อนุสรณ์ ติปยานนท์ : หลากรสน้ำผึ้ง

ปากะศิลป์ฉบับอ่านใหม่ (36)
ป่าน้ำผึ้ง (4)

เขาตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ เสียงนกร้องและความชื้นในอากาศอันเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยทำให้เขาต้องปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติของตนเอง

เมื่อแสงแรกแห่งวันมาถึง เขาเอาตัวเองออกจากผ้าห่มเนื้อหยาบและผืนเสื่อ เปิดหน้าต่างออกมองดูดวงอาทิตย์ที่ค่อยๆ โผล่พ้นเมฆหมอก ก่อนจะเปิดประตู เหยียดแข้งขาให้มีกำลังแล้วนั่งลงบนม้านั่งยาวริมระเบียง จุดบุหรี่ใบตองกล้วยมวนโตที่ได้มาเมื่อวานขึ้นสูบและนั่งทบทวนความคิดทั้งหลายที่ผ่านมา

ก่อนเข้านอนในคืนก่อน ชายแปลกหน้ายื่นหนังสือเล่มเล็กให้เขา

ภายในหนังสือเล่มนั้นนอกจากจะมีรายละเอียดของผึ้งในประเทศไทยว่าประกอบไปด้วยผึ้งถึงสี่สายพันธุ์แล้ว

ยังมีรายละเอียดอื่นอีกมาก อาทิ เรื่องราวของน้ำผึ้ง น้ำผึ้งจากผึ้งหลวงจะมีกลิ่นหอม มีรสหวาน ลักษณะของน้ำผึ้งจะเหนียวและข้น มีสีใส เป็นน้ำผึ้งที่พบได้ในท้องตลาดมากที่สุด

ส่วนน้ำผึ้งจากผึ้งโพรงนั้นจะมีสีเข้มคล้ายสีอำพัน รสชาติจะมีรสขมเจือปนเล็กน้อย ลักษณะน้ำผึ้งจะค่อนข้างเหลวกว่าน้ำผึ้งหลวง นิยมนำมาเข้าเครื่องยามากกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่นเพราะมีรสขมเจืออยู่แล้ว

ในขณะที่น้ำผึ้งจากผึ้งมิ้มจะมีรสหวานจัด ลักษณะน้ำผึ้งค่อนข้างเหลวและเนื่องจากในแต่ละรังจะได้ปริมาณน้ำผึ้งเพียงเล็กน้อยจึงไม่สามารถเก็บมาจำหน่ายหรือพัฒนาสู่การค้าได้

 

ความรู้ใหม่ที่ว่านี้ทำให้เขาพบว่าตนเองช่างล่วงรู้สิ่งที่เรียกว่าโอสถจากธรรมชาติอย่างน้ำผึ้งน้อยเต็มที เขาใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงที่นอนไม่หลับเพราะการนอนแปลกที่กับการอ่านและอ่าน ดังน้ำทิพย์ชโลมใจ ชีวิตที่ผ่านมาของเขาที่เต็มไปด้วยความขมขื่นสดชื่นขึ้นอย่างประหลาดเมื่อได้สัมผัสกับเรื่องราวของผึ้งกับน้ำผึ้งแม้ในเพียงตัวอักษรก็ตามที

เสียงเรียกชื่อเขาปลุกเขาจากภวังค์ เมื่อเขามองลงไปข้างล่างก็แลเห็นชายผู้อ้างตนว่าเป็นหลวงบุเรศรฯ สะพายย่ามยืนรอเขาอยู่ที่หัวบันได

“พร้อมเดินทางไหมคุณ?” เขาเอ่ย

“ผมนึ่งข้าวและให้คนงานอีกสองคนตำน้ำพริกกับผักลวกไว้แล้ว เดี๋ยวเราจะเข้าป่ากัน ถ้าพร้อมคุณลงมาได้เลย ผมมีน้ำชาอยู่กาหนึ่ง กินเอาความสดชื่นได้ ส่วนข้าวเดี๋ยวเราไปกินกันในป่า สักสิบห้านาทีสำหรับการเตรียมตัวพอไหม?”

เขารับคำ ลุกขึ้นจากการทอดอารมณ์ดังกล่าวไปยังห้องน้ำด้านล่าง ล้างหน้าล้างตาพอเป็นพิธีก่อนจะขึ้นมาผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วคว้าหมวกใบหนึ่งพร้อมกับหนังสือที่อ่านค้างไว้เมื่อคืนก่อนและสมุดบันทึกส่วนตน เมื่อลงมาด้านล่าง มิตรใหม่นามหลวงบุเรศรฯ ยื่นย่ามผ้าฝ้ายทอมือสีสดให้เขาหนึ่งใบ

“เอานี่ไปใช้สิคุณ หอบของพะรุงพะรังแบบนั้นเข้าป่าจะใช้มือเท้าได้สะดวกอย่างไร อ้อ เดี๋ยวผมจะให้เดี่ยวกับเด็ด คนงานของเราหามีดพร้าให้คุณสักเล่ม สุภาษิตโบราณของไทยที่ว่าเข้าป่าอย่าลืมพร้านั้นมันไม่ได้มาลอยๆ หรอกนะ”

 

นํ้าชาในกามีรสขมเฝื่อน แต่ก็หอมชวนดื่ม

“น้ำฝนเดือนห้านะคุณ เพิ่งรองมาใหม่ๆ เมื่อไม่กี่วันก่อน ยังไม่ถึงรสเหมือนน้ำฝนเดือนหก แต่ถ้าน้ำผึ้งละก็ต้องเดือนห้า เดือนนี้ คุณมาโอกาสเหมาะพอดี จะได้ลองน้ำผึ้งของไทยว่าที่เขาร่ำลือกันนักเป็นคำชมที่ไม่เกินเลยไป”

ชายหนุ่มรับกระติกน้ำจากคนงานชายที่มีใบหน้าเหมือนกันสองคน เขารู้ในภายหลังว่าคู่แฝดคู่นั้นมีนามว่า เด็ดและเดี่ยว แต่การจะแยกว่าใครคือเด็ดและเดี่ยวนั้นคงต้องใช้เวลา

“กระติกน้ำนั้นเอาไปใช้ได้เลย ผู้ช่วยคนเก่าผมเขาทิ้งเอาไว้ ใส่น้ำชาไปก่อน เดี๋ยวเข้าป่าหมด เราค่อยไปรองเอาน้ำห้วยข้างบนกินเอา คนมาใหม่อย่างคุณต้มเอาสักหน่อยก็ได้ แต่ถ้าไม่กลัวจะดื่มเอาเลยก็ดี รสไม่เหมือนใคร คนแถวนี้เขาก็ดื่มแบบนั้นเหมือนกัน”

รถจี๊ปคันนั้นทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง เพียงแต่ครานี้ เด็ดหรือเดี่ยว ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ขับ คนงานทั้งสองคนนั้นมีวัยราวยี่สิบต้นๆ หลวงบุเรศรฯ แนะนำแก่เขาว่าคนงานทั้งสองมีเชื้อสายขมุที่ครอบครัวของเขาเคยทำงานด้านป่าไม้มาก่อน

เขาจดคำว่า “ขมุ” ลงในสมุดบันทึกพร้อมกับเขียนต่อท้ายว่า “ค้นต่อ”

ในขณะที่หลังคำแนะนำดังกล่าวหลวงบุเรศรฯ ก็ง่วนกับการจดบันทึกส่วนตนเช่นกัน

เขาเหลือบมองที่สมุดบันทึกของหลวงบุเรศรฯ มันเต็มไปด้วยภาพร่างของต้นไม้หลากชนิด พร้อมทั้งรูปประกอบของผึ้งด้วย

เขาช่างเป็นชายที่มุ่งมั่นกับการทำงานอย่างแท้จริงจนเหมือนกับว่าในชีวิตของเขาไม่มีเรื่องใดอื่นนอกจากงานและผึ้งเท่านั้น

 

“ผึ้งหลวงจะทำรังบนต้นไม้และต้นไม้เหล่านั้นจะต้องอยู่ในที่โล่งและไม่มีแสงแดดมากนัก หากมีการรบกวนรังของมัน การโจมตีจะเกิดขึ้นทันที ดังนั้น คุณต้องระวังตนให้มาก ในป่าที่เราจะเข้าไปนี้มีรังผึ้งใหญ่อยู่หลายรัง แต่ละรังมีผึ้งอยู่เป็นจำนวนมาก ผึ้งเหล่านี้จะออกหากินไปทั่วจากดอกไม้ป่านานาชนิดในป่า และนั่นทำให้เกิดการผสมพันธุ์ของต้นไม้อย่างไม่ขาดสาย”

“ผึ้งจะผลิตน้ำผึ้งจากการดูดน้ำหวานเข้าไปเก็บในกระเพาะของมัน เอ็นไซม์ในกระเพาะของผึ้งจะทำปฏิกิริยากับน้ำหวานที่เก็บไว้และทำให้น้ำผึ้งแต่ละรังที่ได้จากดอกไม้นานามีรสชาติแตกต่างออกไป เราคำนวณว่าผึ้งแต่ละตัวจะไปกินน้ำหวานนับพันๆ ดอกก่อนกลับรัง การกินน้ำหวานเหล่านี้เมื่อไล่ความชื้นออกไปแล้วอาจได้น้ำผึ้งขนาดเท่าหนึ่งช้อนชาเท่านั้นเอง กระบวนการอันอุตสาหะเช่นนี้จึงทำให้น้ำผึ้งมีคุณค่าและราคาแผงกว่าน้ำหวานที่ได้จากน้ำตาลทั่วไป”

“น้ำผึ้งเดือนห้านั้นถือว่าเป็นน้ำผึ้งชั้นเลิศ สาเหตุเพราะอากาศ ในช่วงที่ร้อนจัดเช่นนี้ทำให้น้ำผึ้งมีความชื้นเจือปนน้อยมากและมีความบริสุทธิ์สูงกว่าเดือนอื่นๆ รสชาติของน้ำผึ้งจึงเข้มข้นและหอมหวานกว่าที่เป็น”

“น้ำผึ้งจากป่าดงดิบหรือป่าเบญจพรรณที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่จะมีสีเหลืองเป็นประกายไม่ต่างจากสีของทองคำ ข้น เหนียว หอมไปด้วยกลิ่นดอกไม้ อาจมีกลิ่นซิตรุสคล้ายดังผลส้มหรือสับปะรด แต่ไม่ได้หมายความว่ากลิ่นเช่นนั้นจะให้รสเปรี้ยวซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ส่วนน้ำผึ้งในป่าที่ขึ้นตามเนินเขาจะมีสีค่อนไปทางสีแดงหรือสีน้ำตาล และมีลักษณะเหลวกว่าน้ำผึ้งจากป่าเบญจพรรณ ไม่เปรี้ยว แต่อาจมีรสขมเจือ น้ำผึ้งแบบนี้ใช้ทำยาก็ได้ผลดีเหมือนกัน”

“น้ำผึ้งที่เราเก็บมาได้จากรังผึ้งจะไม่มีวันหมดอายุ เราสามารถเก็บน้ำผึ้งไว้กินได้ตราบนานเท่านาน สิ่งสำคัญคือต้องระวังการปนเปื้อนหรือการได้รับความชื้นหรือถูกน้ำภายนอกเข้าไปผสม บางครั้งอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ถ้าไม่ระวัง”

 

เขาจดถ้อยคำตามคำบอกกล่าวของหลวงบุเรศรฯ ใส่สมุดบันทึกในขณะที่รถจี๊ปคันที่เขาโดยสารขับลึกเข้าไปในป่า อากาศเบื้องนอกรถเย็นลงจนเขารู้สึกได้

“เอาเท่านี้ก่อนนะคุณ เรากำลังจะถึงจุดหมายแล้ว”

หลวงบุเรศรฯ เก็บสิ่งของของเขาใส่ลงในย่าม ชายหนุ่มทำแบบเดียวกัน รถจอดตรงราวป่าทึบ “มาได้แค่นี้ล่ะคุณ เดี๋ยวเราต้องเดินเท้าต่อไปกัน”

ชายฉกรรจ์ทั้งสี่คนลงจากรถ เด็ดและเดี่ยวหยิบท่อนไม้มัดใหญ่ที่ใส่ไว้ด้านหลังของรถขึ้นใส่ย่ามของเขา ชายหนุ่มสังเกตเห็นว่าท่อนไม้เหล่านั้นมีขนาดไล่เลี่ยกัน ปลายข้างหนึ่งของไม้นั้นมีลักษณะแบนในขณะที่อีกปลายมีความแหลม

“ทอย อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ของเรา”

 

คนกลุ่มดังกล่าวเดินบุกป่าเข้าไปเป็นแถวเดียว นอกจาก “ทอย” อันเป็นอุปกรณ์ที่เขาไม่เคยเห็นแล้ว เขายังพบว่าในย่ามของหนุ่มขมุสองคนนั้นมีมัดเถาวัลย์ชนิดหนึ่งอยู่ด้วย แม้จะมีความสงสัยใคร่รู้เพียงใด เขาก็ไม่กล้าเอ่ยคำถามนั้นออกมา ดูเหมือนทุกคนในขบวนจะกลัวเกรงในความศักดิ์สิทธิ์ของป่า ทุกคนหยุดการส่งเสียง มีแต่เพียงเสียงฝีเท้าเหยียบไปบนใบไม้แห้งแห่งฤดูร้อนเท่านั้นเอง

ราวสองชั่วโมงพวกเขาก็เดินมาถึงห้วยเล็กๆ แห่งหนึ่ง คุณหลวงฯ สั่งให้ทุกคนหยุดพักทานอาหารเช้าและเที่ยงที่นี่ เด็ดและเดี่ยวก่อกองไฟขนาดย่อม และเมื่อไฟติดดีแล้ว คุณหลวงฯ ใช้หม้อสนามอุ่นข้าวที่นำติดตัวมา

ในขณะที่เด็ดและเดี่ยวลงไปที่ลำห้วย ราวสิบนาทีพวกเขากลับขึ้นมาพร้อมกับปลาขนาดพอเหมาะสองตัว ชายชาวขมุทั้งสองพอกโคลนเข้ากับปลาแล้วใช้กิ่งไม้แหลมเสียบตัวปลาแล้วนำขึ้นย่างไฟ

อาหารมื้อนั้นที่ประกอบไปด้วยน้ำพริกตาแดง ข้าวนึ่ง ผักลวกและปลาเผาจากในห้วยซึ่งเขาทราบชื่อในภายหลังจากคุณหลวงฯ ว่ามีชื่อว่าปลาพลวง เป็นหนึ่งในมื้ออาหารที่เขารู้สึกว่ามีรสชาติถูกปากที่สุดมื้อหนึ่งในชีวิต

หลังมื้ออาหาร เขาเปิดกระติกน้ำ จิบน้ำชา ก่อนจะจุดบุหรี่ขึ้นสูบ เป็นโอกาสอันเหมาะที่ได้ถามคำถามที่สงสัย เขาถามคุณหลวงฯ ว่า เถาวัลย์ในมือของหนุ่มขมุทั้งสองนั้นคืออะไร

“เถารางจืด หนึ่งในอุปกรณ์ตีผึ้ง ควันจากรางจืดไม่แสบตาคนตีนัก อีกทั้งยังไหม้อย่างช้าๆ จนควบคุมได้ อิ่มดีไหม เราจะได้เดินทางกันต่อ ผมเกรงว่าถ้าโอ้เอ้เรากลับไปที่รถไม่ทันก่อนตะวันตกดิน”