คำ ผกา | เยาวชนปลดแอก และการเผยร่างไม่พรางกาย

คำ ผกา

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การดื้อรั้นกับอำนาจเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยที่ได้มานั้นเป็นประชาธิปไตยที่เปิดประตูต้อนรับทุกความแตกต่างหลากหลาย ต้อนรับทุกความเป็นไปได้ เป็นประชาธิปไตยที่มุ่งขยายสิทธิ เสรีภาพของประชาชนออกไปเรื่อยๆ มากกว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นการจำกัดสิทธิเพื่อผดุงระเบียบและความถูกต้อง

เหล่านี้เป็นกระบวนการทางการเมืองเพื่อจรรโลงคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยด้วยตัวของมันเอง

สำหรับฉัน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมีสองขั้นตอนคือ หนึ่ง ขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย สอง ขั้นในการ maintain หล่อเลี้ยง รักษาประชาธิปไตยนั้นให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น แข็งแรงขึ้น จนยากต่อการปล้นทิ้งทำลาย

กระบวนการทางการเมืองเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจแห่งความเป็นประชาธิปไตยในสังคมจึงเป็น unfinished project เป็นสิ่งที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ทำไปทุกๆ วัน ทำไปจนคนรุ่นหนึ่งตาย คนรุ่นใหม่ก็ต้องทำต่อ

เป็นสิ่งที่ไม่อาจละทิ้ง วางใจ นอนใจ ว่าเมื่อมีประชาธิปไตยแล้ว จบแล้ว เราไม่ต้องทำอะไรอีก

กระบวนที่ใช้ในการ maintain หรือดูแลรักษาประชาธิปไตยไม่ให้ผุพังและมีอายุยาวนานใช้ได้ไปชั่วลูกชั่วหลาน ดังที่เราได้เห็นในประเทศโลกที่หนึ่งทั้งหลาย นั่นคือ การให้เสรีภาพสื่อ การมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง การเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนชายขอบได้ส่งเสียงเรียกร้องหรือบอกให้สังคมรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา ความเข้มแข็งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงอัตลักษณ์ทุกประเภท (ประเด็นที่คนไทยคุ้นเคย เช่น ประเด็นเพศทางเลือก) การต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ลงในรายละเอียดมากขึ้น การลดอำนาจรัฐส่วนกลางลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

พูดง่ายๆ คือ ทำอย่างไรให้สังคมเข้มแข็งกว่ารัฐบาล

แล้วตอนนี้ประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนไหน?

ก่อนมี 2475 ก็มีกลุ่มคน ปัญญาชน สามัญชนเล็กๆ พยายามจะพูดเรื่องการปกครองในระบอบรัฐสภา

โลกวรรณกรรมไทยก่อน 2475 ซึ่งนักเขียนและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างมีเอกสิทธิ์ทางการศาลไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย ทำให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดทางการเมืองและนำเสนอแนวคิด “ก้าวหน้า” สู่กลุ่มคนชั้นกลาง (แม้จะมีน้อยนิด) ที่พอจะอ่านออกเขียนได้มาโดยตลอด

และจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และ คนมาถึงทุกวันนี้ ที่นักประวัติศาสตร์ “นอกสำนักกระแสหลัก” ชี้ให้เห็นว่าการปฏิวัติสยาม 2475 จบลงแล้ว

แต่การ “ปะทะประชัน” กันระหว่างโลกเก่า กับโลกใหม่ (ที่แปลว่าสังคมประชาธิปไตยในรัฐชาติสมัยใหม่) ยังไม่จบ กระบวนการ “ปะทะประชัน” ยังคงดำรงมาตลอดต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้

มองประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทยด้วยแว่นของอาณานิคม นักประวัติศาสตร์ “นอกสำนัก” มองว่า การปฏิวัติ 2475 คือการปลดแอกจาก “ระบอบอาณานิคม” ไม่เช่นนั้นหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎรคงไม่มีหลักว่าด้วย “เอกราช” อันแปลว่า independent

พูดให้เป็นภาษาสากลคือ 2475 คือ Independent movement เคียงบ่าเคียงไหล่กับ Independent movement ที่เกิดร่วมยุคร่วมสมัยร่วมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันทั้งสิ้น

ประเทศที่ได้ “เอกราช” แล้วที่ร่วมยุคร่วมสมัยกับเราก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่มีใครประสบความสำเร็จในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยในชั่วข้ามคืน

หลายประเทศต้องตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมายาวนานหลายทศวรรษ เช่น อินโดนีเซียและพม่า

บางประเทศเลือกวิถีคอมมิวนิสต์ แต่พลวัตภายในก็สร้างพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต่างกัน บางประเทศเป็นรัฐสมัยใหม่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์

บางประเทศถูกพรรคคอมมิวนิสต์สวมรอยเป็นเจ้าอาณานิคมอันใหม่ ประเทศนั้นจึงไม่อาจพูดได้ว่า สำเร็จในทาง Independent

ส่วนประเทศไทยหลัง 2475 เป็นอย่างไร คงต้องอาศัยการค้นคว้าและการอธิบายของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอีกมาก

แต่เท่าที่ชาวบ้านอย่างฉันได้เห็นคือ ภารกิจของ 2475 ยังติดพันค้างคา หลัก 6 ประการของคณะราษฎรยังไม่บรรลุผลให้เห็นแม้แต่หลักเดียว

ยกเว้นการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการได้มาซึ่งเอกราชทางการศาลในทศวรรษที่ 2480

แต่ยังไม่ทันที่สถาปนา “เอกราช” ที่อำนาจเป็นของประชาชนโดยสมบูรณ์ คณะราษฎรก็หมดอำนาจวาสนา กลุ่มอำนาจ “เก่า” เข้ามาเทกโอเวอร์ประเทศไทยอีกครั้ง แล้วค่อยสิงร่างอำนาจเก่านั้นเข้าไปใน “กายา” ของรัฐไทยอันใหม่ที่เราเข้าใจว่าเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น 88 ปีของการเมืองไทยหลัง 2475 ทั้งในช่วงที่เราคิดว่าเราเป็นประชาธิปไตย ทั้งในช่วงที่เราคิดว่าเราอยู่ภายใต้เผด็จการ เอาเข้าจริงๆ เราอาจไม่ได้เป็นทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ แต่เราอยู่ภายใต้รัฐที่ยังไม่ก้าวผ่านไปสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่อย่างสมบูรณ์เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการที่เราอ้างอิงถึงด้วย “ภาษา” นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียง “เครื่องนุ่งห่ม” ของรัฐอันมีแคแร็กเตอร์พิเศษนี้

บางห้วงที่เราคิดว่านี่คือประชาธิปไตย บางห้วงที่เราคิดว่านี่คือเผด็จการ เอาเข้าจริงมันก็เป็นแค่การเปลี่ยนเสื้อตามสภาพแวดล้อม อากาศ อุณหภูมิ หนาวก็เปลี่ยนเป็นเสื้อกันหนาว ร้อนก็เปลี่ยนไปเป็นเสื้อกล้าม

แต่ “กายา” ที่รองรับเสื้อผ้านั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้น อุดมการณ์ที่ครอง “กายา” นี้เอาไว้ จึงไม่ได้ใส่ใจหรือเอาจริงเอาจังกับการจะกระโดดไปกระโดดมาของความเป็นประชาธิปไตยหรือความเป็นเผด็จการของตัว “รัฐบาล” ตราบเท่าที่รัฐบาลนั้นไม่ทำอะไรที่สั่นคลอนก่อให้เกิดการเปลี่ยนร่างกายาให้เป็น “กาย” ใหม่

เครื่องมือที่ใช้ในการครอง “กายา” ทางอุดมการณ์นั้นคือ เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณกรรม กระบวนการ normalization พฤติกรรม มารยาท การกล่อมเกลาให้เรารู้โดยอัตโนมัติว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนี้มีค่า สิ่งนี้ไร้ค่า สิ่งนี้ทำแล้วสังคมเชิดชู ยกย่อง

พูดแบบนี้แล้ว คนฟังเข้าใจ เห็นคล้อยตามได้ทันที หรือบางทีเราก็พูดและตัดสินอะไรไปบนบรรทัดฐานนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว

และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่แม้แต่รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญที่เราเชื่อว่าดีที่สุดคือ 2540 ก็ยังเอาตัวไม่รอดถูกรัฐประหารไป เพราะเราไม่รู้ว่าประชาธิปไตยที่อยู่ในมือเรานั้นเป็นแค่ “เสื้อ” เมื่อไหร่ที่ “กายา” นั้นเคลื่อนไปสู่สภาวะอากาศ อุณหภูมิ หรือไปเจอ climate ที่พอเหมาะพอเจาะ “เสื้อ” ตัวนั้นก็จะถูกถอดทิ้ง

และแทบจะเป็นการถอดทิ้งบนฉันทามติของคนส่วนใหญ่คือกลุ่มคนกระแสหลักในสังคมด้วยซ้ำไป

และคนที่ต่อต้านการ “ถอดเสื้อ” ตัวนั้นทิ้งก็กลายเป็นผู้ก่อการร้าย หรือเผาบ้านเผาเมือง

เขียนเรื่องเหล่านี้มายืดยาวด้วยทึ่งกับการตั้งชื่อกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่า “เยาวชนปลดแอก” พวกเขาไม่ได้ตั้งชื่อกลุ่มว่า “เยาวชนเพื่อประชาธิปไตย” หรืออะไรอีกต่อไป ชื่อกลุ่มจะไม่ใช่อะไรในทำนองแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย – ซึ่งถ้าเราจะระวังสักนิด จะต้องสงสัยแน่นอนว่า สองกลุ่มนี้ใช้คำว่าประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ทำไมอุดมการณ์จึงไปกันละทิศละทางคนละเรื่องคนละโลกถึงขนาดนั้น ทำไมเหลืองก็อ้างประชาธิปไตย ทำไมแดงก็บอกว่าประชาธิปไตย

ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เขียนไปข้างต้นก็จะเห็นว่า ตราบใดที่เราคิดว่า “เสื้อ” คือ “เนื้อกายา” ภาวะล้มการเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตยก็จะเป็นเหตุการณ์ชวนหัวขำขื่นในสังคมไทยไปได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ถามว่า ในสังคมไทยคนรู้ไหมว่าจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยเราจะทำแค่ถอดเสื้อเก่าใส่เสื้อใหม่ไม่ได้ แต่เราจำต้องเปลี่ยนร่างกายาของใหม่ไปสู่ร่างใหม่ จิตใจใหม่ทั้งหมด

สำหรับฉัน ในบรรดาคนเจน x ขึ้นไป “รู้สึก” แต่ไม่ “รู้ชัด” บ้างก็รู้แต่เชื่อไปแล้วว่าทำอะไรไม่ได้ อารมณ์เราเกิดมาเป็นแบบนี้

แต่สิ่งที่มันน่าตื่นเต้นมากนั่นก็คือคนเจนวายลงมาแทบไม่ต้อง reset สมองกันใหม่

พวกเขาไม่ผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนเสื้อในยุคบรรหาร ชาติชาย ทักษิณ

พวกเขาเกิดมาในยุคที่เสื้อกับกายาของรัฐไทยสวมสนิทเป็นเนื้อเดียวกันแนบสนิทอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย

ดังนั้น พวกเขาจึงไม่คิดว่าปัญหามันอยู่ที่เสื้อ แต่คือร่างกายาของรัฐไทยที่ต้องถูก independent มาสู่ความเป็นร่างสมัยใหม่เสียก่อนเป็นเบื้องต้น

เบื้องต้นเสียยิ่งกว่าจะมานั่งตกลงกันว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือจะเป็นเผด็จการ เพราะอันดับแรก เราต้องมีเอกราชเสียก่อน ถึงจะมาคุยกันเรื่องนั้นได้

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เยาวชน คนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ และประชาชนที่ออกมาสนับสนุนไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ “โลกใหม่” จากงานเขียน แฮชแท็ก มีม ภาพวาด งานศิลปะ อารมณ์ขันของคนรุ่นนี้จึงเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างที่สุด

เพราะมันจะไม่เหมือน 14 ตุลาฯ ไม่เหมือน 6 ตุลาฯ ไม่เหมือนพฤษภาคม 2535 ไม่เหมือน นปช. และคนเสื้อแดง – ไม่เหมือนการเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งไหนๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย

และนี่เป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ไป beyond เรื่อง “เสื้อ” ไปแล้ว

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ฉันก็เชื่อว่าสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม และจะไม่อาจกลับไปในยุคที่เราถูกพรางตาด้วย “เสื้อ” อีกต่อไป

จะก้าวหน้า หรือถอยหลังในห้วงเวลาหลังจากนี้ “ร่างกายา” นั้นก็ถูกสถานการณ์บังคับให้เผยร่างออกมาให้เป็นที่ประจักษ์อย่างไม่อาจอำพรางได้อีกต่อไป