เทศมองไทย : สารพันปัญหาในยาม “เปลี่ยนม้ากลางศึก”

ความคิดเห็นเมื่อ 20 กรกฎาคม ของวิลเลียม เพเสค คอลัมนิสต์มือรางวัล ซึ่งตอนนี้หันมาเขียนประจำให้กับนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว ว่าด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในยามที่จำเป็นต้องเปลี่ยนทีมขุนพลทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น น่าคิดและชวนใคร่ครวญอย่างยิ่ง

เพเสคตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจรัฐบาลในห้วงเวลาเช่นนี้นั้น ดูเหมือน “ส่วนหนึ่ง” จะอยู่บนพื้นฐานของสมรรถนะ ด้วยเหตุที่ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจของไทยได้รับการคาดหมายว่าจะดิ่งลง หดตัวอย่างรุนแรงถึง 8.1 เปอร์เซ็นต์ ตกอยู่ในวิกฤตรุนแรงที่สุดนับแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเรื่อยมา

ไทยกลายเป็นประเทศที่เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงที่สุดในบรรดาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน

กระนั้น บ๊อบ เฮอร์เรรา-ลิม นักวิเคราะห์แห่งเทเนโอ รีเสิร์ช ก็แย้งว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ “เป็นเรื่องของการพยายามกระชับอำนาจทางการเมือง มากกว่าที่จะเป็นการสรรหาทีมใหม่มารังสรรค์แนวทางใหม่ๆ เชิงนโยบายเศรษฐกิจ”

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เพเสคบอกว่า จังหวะเวลาของการปรับเปลี่ยนยิ่งสร้างความเสียหายให้มากยิ่งขึ้น

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะจะไม่มีใครทำหน้าที่กุมบังเหียนในยามที่เกิดความท้าทายทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขึ้นมาพร้อมๆ กัน 4 ด้านด้วยกัน

หนึ่งคือ ความต้องการภายในประเทศ กับการท่องเที่ยว ที่ตกอยู่ในสภาพ “ช็อก” อย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หนึ่งคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นบ้าเป็นหลังไม่ยอมเลิกรา

หนึ่งคือ ภาวะหนี้สินครัวเรือนที่กดดันเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง

สุดท้ายคือ อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกดไว้ในระดับใกล้กับศูนย์ จนแทบไม่เหลือช่องว่างให้ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาอีกต่อไปแล้ว

 

ดูเหมือนจะไม่เท่านั้น เพราะว่าในห้วงเวลาเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าการคนใหม่ขึ้นมาแทนที่วิรไท สันติประภพ อีกด้วย

ในยามนี้ กระบวนการดำเนินการทั้งทางด้านการคลัง, การเงิน และยุทธศาสตร์ ล้วนตกอยู่ในภาวะชะงักงันเป็นการชั่วคราว รอฝุ่นการเมืองเลิกตลบอบอวลเท่านั้น

ทั้งหมดนั่นชวนกังวลพอแรงอยู่แล้ว แต่เพเสคบอกว่า ยังมีหลายเรื่องที่น่าวิตกมากกว่า ใหญ่โตกว่าประเด็นการเปลี่ยนม้ากลางศึกเช่นนี้อีกด้วย

เริ่มตั้งแต่ภาวะว่างงานที่คนไทย 69 ล้านคนกำลังเผชิญอยู่ นอกเหนือจากปัญหาการเป็นสังคมสูงอายุแล้ว เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา รายงานของธนาคารโลกระบุเอาไว้ว่า มากกว่าครึ่งของแรงงานไทย “เป็นแรงงานไม่เป็นทางการ ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในหลักประกันสังคม และตกอยู่ในความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ”

เพเสคชี้ว่า รัฐบาลเทเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อชดเชยการส่งออกและการท่องเที่ยวมูลค่าราว 60,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ คือ การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของประเทศแบบ “ยกเครื่อง” เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ซึ่งยังมองไม่เห็นมีการเคลื่อนไหวใดๆ

แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมหึมามูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์ กับการรณรงค์เรื่องไทยแลนด์ 4.0 เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมยิ่งใหญ่ขึ้น ถือเป็นความกล้าหาญก็จริงอยู่ แต่การทำให้เกิดเป็นความจริงยังคงอืดยิ่งกว่าเรือเกลือ

 

เพเสคชี้ว่า รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการสร้างความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่จำเป็นต้องพึ่งพาแต่การส่งออกและการท่องเที่ยวที่รวมกันแล้วมีสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อีกต่อไป

การสร้างความหลากหลาย จำเป็นต้องมีแรงจูงใจเชิงภาษี ต้องมีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพในภาคบริการ

“การเติบใหญ่ของเอเชียยิ่งนับวันยิ่งกลายเป็นเรื่องของไอเดียมากกว่าแรงงานราคาถูก (รัฐบาลไทย) ต้องลงทุนเพิ่มอีกหลายเท่าในการให้การศึกษาและการฝึกอบรม และนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากระบบการเรียนแบบท่องจำ ไปสู่ระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการคิดเชิงวิพากษ์และการคิดเพื่อแก้ปัญหา”

เพเสคบอกว่า ธนาคารโลกประเมินเอาไว้ว่า ไทยจำเป็นต้องใช้เวลา “ราว 2 ปี” เพื่อหยัดยืนขึ้นในระดับเท่าเทียมกับก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาด ภายใต้ข้อแม้ว่า ต้องไม่เผชิญกับการระบาดรอบสองและล็อกดาวน์อีกครั้ง

สองปีแห่งการดิ้นรนที่ว่านั้นจะเป็นสองปีแห่งความหวัง หรือจะเป็นสองปีที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว

รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี คือผู้ให้คำตอบครับ!