บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/สถานการณ์ ‘ยากลำบาก’ ของ รบ. หลังคลายล็อก ‘โควิด’ เฟสที่ 5

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

สถานการณ์ ‘ยากลำบาก’ ของ รบ.

หลังคลายล็อก ‘โควิด’ เฟสที่ 5

 

รัฐบาลถูกตำหนิและรุมถล่มจากทุกฝ่ายอย่างหนัก ประเดิมการคลายล็อกเฟสที่ 5 สำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกรณีคณะทหารจากอียิปต์ ฝ่าฝืนข้อกำหนดการเข้าประเทศ ด้วยการแอบออกนอกสถานที่กักตัวในจังหวัดระยอง ไปเดินเพ่นพ่านในที่สาธารณะ โดยที่พบว่า 1 ในนั้นมีเชื้อโควิด

การคลายล็อกเฟสที่ 5 เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากิจการที่มี “ความเสี่ยงสูง” ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการ ถือเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับการผ่อนปรน แม้รัฐบาลจะตระหนักดีว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก แต่ก็ต้องยอมให้เปิด เนื่องจากเหตุผลด้านปากท้องของผู้อยู่ในอาชีพดังกล่าว

การคลายล็อกเฟสที่ 5 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ถือเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสม (บางฝ่ายก็ว่าช้าเกินไป) เพราะในประเทศปลอดการติดเชื้อติดต่อกันมา 21-22 วันแล้ว ปลอดภัยพอสมควร นอกจากจะให้มีการเปิดสถานบันเทิง นวด สถานเสริมความงาม แล้วยังมีการผ่อนปรนให้ต่างชาติบางกลุ่มเดินทางเข้ามาได้แบบมีเงื่อนไข หรือเป็นการเปิดประเทศแบบแง้มๆ ก่อน

หลังจากเฟส 5 ผ่านไป 2 สัปดาห์ ยังไม่เกิดการติดเชื้อใหม่ในประเทศ แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นในส่วนของต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามา โดยนอกจากจะเป็นรายของทหารอียิปต์แล้วยังมีลูกสาววัย 9 ขวบของทูตประเทศซูดาน ที่พบว่าติดเชื้อโควิด

แต่ครอบครัวนี้กลับไม่ไปกักตัวในสถานทูตตามข้อกำหนด หากแต่ไปพักที่คอนโดมิเนียมย่านสุขุมวิท

 

เมื่อเกี่ยวข้องกับทหาร รัฐบาลยิ่งถูกฝ่ายตรงข้ามที่จ้องอยู่แล้วได้ทีถล่มหนัก ซึ่งตามการชี้แจงของกองทัพอากาศระบุว่า สถานทูตอียิปต์เป็นผู้ยื่นขออนุญาตผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อให้เครื่องบินของทหารอียิปต์เข้ามาเติมน้ำมันและแวะพักเครื่องที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังกองทัพอากาศ และกองทัพอากาศอนุมัติ

เมื่อฟังความจากทุกด้านแล้ว สรุปว่าช่องโหว่อยู่ตรงที่ทั้งทหารต่างประเทศและครอบครัวทูตได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ากักตัวตามสถานที่ที่รัฐบาลไทยกำหนด โดยกรณีของทูตให้กักตัวที่สถานทูตของประเทศนั้นแทน ด้วยเหตุแห่งการให้เกียรติและเชื่อใจกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือครอบครัวทูตรายนั้นไม่มีวินัย ขาดความรับผิดชอบ

ส่วนกรณีทหารอียิปต์ ฟังได้ว่าสถานทูตอียิปต์เป็นผู้เลือกโรงแรมที่พักให้กับคณะทหารอียิปต์ โดยไม่ผ่านทีมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข

สรุปแล้วก็คือ ทางการไทยหละหลวมที่ยอมให้สถานทูตอียิปต์เป็นผู้เลือกสถานที่กักตัวเอง ทั้งที่โรงแรมดังกล่าวไม่ใช่สถานที่กักตัวทางเลือกตามข้อกำหนดของทางการไทย

 

เหตุการณ์นี้สร้างความโกลาหลไปหมด ไม่เพียงแค่ระยองที่ต้องปิดโรงเรียนหลายแห่ง แต่โรงเรียนในกรุงเทพฯ บางแห่งก็ต้องปิด เพราะมีนักเรียนไปพักโรงแรมเดียวกับทหารอียิปต์นายนั้น ส่วนโรงแรมในระยองบางแห่งก็ถูกลูกค้ายกเลิกห้องพักแทบเกลี้ยง ทั้งที่กำลังจะฟื้นตัว

แน่นอนว่าอารมณ์ของสังคมเกิดความโกรธจัด เพราะคนไทยอดทนแทบตายให้ความร่วมมือจนสามารถทำให้ไทยปลอดการติดเชื้อติดต่อกันกว่า 50 วัน แต่รัฐบาลกลับปล่อยให้วีไอพีต่างชาติมาตีไข่แตกไปเสียนี่

เหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนสำหรับการปรับปรุงมาตรการ หากว่าในระยะต่อไป ไทยจะเปิดประเทศมากกว่านี้เพื่อฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้โครงการท่องเที่ยวแบบจับคู่กับประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดี หรือ Travel Bubble อาจต้องยืดเวลาออกไปอีก เพราะคนไทยเริ่มไม่เชื่อมั่น

ซึ่งนั่นจะไม่เป็นผลดีเลยเพราะภาคท่องเที่ยวเคยสร้างรายได้มากถึง 18-19% ของจีพีดีประเทศ

 

เมื่อมีกรณีนี้เกิดขึ้น ก็เริ่มมีบางฝ่ายเรียกร้องให้ปิดประเทศต่อไป จนกว่าสถานการณ์ระบาดทั่วโลกจะดีขึ้น แต่โจทย์ที่ยากคือไม่มีใครรู้ว่ามันจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ถ้าโชคดีมากหน่อยก็รอแค่ถึงปลายปี แต่แนวโน้มคงนานกว่านั้น เพราะประเทศหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป อินเดีย รัสเซีย ยังสาหัสมาก โดยเฉพาะอเมริกายังติดเชื้อเพิ่มวันละ 5-6 หมื่นราย

หากปิดประเทศนานเกินไป เศรษฐกิจไทยจะติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจะพยุงเศรษฐกิจโดยใช้งบประมาณอย่างเดียว โดยที่ไม่มีรายได้หลักเข้ามา รัฐบาลคงถังแตกไปก่อน และต้องกู้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งตอนนี้ระดับการกู้ใกล้จะชนเพดานหนี้แล้ว ถ้ากู้ชนเพดานหรือเกินเพดานเมื่อไหร่ หมายความว่าสถานะประเทศก็จะเปราะบาง ความเชื่อมั่นต่างประเทศที่มีต่อไทยจะลดลง วิกฤตใหญ่ก็จะมาเยือนอย่างแท้จริง

ลำพังการจะอาศัยรายได้จากการบริโภคในประเทศ เช่นเที่ยวไทยกันเอง ไม่เพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจแน่นอน ดังนั้น การคลายล็อกเฟสที่ 5 จึงทำให้รัฐบาลตกอยู่ในฐานะลำบาก เพราะถ้าไม่ผ่อนคลายกลุ่มเสี่ยงและไม่ทยอยเปิดประเทศ ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องยาวนานเกินไป

แต่พอเปิดก็จะถูกประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งตำหนิคัดค้าน เกิดการชักเย่อกันไปมาเช่นนี้

 

ดังนั้น การหาจุดสมดุลก็จะดีที่สุด นั่นก็คือรัฐบาลและสาธารณชนต้องยอมรับร่วมกันว่าการคลายล็อกเฟสที่ 5 มีความเสี่ยง การไปคาดหวังว่าเมื่อคลายล็อกแล้ว การติดเชื้อในประเทศจะต้องเป็นศูนย์ตลอด ย่อมเป็นไปไม่ได้

ถ้าจะไม่ให้ตึงหรือสุดโต่งเกินไป การติดเชื้อในระดับเลขหลักเดียวหรือสิบต้นๆ ก็น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ เพราะเป็นระดับที่จิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านหรือแม้แต่ระดับโลก

ในกรณีที่สาธารณชนส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้มีการติดเชื้อใหม่เลย ก็ต้องทำใจว่าจะต้องไม่บ่นเรื่องเศรษฐกิจ เพราะการจะคาดหวังให้เศรษฐกิจดี โดยไม่เปิดประเทศ แสดงว่าไม่อยู่ในโลกแห่งความจริง

เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำความเข้าใจต่อสาธารณชนว่า ต่อจากนี้มีความเป็นจำเป็นและสำคัญอย่างไร ที่จะควบคุมโควิดให้ดีระดับหนึ่ง (โดยไม่ต้องเป็นศูนย์) ไปพร้อมๆ กับการเปิดให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศ

ถ้าปรับปรุงมาตรการรับต่างชาติให้รัดกุมแล้ว ทำสุดความสามารถแล้ว หากมีการติดเชื้อขึ้นมาบ้าง ก็ไม่ควรตื่นตระหนกก่นด่ากันมากเกินไป ตราบใดที่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่บริหารจัดการได้

การจะไม่ให้ผิดพลาดเลย ก็ดูจะเป็นการคาดหวังความสมบูรณ์แบบมากเกินไป เพราะธรรมชาติของไวรัสตัวนี้มีความซับซ้อน บางครั้งตรวจสอบยาก หรือเล็ดลอดการตรวจสอบได้

 

อีกประการหนึ่งต้องระลึกไว้เสมอว่า แม้ไม่เปิดประเทศรับต่างชาติ โอกาสติดเชื้อใหม่ในประเทศยังมีได้เสมอหลังการคลายล็อกเฟสที่ 5 เพราะนี่คือเฟสเสี่ยง

เหมือนการลงทุนที่มักมีคำเตือนไว้แนบท้ายเสมอว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” ความหมายก็คืออย่าคาดหวังว่าจะได้กำไรตลอด โดยไม่ขาดทุน ถ้าไม่เสี่ยงเลยโอกาสจะได้กำไรหรือทำให้ทรัพย์สินงอกเงย ก็ไม่มีเช่นกัน ดังนั้น จึงมีคำคมอีกอันหนึ่งในหมู่นักลงทุนว่า “สิ่งที่เสี่ยงที่สุดคือการไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย”

แต่การเสี่ยงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการเสี่ยงอย่างโง่เง่ามืดบอด แต่เป็นการเสี่ยงอย่างมีการคิดคำนวณ ไตร่ตรองรอบคอบแล้ว การเสี่ยงที่ผ่านการไตร่ตรอง จึงค่อนข้างต่ำ

ดังนั้น ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสาธารณชนในการไตร่ตรองว่า จะยอมเสี่ยงไปด้วยกันหรือไม่ หากต้องการให้เศรษฐกิจฟื้น