เลือกตั้งสุจริต หากประชาชนมีส่วนร่วม | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

องค์ประกอบสามส่วนที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คือ นักการเมืองในฐานะผู้เล่น กรรมการผู้ดูแลการเลือกตั้ง และประชาชนที่ต้องตัดสินใจเลือกและคอยให้ความร่วมมือกับกรรมการในการกำกับให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม

สำหรับส่วนใหญ่ของผู้สมัครที่เป็นนักการเมืองและพรรคการเมืองที่สังกัด เราคงไม่อาจฝากความหวังได้มากนัก เพราะสิ่งที่เขามุ่งหวังคือ ชัยชนะในการเลือกตั้ง การได้เสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งเป็นรัฐบาล ดังนั้น โอกาสใดที่สามารถสร้างความได้เปรียบแม้อาจเป็นการตุกติกผิดกติกาเล็กๆ น้อยๆ ก็น่าจะไม่ลังเลที่จะกระทำ

เหมือนปากอาจจะบอกว่าอยากปฏิรูป แต่การกระทำล้วนตรงข้าม

ในด้านกรรมการ สิ่งที่ทุกคนคาดหวังคือ การทำหน้าที่อย่างเป็นกลางของกรรมการ แต่ปัจจัยสองประการที่นำไปสู่ปัญหาการทำงานของกรรมการคือ ใครเลือกกรรมการและกรรมการที่ถูกเลือกนั้นมีความสามารถเพียงไร ทันเกมต่างๆ หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา สังคมก็ตั้งคำถามในประเด็นดังกล่าวอยู่พอสมควร

ดังนั้น ปัจจัยที่น่าจะฝากความหวังคือ ประชาชนในฐานะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้เฝ้าดูเกมการเล่นของผู้เล่นและเป็นผู้เห็นวิธีการทำงานของกรรมการว่าจะแสดงบทบาทสำคัญในการพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยเพียงไร หรือจะเป็นเพียงแค่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องนอกตัว ตนเองแสดงบทบาทเพียงแค่การใช้สิทธิเลือกตั้ง

หลังจากนั้น เป็นเรื่องของนักการเมืองเขา

การมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกละเลย

มิติเรื่องการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง นอกจากถูกละเลยแล้วยังดูเหมือนจะถูกกีดกันออกไปเสียด้วย จำนวนขององค์กรเอกชนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งที่เคยมีจำนวนมากและทำงานด้วยความกระตือรือร้น กลายเป็นจำนวนที่ลดน้อยลง และทำงานแบบเป็นพิธีกรรม คือไปนั่งในหน่วยเลือกตั้งให้ครบเวลาปฏิบัติงานแล้วรอรับเบี้ยเลี้ยงการปฏิบัติงาน

ในสายตาของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมองว่ากลไกดังกล่าว เป็นกลไกที่สิ้นเปลืองและไร้ประโยชน์

รูปแบบการสร้างองค์กรเอกชนหรือภาคประชาชนแบบที่ กกต.จัดตั้งขึ้นมาเอง เช่น การให้กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม อสม. หรือโครงการ รด.จิตอาสา ที่ใช้คะแนนของนักศึกษาวิชาทหารเป็นตัวบังคับให้มาทำภารกิจจึงเข้ามาแทนที่ซึ่งองค์กรในรูปแบบดังกล่าวยิ่งไม่ตอบโจทย์ในเรื่องการตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้ง

เพราะเป็นเหมือนกลไกสนับสนุนการทำงานของ กกต.มากกว่าการเป็นภาคประชาชนที่ร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างแท้จริง

ประชาชนจะมีส่วนในการตรวจสอบการเลือกตั้งได้อย่างไร

สิ่งต่อไปนี้ คือสิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการและสื่อกับประชาชนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง

หนึ่ง ขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง

ให้มีรายงานตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้งและหลังวันเลือกตั้งว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่บ้าง เช่น มีคนมาแจกเงินแจกของ มีคนมาเที่ยวจดชื่อคนในหมู่บ้าน มีกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือข้าราชการคนใดวางตัวไม่เป็นกลาง วันเลือกตั้งนอกจากไปใช้สิทธิก็ให้ช่วยกันเฝ้าดูเหตุการณ์ที่หน่วยตลอดวันจนถึงการเฝ้าดูการนับคะแนนว่า กรรมการประจำหน่วยนับได้อย่างถูกต้องหรือไม่

แต่สิ่งที่น่าแปลกคือการเลือกตั้งครั้งหลังๆ เพียงแค่ประชาชนจะถ่ายภาพบันทึกภาพหน่วยเลือกตั้ง ก็มีตำรวจ มีกรรมการประจำหน่วยมาไล่ หรือมาขอความร่วมมือไม่ให้ถ่ายภาพ โดยมาบอกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งห้าม ซึ่งคงต้องถามกลับไปยัง กกต.ว่ามีระเบียบดังกล่าวเมื่อใด เพราะการบันทึกภาพของประชาชนที่ไม่ไปล่วงรู้สิทธิของผู้อื่น เป็นการยืนยันถึงความโปร่งใสในการทำหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย เหตุใดจึงทำไม่ได้

หรือตรรกะวิธีการคิดของ กกต.ผิดเพี้ยนไปหมดแล้ว

สอง การสร้างกลไกเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตื่นรู้ในเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

โดยมิได้มุ่งเพียงแค่รับรู้ (Perception) แต่ต้องเรียนรู้ (Learning) และต้องมิได้หยุดเพียงแค่ได้เรียนรู้แล้วเท่านั้นแต่ต้องไปถึงการมีพฤติกรรมความตื่นตัวในการไปใช้สิทธิอย่างมีวิจารณญาณและมีส่วนร่วมในการรายงานเรื่องราวทุจริตต่างๆ ด้วย

แนวคิดดังกล่าวจึงมิใช่เพียงแค่สิ่งที่ กกต.ดำเนินการตามรายงานความสำเร็จการปฏิรูปการเมืองซึ่งรัฐบาลรายงานต่อรัฐสภาที่เรียกชื่ออย่างสวยหรูว่า “โครงการพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย” ที่มีหน่วยวัดความสำเร็จเป็นผลผลิต (Output) จำนวนครั้งและจำนวนประชาชนที่ผ่านโครงการ แต่ไม่มีสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ (Outcome) หรือสิ่งที่บ่งบอกว่าการเรียนรู้ดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้นอย่างไร

ในประเด็นนี้ จึงควรมีการวัดความสำเร็จที่จำนวนของกลุ่มอาสาสมัครในการทำหน้าที่เป็นภาคประชาสังคมเพื่อร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง จำนวนรายงานการทุจริตที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ตลอดจนการรับรู้ของประชาชนว่า การซื้อขายเสียงนั้นลดน้อยถอยลงหรือหมดไปแล้วจากพื้นที่ที่มีโครงการดังกล่าว

ไม่ใช่ยิ่งอบรม ยิ่งใช้งบประมาณในโครงการ จำนวนการซื้อขายเสียงกลับเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

สาม การสร้างกลไกการสื่อสารและรับข้อมูลจากประชาชนที่มีประสิทธิภาพ

การสื่อสารในยุคประเทศไทย 4.0 ได้เปลี่ยนไปจากการที่ต้องเดินทางมาแจ้งข้อมูลด้วยตนเองโดยสามารถใช้ดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างๆ มากมายที่ประชาชนคุ้นเคย เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก อีเมล แมสเซนเจอร์ ภาพการที่ประชาชนต้องเดินทางมาแสดงตนด้วยตนเองและต้องมากรอกแบบฟอร์มการรายงานเหตุต่างๆ ถึงที่ทำการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรเป็นอดีตได้แล้ว ในประเด็นดังกล่าวนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องรู้จักการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารสมัยใหม่ พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดผ่าน QR code ที่เผยแพร่ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการสื่อสารกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ในอดีต กกต.เคยมีแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ “ตาสับปะรด” เพื่อใช้เป็นช่องทางให้ประชาชนแจ้งเหตุการณ์ทุจริตผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยภาพ คลิป หรือข้อความได้โดยง่ายและไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเองหากไม่ประสงค์จะแสดงตน แต่ปัจจุบันกลับไม่มีการต่อยอดเผยแพร่แก่ประชาชน

วันนี้ ตาสับปะรดที่มีมากมายรอบตัวเพื่อให้มีร้อยตาพันตาช่วย กกต.ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต จึงเปรียบเสมือนตาบอดตาใสที่ไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ

สี่ การส่งเสริมให้มีองค์กรเอกชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเข้มแข็ง

ภาพของการมีองค์กรเอกชนที่เข้มแข็ง มีเครือข่ายที่ประสานกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีอาสาสมัครประชาชนที่มีความกระตือรือร้น มีกิจกรรมที่ทำทั้งในด้านการรณรงค์ให้ประชาชนไม่ซื้อสิทธิขายเสียงทั้งในด้านรายงานเหตุทุจริตการเลือกตั้งและการสังเกตการณ์การเลือกตั้งแบบเอาจริงเอาจังไม่เป็นเพียงแค่พิธีกรรม ควรเป็นอีกเรือธงหนึ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งพึงใช้บุคลากรและงบประมาณลงไปส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้องค์กรเหล่านั้นมิได้ถูกพันธนาการด้วยระเบียบกฎเกณฑ์แบบราชการจนไม่สามารถทำอะไรในเชิงสร้างสรรค์ได้

ในอดีต องค์กรเอกชนที่เข้มแข็ง นอกเหนือจากการทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองที่ทุจริตยังตรวจสอบการทำงานของ กกต.ด้วยว่า เป็นองค์กรที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมากัน ทำนอง “ฉันให้งบประมาณเธอ แต่เธอกลับมาตรวจสอบฉัน” กลายเป็นทัศนคติที่คับแคบของฝ่าย กกต.ที่ไม่อยากให้องค์กรเหล่านี้เข้มแข็ง

จากที่เคยมีองค์กรเอกชนเข้าไปสังเกตการณ์ร้อยละ 60-70 ของหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศ วันนี้เท่าที่ดูน่าจะกลายเป็นร้อยละ 0

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเลิกมองการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดรำคาญใจ มองการที่ประชาชนสนใจการเลือกตั้งไปบันทึกภาพ ไปดูการนับคะแนนของกรรมการประจำหน่วยว่าเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เที่ยวไล่ประชาชนที่แค่ยกกล้องจากโทรศัพท์มือถือบันทึกการนับคะแนนของกรรมการประจำหน่วยโดยอ้างว่าผิดกฎหมาย มีการสั่งการจาก กกต.มาว่าห้ามทำ ทั้งข่มขู่ ทั้งขอให้ลบภาพทิ้ง

นี่มันการเลือกตั้งในแดนสนธยาชัดๆ