” ด้านหลังเหรียญ เป็นอักขระยันต์

กล่าวกันว่า แม้จะเป็นเหรียญตาย แม้หลวงพ่ออินทร์ไม่ได้ปลุกเสกเอง แต่มีพระเกจิดังในสายเขาอ้อมาร่วมปลุกเสกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อแสง ยโสธโร วัดคลองน้ำเจ็ด อ.เมือง จ.ตรัง, หลวงพ่อรุ่ง พุทธิรังโส วัดตรังคภูมิพุทธาวาส อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นต้น

ผู้ที่มีเหรียญรุ่นนี้ในครอบครอง ต่างมีประสบการณ์มากมาย ทำให้เหรียญรุ่นนี้ได้รับความนิยมสูงมาก ชาวเมืองตรังต่างปรารถนามีไว้ในครอบครอง

มีนามเดิมว่า อินทร์ สุวรรณราช เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2423 ที่ ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาในวัยเยาว์ด้วยฐานะทางบ้านยากจน ท่านจึงเป็นกำลังสำคัญช่วยหาเลี้ยงครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง

เมื่ออายุ 24 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดคลองน้ำเจ็ด อ.เมือง จ.ตรัง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2449

หลังอุปสมบท อยู่จำพรรษาที่วัดคลองน้ำเจ็ด โดยอาศัยอยู่กับพระครูธรรมจักร เจ้าอาวาส ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี

กล่าวถึงวัดย่านซื่อในขณะนั้นไม่ค่อยจะมีพระไปอยู่จำพรรษา แม้ถึงมีพระภิกษุอาสาไปอยู่ก็อยู่ได้ไม่นาน ประมาณ 2-3 ปี ล้วนแต่ลาสิกขาไปบ้าง ร่ำลือกันว่าที่วัดแห่งนี้มีผีดุมาก

จนเดือดร้อนถึงชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น ต้องไปขอคำปรึกษาจากพระครูธรรมจักร เมื่อท่านทราบเหตุผลแล้วจึงมอบหมายให้พ่อท่านอินทร์ และพระติดตามมาอีก 3 รูป มาอยู่จำพรรษาที่วัดดังกล่าว

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2451 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส

ต่อมาหลวงพ่ออินทร์ เริ่มพัฒนาวัด จากที่รกร้างและรกทึบไปด้วยป่าไม้ เปลี่ยนปรับปรุงให้เป็นวัดที่มีความสะอาดเรียบร้อย น่าอยู่น่าอาศัย เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ด้วยเป็นที่โล่งเตียน ปลอดโปร่ง และเป็นที่พึงพอใจของชาวบ้านทั้งใกล้และไกล

โดยเฉพาะในช่วงเย็น ซึ่งจะมีพวกชาวบ้านชักชวนกันมาฟังเทศน์และเจริญพระพุทธมนต์กันเป็นประจำ ทั้งวันพระและวันธรรมดา หลวงพ่ออินทร์เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปภายในวัดจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้ เช่น ทำวัตรเย็น ทำวัตรเช้า และสวดมนต์หลังจากทำวัตรแล้ว ซึ่งเป็นกิจของสงฆ์ที่พึงปฏิบัติ

นอกจากนี้ หลวงพ่ออินทร์ ยังเป็นหมอยารักษาโรคภัยไข้เจ็บและอาการบาดเจ็บต่างๆ หรือแม้กระทั่งถูกคุณไสย เป็นโรคหนองใน หรือฝีมะม่วง ทำให้มีชาวไทย-จีนเดินทางมารับการรักษาจากท่านเป็นจำนวนมาก บางรายถึงกับนำคนป่วยมานอนรักษาอยู่ที่วัดนานหลายเดือน

หลวงพ่ออินทร์ก็ไม่ปฏิเสธ พร้อมทั้งบอกว่า “เรามีความรู้ เราต้องช่วยเขา วิชาเรียนไว้เพื่อช่วยมนุษย์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก จึงต้องทำไปตามความสามารถ”

นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นด้านวิทยาคมหลายด้าน อาทิ อักขระขอม โดยเฉพาะผ้าประเจียด ฯลฯ จัดเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิชาในสมัยนั้น แต่ท่านไม่เคยอ้างอวดคุณวิเศษแต่อย่างใด

ขณะที่ลูกศิษย์หรือผู้ที่ใกล้ชิดต่างได้พบเห็นประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะจากวัตถุมงคล ซึ่งมีเพียงไม่กี่รุ่น และปัจจุบันหาได้ยาก

ผู้ที่มีไว้ครอบครองต่างก็หวงแหนกันเป็นอันมาก

แต่ละรุ่นเป็นที่หมายปองของบรรดานักสะสมนิยมพระเครื่องทั้งในจังหวัดตรัง และทั่วทั้งประเทศ

วาระสุดท้าย เมื่อปี 2515 หลวงพ่ออินทร์ ได้ละสังขารลงอย่างสงบ สิริอายุ 92 ปี

แม้สังขารจะแตกดับไปนาน แต่คุณงามความดียังคงปรากฏอยู่ในใจชาวเมืองตรังจวบปัจจุบัน