คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ว่าด้วยเรื่อง “ผม” บนหัว ในคติอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คนไทยเราถือเรื่องหัวกบาลหรือศีรษะมาก ไม่ชอบให้ใครมาแตะต้องหรือแสดงอาการลบหลู่

แต่น่าแปลกนะครับ หัวเราเองนี่เราหวงแหนมาก แต่เรากลับชอบไปยุ่งกับหัวคนอื่นเหลือเกิน โดยเฉพาะหัวคนที่อ่อนอาวุโสกว่า

ในภาษาบ้านเราถึงขั้นว่า ถ้าจะแสดงความเคารพใครมากๆ ต้องเอาหัวไปพูดกับตีนของเขานะครับ เช่น พูดกับอีกฝ่ายว่า ใต้เท้า แล้วเรียกตัวเองว่าเกล้ากระผม เห็นสำนวนแบบนี้พระภิกษุบ้านเรายังชอบใช้กันบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลานิมนต์พระราชาคณะมางาน ฟังแล้วน่าขนลุก

พระด้วยกันไม่เคารพกันโดยพระวินัย โดยธรรม แต่ดันไปเคารพยศถาที่ทางโลกประเคนให้

ตอนนี้มีประเด็นเรื่องทรงผมนักเรียนกับการลงโทษของครูเป็นที่ถกเถียงในสังคม เช่น กล้อนผมให้แหว่งจนน่าเกลียด และแม้จะมีกฎใหม่เรื่องทรงผม แต่ก็ยังมีผู้ยังไม่ยอมอีกมาก

ผมคิดว่าเรื่องนี้สมควรต้องเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

 

ผมสอนในมหาวิทยาลัยมาสิบกว่าปี ที่คณะซึ่งผมทำงานอยู่ นักศึกษาอยากทำผมอย่างไรก็ทำมาได้ เพราะเรารู้ว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเรียนของเขา

บางคนกลัวว่าการปล่อยปละละเลยเกินไปจะทำให้คนไร้ระเบียบวินัย

แต่ผมคิดว่า บ้านเราไปเน้นระเบียบวินัยทางรูปแบบที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรจริง เช่น เรื่องการแต่งกายกับผมบนหัว โดยเชื่อว่ามันเป็นการแสดงความเคารพสถานที่ (ที่ก็น่าสงสัยว่ามันต้องเคารพทำไม เช่น สถานที่ราชการหรือสถาบันการศึกษา)

ผมว่ามันถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ก็เพื่อพยุงอำนาจข้าราชการพวกเจ้านายประชาชนทั้งหลายไว้เท่านั้นเองครับ

ส่วนระเบียบวินัยที่เน้นการเคารพคนอื่น เช่น การไม่แซงคิว การตรงต่อเวลา กลับเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเน้นอย่างระเบียบวินัยข้างต้น แถมดูเหมือนว่าการละเมิดระเบียบวินัยเหล่านี้ช่วยแสดงให้เห็นอภิสิทธิ์หรือสถานะบางอย่าง

เช่น ประธานในพิธีที่มาสายมากๆ แต่ทุกคนก็ไม่โวย หรือการลัดคิวโดยใช้สิทธิพิเศษที่เห็นกันเนืองๆ

นึกถึงเวลาที่ผมพาผู้คนไปอินเดีย หลายครั้งผู้ร่วมทางจากเมืองไทยโดยเฉพาะคนร่ำคนรวยอยากใช้ “ช่องทางพิเศษ” ซึ่งตามเทวสถานดังๆ มักมีไว้ให้ โดยเราต้องจ่ายเงินสำหรับทางนี้โดยเฉพาะ จะได้ไม่ต้องรอคิวนานๆ บางเทวสถานก็ไม่มีช่องพิเศษ แต่สามารถสร้างช่องพิเศษได้โดยใช้เจ้าหน้าที่แหวกฝูงสาธุชนชาวบ้านที่ท่านกำลังรอคิวอยู่นำเราไปยังที่ที่ต้องการในทันใด

ผมได้แต่หลบสายตาชาวบ้านที่เขารอมาทั้งวันเพราะอาย

จากที่เคยสัมผัสหลายคนเขาก็ไม่โกรธนะครับ เพราะเขาคิดว่าอย่างน้อยๆ วัดของเขาก็ได้เงินทำบุญจากไอ้พวกเจ๊กจีนพวกนี้เพิ่ม

แต่ภายหลังก็คุยกับเจ้าของทัวร์ว่าหากมีเวลาพอและไม่มีคนสูงอายุ ผู้พิการหรือเจ็บป่วย ก็จะต่อคิวแบบชาวบ้านๆ นี่แหละ ให้ได้สัมผัสศรัทธาที่ไม่มีอภิสิทธิ์บ้าง ได้เคารพชาวบ้านกับศรัทธาของเขาบ้าง

 

เกริ่นมายืดยาว ลากจากต้นพระคงคาออกไปถึงมหาสมุทรสาคร ก็ขอกลับมาที่เรื่อง “ผม” ในคติความเชื่อของอินเดียครับ

ที่จริงแม้คตินับถือหัวว่าสูงเท้าต่ำ อินเดียก็มีอย่างเรา เราเองก็คงรับความเชื่อและธรรมเนียมหลายอย่างจากเขาในเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนเราเองนับถือหัวก่อนรับความเชื่ออินเดียเสียอีก เพราะ “ขวัญ” สำคัญในความเชื่อของเรามันอยู่ที่หัวเรานี่แหละ

ตามคติอินเดีย ผมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญบนหัวเกี่ยวพันกับความคิดเรื่องวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมทั้งแนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตทางโลกหรือสละโลก

ในประติมานวิทยา เทพเจ้าหลายองค์จะสยายผมและอีกหลายองค์จะมัดผม เทพที่สยายผมมักเป็นเทพดุร้ายหรือเป็นเทพพื้นเมือง เช่น เจ้าแม่กาลี เจ้าพ่อไภรวะ

ส่วนเทพในระบบสันสกฤตมักรวบผม เช่น เจ้าแม่เคารี พระสุรัสวดี พระวิษณุ ฯลฯ

 

ดร.เทวทัตต์ ปัฏฏนายก นักเทววิทยาคนโปรดของผม (ผมเพิ่งเห็นชื่อท่านที่เขียนโดยตัวอักษรเทวนาครี จึงขอแก้ไขที่เขียนผิดเพราะเขียนจากภาษาอังกฤษมาโดยตลอด) กล่าวว่า การมัดหรือการปล่อยผมนั้น สะท้อนการอยู่ใน “วัฒนธรรม” หรือการอยู่ใน “โลกธรรมชาติ”

เทวีหรือเทพเจ้าดุร้ายที่สยายผมนั้น ได้สะท้อนพลังของธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่ง สภาวะตามธรรมชาติสะท้อนอยู่ในสิ่งที่ยังไม่ได้ถูกจัดระเบียบหรือจัดการ ผมสยายและร่างกายเปลือยเปล่าเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะเช่นนี้

ส่วนการมัดผมนั้นสะท้อนการควบคุมอยู่หรือถูกจัดระเบียบ อันพ้นจากสภาวะยุ่งเหยิงตามธรรมชาติ เทพเจ้าที่มนุษย์นำเข้าสู่เขตคามบ้านตนจึงล้วนมัดผม เช่น เทวีเคารี ซึ่งที่จริงเธอคือธรรมชาติเช่นเดียวกับกาลี เพียงแต่เธอถูกจัดระเบียบแล้ว

ในขณะกาลีที่ดุร้ายเป็นเทพแห่งความตายนั้นปรารถนาอาหารและชีวิต (ความตายที่แปรเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นปุ๋ย) เธอก็ถูกจัดระเบียบและกลายเป็นเคารี (แปลว่าขาว) ด้วยการมัดผมและสวมอาภรณ์ เพื่อมอบอาหารให้มนุษย์ (ปุ๋ยหรือความตายกลายเป็นชีวิตใหม่หรืออาหาร) เคารีจึงเป็นเทวีแห่งธัญญาหาร

 

นอกจากนี้ ในวัฒนธรรมอินเดีย คนอินเดียแต่โบราณจัดการกับผมของตนในหลายลักษณะ เพื่อตอบสนองต่อหลายความหมายในการกำหนดบทบาทหรือสำนึกที่มีต่อตนเองและที่คนอื่นมีต่อเรา

การไว้ผมยาวมัดมุ่นไว้อย่างเรียบร้อยเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง (ซึ่งมีเวลาดูแลผมของตัว) เช่นเดียวกับการสวมโจงกระเบนกรอมเท้า ในขณะที่ชาวบ้านหรือชนชั้นต่ำต้องสวมโจงกระเบนเหนือเข่า (เพราะต้องทำงานใช้แรง จะนวยนาดไม่ได้) และมักมีทรงผมมัดอย่างง่ายๆ หรือตัดสั้นพอประมาณ

เมื่อไว้ผมยาวแล้ว การโพกผ้าเพื่อรักษาความสะอาดเรียบร้อยก็เกิดขึ้น ผ้าพันหัวก็จะค่อยๆ ถูกตกแต่งให้วิจิตร แล้วก็จะกลายเป็น “มงกุฎ” ซึ่งแสดงอำนาจและยศศักดิ์ในภายหลัง

พระวิษณุมีพระนามสำคัญว่า “เกศวะ” แปลว่าผู้มีผมงาม แสดงให้เห็นว่า มีการให้ความสำคัญกับผมโดยปรากฏในเทพเจ้าที่แสดงสถานะอย่างกษัตริย์เพียงไร

 

สมัยที่ตัวผมเรียนความรู้เรื่องพราหมณ์เมื่อหลายปีก่อน หนังสือนิตยกรรมปธติ อันว่าด้วยกิจอันพึงทำทุกวันของสามวรรณะแรกและกัลปะพิธีต่างๆ ยังมีบทที่พูดเรื่องการใช้น้ำมันใส่ผมอยู่เลยครับ ว่าวันไหนใส่ได้ใส่ไม่ได้อะไรยังไง (ซึ่งในตอนนั้นคนไม่ค่อยนิยมใส่น้ำมันผมกันแล้ว) และบอกด้วยว่า ในขณะทำพิธีให้มัดมวยผมหรือ “ศิขา” อยู่เสมอ เว้นแต่ในเวลาไว้ทุกข์

นอกจากการมัดหรือสยายผม ในวัฒนธรรมอินเดียยังมีการจัดการอีกอย่างคือการโกน แต่การโกนผมในวัฒนธรรมอินเดีย มีทั้งแบบโกนบางส่วนและโกนทั้งหมด โดยมีนัยยะต่างกัน

พราหมณ์หลายพวกในอินเดียหรือศาสนิกบางกลุ่มนิยมโกนผมบางส่วน เช่น ส่วนด้านหน้าครึ่งศีรษะ โดยปล่อยส่วนหลังให้ยาวและมัดไว้ บ้างก็โกนเกือบหมด เว้นแต่ส่วนที่เป็นมวยด้านหลังเท่านั้น

การโกนหมดทั้งศีรษะนั้น มีในกรณีการไว้ทุกข์หรือการออกบวชสละเรือน ไม่ว่าจะเป็นนักบวชของพุทธศาสนา ของฮินดูบางพวก และของศาสนาไชนะ (เชน)

มีคำอธิบายว่า การโกนสะท้อนการสละละวาง เพราะผมเป็นของหวงแหนทั้งยังแสดงสถานะทางสังคม การไว้ผมยาวเต็มที่แสดงสถานะฆราวาส การโกนบางส่วนแสดงสถานะผู้ประกอบพิธีกรรม เช่น พราหมณ์ที่ต้องสละชีวิตบางส่วนไปถือวินัยที่มีรายละเอียดกว่าฆราวาสทั่วๆ ไปบ้าง (แต่ก็ยังเป็นฆราวาสเหมือนกัน) และการโกนหมดแสดงสถานะนักบวชสละโลกโดยสิ้นเชิง

แต่บางครั้งการปล่อยผมยาวโดยไม่ใส่ใจดูแลก็อาจสะท้อนภาวะของการสละละวางได้เหมือนกัน เช่น นักบวชบางพวกในอินเดียจะปล่อยผมยาวโดยไม่สระจนเกิดเป็นก้อนสังกะตัง แล้วก็ยกทั้งก้อนผมนั้นไว้บนศีรษะ นักบวชเหล่านี้มีทั้งฝ่ายฮินดูและพุทธศาสนาซึ่งมักเป็นพวกโยคีหรือมันตริกะซึ่งพบในฝ่ายวัชรยาน

พระศิวะมีอีกพระนามว่า “ชฎาธร” แปลว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งมุ่นมวยผม เพราะพระองค์เป็นนักบวชสละโลก (แต่กลับมามีครอบครัวภายหลัง) คำว่ามุ่นมวยผมคือชฎาหรือชฎาในภาษาไทยนั่นเอง บางคนเคยพูดกับผมว่า ทรงผมเดดล็อกที่สายเร็กเก้เขาไว้กันนั้นพระศิวะไว้มาตั้งนมนานแล้ว (ฮา)

 

ธรรมเนียมเกี่ยวกับผมจากอินเดีย คงส่งผ่านมายังบ้านเราไม่มากก็น้อย แต่ที่น่าสนใจคือ ความคิดเรื่องผมในสถานศึกษาของบ้านเราดูจะเข้มข้นและเข้มงวดกว่าเรื่องผมในทางศาสนาเสียอีก

พระอาจารย์หลายรูปในจีนช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจำต้องไว้ผมยาว สวมชุดฆราวาส แต่คนก็ยังกราบไหว้ เพราะสุดท้ายแล้ว เนื้อตัวและจิตใจของท่านคือพระ ไม่ว่าท่านจะมีผมทรงไหน

ความเป็นนักเรียน-นักศึกษาผู้ใฝ่รู้ หรือความสำนึกในระเบียบวินัยที่เคารพคนอื่นที่เท่ากับเรา มันจึงไม่ได้อยู่ที่ทรงผมหรอกครับ

มันอยู่ที่ใจ