คนมองหนัง | “แพรดำ” (2504) ภาพยนตร์ไทยเรื่องที่สอง ในสาย “คานส์ คลาสสิกส์”

คนมองหนัง

เมื่อ พ.ศ.2559 “สันติ-วีณา” ภาพยนตร์ไทยจาก พ.ศ.2497 ผลงานการกำกับฯ ของ “ทวี ณ บางช้าง” (มารุต) และอำนวยการสร้างโดย “รัตน์ เปสตันยี” สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนัง (เก่า) ไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกเข้าฉายในสาย “คานส์ คลาสสิกส์” ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์

ทั้งนี้ หมวดหมู่โปรแกรม “คานส์ คลาสสิกส์” นั้นจะรวบรวมภาพยนตร์เก่าทรงคุณค่าจากทั่วทุกมุมโลก ที่ผ่านการบูรณะปรับปรุงคุณภาพของภาพและเสียง กระทั่งสามารถออกฉายในโรงหนังสมัยใหม่ได้

ผู้ดำเนินโครงการบูรณะปรับปรุง “สันติ-วีณา” นั้นได้แก่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งร่วมมือกับ “L”Immagine Ritrovata” แล็บบูรณะภาพยนตร์ชื่อดังจากประเทศอิตาลี ที่มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีระดับสูงในการซ่อมแซมหนังเก่าให้ฟื้นคืนชีวิต

สี่ปีผ่านไป ใน พ.ศ.2563 “แพรดำ” หนังอาชญากรรม-ชีวิต แฝงด้วยปรัชญาพุทธศาสนา ของผู้กำกับฯ “รัตน์ เปสตันยี” ที่ออกฉายตั้งแต่ พ.ศ.2504 และเพิ่งได้รับการบูรณะ-ทำต้นฉบับใหม่ (รีมาสเตอร์) ในระบบ 4K โดยหอภาพยนตร์ฯ ก็เพิ่งได้รับคัดเลือกอย่างเป็นทางการจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ให้เป็นผลงานที่อยู่ในสาย “คานส์ คลาสสิกส์ 2020”

น่าเสียดายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้ได้ถูกเลื่อนการจัดงานออกไปเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น “แพรดำ” ฉบับบูรณะใหม่ จึงจะไม่ได้ออกฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่ประเทศฝรั่งเศส เฉกเช่น “สันติ-วีณา”

ทว่าหนังเรื่องนี้จะไปเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมการประดับเครื่องหมายสัญลักษณ์ “Official Selection 2020 Cannes Classics”

“แพรดำ” คือหนังในตระกูล “ฟิล์มนัวร์” เรื่องแรกๆ ของเมืองไทย นำแสดงโดย “รัตนาวดี รัตนาพันธ์” ซึ่งเป็นนามแฝงของ “พรรณี ตรังคสมบัติ” บุตรสาวแท้ๆ ของ “รัตน์ เปสตันยี”

ในหนังเรื่องนี้ รัตนาวดีสวมบท “แพร” หญิงหม้ายลูกติดที่สวมชุดสีดำเพื่อไว้ทุกข์ให้แก่สามีผู้ล่วงลับ ต่อมา ความสัมพันธ์ระหว่าง “แพร” กับ “ทม” (ทม วิศวชาติ) คนคุมไนต์คลับ ได้ชักนำเธอเข้าไปพัวพันกับแผนการหลอกลวงและเหตุฆาตกรรม

หอภาพยนตร์ฯ ระบุว่า “แพรดำ” เป็นผลงานที่มีความโดดเด่นในด้านสุนทรียศาสตร์ของภาพและศิลปะการสื่อความหมาย รวมทั้งการผสานแนวทางของหนังตะวันตกเข้ากับวิธีคิดและองค์ประกอบแบบไทย

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ หนังเรื่องนี้เคยได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน เมื่อ 59 ปีที่แล้ว

หรือเท่ากับว่า “แพรดำ” จะกลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมในเทศกาลภาพยนตร์ระดับ “เมเจอร์” ของโลกถึงสองแห่ง ได้แก่ “เบอร์ลิน” และ “คานส์”

อย่างไรก็ตาม “แพรดำ” ยังมีความแตกต่างข้อสำคัญจาก “สันติ-วีณา” อยู่อีกหนึ่งประการ กล่าวคือ นี่เป็นหนังเก่าเรื่องแรกสุดที่ได้รับการบูรณะและรีมาสเตอร์ใหม่ในระบบดิจิตอล โดยวัสดุอุปกรณ์และบุคลากรของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ล้วนๆ ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือและองค์ความรู้ของต่างชาติดังเช่นเมื่อสี่ปีก่อน