วิกฤติศตวรรษที่21 | โควิด-19 คือเฮอร์ริเคนแคทรีนา ของระบอบทรัมป์

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (14)

เดือนสิงหาคม 2005 ช่วงต้นของการบริหารของประธานาธิบดีบุชสมัยที่สอง เกิดพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาพัดกระหน่ำเมืองนิวออร์ลีนส์และบริเวณใกล้เคียง ก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินราว 125 พันล้านดอลลาร์ และชีวิตของคนอเมริกันกว่า 1,200 คน

สร้างความน่าอับอายแก่สหรัฐเป็นอันมาก สะท้อนความไร้สามารถในการนำและระบบป้องกันสาธารณภัยของสหรัฐอย่างรุนแรง

เมื่อเทียบกับประเทศคิวบาที่ผ่านพายุเฮอร์ริเคนอิแวนความรุนแรงระดับ 5 ในปี 2004 โดยไม่มีผู้เสียชีวิตเลย และผ่านพายุเดนนิสความรุนแรงระดับ 4 ในปี 2005 โดยมีผู้เสียชีวิตเพียง 15 ราย

คิวบายังได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์และบุคลากรแก่สหรัฐ

ในกรณีแคทรีนา กล่าวกันว่าคนอเมริกันไม่เคยให้อภัยแก่บุชในเรื่องนี้

โควิด-19 ก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประเทศมากกว่าแคทรีนาเป็นหลายสิบเท่า

แต่ว่ามันก็มีความซับซ้อนกว่ามาก เพราะว่าเชื้อโควิด-19 แตกสายพันธุ์ไปต่างๆ และใช้เวลานานเป็นหลายเดือนกว่าที่จะประจักษ์ ว่าการนำได้ผลดีหรือไม่ เมื่อถึงต้นเดือนกรกฎาคมจึงได้เห็นกันทั่วไปว่า ระบอบทรัมป์ล้มเหลว ไม่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้อย่างที่ปลอบใจชาวอเมริกัน เมื่อเทียบกับบางประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นเวียดนาม ที่มีพรมแดนติดกับจีนที่เป็นต้นตอการระบาด มีประชากรมากเกือบร้อยล้านคน เพิ่งฟื้นตัวจากสงคราม และเพิ่งก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นต้น มีผู้ติดเชื้อเพียง 355 ราย รักษาหาย 335 ราย เสียชีวิต 0 ราย

ชาวอเมริกันจำนวนมากคงลืมเรื่องนี้ไม่ลงไปอีกนาน

ความพลั้งพลาดใหญ่ของระบอบทรัมป์ในกรณีโควิด-19 เกิดจากจุดอ่อนในระบอบนี้ 3 ประการสำคัญ ได้แก่

1) แนวคิดลัทธิเศรษฐกิจ-ธุรกิจ นำปัญหาและแนวทางปฏิบัติต่างๆ มาคิดในเชิงเศรษฐกิจ-ธุรกิจ เช่น ระหว่างปิดหรือไม่ปิดเมือง อย่างใดจะมีผลต่อเศรษฐกิจหรือธุรกิจมากน้อยเพียงใด หรือต่อกลุ่มใด และมีแนวโน้มในทางที่จะเห็นว่าไม่ควรปิด หรือถ้าปิดก็ต้องไม่นาน และเปิดใหม่โดยเร็ว เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

ผู้ว่าการบางรัฐที่สังกัดพรรครีพับลิกันและมีแนวคิดแบบนี้ถึงกับกล่าวว่า ให้ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรจะยอมเสียชีวิตเพื่อรักษาเศรษฐกิจโดยรวมของรัฐ

จากความโน้มเอียงนี้ ระบอบทรัมป์อ้างอิงความคิดของนักวิชาการด้านการแพทย์ ระบาดวิทยา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ใช่กระแสหลักเพื่อให้ความคิดของตนมีลักษณะเป็นวิชาการหรือเป็นวิทยาศาสตร์

สังเกตได้ว่า มีผู้นำในหลายประเทศที่มีแนวคิดและการปฏิบัติคล้ายกัน ได้แก่ ประเทศสวีเดน อังกฤษ และบราซิล กับหลายชาติในละตินอเมริกา แม้แต่รัสเซียเองก็มีความโน้มเอียงไปในทางนี้

จากความโน้มเอียงดังกล่าว มีการปฏิบัติที่ร่วมกันดังนี้คือ

ก) การกลบเกลื่อนความร้ายแรงของโควิด-19 เช่น ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด

ข) “ภูมิคุ้มกันหมู่” อ้างว่าเมื่อการระบาดแพร่ไปมาก เช่น ราวร้อยละ 50-60 ของจำนวนประชากร ก็จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เชื้อโควิด-19 ก็จะลดความรุนแรงและหายไปเอง แต่ภูมิคุ้มกันหมู่นี้ไม่ได้ใกล้เคียงว่าจะเกิดขึ้นในประเทศใดเลย และมันไม่ใช่ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเพียงการคาดหวังในด้านดีอย่างหนึ่ง

ค) การปิดเมืองทำให้คนตายไม่แพ้จากเชื้อ และยังมีผลร้ายอื่นทางเศรษฐกิจ-สังคม และทางด้านจิตวิทยามากมาย และในเมื่อยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การปิดเมืองเป็นเพียงการยืดเวลาและความทุกข์ยากออกไปให้ยาวนานเท่านั้น

2) การทำให้เป็นการเมือง ได้แก่ การแปรสถานการณ์โรคระบาดให้กลายเป็นเกมการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ ส่วนที่เป็นในประเทศ ได้แก่ การแบ่งพื้นที่ตามการปกครองและฐานคะแนนเสียง คือ การแบ่งรัฐสีแดง (พรรครีพับลิกัน) และรัฐสีน้ำเงิน (พรรคเดโมแครต) เกิดการเลือกปฏิบัติ เข้าแทรกแซงการปฏิบัติงานตามประโยชน์ทางการเลือกตั้ง ซึ่งก่อผลเสียใหญ่คือทำให้นโยบายแห่งชาติในการแก้ไขปัญหายิ่งอลหม่าน ประชาชนยิ่งมีความสับสน

ในด้านการเมืองต่างประเทศ ที่เด่นได้แก่ การโจมตีจีน เช่น ชูเรื่องไวรัสของจีน หรือกล่าวว่ากำแพงชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกช่วยกันการระบาดจากละตินอเมริกา เหล่านี้ทำให้เสียเวลาและความตั้งใจในการรับมือกับการระบาด

3) ความสนใจทางการแพทย์-สาธารณสุขเพื่อการต่อสู้กับโรคระบาดอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากประเมินความรู้และเทคโนโลยีด้านนี้ของประเทศสูงเกินไปว่ามันจะไม่เกิดขึ้น

ต้องการประหยัดเงินเพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มงบประมาณทางทหารและการลดภาษีให้แก่คนรวยมากกว่า

มีผู้วิเคราะห์ว่า ความไม่สามารถของฝ่ายนำในการรับมือและบรรเทาความรุนแรงของโควิด-19 ยังเปิดเผยความเสื่อมถอยของสหรัฐในสายตาของชาวสหรัฐและชาวโลกอีกหลายอย่าง ได้แก่ ราคาบ้านที่สูงจนจดไม่ติดสำหรับชาวบ้านในการผ่อนส่งเมื่อเทียบกับออสเตรเลีย

การใช้ปืนสังหารกันเป็นว่าเล่น ความโหดเหี้ยมของตำรวจอเมริกัน ความแตกแยกทางการเมืองและทางเชื้อชาติอย่างรุนแรง โครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งที่ผุโทรม การต่อต้านผู้อพยพ ผู้ที่มีความสามารถและทักษะสูงไม่อยากเข้ามาอยู่ นักศึกษาก็ไม่เข้ามา ทำลายระบบมหาวิทยาลัยขึ้นอีก

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ยากที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ แม้บริษัทอเมริกันเองก็ยังออกไปตั้งสำนักงานนอกประเทศ ทำลายแผนการมีงานทำของคนงานสหรัฐ คนงานมีรายได้น้อยลง อำนาจการซื้อลดลง ทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง

New National Security Adviser John Bolton(R) listens to US President Donald Trump speak during a cabinet meeting at the White House in Washington, DC, on April 9, 2018.
President Donald Trump said Monday that “major decisions” would be made on a Syria response in the next day or two, after warning that Damascus would have a “big price to pay” over an alleged chemical attack on a rebel-held town.Trump condemned what he called a “heinous attack on innocent” Syrians in Douma, as he opened a cabinet meeting at the White House.
/ AFP PHOTO / NICHOLAS KAMM (Photo credit should read NICHOLAS KAMM/AFP/Getty Images)

ย้อนกลับสู่การไม่สามารถบำรุงเมือง ตัดงบฯ บำรุงโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และโครงการด้านประกันสังคม-สุขภาพ ทำให้เมืองเสื่อมโทรม และสหรัฐเสื่อมถอยหนักเข้าไปอีก (ดูบทความของ Noah Smith ชื่อ Coronavirus Brings American Decline Out in the Open ใน bloomberg.com 29/06/2020)

การถือเศรษฐกิจ/ธุรกิจเหนืออื่นใดของระบอบทรัมป์ ยังแสดงออกในวงกว้างคือ การถอนตัวจากสนธิสัญญาปารีสว่าด้วยภาวะโลกร้อน เป็นต้น เห็นว่าเป็นข่าวแหกตาและข่าวปลอม ทั้งยังสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันในทะเลลึก การวางท่อก๊าซธรรมชาติทางไกล การสนับสนุนการขุดเจาะก๊าซ-น้ำมันโดยวิธีแฟรกกิ้งที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาก ลดความเคร่งครัดในการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งการปล่อยมลพิษจากไอเสียรถยนต์ ลดเลิกการอุดหนุนการศึกษา วิจัยด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อความผิดพลาดของระบอบทรัมป์มีขนาดใหญ่ขนาดนี้ ย่อมเป็นการยากที่จะหวังว่าเขาและคณะจะกลับตัวกลับใจในเรื่องไข้โควิด-19 อย่างพอเพียงและทันเวลา

การลุกขึ้นสู้ของชาวอเมริกันผิวดำ

กับประวัติศาสตร์ใหม่

การลุกขึ้นสู้ของคนอเมริกันผิวดำเป็นสิ่งที่สืบเนื่องจากกรณีโควิด-19 ผสานกับความขมขื่นจากลัทธิเหยียดผิว

คนขาวสูงส่งและความโหดเหี้ยมของตำรวจต่อคนผิวดำสะท้อนอารมณ์ทางสังคมที่ตกต่ำของชาวสหรัฐ

จากการสำรวจประชามติของชาวอเมริกันของสถาบันพิวเผยแพร่ในปลายเดือนมิถุนายน 2020 พบว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่รู้สึกโกรธ และกลัวต่อฐานะความเป็นไปของชาติ ที่รู้สึกภูมิใจในชาติเพียงร้อยละ 17

การลุกขึ้นสู้ของคนผิวดำครั้งนี้ เป็นการลุกขึ้นสู้ทางวัฒนธรรมหรือการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เพื่อทำลายลัทธิเหยียดผิว ลัทธิคนขาวสูงส่งที่ระบอบทรัมป์รื้อฟื้นขึ้นมา

จนถึงที่สุดเพื่อการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่ถือประชาชนอเมริกันเป็นฐาน ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของนักล่าอาณานิคม นักค้าทาส นักลัทธิเชื้อชาติ รวมทั้งบรรดาเศรษฐีและนักอุตสาหกรรมใหญ่ทั้งหลาย

ตัวอย่างเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ที่เมืองริชมอนด์รัฐเวอร์จิเนีย ผู้ชุมนุมประท้วงใช้เชือกคล้องอนุสาวรีย์ของโคลัมบัสสูง 8 ฟุตโค่นลงจากที่ตั้งและลากไปยาว 200 หลาลงทะเลสาบใกล้ๆ โดยเห็นว่าเขาเป็นตัวแทนของจักรวรรดินิยมและลัทธิเชื้อชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ส่วนอนุสาวรีย์โคลัมบัสที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ถูกตัดหัวทิ้งไป

สมาคมการแข่งรถสต็อกคาร์แห่งชาติสหรัฐ (NASCAR) ห้ามการประดับธงของฝ่ายสมาพันธรัฐ (ฝ่ายใต้) ในการแข่งขันทุกครั้งและในพื้นที่ขององค์การทั้งหมด รวมทั้งสมาชิกผู้เข้าแข่งไม่ต้องยืนเคารพเพลงชาติ

ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ระดับสูงกว่านั้น เกิดขึ้นที่เมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงได้เข้ายึดครองบริเวณเขตสถานีตำรวจตะวันออก และตั้งแคมป์ใกล้สถานีตำรวจนั้น

และติดป้ายประกาศว่าเป็น “เขตปกครองตนเอง แคปิตอลฮิล”

เรื่องยังลามไปถึงยุโรป ที่เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม อนุสาวรีย์กษัตริย์เลโอปอลที่สอง ที่เป็นตัวแทนการปราบปรามทาสผิวดำอย่างทารุณในอาณานิคมเบลเยียมในแอฟริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 10 ล้านคน ตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก จนฝ่ายบริหารของเมืองต้องย้ายอนุสาวรีย์นี้ออกไป

วินสตัน เชอร์ชิล ที่ถือว่าเป็นรัฐบุรุษของชาวแองโกล-แซกซอน ควรแก่การเคารพอย่างเดียว ก็ยังไม่วายถูกโจมตีประณาม

มีนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเองเห็นว่าเชอร์ชิลเป็นพวกถือลัทธิเชื้อชาติ

เขาแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่า เขาเกลียดคน “ตาชั้นเดียวและไว้หางหนู” และว่า ประชาชนอินเดีย “เป็นพวกป่าเถื่อนที่สุดรองจากเยอรมัน” และเขาไม่คิดว่าคนดำจะมีประสิทธิภาพเท่าคนขาว (ดูบทความของ Richard Toye ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ เชี่ยวชาญเรื่องเชอร์ชิล ชื่อ Yes, Churchill was a racist. It”s time to break free of his “great white men” view of history ใน cnn.com 10/06/2020)

โฮเวิร์ด ซินน์ (1922-2010) นักประวัติศาสตร์และนักคิดฝ่ายซ้ายของสหรัฐได้เขียน “ประวัติศาสตร์ประชาชนของสหรัฐอเมริกา” เผยแพร่ครั้งแรกปี 1980 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง

ครั้งสุดท้ายในปี 2005 ในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูกช่วงการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย รวมเวลากว่า 200 ปี

และยังได้สร้าง “ประวัติศาสตร์ประชาชนของสหรัฐ ฉบับเยาวชน” สำหรับนักเรียนขึ้นในปี 2007

หนังสือเล่มนี้ของเขาเป็นที่นิยมและขายดี กล่าวกันว่ามียอดจำหน่ายกว่า 2.5 ล้านเล่ม

ประวัติศาสตร์ประชาชนอเมริกันของซินน์ เริ่มต้นจากโคลัมบัสขึ้นบกในบริเวณหมู่เกาะบาฮามาสในปี 1492 มาจนถึงบุชผู้ลูกที่ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย กินเวลากว่า 500 ปี

เขากล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของเขาเป็นเรื่องราวของการต่อสู้อย่างน่าประทับใจของผู้คนต่อการค้าทาส ระบบทาส และลัทธิเชื้อชาติ การเคลื่อนไหวของผู้นำคนงานในการนำการนัดหยุดงานเพื่อสิทธิของประชาชนคนงานทั้งหลาย การต่อสู้ของนักสังคมนิยมและบุคคลทั้งหลายที่ต่อต้านสงครามและลัทธิทหาร

วีรชนของซินน์จึงไม่ใช่บุคคลอย่างทีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้ฝักใฝ่สงคราม และแสดงความยินดีต่อนายพลผู้สังหารหมู่ชาวบ้านฟิลิปปินส์ผู้ลุกขึ้นสู้เพื่ออิสรภาพในต้นศตวรรษที่ 20 (ดูหัวข้อ A People”s History of the United States ใน วิกิพีเดีย)

การลุกขึ้นสู้ของคนดำครั้งนี้มีการตื่นตัวสูง ย่อมทำให้ระบอบทรัมป์อ่อนพลังลงอย่างเห็นได้ ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเค้าความล้มเหลวของลัทธิทรัมป์ กับทั้งประชานิยมปีกขวาในยุโรป