หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ลืม’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ควายป่า - พวกมันมีชื่อเสียงในด้านความดุร้าย แต่ในความเป็นจริง พวกมันส่วนใหญ่จะตื่นหนีเสมอเมื่อได้กลิ่นคน

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ลืม’

 

…เมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศไทยทางอากาศในช่วงเวลากลางวัน เรามักพูดกันอย่างขำๆ ถ้าเห็นข้างล่าง ว่า พื้นที่เขียวๆ ของป่าหมด กลายเป็นที่โล่ง นั่นแสดงว่าเข้าเขตประเทศไทยแล้ว

ซึ่งก็จริง ดูเหมือนว่า พื้นที่ซึ่งเคยเป็นป่าทึบในเขตประเทศไทย ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรหมดแล้ว

กระนั้นก็เถอะ ถึงวันนี้มีรายงานการสำรวจประชากรสัตว์ป่า ยืนยันอย่างชัดเจนว่า พื้นที่ “เขียวๆ” ที่เห็นตามชายแดนรอบๆ ประเทศไทยนั้น ไม่ใช่ “ความหวัง” ในการอาศัยอยู่ของเหล่าสัตว์ป่าหรอก

โดยเฉพาะนักล่าผู้อยู่บนสุดอย่างเสือโคร่ง

ป่าซึ่งยังคงมีเหลืออยู่ในประเทศไทย นี่แหละคือ “ความหวัง” ในการอาศัยอยู่ของสัตว์ป่า เป็นพื้นที่หนึ่งในไม่กี่แห่งในโลกนี้ ที่เป็นแหล่งซึ่งเสือโคร่งจะมีโอกาสได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานเพื่อปกป้องสัตว์ป่า รวมทั้งแหล่งอาศัยของพวกมันอย่างเอาจริง

และในวันที่ความเชื่อว่า สัตว์ป่าที่ดีคือสัตว์ป่าที่ตายแล้ว ประโยชน์ของพวกมันอยู่ที่ซากอันไร้ชีวิต ยังไม่ได้หายไปไหน

สัตว์ป่าไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก ก็พบกับชะตากรรมเดียวกัน งาช้าง หรือนอแรดในแอฟริกา อาจมาถึงเมืองไทยก่อนส่งต่อไปยังลูกค้า ตัวลิ่นนับพันตัวซุกซ่อนมาในรถเดินทางผ่านไทย

เช่นเดียวกับคนล่าเสือ จากต่างประเทศ มุ่งหน้ามาล่าเสือในประเทศไทย

 

ไม่เฉพาะงานป้องกันชีวิตสัตว์ป่าเท่านั้น งานศึกษาวิจัยสัตว์ป่าในประเทศไทยก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

งานของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เรื่องเสือโคร่ง คืองานที่มีความก้าวหน้าอย่างสูง ที่นี่คือที่ที่นักวิจัยจากทั่วโลกมาศึกษาหาความรู้เรื่องเสือโคร่ง

เป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาทั้งจากคณะวนศาสตร์ รวมทั้งจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา

บางคนมาฝึกงานแล้วขอกลับมาอีก อย่างเช่นชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีชื่อว่า แซ็ก…

 

แซ็กเป็นชาวมินนิโซตา อายุ 20 ต้นๆ เขามาฝึกงานพร้อมเพื่อนๆ และขอกลับมาอยู่ต่ออีก 3 เดือน

“ผมอยากรู้เรื่องเสือโคร่งครับ” เหตุผลของเขา

แซ็กรูปร่างสันทัด ตัวไม่โตกว่าอ่อนสาและถาวร ผู้มีรูปร่างผอมบางสักเท่าไหร่

วันแรกเขาได้รับมอบหมายให้ช่วยงานทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งโดยการวางกล้องดักถ่าย งานของทีมต้องเดินป่าไกล ใช้เวลาอยู่ในป่านาน

แซ็กไม่พูดภาษาไทย เขาสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ กับวิทยาหัวหน้าทีม ส่วนลูกทีมคนอื่นไม่ว่าจะเป็นนิคม, บุญเลิศ, สมศักดิ์ พวกเขาคุยกันด้วยภาษากาย ใช้ท่าทางประกอบ หรือไม่แซ็กก็เปิดคู่มือภาษาไทย-อังกฤษ ให้ดูเป็นคำๆ ว่าต้องการสื่อถึงอะไร

แซ็กเข้าป่าไป 3 สัปดาห์ กลับออกมาพบกัน เขาบอกผมว่า

“พี่บะทำกับข้าวเผ็ดจริงๆ แต่ผมชอบมากครับ” สำเนียงแปร่งๆ แต่นับว่าทีมสอนภาษาไทยให้เขาได้ผลเร็ว

 

จากงานวางกล้องดักถ่าย หัวหน้าสถานีให้เขามาอยู่ในทีมติดตามเสือ ทำให้เราได้เดินป่าด้วยกันทุกวัน

ทุกวัน เราจะเข้าไปดูจุดที่เสือล่าเหยื่อได้ ตรวจสอบว่ามันล่าตัวอะไรไว้

“ถาวรบอกว่า งานนี้มีความเสี่ยง บางทีผมต้องรอข้างนอกก่อนเข้าไป” แซ็กบอกประโยคนี้ดูจะยากเกินไป เขาใช้ภาษาอังกฤษ

“ไม่ได้หรอกครับ เวลาอยู่กับเหยื่อ ต้องระวังครับ” อ่อนสาและถาวรมีประสบการณ์ รู้จังหวะเข้า-ออก กับการเข้าไปตรวจสอบซากเหยื่อดี เขาเข้าใจดีว่า เมื่อใดที่เสืออนุญาตให้เข้าไปได้ หรือส่งสัญญาณเตือนให้ถอยไป

“เสือก็เหมือนคนแหละครับ” อ่อนสาทำหน้าที่ผู้ช่วยนักวิจัยมายาวนานบอก

“บางทีอารมณ์ดีปกติ บางครั้งก็หงุดหงิด”

นี่ไม่ใช่เรื่องของความดุร้ายอะไรหรอก มันคืออุปนิสัยของชีวิต…

 

แซ็กชอบเล่นฟุตบอล และพยายามฝึกเตะตะกร้อ วันไหนมีคนมากพอ เราแบ่งข้างเล่นฟุตบอลและตะกร้อ

แซ็กดูกลมกลืน หลังอาบน้ำเสร็จ วงเหล้าหน้าบ้านพักเริ่ม

“ผมจะพยายามเรียนรู้ให้มากครับ จะได้ตามเข้าไปกับพี่ได้” เขาพูดกับถาวร ไม่ชัดเจนขนาดนี้ แต่ความหมายเป็นอย่างนี้

เสียงเฮฮา แซ็กพูดมากขึ้น แม้ว่าปกติเขาค่อนข้างเงียบ

“แห้งๆ แบบนี้ แต่แข็งแรงนะครับ งัดข้อกัน พวกผมสู้ไม่ได้เลย” ทิพ ชายหนุ่มรุ่นๆ เดียวกับแซ็กบอก

พวกเขาผลัดกันสอนภาษา ถาวรใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น

“ผมชอบเหล้าขาวมากๆ ครับ” แซ็กพูดประโยคนี้ชัดเจน นับว่าภาษาไทยแซ็กก้าวหน้าไปมาก

 

สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำศึกษาเรื่องราวเสือมายาวนาน ที่นี่มีแขกมาเยี่ยม หรือมาฝึกงานเสมอๆ

เวลา 3 เดือน เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ที่ผู้ชายคนหนึ่งจะเรียนรู้ ทำความรู้จักเสือ

“ปีหน้าผมจะขอมาอีกครับ” แซ็กบอกทุกคน เมื่อใกล้ถึงเวลากลับบ้าน

ค่ำแล้ว เสียงหัวเราะแว่วมาจากหน้าบ้านพัก ผมเดินไปร่วมวง

แซ็กกลมกลืนอยู่ในกลุ่ม

เมื่อเปิดใจยอมรับ ความแตกต่างก็หายไปง่ายๆ

แท้จริงเราเป็นเช่นเดียวกัน สัตว์ป่ากับคนก็เป็นชีวิต เช่นเดียวกันเป็นความจริงง่ายๆ อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องง่ายๆ ที่เราลืม

สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวนี่แหละ ที่เรามัก “ลืม”