แพทย์ พิจิตร : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ จาก พ.ศ.2475-ปัจจุบัน (12)

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11

 

ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (12) : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ จาก พ.ศ.2475-ปัจจุบัน

ล่าสุด การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทำให้เราทราบถึงความเหมือนและความต่างในประเด็นการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 15 มกราคม พ.ศ.2560 กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 กำหนดไว้ว่า

“ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นําความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ”

 AFP PHOTO / Royal Thai Bureau 

อันส่งผลให้

“เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้”

และในกรณีที่ไม่ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะองคมนตรีก็ไม่สามารถเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ

และประธานองคมนตรีก็ไม่สามารถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ว่า “มาตรา 16 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และในกรณีที่ทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา 17 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น แต่ต่อมาคณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความจําเป็นสมควรแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการณ์ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลําดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกําหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา 18 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 17 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ในกรณีที่ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทําหน้าที่ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน”

ความเหมือนคือ รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับกำหนดไว้ว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้

ส่วนความต่างคือ หากพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 กำหนดให้แต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเท่านั้น

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือแต่งตั้งหลายคนเป็นคณะขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้

AFP PHOTO AND THAI TV POOL / STRINGER

ซึ่งการกำหนดให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะไปเหมือนกับบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า พ.ศ.2492

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง “ผู้ใดผู้หนึ่ง” (มาตรา 19) ส่วนรัฐธรรมนูญก่อน พ.ศ.2492 นั่นคือ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2490 กำหนดไว้ในมาตรา 10 ว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที”

AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าฉบับชั่วคราว พ.ศ.2490 จะกำหนดให้แต่งตั้งบุคคลคนเดียว แต่กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นอภิรัฐมนตรี

แต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 มาตรา 10 กำหนดไว้ว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา….” ซึ่งจะวางเงื่อนไขในเรื่องจำนวนตัวบุคคลหรือคุณสมบัติตัวบุคคลไว้ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ต่างกันตรงที่ในกรณีที่ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 กำหนดไว้ว่า จะต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนฉบับปัจจุบันกำหนดว่าจะแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้

และในกรณีดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2498 ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับแรก นั่นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 มาตรา 10 ที่กำหนดไว้ว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์”

แต่ฉบับ พ.ศ.2489 กำหนดว่า “ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา” ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 กำหนดว่า “ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ในมาตรา 17 ว่า

“ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น แต่ต่อมาคณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความจําเป็นสมควรแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการณ์ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลําดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกําหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์”