พิษโควิดลามทุบแบงก์ กำไรไตรมาส 2 ร่วงยกแผง ผู้ว่าการ ธปท. ยังเชื่อปลายปี “64 ฟื้น

สถานการณ์อันเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มปรากฏและส่งแรงสั่นสะเทือนไปสู่ภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างชัดเจนมากขึ้นแล้ว

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2563

บรรดาแบงก์ใหญ่กำไรสุทธิร่วงกัน “ยกแผง”

 

ไล่ตั้งแต่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่กำไรลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 78.09%

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 2 อยู่ที่ 2,175.34 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 5,200 ล้านบาท ซึ่งมาจากการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (Expected credit loss) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่ม 8,320 ล้านบาท หรือ 70.08% จากไตรมาสก่อน

ส่วนงวดครึ่งปีแรกปี 2563 กสิกรไทยมีกำไรสุทธิที่ 9,550 ล้านบาท ลดลง 10,423 ล้านบาท หรือ 52.18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีการสำรองฯ เพิ่มขึ้น 16,937 ล้านบาท หรือ 111.97%

“ครึ่งปีแรก ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้ 45,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,805 ล้านบาท หรือ 6.50% แต่ด้วยการคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ยังคงต้องมีการติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด จึงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น” นางสาวขัตติยากล่าว

รองลงมาธนาคารกรุงเทพ (BBL) กำไรสุทธิ 3,095 ล้านบาท ลดลง 66.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรครึ่งปีอยู่ที่ 10,765 ล้านบาท ลดลง 41.4% เนื่องจากธนาคารมีการตั้งสำรองฯ 13,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกถึง 160.2% เพื่อกันเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19

ต่อมาคือธนาคารกรุงไทย (KTB) กำไรสุทธิ 3,829 ล้านบาท ลดลง 53.13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ไตรมาส 2 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน 20,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการตั้งสำรองสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 2 ลดลง 40.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ขณะที่กำไรสุทธิในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 10,296 ล้านบาท ลดลง 33.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ธนาคารพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ในการประมาณการถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ จึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 23,235 ล้านบาท ในครึ่งปีแรก เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้งสำรอง 12,891 ล้านบาท

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กำไรสุทธิ 8,360 ล้านบาท ลดลง 23.83% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ไตรมาส 2 นี้ กำไรสุทธิของธนาคารลดลง 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งเงินสำรองที่สูงขึ้น 9,734 ล้านบาท ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 4%

ผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2563 ไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 17,611 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงานยังคงเติบโต 15%

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้และแนวโน้มกำไรของธนาคารในไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม ธนาคารเชื่อมั่นว่าสถานะเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่ง และการตั้งสำรองหนี้สูญในระดับสูง จะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ ทั้งนี้ โครงการเยียวยาภาคธุรกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลที่คาดว่าจะเริ่มส่งผลในช่วงต่อไป จะช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้ชัดเจนขึ้น และคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะสะท้อนในผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563”

นายอาทิตย์กล่าว

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า ผลประกอบการแบงก์ที่ปรับลดลง หลักๆ เป็นผลมาจากมาตรการปิดเมือง ประกอบกับสถาบันการเงินต้องเพิ่มความรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อ ในขณะที่รายได้ลดลงจากมาตรการพักชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรอง ซึ่งระยะต่อไปต้องรอดูสถานการณ์หลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง โดยต้องติดตามสถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ในการเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากมาตรการพักหนี้จะจบลงภายในเดือนตุลาคมนี้

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ในไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และหากโควิด-19 ไม่มีการระบาดซ้ำรอบ 2 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับไปอยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิดได้ภายในปลายปี 2564

“ธปท.มองไตรมาส 2 แย่ที่สุด เพราะเป็นช่วงที่กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดทั่วโลก ส่งสินค้าไม่ได้ หรือรับออเดอร์มาก็ผลิตไม่ได้ ส่วนไตรมาส 3 อาจจะเห็นการฟื้นตัวได้ แต่ไม่ได้แบบก้าวกระโดด” นายวิรไทกล่าว

ผลประกอบการแบงก์ที่ออกมา สะท้อนว่าวิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรง และมีแนวโน้มลากยาวออกไป เพราะไม่มีใครรู้ว่าการระบาดของ “โควิด-19” จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องพยายามออกแรงกันอย่างหนักเพราะยังคาดเดาไม่ได้ว่าวิกฤตโควิดที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจไทยอย่างรุนแรงจนเริ่มเห็นผลสะท้อนผ่านภาคธุรกิจธนาคารแล้วนั้น ท้ายที่สุดแล้ว จะสร้างผลกระทบและความเสียหายมากเพียงใด