ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 กรกฎาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ธรรมลีลา |
เผยแพร่ |
เส้นสายการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์ไทยสืบมาจากศรีลังกา จึงเป็นลังกาวงศ์ เริ่มมาตั้งแต่ต้น มีปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า ปู่ครูนั้น “ลุกแต่ศรีธรรมราชมา” ทำความเข้าใจได้ว่า เส้นทางอิทธิพลของศรีลังกาผ่านเข้ามาทางนครศรีธรรมราชในอดีต
ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์ของทั้งสองประเทศสืบเนื่องมายาวนาน และเป็นความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยกันมาโดยตลอด
ในช่วงที่ศรีลังกาตกต่ำ ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของต่างชาติ นับตั้งแต่โปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ยาวนานถึง 400 ปี พุทธศาสนาในศรีลังกาจึงอ่อนแอลงตามลำดับ
ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นคณะสงฆ์โดยส่งทูตมาขอพระภิกษุสงฆ์ไทยให้ไปให้การอุปสมบทแก่ชาวศรีลังกา
การอุปสมบทครั้งนี้เกิดขึ้นราว พ.ศ.2296 เป็นช่วงปลายอยุธยา คณะภิกษุสงฆ์โดยการนำของพระอาจารย์อุบาลี ได้ไปสืบพระศาสนาที่ศรีลังกาสำเร็จ เรียกคณะสงฆ์นี้ว่าสยามวงศ์
บางครั้งยกย่องพระอุบาลี โดยเรียกเจาะจงลงไปว่าสยาโมปาลีวงศ์
สยามวงศ์เป็นพระภิกษุสงฆ์ของศรีลังกาที่เก่าที่สุด และมีจำนวนมากที่สุดในเกาะลังกาในปัจจุบัน
ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอประวัติความเป็นมาของพระภิกษุสงฆ์ศรีลังกาที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนไปจากภิกษุสงฆ์ไทย คือความเกื้อกูลของพระสงฆ์ และความเป็นปึกแผ่นทั้งของกษัตริย์และชาวพุทธ
เกาะเล็กๆ ที่เรียกว่าศรีลังกานั้น มีความน่าสนใจเป็นพิเศษตรงที่มีประวัติของเจ้าผู้ครองแผ่นดินยาวนานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 ประวัติศาสตร์ศรีลังกาดูจะเริ่มต้นชัดเจนขึ้นพร้อมๆ กับการนำพระพุทธศาสนาเข้าไปเผยแผ่ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยที่ทรงส่งพระธรรมทูตเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาพร้อมๆ กับที่ส่งพระธรรมทูตออกไปอีก 8 สาย
เฉพาะสายที่ลงมาที่เกาะลังกานั้น อาจจะเป็นเพราะความสนิทสนมกับพระเจ้าติสสะ ผู้ครองเกาะลังกามาก่อน
การส่งพระธรรมทูตโดยการนำของพระมหินท์เถระ พระโอรสของพระองค์เองจึงเป็นการเหมาะสมที่สุด
พระธรรมทูตสายนี้ประสบความสำเร็จในการวางรากฐานพระพุทธศาสนาในศรีลังกา ได้ประดิษฐานทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ โดยการนำของพระมหินท์เถระและพระนางสังฆมิตตา ผู้เป็นพระโอรสและพระธิดาของพระเจ้าอโศกเอง
เสาหลักของชาติคือสถาบันศาสนา คือพุทธศาสนา สถาบันกษัตริย์ ซึ่งระบุชัดเจนว่า ผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ต้องนับถือพุทธศาสนา ชาติในความหมายของประชาชน คือชาวสิงหลที่นับถือพุทธศาสนา
หากเรามีความเข้าใจเช่นนี้ ก็จะเข้าใจบทบาทของพระสงฆ์ชาวศรีลังกาว่าจะยึดโยงสามเสาหลักที่ว่านี้
เราจะย้อนไปดูในสมัยของพระเจ้าทุฏคามณี ที่จะเห็นชัดถึงความเป็นชาตินิยมที่ปรากฏชัดทั้งในหมู่พระสงฆ์และชาวบ้าน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 4 อนุราธปุระ เมืองหลวงของศรีลังกาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเอฬาระ กษัตริย์โจละที่นับถือศาสนาฮินดู
ชาวสิงหลจากเมืองรุหุณะทางตอนใต้ของเกาะรวมกำลังขึ้นต่อสู้ โดยการนำของเจ้าชายทุฏคามุนุเพื่อปลดปล่อยทั้งชาติและศาสนาให้เป็นอิสระ
เจ้าชายพระองค์นี้ประกาศแก่พสกนิกรว่า การที่ท่านพยายามต่อสู้ขับไล่กษัตริย์โจละนั้น ไม่ได้มีพระประสงค์ที่จะขึ้นครองบัลลังก์
แต่มีพระประสงค์ที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง
ในการนำทัพนั้น ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสถิตอยู่ปลายหอกด้วยซ้ำ
ชาวสิงหลตระหนักว่า ความเป็นอิสระของศาสนาคือความเป็นอิสระของชาติ ชาวบ้านบ่าวไพร่ทุกรูปทุกนามเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยเต็มกำลังความสามารถ
ในการต่อสู้เพื่อปลดเปลื้องให้พุทธศาสนาเป็นอิสระนั้น พระภิกษุผู้ใหญ่ไม่ได้เก็บตัวเงียบอยู่ในกุฏิ ในทางตรงกันข้าม กลับออกมามีส่วนร่วมกับประชาชน
ในช่วงวิกฤตนี้ เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเจ้าชายทุฏคามุนุกับเจ้าชายสัทธาติสสะ พระอนุชาของพระองค์
พระอาจารย์โคธะคัตตะติสสะเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องเข้าปรองดองพี่น้องทั้งสองไว้ ขณะเดียวกันพระอาจารย์ปุตตาภัย ที่เจริญฌานใกล้ที่จะบรรลุธรรมแล้ว ก็ยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตน ลาสิกขาออกมาเข้าร่วมในกองทัพ
พระภิกษุหลายรูปยอมลาสิกขาเพื่อสร้างกำลังกองทัพให้เข้มแข็ง
นอกจากนี้ เจ้าชายทุฏคามุนุได้นิมนต์พระภิกษุเป็นจำนวนมากร่วมไปในทัพเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับกองทัพอีกด้วย
ประวัติศาสตร์ศรีลังกาช่วงนี้ จะเห็นชัดว่า ทั้งประชาชนและคณะสงฆ์เห็นความสำคัญของการอยู่รอดของชาติภายใต้การนำของเจ้าชายทุฏคามุนุ
เจ้าชายทุฏคามุนุรวมชาติได้สำเร็จ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าทุฏคามณี (ก.ค.ศ.101-77) แต่ก็ทรงเสียพระทัยที่พาผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก
พระภิกษุที่เป็นอรหันต์กล่าวปลอบพระทัยโดยเน้นถึงงานของพระองค์ในการทำให้พระพุทธศาสนาเป็นอิสระ
ในการอ่านพงศาวดารของศรีลังกานั้น การยกย่องพระอาจารย์ที่สำคัญโดยการเรียกท่านว่าเป็นพระอรหันต์จะปรากฏให้เห็นบ่อยๆ สำหรับชาวพุทธไทยอาจจะขมวดคิ้วเล็กน้อย เพราะบางครั้งการกระทำของพระอรหันต์ที่ว่านั้นก็ไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของพระอรหันต์ตามที่เราเข้าใจนัก
คัมภีร์มหาวงศ์ที่เป็นพงศาวดารหลักของศรีลังกาก็บันทึกคำชื่นชมของพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ไว้ด้วย
ท่านอาจารย์วัลโปละ ราหุล พระอาจารย์สมัยใหม่ที่เขียนตำราที่คนไทยรู้จักกันดีได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ที่ว่านั้น เกิดขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 2 แต่ผู้บันทึกพงศาวดารคือ พระมหานามเถระ บันทึกเหตุการณ์ในพุทธศตวรรษที่ 11
อย่างไรก็ตาม ในสมัยของพระเจ้าทุฏคามณีนั้น มีเหตุการณ์หลายครั้งที่แสดงถึงบทบาทของพระภิกษุทั้งในด้านการปกครองและวัฒนธรรม โลหะปราสาทนั้นก็สร้างด้วยการออกแบบของพระภิกษุ พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุที่รุวันวาลีก็สร้างจากการออกแบบของพระอรหันต์อินทคุตตะ โดยที่ท่านควบคุมการสร้างเอง และรวมไปถึงการใช้แรงงานขนอิฐปูนในการก่อสร้างด้วย
ในช่วงนี้พระภิกษุเข้ามามีบทบาทชัดเจนในการแต่งตั้งข้าราชการในตำแหน่งสำคัญๆ ตลอดจนการคัดเลือกผู้ที่จะสืบราชสมบัติด้วย
เมื่อพระเจ้าสัทธาติสสะเสด็จสวรรคต (ครองราชย์ ก.ค.ศ.77-59) เจ้าชายลัชชิติสสะควรจะได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
แต่ปรากฏว่าพระภิกษุสงฆ์เรียกประชุมสงฆ์ที่พระวิหารถูปาราม และเลือกเสนอพระนามของเจ้าชายถุลละถนะขึ้นเป็นกษัตริย์แทน
อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุเสด็จสวรรคต (ค.ศ.1114) มีการประชุมระหว่างพระขนิษฐาของพระองค์ พระโอรสของพระขนิษฐา และมุขอำมาตย์ รวมถึงพระภิกษุผู้ใหญ่ ที่เข้าร่วมในการพิจารณาเลือกพระยุพราชขึ้นเป็นกษัตริย์
เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งที่แสดงถึงบทบาทสำคัญของพระภิกษุ ใน ค.ศ.1798 (พ.ศ.2341) สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อพระเจ้าราชาธิราชชัยสิงห์เสด็จสวรรคต กษัตริย์องค์ต่อมาคือพระเจ้าวิกรมราชาสิงห์นั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเสนอพระนามเป็นมหาอำมาตย์ร่วมกับพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นนายกเถระ
เราจะเห็นว่า ในประวัติศาสตร์ของศรีลังกานั้น พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเถระและมหาเถระมีบทบาทโดยตรงต่อการเมืองการปกครองของศรีลังกาตั้งแต่ระดับบนสุดทีเดียว