ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 24-30 กรกฎาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

นิตยา กาญจนะวรรณ แห่งคอลัมน์มองไทยใหม่

ว่าด้วย “ภาษาต่างเจน” มาแล้ว 4 ตอน

ฉบับนี้เป็นตอนที่ 5

ผู้ที่ไม่ได้ติดตามต่อเนื่อง

ขอทบทวนความจำให้เล็กน้อย

“เจน” ที่หมายถึง generation — “ช่วงวัยของประชากร”

แบ่งเป็นช่วงต่างๆ 5 ช่วง ดังนี้

 

Generation T (Traditionalist)

คือประชากรที่เกิดก่อน พ.ศ.2489

มีลักษณะยึดมั่นขนบธรรมเนียมประเพณี เน้นค่านิยมไทย

เป็นคนที่มีประสบการณ์ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก

ถ้าเทียบกับไทยจะราวๆ รัชกาลที่ 7

ผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงต้นยุคสงครามเย็น

มีลักษณะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

อยากให้โลกหมุนกลับมาหาคืนวันเก่าๆ

อายุ 75 ปีขึ้นไป มีจำนวนราว 2,902,993 คน

 

Generation B (Baby boomer) หรือเจนบี

คือประชากรที่เกิดช่วง พ.ศ.2489-2507

มีลักษณะอนุรักษนิยมกึ่งสมัยใหม่

มีความอดทน อุตสาหะ มีมานะ พยายาม และภักดีต่อองค์กร

คนรุ่นนี้มีประสบการณ์ยุคสงครามเย็น เผด็จการทหาร ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร

ในด้านเทคโนโลยีจะเริ่มมีโทรทัศน์ขาว-ดำ วิทยุทรานซิสเตอร์

คนรุ่นนี้มีความอดทน ใจเย็น รอคอยได้ ไม่รีบร้อน และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

นิสัยที่โดดเด่นคือ ทำงานหนัก ยอมตายในหน้าที่เพื่องาน มัธยัสถ์ รู้จักใช้จ่าย และเป็นผู้นำทางความคิด

อยู่ในวัยตั้งแต่ 56-74 ปี มีจำนวน 11,761,758 คน

 

Generation X หรือเจนเอ็กซ์ คือประชากรที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2508-2523

เอ็กซ์ (X) มาจากเครื่องหมาย “กากบาท” ซึ่งสะท้อนว่าพ่อ-แม่ยุคนี้มีลูกน้อย

เนื่องจากทั้งพ่อและแม่ออกไปทำงานทั้งสองคน

บางครอบครัวมีการหย่าร้าง

คนรุ่นนี้มีวิญญาณขบถ เป็นนักปฏิวัติ หรือหัวรุนแรง หัวก้าวหน้า ชอบความท้าทาย

ทั้งนี้ อาจมาจากการอยู่บ้านคนเดียวหลังเลิกเรียน เพราะพ่อ-แม่ยังไม่กลับ (Latchkey kid)

ลักษณะที่โดดเด่นคือ มีความมั่นใจในตนเองสูงมาก ชอบทำงานแบบ Work smart, not harder

จึงทำให้พวกเขาชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่อยู่นิ่ง ชอบพัฒนางาน

แต่มีชีวิตที่สมดุลระหว่างงานกับชีวิต

และเชื่อว่า การทำงานหนักเพื่อการหาเงินและนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพักผ่อน

คนรุ่นนี้มีประสบการณ์ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานในยุคตุลาคม 2516 จนถึงยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เริ่มมีวิดีโอ เกมคอมพิวเตอร์ โซนี่วอล์กแมน

คนรุ่นนี้จึงรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้เร็วกว่าเจนบี

อยู่ในวัยตั้งแต่ 40 ถึง 55 ปี มีจำนวน 16,267,720 คน

 

Generation Y (The Millennial) หรือเจนวาย

คือผู้ที่เกิดในยุคที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต

เกิดระหว่าง พ.ศ.2524-2543

เป็นคนที่ชอบเทคโนโลยี ชอบความเร็ว ทันทีทันใด ไม่ชอบรอนาน

ชอบสีสันสดใส บรรยากาศสนุกสนาน ชอบให้เอาอกเอาใจ

มีลักษณะการใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ

ไม่ชื่นชอบความเป็นทางการ

มองโลกในแง่ดี มองทุกอย่างแบบสดใส และโลกสวย

นี่คือประชากรในวัยตั้งแต่ 20 ถึง 39 ปี มีจำนวน 18,901,346 คน

 

Generation Z หรือเจนแซด หรือ Silent Generation

ปัจจุบันถือเอาช่วงหลัง พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) เป็นจุดเริ่มต้นของช่วงวัยนี้

เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาพร้อม Digital และ Social Network

เป็นช่วงวัยที่ความหลากหลายทางสังคมมีมาก

ทั้งเรื่องเพศวิถี ที่มีความแตกต่าง และให้การยอมรับเพศทางเลือกมากขึ้น

มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์

มีความหลากหลายทางเทคโนโลยีทุกด้าน เช่น การแพทย์ วิศวกรรม วิทยาศาสตร์

รวมทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ที่เป็น Fully Digitalization

คนรุ่นนี้จะเป็นช่วงวัยที่เงียบ

อาจเป็นเพราะการอยู่ในยุคที่มีอุปกรณ์การสื่อสารและบันเทิงอย่างครบถ้วนในอุปกรณ์เดียว

จึงเป็นการง่ายที่จะปลีกตัวเองจากสังคมจริง (Real community) เข้าสู่สังคมเสมือน (Virtual community)

อยู่ในวัยต่ำกว่า 20 ปี ช่วงวัยนี้มีจำนวน 14,872,336 คน

 

ในฐานะภาษาศาสตร์ อาจารย์นิตยาจับตามองประชากรใน Generation Y, Z ในปัจจุบันเป็นพิเศษ

เพราะคาดการณ์ว่าจะเป็นผู้กำหนดอนาคตภาษาในอีก 20 ปีข้างหน้า

โดยคนรุ่น Y, Z นี้มีเอกลักษณ์ทางการใช้ภาษาแบบสร้างสรรค์ ฉีกกฎเกณฑ์

จึงทำให้เกิดภาษาปาก (Slang) มากมาย

จนทำให้กลุ่มขนบนิยมมองว่าเป็นการสร้างภาษาวิบัติ

แต่ถ้ามองด้วยมุมมองที่ยอมรับความแตกต่างได้

จะเห็นว่าเป็นวิวัฒนาการของภาษาที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น ภาษาไทยของเรา

 

ที่ชี้ชวนให้อ่านบทความชุด “ภาษาต่างเจน” ในคอลัมน์มองไทยใหม่ ของนิตยา กาญจนะวรรณ

เผื่อใครติดตามการชุมนุมของคนรุ่น Y, Z ตอนนี้

เจอภาษาวิบัติ แปลกๆ รุนแรง หยาบ

จะได้เข้าใจ

และไม่ตื่นตกใจเกินเหตุ