กาแฟดำ | มวยถูกคู่ : อีลอน มัสก์ กับเจฟฟ์ เบซอส

สุทธิชัย หยุ่น

พออีลอน มัสก์ ขึ้นข้อความในทวิตเตอร์ที่มีคนติดตาม 35 ล้านคน (รวมทั้งผม) ว่า

“ได้เวลาสลายการผูกขาดของอเมซอนได้แล้ว”

และอัดซ้ำด้วยประโยคที่ว่า

“การผูกขาดเป็นสิ่งที่ผิด”

ก็เท่ากับเป็นการประกาศสงครามรอบใหม่กับเจฟฟ์ เบซอส

เป็นสงครามยืดเยื้อระหว่างสองอภิมหาเศรษฐีและนักคิดนักสู้นักนวัตกรรมระดับโลกที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

อีลอนเป็นเจ้าของ Tesla และ SpaceX

เจฟฟ์เป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Amazon

อีลอนก่อศึกกับเจฟฟ์อีกครั้งทำไม?

 AFP PHOTO / PETER PARKS

เพราะมีจังหวะที่นักเขียนคนหนึ่งที่ส่งข้อความขึ้นทวิตเตอร์ก่อนหน้านี้ว่าหนังสือของเขาถูกเขี่ยทิ้งจากแผนก Kindle ที่ออก “หนังสือออนไลน์” อ้างว่าเพราะละเมิดกฎกติกาบางอย่าง

หนังสือชื่อ “Unreported Truths about Covid-19 and the Lockdown”

ต่อมา โฆษกของอเมซอนแจ้งว่าเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องนี้บางประการ และได้แก้ปัญหาด้วยการให้หนังสือเล่มนี้กลับไปใน Kindle เหมือนเดิมแล้ว

แต่นั่นไม่ได้ทำให้อีลอนต้องขอโทษเจฟฟ์

และไม่ได้ทำให้เจฟฟ์ต้องออกมาตอบโต้อีลอน

เพราะการศึกระหว่างสองยักษ์แห่งวงการเทคโนโลยีนั้นลุ่มลึกและซับซ้อนกว่าเพียงแต่การปะฉะดะบนโซเชียลมีเดียเท่านั้น

มันมีที่มาที่ไปที่น่าติดตามศึกษามากกว่าแค่ “ดราม่า” บนทวิตเตอร์

ก่อนจะเปิดสงครามระหว่างกัน อีลอนกับเจฟฟ์เคยคบหากันในฐานะต่างคนต่างเคารพในความเก่งกาจของกันและกัน

ปี 2004 ทั้งสองชวนกันกินข้าว แลกเปลี่ยนความเห็นและแบ่งปันความคิดกันฉันมิตร

ก่อนจะเกิดกรณีเหยียบตาปลากันอย่างเปิดเผย

เมื่อเกิดอุตสาหกรรมอวกาศ ทั้งอีลอนและเจฟฟ์ก็รู้ว่าจะต้องกระโดดลงไปทันที

เพราะทั้งสองคนมีทั้งเงินและวิสัยทัศน์

มีทั้งความฝันและความบ้าพอๆ กัน

ทั้งสองปูทางมาก่อนหน้านี้ที่จะก้าวสู่อุตสาหกรรมอวกาศอย่างจริงจังเมื่อจังหวะมาถึง

เพราะทั้งสองมองอนาคตไม่เหมือนคนอื่น…อะไรที่ยังมาไม่ถึง ไม่ได้แปลว่ามันจะมาในวันหนึ่ง และเมื่อวันนั้นมาถึงก็ต้องมีความพร้อมก่อนคนอื่น

อีลอนมี SpaceX

เจฟฟ์มี Blue Origin

ทั้งสองเคยประกาศแผนงานที่จะทำให้มนุษย์สามารถไปเที่ยวในอวกาศได้…ณ ราคาที่ไม่แพงเกินเหตุ แต่ไม่ถึงขั้นเป็นการท่องเที่ยวมวลชน

ก่อนจะถึงจุดนี้ทั้งสองก็เร่งฝีเท้าในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม

พอวันนั้นมาถึง ทั้งสองก็โผล่มาจ๊ะเอ๋กันพอดี

ปี2004 ตอนที่ทั้งสองนั่งกินข้าวแลกเปลี่ยนความฝันเป็นเรื่องสนุก เพราะยังไม่มีเอกชนใดมีจรวดที่สามารถส่งยานขึ้นอวกาศของตนเอง

วันนั้น บริษัทของทั้งสองยังตั้งไข่อยู่ ไม่มีใครรู้ว่าใครจะใหญ่กว่าใคร อัตตายังไม่ได้ขยายตัวคับจออย่างวันนี้

การแข่งขันอย่างรุนแรงรอบแรกน่าจะเป็นปี 2013

เป็นปีที่นาซาเลิกใช้ฐานยิง Complex 39A เพราะโครงการกระสวยอวกาศ Space Shuttle ในปี 2011

ฐานยิงแห่งนี้ก็เลยว่าง เปิดทางให้ใครที่มีแผนอวกาศของตัวเองมองเห็นโอกาสใหม่

อีลอนดัน Space X เข้าถมช่องว่างนี้ทันที

มีหรือเจฟฟ์จะปล่อยให้โอกาสเช่นนี้ผ่านเลยไปเฉยๆ

Blue Origin ประกาศว่าฉันก็สนใจจะเข้ามาใช้ฐานยิงนี้เช่นกัน

เจฟฟ์ไม่เพียงแค่แสดงความสนใจอย่างยิ่งเท่านั้น

เขาลุยหนักถึงขั้นที่สกัดอีลอนด้วยการยื่นรัฐบาลขอให้ระงับการอนุญาตให้ SpaceX ได้สิทธิ์นั้นโดยอัตโนมัติ

อีลอนเดือด! ตอบโต้ด้วยการตะโกนใส่เจฟฟ์ด้วยภาษานักเลงเลือดร้อน

“นี่มันเป็นกลยุทธ์สกัดผมแบบงี่เง่า, จอมปลอม นี่มันไร้สาระบ้าบอคอแตกจริงๆ” (แปลแบบเกรงใจจาก Bunch of BS! แล้วนะครับ)

การปะทะระหว่างสองเสือของวงการนี้เปิดตัวต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

แต่ท้ายที่สุดในปี 2014 SpaceX ก็ชนะ ได้สัญญา 20 ปีในการเช่าฐานยิง 39A มาครอง

เจฟฟ์เฝ้ามองด้วยความมุ่งมั่น นี่จะเป็นเพียงศึกแรกของสงครามยืดเยื้อเท่านั้น ทีใครทีมัน, อีลอนเอ๋ย

ต่อมาอีกไม่กี่เดือน อีลอนกับเจฟฟ์ก็ปะทะกันรอบใหม่

ครั้งนี้ประเด็นร้อนคือเรื่องสิทธิบัตรว่าด้วยเทคโนโลยีในการสร้างจรวดใช้ซ้ำ (reusable rockets)

เจฟฟ์ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเรื่องนี้ อ้างว่าเป็นผลงานวิจัยของบริษัทของตัวเอง

หากเจฟฟ์เดินหน้าเรื่องนี้สำเร็จ รายได้มหาศาลก็รออยู่ข้างหน้า เพราะใครๆ ก็อยากได้เทคโนโลยีอย่างนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการส่งยานขึ้นอวกาศสำหรับกิจกรรมมากมายหลายด้าน

ก่อนหน้านั้นการยิงจรวดขึ้นอวกาศทุกครั้งถือว่าทำได้ครั้งเดียว จะส่งครั้งใหม่ก็ต้องสร้างจรวดใหม่ ไม่เหมือนเครื่องบินที่ขึ้นลงได้หลายปีหลายสถานการณ์

แต่อีลอนไม่ยอมอยู่เฉยๆ พอได้ข่าวว่าเจฟฟ์ขอจดทะเบียนเรื่องนี้ก็กระโดดออกมาทันที

อีลอนอ้างว่าเขาก็ทำการวิจัยเรื่องนี้มาก่อนแล้ว

เขาบอกว่างานวิจัยของเขาด้านนี้สร้างจากพื้นฐานของนิยายวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าจรวดที่ขึ้นไปในอวกาศสามารถร่อนกลับมาบนโลกได้ด้วยการหย่อนตัวเองกลับมาบนเรือที่สร้างขึ้นมาพิเศษเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

SpaceX ชนะเกมที่สองนี้อีกรอบ โดยสามารถชะลอการออกสิทธิบัตรเอาไว้ก่อน

แต่พอถึงปลายปี 2015 อีลอนกับเจฟฟ์ก็ปะทะกันบนเวทีระดับโลก…คือบนทวิตเตอร์

ในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น Blue Origin ของเจฟฟ์สามารถส่งจรวดขึ้นบนท้องฟ้าและร่อนกลับมาบนโลกได้อย่างปลอดภัยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก

เจฟฟ์ตื่นเต้นมาก เขารู้ว่านี่เป็นเกมที่เขาสามารถเบียดเอาชนะอีลอนได้หน้าตาเฉย

ใครจะโม้อะไรก็โม้ได้ แต่การทำให้เกิดขึ้นจริงย่อมเป็นการตัดสินว่าใครเจ๋งกว่ากันแน่

เจฟฟ์ไม่รอช้า ขึ้นข้อความบนทวิตเตอร์ทันที ประกาศว่า “นี่เป็นสัตว์ประหลาดที่หายากยิ่ง…” พร้อมกับรูปจรวดที่น่าตื่นตาตื่นใจ

อีลอนคงจะตกใจพอสมควร แต่ก็ระงับความอิจฉาของตนเอาไว้ แสดงตนเป็นผู้ใหญ่ด้วยการแสดงความยินดีกับเจฟฟ์

แต่ก็ไม่วายแขวะเจฟฟ์ว่า “แต่ที่เจฟฟ์ทำนั้นต้องใช้พลังงานเกือบ 100 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับที่เรากำลังทดลองทำอยู่…”

อีลอนบอกว่า SpaceX สามารถส่งจรวดขึ้นไปในอวกาศและขากลับก็ให้แรงดันของ booster ช่วยประคองกลับมา…ใช้พลังงานน้อยกว่าเยอะเลย

นี่คือปฏิบัติการ “ลูบหลังและตบหน้า” ของอีลอนที่ทำให้เจฟฟ์เจ็บปวดยิ่งนัก

แม้เราจะไม่ได้ยินเจฟฟ์อุทาน “แค้นนี้ต้องชำระ” แต่ก็คงพอจะเดาได้ว่าเขาคงไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปโดยไม่รอจังหวะสวนหมัดตรงเข้าที่คางของเจฟฟ์เป็นแน่แท้

การปะทะกันทั้งทางตรงและทางอ้อมยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ที่ผมทึ่งเป็นพิเศษก็เมื่อเจฟฟ์ “เอาคืน” อีลอนในการพูดที่มหาวิทยาลัย NYC ตอนหนึ่งบอกว่า

“สำหรับเพื่อนๆ ของผมที่จะย้ายไปดาวอังคาร ผมขอให้ช่วยอะไรหน่อยได้ไหม จงไปอาศัยอยู่บนยอดเขาเอเวอเรสต์สักหนึ่งปีก่อน แล้วตัดสินใจว่าชอบมันหรือเปล่า เพราะถ้าเปรียบเทียบกับดาวอังคารแล้วไซร้…นั่นคือสวรรค์ทีเดียวนะ จะบอกให้”

ไม่นานหลังจากนั้น อีลอนก็วิพากษ์เจฟฟ์อย่างรุนแรงหนักหน่วง…โดยเฉพาะโครงการของ Blue Origin ที่จะส่งดาวเทียมหลายพันดวงขึ้นไปในอวกาศเพื่อให้โลกได้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เร็วกว่าและดีกว่าเดิม

อีลอนเคยบอกว่าเจฟฟ์เป็น “นักลอกเลียนแบบ” หาใช่ “นวัตรกร” ไม่

เจฟฟ์ถือว่าตัวเอง “นิ่ง” กว่า ไม่โฉ่งฉ่างเพราะปากโป้งเหมือนอีลอน

แต่เอาเข้าจริงๆ ผมชอบทั้งสองคน

เพราะถ้ามนุษย์จะไปพิชิตดาวอังคารได้จริง ต้องให้สองคนนี้ทำงานร่วมกันให้ได้

เพราะ “บ้า” พอๆ กัน

และหากไม่ “บ้าพอ” ก็คงจะทำอะไรที่โลกต้องตะลึงอย่างสองคนนี้ไม่ได้จริงๆ