เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ชุหะบรรพต” ของฤๅษีพุทธชฎิลอยู่ไหน “ดอยไซ” หรือ “ดอยบาไห้”?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฤๅษีพุทธชฎิลคือใคร?

ฤๅษีพุทธชฎิล คือ 1 ใน 5 สหายของเหล่าฤๅษีที่มีบทบาทในการสร้างเมืองลำพูน-ลำปางให้แก่พระนางจามเทวีและพระราชโอรส โดยสถิตพำนักอยู่ ณ ดอยลูกหนึ่งใกล้แม่น้ำสารชื่อ “ชุหะบรรพต”

เมื่อเทียบกับฤๅษีอีก 4 ตน ชื่อของฤๅษีพุทธชฎิล น่าจะเป็นที่รู้จักกันในวงแคบมากที่สุด ฤๅษีอีก 4 ตนประกอบด้วย

ฤๅษีตนแรกเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากที่สุด คือผู้สร้างเมืองหริภุญไชยชื่อ “ฤๅษีวาสุเทพ” หรือ “วาสุเทวฤๅษี” สถิตพำนัก ณ “ดอยอ้อย” บ้างเรียก “ดอยอ้อยช้าง” “ดอยคันธมาท” ภาษาบาลีคือ “อุฉุจบรรพต”

หมายถึงดอยที่เต็มไปด้วยพรรณไม้รสหอมหวาน มีหมู่แมลงภู่ผึ้งดมดอมตลอดเวลา ปัจจุบันเรียกว่า “ดอยสุเทพ” ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองหริภุญไชย ดอยอุฉุจบรรพตนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำโรหิณีนที แปลว่าแม่น้ำที่มีสีแดงเหมือนสนิมเหล็ก หมายถึงน้ำแม่ขานนั่นเอง

บริเวณที่เชื่อว่าเป็น “ถ้ำของฤๅษีวาสุเทพ” นั้นตั้งอยู่เยื้องกับโรงเรียนสังวาลย์วิทยา อยู่ขึ้นไปทางเหนือจากพระธาตุดอยสุเทพเพียง 2-3 กิโลเมตร มีโพรงถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งผู้สัญจรมักขับรถผ่านเลยไป เหตุที่ไม่มีป้ายปักทางเข้าด้านหน้า แต่เป็นที่ทราบกันเฉพาะในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นว่านี่คือ “ถ้ำฤๅษี”

ฤๅษีตนที่สองคือ ฤๅษีสุกกทันตะ หรือสุกกทันตฤาษี มีที่พำนัก ณ เขาธรรมิกบรรพต หรือดอยด้วนในเขตเมืองละโว้ปัจจุบันคือตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี

ฤๅษีตนนี้มีสถานะเป็นพระอาจารย์สอนศิลปวิทยาให้แก่พระนางจามเทวีช่วงวัยรุ่น มีบทบาทในการทูลขอพระนางจามเทวีจากกษัตริย์ละโว้ให้ไปนั่งเมืองหริภุญไชย และทำหน้าที่อารักขาพระนางจามเทวีตลอดกระบวนเสด็จทางชลมารคจากลพบุรีถึงลำพูน

ฤๅษีตนที่สามคือ สุพรหมฤๅษี / สุพรหมยาน บ้างเรียก “อสีพรหมสิฤาษี”, “พรหมิสิ” พำนักอยู่ ณ เขาดอยง่าม บ้างเรียกภูเขาสองยอด (จามเทวีวงศ์ใช้คำว่าทวิธาคค์บรรพต แปลว่า ดอยง่าม หมายถึงภูเขาสองลูก แต่ชินกาลมาลีปกรณ์ใช้คำว่าสุภบรรพต แปลว่า ดอยงาม) เขาลูกนี้อยู่ใกล้วังกนที หรือแม่น้ำวังในลำปาง

ฤๅษีตนนี้มีสถานะเป็นผู้สร้างเมืองเขลางค์นครให้แก่เจ้าอนันตยศ พระราชโอรสแฝดน้องของพระนางจามเทวี

ฤๅษีตนที่สี่คือ อนุสิสฤๅษี บ้างเขียน “อนุสิสสะ” หรือ “อนุสิษฏ” อีกนามคือ “สัชชนาไลยฤาษี” มีที่พำนักอยู่ ณ ยอดเขาลตางค์บรรพต (บ้างเขียน “ลดางค์” บ้างเขียน “สตางค์”) แปลว่า “ดอยเครือเขา” สถิต ณ เมืองหลิทวัลลินคร (หริตวัลลีย์ / หฬิทวัลลีย์)

บางท่านเชื่อว่าลตางค์บรรพตคือถ้ำเขาหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย แต่ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ผู้ปริวรรตชินกาลมาลีปกรณ์เสนอว่า น่าจะหมายถึงเขาพระศรี อยู่ด้านหลังกำแพงเวียงเชลียง ศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย มากกว่า

ฤๅษีตนนี้เป็นผู้มีความชำนาญด้านการก่อสร้าง มีบทบาทช่วยชี้แนะฤๅษีวาสุเทพในการกำหนดผังเมือง จนเกิดเป็นรูปหอยสังข์ตามความเชื่อว่าผังรูปแบบนี้มีความเป็นสวัสดิมงคล

เห็นได้ว่าฤๅษีสามตนแรก มีที่สถิตพำนักค่อนข้างชัดเจน เว้นแต่อนุสิสฤๅษี กับฤๅษีพุทธชฎิล ที่ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นกระบวนการว่า “ลตางค์บรรพต” กับ “ชุหะบรรพต” นั้นอยู่ที่ไหนกันแน่

 

“ดอยบาไห้” หรือ “ดอยไซ”?

“พุทธชฎิลฤๅษี” ในพงศาวดารโยนกเรียก “พุทธชลิต” คำว่า “ชฎิล” สื่อถึงฤๅษีที่บำเพ็ญตบะด้วยการเพ่งกสิณ (กองไฟ) คนไทยนิยมเรียกว่า “ฤๅษีตาไฟ”

ซึ่งฤๅษีตาไฟนี้ชาวลำพูนรู้จักกันดีว่าเป็นผู้มีบทบาทในการปลุกเสกพระเครื่องรางของขลัง (ในขณะเดียวกันคนในวงการพระเครื่องกลับไม่รู้จักชื่อของฤๅษีพุทธชฎิล ว่าเป็นอีกชื่อของฤๅษีตาไฟ)

ตำนานระบุว่า ฤๅษีพุทธชฎิลอาศัยอยู่ที่ดอยชุหะบรรพต / ชุหรบรรพต ริมแม่น้ำสาร หรือสารนที

แหล่งอาศรมพำนักยังเป็นประเด็นที่ต้องสืบค้น ว่าปัจจุบันชุหะบรรพตอยู่จุดไหนกันแน่ เนื่องจากมีข้อสันนิษฐาน 2 กระแส

กระแสแรก อาจารย์แสง มนวิทูร ผู้ปริวรรตชินกาลมาลีปกรณ์จากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทยกลาง เสนอข้อสันนิษฐานในเชิงอรรถของท่านว่า

ชุหะบรรพต แปลศัพท์ตรงตัวได้ว่า “ดอยบูชา” หรือ “ดอยดอกไม้เพลิง” หมายถึงชาวบ้านใช้ดอยลูกนี้จุดบ้องไฟ หรือจุดไฟพะเนียงเพื่อบูชานักษัตรฤกษ์

คำว่า “ชุหะ” เป็นภาษามอญโบราณ หมายถึง “ไฟ” อาจารย์แสงกล่าวต่อไปว่า ชุหะบรรพตปัจจุบันน่าจะอยู่ตรงบริเวณจุดที่เรียกว่า “ดอยบาไห้” ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เนื่องจากบริเวณนี้เป็นต้นกำเนิดของห้วยแม่สาร

เกี่ยวกับชื่อของ “ดอยบาไห้” นี้ อันที่จริงมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งในยุคหริภุญไชยตอนปลาย นั่นคือกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์จามเทวีชื่อ “พระญายี่บา” (ญีบา) ได้หนีกองทัพของฝ่ายพระญามังรายจากลำพูนมุ่งหน้าสู่ลำปางกำลังเตรียมจะข้ามขุนตาน

ช่วงที่กำลังหนีตายอยู่นั้น พระญายี่บาได้หันไปมองเมืองลำพูนด้วยความอาดูรเป็นครั้งสุดท้าย เมืองที่กำลังถูกเผาจนวายวอด พระองค์รู้สึกเจ็บใจตัวเองที่เสียรู้แก่ “อ้ายฟ้า” ไส้ศึกจากเชียงราย (หิรัญนครเงินยาง) จนนำไปสู่การเสียเมือง

พระญายี่บาจึงยืนร่ำไห้ ณ ดอยแห่งนี้ ทำให้เรียกกันว่า “ดอยบาไห้”

ดอยบาไห้นี้ ดิฉันเคยปีนขึ้นไปสำรวจเมื่อปี 2548 พบว่าเต็มไปด้วยกองหินก่อล้อมหลายหลุม คล้ายกับหลุมฝังศพของชาวลัวะ อาจเป็นศพไพร่พลของพระญายี่บาคราวต้านทัพพระญามังรายก็เป็นได้

แต่ดิฉันยังไม่ได้สำรวจละเอียด จึงยังไม่พบร่องรอยของฤๅษีพุทธชฎิลแต่อย่างใด

ส่วนอีกกระแสหนึ่ง เป็นข้อเสนอของดิฉันเองว่าชุหะบรรพตควรหมายถึง “ดอยไซ” เริ่มจากราวปี พ.ศ.2547 ดิฉันลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณสถานดอยไซ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน อย่างละเอียดไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ได้พบร่องรอยของลานจงกรมของฤๅษี ถ้ำฤๅษี ลานไฟ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบ “พระเหล็กไหลดอยไซ” ที่มีรูปลักษณ์คล้ายฤๅษี คือเป็นรูปนักพรตร่างผอมบางวางแขนโคร่งๆ ปางสมาธิ ใบหน้าแหลมยาวคล้ายไว้หนวดเครารุงรัง เป็นอัตลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนกับพระเครื่องพิมพ์ทรงอื่นใดที่เป็นพระพุทธรูป

อีกทั้งชื่อของ “ดอยไซ” ที่เรียกกันในปัจจุบัน ฟังเผินๆ แล้วอาจชวนให้นึกถึงไซดักปลานั้น คนเฒ่าคนแก่ที่อายุ 90 ปีบอกดิฉันว่า เพี้ยนมาจากชื่อเดิมคือ “ดอยไฟ” ซึ่งก็หมายถึงไฟพะเนียง ตรงกับคำว่า ชุหะบรรพตอีกเช่นกัน

ข้อสำคัญ บริเวณดอยไซตั้งอยู่ที่ตำบลป่าสัก มีแม่น้ำสารไหลผ่านต่อจากตำบลศรีบัวบาน ในขณะที่ดอยบาไห้ อำเภอแม่ทานั้น ดูน่าจะยังห่างไกลจากแม่น้ำสารมากกว่า

ในทรรศนะของดิฉัน

 

ความสำคัญของ “ชุหะบรรพต”

ชุหะบรรพต สำคัญอย่างไร ตำนานระบุว่า เจ้าอนันตยศโอรสแฝดน้อง ทันทีที่ทราบว่าเสด็จแม่จามเทวีได้มอบราชบัลลังก์ให้แก่โอรสแฝดพี่เจ้ามหันตยศ ทรงทูลขอเมืองจากพระราชมารดาบ้าง เหตุที่เกิดพร้อมกัน ก็สมควรได้เป็นกษัตริย์เสมอกัน

พระนางจามเทวีได้ส่งเจ้าอนันตยศไปทูลขอเมืองจากฤๅษีวาสุเทพด้วยตนเอง

ฤๅษีวาสุเทพบอกเจ้าอนันตยศว่า ตนแก่แล้ว สร้างเมืองให้แม่ของเจ้า (พระนางจามเทวี) ก็เหนื่อยพอแรงแล้ว ส่วนเมืองของเจ้านั้น ลองไปปรึกษาสหายอีกตนดูชื่อ “พุทธชฎิล” อาศัยอยู่ที่ชุหะบรรพต ริมสารนที

ข้อมูลของพุทธชฎิลกับชุหะบรรพตจึงปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ตอนนี้

จากนั้นเมื่อเจ้าอนันตยศมาพบฤๅษีพุทธชฎิลแล้ว ฤๅษีพุทธชฎิลได้แนะนำให้เจ้าอนันตยศไปหาพรานเขลางค์ ที่ลุทธบรรพต (ดอยป่าเถื่อน หยาบช้า) เพื่อพาไปพบสหายอีกตนคือสุพรหมฤๅษี แห่งดอยง่าม เพื่อช่วยสร้างเมืองเขลางค์

สรุปแล้ว เจ้าอนันตยศต้องวิ่งเปี้ยวคนเดียว ด้วยการถูกส่งต่อทั้งหมด 5 ไม้ผลัด

การที่อาจารย์แสงตั้งข้อสันนิษฐานว่า “ชุหะบรรพต” น่าจะหมายถึง “ดอยบาไห้” นี้ ท่านไม่ได้อธิบายที่มาที่ไปว่าทำไมจึงเชื่อเช่นนั้น เป็นเพราะท่านได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์ใครด้วยตนเอง หรืออนุมานเอาโดยกะระยะทางว่า “ชุหะบรรพต” ควรตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างลำพูนกับลำปาง จึงคิดว่าน่าจะอยู่แถวดอยบาไห้?

อีกทั้งเราไม่มีโอกาสทราบเลยว่า อาจารย์แสงรู้จัก “ดอยไซ” แล้วหรือยังในยุคของท่าน เพราะดอยไซเองก็ถูกปิดตายมานานเรื่องโบราณสถาน เป็นที่รู้จักแค่พระเหล็กไหลดอยไซเท่านั้น

ดิฉันเชื่อว่าหากอาจารย์แสงได้ลงสำรวจพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของดอยไซ จนพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับฤๅษีอย่างมากมายแล้วไซร้ ท่านอาจเปลี่ยนใจใหม่จากความเชื่อเดิมก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ต้องขอขอบพระคุณในข้อสันนิษฐานของอาจารย์แสง ที่ชี้เป้าไปว่า “ชุหะบรรพต” น่าจะหมายถึง “ดอยบาไห้” ทำให้ดิฉันมีการบ้านเพิ่มขึ้นอีกข้อ ต้องหาโอกาสลงสำรวจพื้นที่ดอยบาไห้อย่างละเอียดลอออีกครั้ง

และดีไม่ดี ถ้าเกิดได้พบร่องรอยของถ้ำฤๅษีเข้าอีกแห่ง ก็คงสนุกหนักข้อขึ้นไปอีก เพราะเราต้องยิ่งช่วยกันชั่งน้ำหนักหาเหตุผลของแต่ละฝ่ายมาหักล้างกัน เพื่อหาความน่าจะเป็นว่า แห่งไหนกันแน่คือ “ชุหะบรรพต” ภูเขาลูกที่ใช้จุดไฟพะเนียงของฤๅษีตาไฟ

ดอยไซ หรือดอยบาไห้?