ธงทอง จันทรางศุ | การสืบทอด

ธงทอง จันทรางศุ

ทั้งๆ ที่รู้แน่ว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปทั้งนั้น แต่คนจิตไม่ว่างอย่างผมก็มีอะไรให้คิดเรื่อยเปื่อยไปเสมอ

วันนี้จะว่ากันถึงเรื่องความยั่งยืนขององค์กรต่างๆ ที่ได้เคยเห็นมาในชีวิต เฉพาะประเด็นเรื่องการสืบทอดความเป็นผู้นำองค์กร หรืออาจพูดเป็นภาษาฝรั่งโก้ๆ ว่า succession plan ครับ

เรื่องอย่างนี้อย่านึกว่ามีแต่เฉพาะในองค์กรเอกชน แม้ในหน่วยงานของรัฐก็ต้องคิดเรื่องทำนองนี้ไว้ด้วยเหมือนกัน

ยกตัวอย่างอย่างที่ผมได้เคยพบเห็นมา ในส่วนราชการต่างๆ ผู้นำหน่วยที่ดีนอกจากการบริหารงานที่เป็นงานเฉพาะหน้าแล้ว ผมมีความเห็นว่าต้องเป็นผู้ที่มองการณ์ไกลไปถึงวันข้างหน้าด้วยว่าหน่วยงานของเราจะมีใครมาเป็นผู้นำ

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกที่รักมักที่ชัง สนับสนุนคนใกล้ชิดให้เป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาแซงหน้าคนอื่นนะครับ

หากแต่ผมหมายถึงแนวทางที่ผู้บริหารต้องดูว่าในกรมในกระทรวงหรือหน่วยงานของตัวเองมีใครมีแวว ที่จะรับผิดชอบงานในฐานะเป็นผู้นำได้ในอนาคต ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นใครคนใดคนหนึ่งเพียงแค่คนเดียว ถ้าจะให้ดีผมว่าเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้สามสี่คนก็ยังได้ครับ

เมื่อหมายตาได้คนจำนวนนี้ไว้แล้วก็ต้องส่งเสริมให้เขามีโอกาสแสดงฝีมือ ถ้าจำเป็นจะต้องไปแต่งเนื้อแต่งตัวเช่นไปเข้าหลักสูตรเรียนวิชาอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานของเราในวันข้างหน้าก็ต้องสนับสนุนให้เขาได้ไปเรียนความรู้เหล่านั้น

วันหนึ่งเมื่อเราจะต้องลุกจากเก้าอี้ที่เราเป็นผู้นำหน่วยไปอยู่ที่อื่นหรือไปอยู่บ้านเพราะเกษียณอายุก็ตามที ผู้ที่เดินตามมาข้างหลังจะได้สามารถเข้ามาแทนที่และต่อยอดงานที่ทำกันมาไว้ให้เดินหน้าไปได้โดยไม่สะดุดหยุดยั้ง

การวางแผนเพื่อให้มีใครมาสืบทอดงานอย่างนี้อาจจะวางแผนไปไกลจนกระทั่งหมายความรวมถึงการหาเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบเข้ามาทำงานในหน่วยงานของเรา หาทุนส่งเสียให้ไปเรียนระดับสูงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือเมืองนอก

อีกยี่สิบสามสิบปีข้างหน้าคนเหล่านี้จะได้มานั่งอยู่ในเก้าอี้ที่เรานั่งอยู่ทุกวันนี้

คําถามที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอเมื่อเราพูดถึงเรื่องเหล่านี้ คือข้อโต้เถียงว่า อ้าว! แล้วระบบอาวุโสเล่า มีความสำคัญจำเป็นแค่ไหน เพราะถ้าให้ใครก้าวข้ามหัวใครได้ง่ายๆ ก็เป็นช่องทางให้เกิดความเสียหายร้ายแรงขึ้นได้เหมือนกัน

เรื่องมันยากตรงนี้แหละครับ

จากประสบการณ์ที่ทำงานมาจนเกษียณอายุได้ห้าปีแล้ว ผมเห็นว่างานบริหารส่วนที่ยากที่สุดน่าจะอยู่ตรงการบริหารผู้คนนี่เอง เพราะต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่างเหลือเกิน ทั้งเรื่องอาวุโสซึ่งมีความสำคัญในแง่มุมของขวัญกำลังใจ เรื่องความรู้ความสามารถซึ่งมีไม่เท่ากัน และไม่ได้เรียงตามลำดับของอาวุโสเสียด้วย เราจะสร้างจุดสมดุลระหว่างสองฝ่ายนี้ได้อย่างไร

บางทีอาจจะต้องกล้าหาญถึงขนาดนำคนนอกเข้ามาเป็นผู้นำองค์กร ในเวลาที่คนในขาดช่วง หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้นำองค์กรได้ในจังหวะเวลานั้นด้วย

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ มีจุดสำคัญสูงสุดอีกเรื่องหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ คือการเห็นแก่ประโยชน์ของงาน ของหน่วยงานเป็นหลัก

ถ้าสนับสนุนคนที่ไม่มีความเหมาะสมมาเป็นผู้นำหน่วย เราออกไปอยู่ที่ไหนแล้วคนก็ตามไปชยันโตถึงที่นั่น

อย่างนี้ไม่ไหวครับ

ในทางธุรกิจเอกชนเหมือนกัน ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารงานบุคคลต้องคิดถึงเรื่องนี้ไว้ให้มาก ถ้าเป็นธุรกิจครอบครัวยิ่งน่าคิดครับ เพราะตัวเลือกมีอยู่ไม่มาก ก็ต้องเฟ้นจากลูกหลานที่มีอยู่ไม่กี่คนนี่แหละ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ยากหน่อย แถมบางทีลูกหลานก็ไม่อยากอยู่ในธุรกิจนั้นต่อไป เขามีความฝันของเขา เราจะไปบังคับเขาให้มาเดินตามความฝันแบบเดิมก็ไม่สำเร็จ

เราจึงเห็นมานักต่อนักแล้วว่า กิจการค้าของครอบครัวบางแห่ง พ้นจากยุคของพ่อแม่ไปแล้วก็เดินเข้าสู่ยุคมืด คือเป็นบันไดขาลงไปตลอด จนสูญหายตายจากไปจากยุทธจักรการค้า

ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนที่มีการบริหารสมัยใหม่ ไม่ใช่กิจการครอบครัว นอกจากการวางแผนสร้างคนขึ้นมาทดแทนผู้บริหารระดับสูงภายในองค์กรแล้ว เรายังได้ยินกันอยู่เสมอมิใช่หรือครับว่า มีการซื้อตัวผู้บริหารหมายเลขหนึ่งหมายเลขสองมาจากองค์กรภายนอก

แต่ขณะเดียวกันหลายองค์กรก็เปิดโอกาสให้คนในได้ลงสนามแข่งด้วย

ลองเหลียวมาดูหน่วยงานหนึ่งที่เป็นข่าวอยู่ในเวลานี้ก็ได้ครับ ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญระดับชาติเลยทีเดียว นี่มองอย่างคนนอกมองเข้าไปภายในองค์กรนะครับ ไม่รู้อะไรลึกซึ้งมากมาย

ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยปัจจุบันท่านแสดงความจำนงที่จะไม่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นวาระที่สอง

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่มาทำหน้าที่

อ่านหนังสือพิมพ์แล้วได้ทราบว่ามีการเปิดรับสมัคร มีกระบวนการสรรหาคัดเลือกที่กำลัง ดำเนินการกันอยู่ ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร

ในอดีตนั้นผู้ที่เคยได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีทั้งคนในคือเติบโตขึ้นมาในองค์กร และคนนอก คือเป็นคนนอกธนาคารแห่งประเทศไทยเลยทีเดียว แบบเป็นผู้มีประสบการณ์ที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งหน้าที่

หนนี้เป็นอย่างไรต้องติดตามผลกันต่อไป

นี่พูดถึงหน่วยงานราชการมาแล้ว ธุรกิจเอกชนก็พูดมาแล้ว เห็นไหมครับว่าการวางแผนเพื่อให้มีคนรุ่นใหม่เข้าทดแทนคนรุ่นเก่าเป็นรุ่นๆ ไปนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

แม้แต่ในวัดก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้ครับ

แน่ะ! เลี้ยวเข้าวัดเสียอีกแล้ว

ถูกต้องครับ ที่จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาเราคือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด แต่ขณะเดียวกัน การบริหารกิจการพระศาสนาก็เป็นความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความสำคัญ มีความจำเป็นอยู่

วัดวาอารามทั้งหลายอย่างเป็นบุญสถานที่พุทธศาสนิกชนอย่างเราได้พึ่งพาอาศัยเป็นสะพานบุญ

เจ้าอาวาสหรือสมภารทั้งหลายท่านไม่ได้อยู่ยั้งยืนยงไปตลอดกาลนานเทอญนะครับ

การตระเตรียมศาสนทายาทที่จะเข้ามาสืบสานงานพระศาสนาเป็นรุ่นๆ ไปก็มีความสำคัญมากไม่แพ้งานการทั้งหลายที่อยู่นอกวัด

นี่ก็ขอฝากโจทย์ยากๆ ทิ้งท้ายไว้อย่างนี้แหละครับ เข้าพรรษาปีนี้ หลายวัดไม่มีพระบวชใหม่เลย วันข้างหน้าจะมีเจ้าอาวาสที่มีความสามารถเป็นผู้นำมาจากที่ไหนได้บ้าง

เขียนมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ต้องเตือนตัวเองให้ย้อนกลับไปอ่านประโยคแรกของบรรทัดแรกตอนต้นบทความอีกครั้ง

ปลงเสียเถิดนะโยมธงทอง