แมลงวันในไร่ส้ม /ข่าวร้อน-ซับซ้อน เก้าอี้ รมว.พลังงาน 3 มิตร ทวง ‘บิ๊กตู่’

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวร้อน-ซับซ้อน

เก้าอี้ รมว.พลังงาน

3 มิตร ทวง ‘บิ๊กตู่’

 

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่คือเรื่องของการปรับ ครม. ภายหลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ 4 กุมาร ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 16 กรกฎาคม เพื่อเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรี

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลายครั้งถึงแนวทางการปรับ ครม. ซึ่งจะมีการดึงคนนอกมาเข้าร่วมในโควต้าของตนเอง คาดว่าจะได้ ครม.ชุดใหม่ในเดือนสิงหาคม

การปรับจะไม่เกี่ยวกับพรรคร่วมรัฐบาล จะเปลี่ยนแปลงเฉพาะตำแหน่งที่ขาดไปเพราะมีการลาออกเท่านั้น

เริ่มมีกระแสข่าวโผ ครม.จากขั้วและกลุ่มต่างๆ สะพัดในสื่อ

วันที่ 20 กรกฎาคม นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือลาออกต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบเรื่องนี้แล้ว และท่านบอกว่าขอบคุณ

นายเทวัญเผยว่า ได้หารือกันในคณะกรรมการบริหารของพรรค เห็นว่ามีการลาออกของรัฐมนตรีคนอื่นๆ จึงคิดว่าจะต้องมีการปรับ ครม. การลาออกก็เพื่อเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการปรับ ครม.ได้อย่างสบายใจและง่ายขึ้น

และในวันเดียวกัน หม่อมเต่า หรือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง รมต.เช่นกัน หลังจากประกาศลาออกจากพรรคมาระยะหนึ่งแล้ว

ในเวลาใกล้เคียงกัน มีการออกมาปฏิเสธการรับตำแหน่งของผู้มีชื่อเสียงหลายราย อาทิ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท., นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.

เก้าอี้ รมต.ว่างไป 6 ตัว ทำให้เห็นว่าเทศกาลผลัดใบทางการเมืองใกล้เข้ามาทุกที

นายไพบูลย์ นิติตะวัน

 

เริ่มมีกระแสข่าวว่า ในโควต้าของนายกฯ คาดว่าจะมีการนำเอานายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย เข้ามาเป็น รมว.คลัง และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตผู้ว่าการ ปตท. และอดีต รมช.คมนาคม เป็น รมว.พลังงาน

ในตำแหน่งกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล เพราะมีแกนนำกลุ่ม 3 มิตรต้องการตำแหน่งนี้ กลุ่ม 3 มิตรได้เริ่มออกโรง เป็นปฏิกิริยาโดยตรงต่อข่าววางตัวนายไพรินทร์เป็น รมว.พลังงาน

โดยในวันที่ 20 กรกฎาคม นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า ตำแหน่งนี้เดิมเป็นของพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว หากจะเอาไปให้บุคคลภายนอก พรรคก็ต้องมีการประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่

การโยนชื่อนายไพรินทร์ออกมานั้น ตนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะนายไพรินทร์เป็นทั้งอดีตผู้บริหาร ปตท. แล้วจะมาเป็น รมว.พลังงาน ที่ต้องไปกำกับดูแล ปตท. แล้วจะตอบคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไร

รวมทั้งผู้ที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ ปตท.ก็ไม่สบายใจ ส่วนที่บอกว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒินั้น ตนเห็นว่าที่ผ่านมา รมว.พลังงานอย่างนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน ก็เป็นนักธุรกิจ จบเอ็มบีเอ ท่านก็ทำหน้าที่ รมว.พลังงานได้ หรือสมัย คสช.ก็มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็น รมว.พลังงาน หรือสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็น รมว.พลังงาน ก็จบบัญชี และเป็นนักธุรกิจ

“ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ กรณีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ผมคิดว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน หลายคนอาจจะไม่ทราบว่านายสุริยะจบเตรียมอุดมฯ เอ็นทรานช์ติดแพทย์มหิดล เรียนอยู่ครึ่งปี พอดีมีเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศ เลยไปเรียนต่อที่สหรัฐ จบวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ นอกจากนั้น มีประสบการณ์ในการทำงานมากมาย ที่สำคัญท่านเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น ถ้าพรรคมีมติที่จะเสนอท่านไปเป็น รมว.พลังงาน ก็เป็นเรื่องภายในพรรคที่มีความชอบธรรม แต่เราไม่ได้ไปตัดสิทธิ์ที่นายกฯ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวว่า อยากจะพูดตรงๆ ให้สังคมได้รับทราบว่า ในการร่วมรัฐบาลของแต่ละพรรค นายกฯ ก็มองพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง ดังนั้น ก็ต้องดูแลพรรคพลังประชารัฐเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น

“แต่ถ้ามองพรรคพลังประชารัฐที่เป็น ส.ส.โดยตรง ได้ดูแลกระทรวงน้อยมาก เทียบกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ ดังนั้น ในที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ ผมจะเสนอนายสุริยะเป็น รมว.พลังงาน เพราะเป็นกระทรวงเดิมของอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เราเสนอชื่อคนของพลังประชารัฐก็เป็นเรื่องถูกต้อง และกระทรวงพลังงานถือเป็นตำแหน่งชี้วัดความถูกต้อง หากพรรคไม่ได้ดูแลจะอธิบายกับ ส.ส.ของพรรคไม่ได้”

นายไพบูลย์กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ถ้าบอกว่ากระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ถ้าอย่างนั้นต้องทบทวนกระทรวงคมนาคมของพรรคภูมิใจไทย กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ทำไมต้องมาทบทวนเฉพาะของพรรคพลังประชารัฐพรรคเดียว

 

ถือเป็น “คลื่นลม” และ “แรงกระเพื่อม” ที่เกิดขึ้นในการปรับ ครม.ในส่วนของพรรค พปชร.

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวกลุ่ม ส.ส.ในพรรค พปชร. พยายามผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มาเป็น รมว.มหาดไทยอีกตำแหน่ง

โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ พล.อ.ประวิตรมาคุมเกมการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเริ่มขึ้นปลายปีนี้

ส่วนความเป็นไปได้ เชื่อว่าขึ้นกับการหารือกันของ “3 ป.” นั่นเอง

ขณะที่ในตำแหน่ง รมว.พลังงาน ที่ส่อเค้าจะเป็นประเด็นเดือดในพรรค พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเครียดๆ ถึงเรื่องนี้ว่า ตนเองจะจัดสรรให้เหมาะสม ทุกคนมีสิทธิพูด แต่คนตัดสินใจคือตนเอง

พล.อ.ประวิตรเองปฏิเสธว่า ไม่มีสัญญาใจที่จะยกตำแหน่งนี้ให้นายสุริยะแต่อย่างใด

แรงบีบจาก ส.ส.ในพรรค และการกระทบกระทั่งเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

นายกฯ จะตัดสินใจจัดสรรเก้าอี้ในลักษณะใด เป็นหัวข้อร้อนๆ ในแวดวงผู้สนใจการเมืองในขณะนี้