สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร / เสียงปืนแตก

สถานีคิดเลขที่ 12 /สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————–

เสียงปืนแตก

—————————

7 สิงหาคม 2563

จะครบ 55 ปี วันเสียงปืนแตก

ไม่อยากให้สังคมไทยกลับไปถึงจุดนั้นอีก

ทบทวนความจำ เป็นบทเรียนอีกครั้ง

มติชนออนไลน์ อ้างถึงเว็บไซต์ของอบต.โคกหินแฮ่ ( www.khokhinhae.com ) อ.เรณูนคร จ.นครพนม ให้ข้อมูลถึงบ้านนาบัว จุดเสียงปืนแตก ว่า

เป็นชุมชนตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2434 โดยชาวบ้าน 90 % อพยพมารวมกันเพราะไม่มีที่ทำกิน

ปี พ.ศ. 2445 ยกฐานะเป็นหมู่บ้าน

ปี พ.ศ. 2500 เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ปี พ.ศ. 2504 มีการจับกุมราษฎรในหมู่บ้านข้อหาอันธพาล

นำไปขังลืมไว้ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และย้ายไปขังไว้ที่เรือนจำนครบาล กรุงเทพ ฯ

ปี พ.ศ. 2507 แม้ราษฎรจะถูกปล่อยตัวกลับมาสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง

แต่รัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและอาสาสมัคร มาเคลื่อนไหวปราบปรามราษฎรอย่างหนัก

ราษฎรในพื้นที่ทยอยเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)มากขึ้น

วันที่ 7 สิงหาคม 2508 ทางการได้ส่งตำรวจทหารปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ในพื้นที่รอยต่อสามอำเภอ คือ อำเภอธาตุพนม อำเภอเมือง อำเภอนาแก พื้นที่ระหว่างบ้านนาบัว บ้านหนองฮี บ้านดงอินำ

เกิดการปะทะขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับสมาชิกพคท.นานประมาณ 45 นาที

ปรากฏว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 4 นาย ฝ่ายพคท.เสียชีวิต 1 นาย

หลังจากนั้นทางราชการยิ่งปราบปรามมากยิ่งขึ้น

ผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับราษฎรหลายคนในหมู่บ้าน ถูกจับในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

ทางการยิ่งเร่งการปราบปรามมากยิ่งขึ้นไปอีก

สั่งให้ราษฎรทำรั้วรอบหมู่บ้านอย่างแน่นหนา

สั่งให้ชาวบ้านไปรายงานตัวก่อนออกไปทำไร่ทำนา และช่วงกลับมาบ้านอย่างเคร่งครัด

ถ้าคนไหนฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างหนัก เช่น เตะ ตี และนำไปคุมขังที่ค่ายทหารบ้านหนองฮี และส่งไปที่ค่ายทหารกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดมุกดาหาร

เมื่อทางราชการเร่งมือปราบปราม ราษฎรก็ยิ่งหลั่งไหลเข้าร่วมต่อสู้กับพคท.มากยิ่งขึ้น

จนเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2508 พคท.เปิดการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองขึ้นที่ภูพาน

มีมติ ให้ประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตชนบทอย่างเป็นทางการ หลังตระเตรียมสร้างฐานที่มั่นในเขตป่าเขา มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2506

และให้วันที่ 7 สิงหาคม เป็น “วันเสียงปืนแตก”

ถือเป็นวันเริ่มต้นของสงครามประชาชนในประเทศไทย

อันเป็นผลบานปลายจากความแตกแยกทางความคิด อุดมการณ์ และสุดท้ายนำมาสู่การจับอาวุธเข่นฆ่ากัน

นำมาสู่การสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเหลือคณานับ

และที่สุดก็ได้บทเรียนร่วมกันว่า ความรุนแรงและเข่นฆ่ากัน ไม่อาจนำไปสู่”ชัยชนะ”อันยั่งยืนได้

นอกจากหันหน้ามาเจรจาและรับฟังปัญหากันและกัน

ตามแนวทาง “การเมืองนำการทหาร”

ซึ่งถือเป็นเข็มนำอันสำคัญที่ทำให้ สงครามประชาชนยุติลง

แน่นอนว่าด้านสำคัญหนึ่งมาจาก”รัฐบาล”ที่เปิดกว้าง

ยอมเจรจากับพคท.ที่แม้จะมีแนวคิดอันตรายต่อชาติ

เพราะมุ่งล้ม”สถาบันหลัก”ของชาติทั้งหมด

จนนำมาสู่การร่วมพัฒนาชาติไทยในที่สุด

เราผ่าน สิ่งที่เลวร้ายสุด-สุด มาแล้ว

ทำไมจะย้อนกลับไปอีก

ทำไม ไม่รีบหาทางยุติความขัดแย้งทางความคิด ที่ยังไม่ได้ขยายบานปลายไปสูงสิ่งเลวร้ายในอดีต

เปิดกว้าง ลดช่องว่าง ทางความคิด ให้กับคนทุก รุ่นทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ดีกว่าตั้งป้อมใส่ว่าพวกนี้”สมคบคิด” ทำลาย”สถาบัน”หลักของชาติ

ต้อง”กำจัด”ไปจากพื้นแผ่นดินไทย

ทั้งที่เป็นแผ่นดินของคนไทยทุกคน