กรองกระแส / การฟื้นคืนชีพ ปรากฏการณ์ แฟลชม็อบ พัฒนา เติบใหญ่

กรองกระแส

 

การฟื้นคืนชีพ

ปรากฏการณ์ แฟลชม็อบ

พัฒนา เติบใหญ่

 

ปรากฏการณ์การชุมนุมบนถนนราชดำเนินบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม กำลังได้รับการอ่านและตีความไปอย่างหลากหลาย

เป็นปฏิกิริยาต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอน

กระนั้น ภายในข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่เริ่มจาก 1 หยุดคุกคามประชาชน 1 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 1 ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชน

ก็สะท้อนให้เห็นความต่อเนื่องและสัมพันธ์หลายประการในทางการเมือง

เป็นความสัมพันธ์กับบทบาทและความหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นความสัมพันธ์กับการบริหารราชการแผ่นดินตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

และเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นอยู่กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

หลายคนนึกถึงสถานการณ์อันเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2516 หลายคนนึกถึงสถานการณ์อันเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

ล้วนเป็นวงจรภายหลังรัฐประหาร ภายหลังการสืบทอดอำนาจ

 

บทเรียนการต่อสู้

เดือนตุลาคม 2516

สถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 เป็นผลมาจากการครองอำนาจอย่างยาวนานของจอมพลถนอม กิตติขจร และมาปะทุออกเมื่อเกิดรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2516

เป็นครั้งแรกที่มีการประท้วงจากสังคมอย่างต่อเนื่อง

อย่างหนึ่ง ก็คือการที่มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปวางหรีด ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมานายอุทัย พิมพ์ใจชน และเพื่อน ส.ส.ก็ยื่นฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจร ต่อศาล

ความไม่พอใจของนักศึกษาและกลุ่มการเมืองปรากฏเป็นระยะ

ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงประกาศ ปว.119 ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงการต่ออายุราชการทหารของนักศึกษาจนถูกลบชื่อ

เป็นการประท้วงเมื่อเดือนมิถุนายน 2516 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ขบวนการนักศึกษาได้เริ่มก่อรูปขึ้นจนในที่สุดได้ออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญและถูกจับในเดือนตุลาคม

การถูกจับนั้นเองคือชนวนสำคัญให้เกิดสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

 

บทเรียนการต่อสู้

พฤษภาคม 2535

การเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นผลโดยตรงจากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2535

เป็นความไม่พอใจต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534

เป็นความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารและไม่สามารถแสดงออกได้โดยตรง แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งการแสดงออกนั้นก็ปะทุออก

แท้จริงแล้วคือการต่อต้านคณะรัฐประหาร ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

เป็นการชุมนุมโดยมีคนชั้นกลางเข้าร่วมอย่างเป็นด้านหลักอย่างที่เรียกกันว่าเป็น “ม็อบมือถือ” โดยมีพรรคและกลุ่มการเมืองที่ไม่พอใจรัฐบาลเป็นกองหนุนอย่างสำคัญ

เมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามจึงเกิดการลุกฮือขึ้นสู้ด้วยมือเปล่า

ผลก็ดำเนินไปเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516 นั่นก็คือ คณะรัฐประหารซึ่งต้องการสืบทอดอำนาจถูกบีบให้ลาออกแล้วจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่

สถานการณ์ก็เข้าสู่ระบบและระบอบตามปกติ

 

บทเรียนจากอดีต

การเมืองปัจจุบัน

สภาพการณ์อันเกิดขึ้นทางการเมืองในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นผลสะเทือนจากกระบวนการทางการเมืองในยุคอันใกล้หลายประการประสานเข้าด้วยกัน

1 ทุกอย่างล้วนเป็นผลพวงจากรัฐประหาร

เป็นรัฐประหารจากเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อันมีความสัมพันธ์และต่อเนื่องกัน

1 ทุกอย่างล้วนเป็นผลจาก “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหาร

ความไม่พอใจที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องเพราะตระหนักอย่างเด่นชัดว่าคณะรัฐประหารต้องการการสืบทอดอำนาจ ไม่ต้องการวางมือจากอำนาจ

1 ทุกอย่างล้วนเป็นผลจากฝีมือและความสามารถของคณะรัฐประหาร

คณะรัฐประหารต้องการอำนาจ ต้องการครองอำนาจไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ผลสำเร็จจากการบริหารของคณะรัฐประหารอาจประสบความสำเร็จในการสร้างความกลัวอันเป็นเป้าหมายทางด้านความมั่นคง

แต่ทางด้านเศรษฐกิจล้มเหลวและก่อผลสะเทือนอย่างต่อเนื่อง

 

ปรากฏการณ์การเมือง

ปรากฏการณ์แฟลชม็อบ

ปรากฏการณ์แฟลชม็อบ อันมีจุดเริ่มเมื่อเดือนธันวาคม 2562 เป็นรูปแบบแห่งการเคลื่อนไหวที่ไม่พอใจต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง

เสียงตะโกน ออกไป ออกไป ดังขึ้นพุ่งเป้าไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากนั้น ปรากฏการณ์แฟลชม็อบ ก็กระจายขยายตัวไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และแม้กระทั่งตามโรงเรียน

ปรากฏการณ์นี้หยุดชะงักจากสถานการณ์โควิด และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

แต่เมื่อมาถึงเดือนพฤษภาคมการเคลื่อนไหวเริ่มปรากฏอีกครั้ง แต่กระจัดกระจายและด้วยจำนวนไม่มากนัก เพิ่งมีเป็นจำนวนมาก็ในเดือนกรกฎาคมเป็นการเคลื่อนไหวโดยไม่สนใจต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

            นี่คือความต่อเนื่องและการพัฒนาขึ้นอีกครั้งของแฟลชม็อบ