ในประเทศ / ส่องม็อบปลดแอก กระสุนและความรุนแรง คือจุดจบรัฐบาล

ในประเทศ

 

ส่องม็อบปลดแอก

กระสุนและความรุนแรง

คือจุดจบรัฐบาล

 

การชุมนุมประท้วงของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนปลดแอก” ที่เริ่มต้นครั้งใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ที่มาพร้อมข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

  1. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
  2. ประกาศยุบสภา

และ 3. หยุดคุกคามประชาชน

บ่งบอกถึงจุดยืนของการออกมาชุมนุมในครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน

การชุมนุมดังกล่าวได้สร้างความตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ จากนั้นเพียงไม่นาน แฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยก็โผล่ขึ้นทั่วประเทศ ดั่งไฟลามทุ่ง

การเคลื่อนขบวนของม็อบปัญญาชนได้รับการขานรับจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

“ข้อเรียกร้องของนักศึกษา ผมว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ ผมยังยืนยันว่าข้อเรียกร้องทั้ง 3 อย่างไม่ได้สุดโต่ง แล้วผมเชื่อว่าข้อเรียกร้องอย่างนี้ฝ่ายรัฐบาลคงต้องคิดทบทวนเหมือนกัน” ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นถึงการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าเยาวชนปลดแอก

ศ.ดร.สุรชาติตอบคำถามว่า ม็อบจุดติด-ไม่ติด หรือไม่นั้น อาจต้องสื่อสารและบอกด้วยภาพ ซึ่งมีพลังมากพอที่จะตอบคำถามดังกล่าว

นับจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์แบบ ‘อาหรับสปริง’ จะเกิดขึ้นหรือไม่

และสุดท้ายภาพการประท้วงครั้งนี้จะเดินไปอย่างไร แล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร

การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ รูปแบบการประท้วงเปลี่ยนไป ศ.ดร.สุรชาติยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องย้อนรอยเสื้อเหลืองเสื้อแดง ไม่จำเป็นต้องย้อนรอยไปยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 หรือก่อน 6 ตุลาคม 2519 ที่จะมีม็อบใหญ่แล้วต้องอยู่ค้างคืนยาวๆ

การชุมนุมสมัยใหม่สามารถที่จะรวมพลัง แล้วส่งพลังในรูปแบบของการเชื่อมต่อด้วยโลกอินเตอร์เน็ต เกิดการประท้วงที่เป็นลักษณะดาวกระจายหรือม็อบกระจายตัว ข้อดีคือไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ค้างคืน เพราะจากประสบการณ์ในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษาเก่า การชุมนุมหรือการทำม็อบค้างคืนเป็นอะไรที่มีอันตราย มีความเสี่ยง ซึ่งจากเหตุการณ์ประท้วงในปัจจุบันจะเห็นปรากฏการณ์ใหม่คือม็อบสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายที่พร้อมกันในหลายเวลา นั่นแหละคือพลังที่สำคัญ”

“วันนี้เราเห็นคนที่อยู่ในม็อบจำนวนหนึ่ง ตัวเลขที่น่าสนใจคือคนที่นั่งดูถ่ายทอดสดผมว่าอีกมหาศาลเหมือนกัน ดูถูกไม่ได้ จะไปนับหัวกันว่าม็อบมีกี่ร้อย หรืออย่างที่มีการวิจารณ์จากฝ่ายที่ไม่ชอบการชุมนุมโพสต์ต่อต้านโพสต์ว่าม็อบมีจำนวนนิดเดียว ของจริงก็อาจไม่นิดนะ ต้องยอมรับ เพราะยังมีพลังเงียบที่นั่งดูถ่ายทอดสดอยู่ การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่บนโลกออนไลน์ผมคิดว่านั่นคือพลังที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่ง”

ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

 

สําหรับการจะยุติความขัดแย้งในครั้งนี้ต้องอาศัยการประนีประนอม จะใช้กลยุทธ์เข้าปราบปรามอย่างเช่นในอดีตนั้นยากที่เรื่องจะจบ ศ.ดร.สุรชาติระบุ และว่า ถ้ารัฐบาลมีสติมากพอต้องตระหนักว่าตัดสินใจใช้การปราบปรามเหมือนอย่างที่เคยทำในปี พ.ศ.2553 เรื่องไม่จบแน่นอน

“ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลคิดอะไรอยู่ในใจ แต่อยากจะเตือนสติว่าถ้าเมื่อไหร่รัฐบาลและบรรดาผู้นำที่มีอำนาจในสายทหารเชื่อว่าการปราบนักศึกษาเป็นวิธีการหลักที่ทำได้ ผมคิดว่าเมื่อไหร่ที่กระสุนลั่น นั่นคือวาระสุดท้ายของรัฐบาล”

“ดังเห็นตัวอย่างจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเจอปัญหามากๆ สุดท้ายก็ยึดอำนาจตัวเอง เจอกรณี 14 ตุลา ผมคิดว่ารัฐบาลออกจากวังวนของอำนาจไม่ได้ ไม่แน่ใจว่ารอบนี้สิ่งที่สร้างจนเหมือนกลายเป็นเกราะป้องกันรัฐบาล มันกำลังจะกลายเป็นเกราะที่ล้อมรัฐบาลให้ออกไม่ได้ เพราะว่าความชอบธรรมของรัฐบาลในการมา ตั้งแต่ปัญหารัฐธรรมนูญที่ถูกพูดถึง ทำไมนิสิต-นักศึกษาถึงเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นตัวปัญหา เพราะฉะนั้น ในบริบทแบบนี้ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลมีทางออก ยกเว้นแต่รัฐบาลคงต้องประนีประนอม ผมยังเรียกร้องให้รัฐบาลประนีประนอม”

“ในขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ชาติไทยรอบนี้อาจจะไม่หวนให้อำนาจกลับไปอยู่ในมือของผู้นำทหารได้แบบง่ายๆ เพราะจากความตื่นตัวของคนหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี พ.ศ.2557 ได้สร้างความตื่นตัวมากขึ้น และในขณะเดียวกันโควิด-19 กำลังสร้างความตื่นตัวที่ใหญ่ที่สุด เพราะโควิด-19 กำลังมาพร้อมกับการตกงานของคนเป็นจำนวนมาก มาพร้อมกับความยากจนของคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งวันนี้ยังไม่เห็นแนวทางแก้ไขปัญหาจริงจังจากทางรัฐบาล”

“ครั้งนี้เป็นอาการคล้ายปี พ.ศ.2516 ที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมันซ้ำเติมรัฐบาลแล้วรัฐบาลไม่มีทางออก จนสุดท้ายต้องเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่”

 

ศ.ดร.สุรชาติบอกอีกว่า ถึงแม้สุดท้ายรัฐบาลจะประกาศยุบสภา แต่เชื่อว่าปัญหาจะยังไม่จบ เพราะปัญหายังอยู่ที่รัฐธรรมนูญ 2560 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังคงอยู่ ความจริงแล้วถ้าจะต้องยุบสภา ต้องยุบระบบ ส.ว.ด้วย เพราะว่าปัญหาใหญ่จริงๆ ไม่ใช่สภา ปัญหาใหญ่คือรัฐธรรมนูญกับระบบ ส.ว. ต่อให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็กลับสู่วังวนเดิม นั่นหมายความว่าการยุบสภาจะไม่มีความหมายเลย ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไขและอำนาจส่วนหนึ่งยังอยู่ในมือ ส.ว.

“ถ้ายุบสภาในภาวะแบบนี้โดยที่ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยก็กลับสู่เลือกตั้งเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 เหมือนเดิม แล้วก็จะมี ส.ว. 250 คนออกมาโหวตเหมือนเดิม แล้วก็อาจจะได้นายกฯ คนเดิม ฉะนั้น การยุบสภาอาจไม่ใช่คำตอบ”

“หากการประท้วงของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกแทนตัวเองว่า เยาวชนปลดแอก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต ไม่เพียงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้ไขระบบตุลาการที่เป็นปัญหา และรวมถึงแก้กฎหมายบางส่วน เพราะหลังทำรัฐประหาร การคุกคามใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งมาจากการคุกคามทางกฎหมาย หลังจากนี้ถ้าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอาจจะต้องคิดกันมากกว่านี้”

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวทิ้งท้าย

 

ในขณะที่ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าเยาวชนปลดแอก ให้คำยืนยันชัดเจนถึงจุดยืนในการออกมาประท้วงครั้งนี้ว่า ถ้าหาก 3 ข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการแก้ไขจะยังคงเดินหน้าออกมาเรียกร้องผ่านการจัดกิจกรรมอย่างวันที่ 18 กรกฎาคมอยู่เรื่อยๆ

พร้อมกับยืนยันว่า ถ้าการประท้วงครั้งนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงมากกว่าประนีประนอม ยืนยันว่าความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นไม่ได้มาจากฝั่งของผู้ชุมนุมอย่างแน่นอน

การทำม็อบหรือการชุมนุมมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเหตุชุลมุนเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องทำคือต้องรักษาความปลอดภัยของมวลชน ต้องรักษาความปลอดภัยของผู้คนที่อยู่ในม็อบ ยึดความปลอดภัยของประชาชนมาเป็นอันดับแรก อยากให้ทุกคนปลอดภัย อยากให้ทุกคนมีสิทธิ์เรียกร้องอย่างเต็มที่

แต่ว่าถ้ามันเกิดเหตุความวุ่นวายขึ้น มั่นใจว่าไม่ได้ออกมาจากฝั่งเรา มั่นใจเราคงไม่ตีกันเอง เรามั่นใจว่ามันคงออกมาจากคนที่มีอำนาจ คนที่อยากปราบปราม ซึ่งในอดีตเห็นชัดแล้วว่ามันออกจากใคร

“เราไม่ใช้ความรุนแรงแน่นอนค่ะ เพราะว่าเราต้องรักษาชีวิตเราเอง เห็นแก่ทุกคนที่เขาเข้ามาตรงนี้ อย่างไรเราจะพยายามรักษาความปลอดภัยของทุกคนอย่างถึงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ส่วนถ้ามันเกิดเหตุรุนแรงขึ้น เราก็อยากให้ทุกคนรับรู้ไว้ว่าอย่างไรมันจะไม่ออกจากฝั่งเราแน่นอน”

ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เสนอว่าถ้าอยากเรียกร้องให้ทำตามระบบ น.ส.จุฑาทิพย์กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คำว่าตามระบบได้ยินบ่อยมากตั้งแต่รอบที่แฟลชม็อบเกิดขึ้น แล้วรัฐบาลมีการเปิดช่องทางให้ไปแสดงความคิดเห็นตามกระบวนการกรรมาธิการต่างๆ แต่ว่าตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ.2557 ตนเชื่อว่าระบบต่างๆ มันคือระบบที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรัฐบาล ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อประชาชน ประชาชนไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นหรือว่าเรียกร้องได้อย่างเต็มที่ เพราะว่ารัฐบาลเลือกแล้วว่าจะฟังในสิ่งที่อยากฟังเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่ความต้องการจริงของประชาชน

          จากนี้ไปรัฐบาลอาจต้องฟังมากกว่าคิดเองและพูดเอง