เกษียร เตชะพีระ | ความรู้สู้โควิด (2)

เกษียร เตชะพีระ

เพื่อสมทบส่วนแลกเปลี่ยนค้นคว้าปัญญาความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ระบาดในฐานะ The Big Unknown ของโลกปัจจุบัน

ผมใคร่สรุปสังเขปงานวิจัยล่าสุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 สู่ท่านผู้อ่าน

2)รายงานของธนาคารโลกเรื่อง Global Economic Prospects ฉบับล่าสุด (มิถุนายน ค.ศ.2020 www.worldbank.org/en/publication/global-economic-prospects?fbclid=IwAR0blutPBuP7zyCmpMNecL4q4E5WoLicg6bTX2fA5Gvv1AVcyAVqErDXKwE#firstLink01644) ระบุว่า :

เศรษฐกิจโลกถดถอยเนื่องจากโควิด-19 ระบาดครั้งนี้นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ และลู่ทางฟื้นตัวค่อนข้างอึมครึมโดยเฉพาะสำหรับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

เมื่อเปรียบเทียบเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งนี้กับอีก 13 ครั้งก่อนนับแต่ปี ค.ศ.1870 เป็นต้นมา พบว่านี่เป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจโลกถดถอยเพราะปัจจัยโรคระบาดทั่วเพียงลำพัง และนับเป็นการถดถอยครั้งมหึมา

5 ประเด็นหลักในรายงาน (4 ประเด็นเล็งการณ์ร้าย มีประเด็นเดียวที่เล็งการณ์ดีแบบมีข้อพึงระวัง)

ได้แก่ :

1)กล่าวในทางประวัติศาสตร์แล้ว นี่เป็นเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในหลายแง่ด้วยกัน

คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 5.2% ปีนี้ นับเป็นการหดตัวลงลึกที่สุดนับแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และมันกระทบประเทศจำนวนมากกว่าเมื่อเทียบกับการถดถอยครั้งใดก่อนหน้านี้ย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ.1870 รวมทั้งคราวเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ปี ค.ศ.1929 ด้วย

สำหรับบรรดาประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนานั้น เป็นหนแรกที่ประเทศเหล่านี้ประสบเศรษฐกิจถดถอยร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนในรอบ 60 ปี มันสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตครั้งนี้ลึก กว้างและประสานเวลาเข้ากันเพียงใด

นักเศรษฐศาสตร์ยังวิตกกังวลด้วยว่าการมองลู่ทางเศรษฐกิจโลกข้างหน้าเป็นไปในแง่ร้ายลงอย่างรวดเร็วยิ่ง เช่น เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ยังหวังกันว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตบ้าง แต่แล้วก็มาเจอการล็อกดาวน์กะทันหันและเศรษฐกิจหยุดชะงักในหลายประเทศ

ถึงเดือนเมษายน IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3% สองเดือนถัดมา (มิถุนายน) IMF คาดใหม่ว่าจะหดตัวลง 5.2% (แปลว่าคาดแย่ลงถึง 70% จากคราวก่อน) ซึ่งสะท้อนทั้งข้อมูลที่ได้มาเพิ่มเติมขึ้นและความไม่แน่ใจที่ยังมีอยู่มากเกี่ยวกับโรคระบาดทั่ว ล่าสุด OECD ออกรายงานใหม่ที่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เลวร้ายกว่านั้นอีกคือคาดว่าจะตกต่ำลงถึง 6% แต่อาจแย่ลงไปอีกถึง 7.6% ถ้าหากโควิด-19 ระบาดระลอก 2 ถือเป็นการถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ

รัฐบาลและสถาบันปล่อยกู้ทั้งหลายออกนโยบายเกื้อหนุนเศรษฐกิจอย่างมากและพร้อมเพรียงกันชนิดไม่เคยมีมาก่อน เกินกว่าที่ทำกันตอนวิกฤตการเงินซับไพรม์ปี ค.ศ.2008-2009 ด้วยซ้ำไป หลายประเทศออกโครงการตาข่ายประกันสังคมขนาดใหญ่และลดอัตราดอกเบี้ยลง การให้เงินช่วยและปล่อยกู้ของสถาบันต่างๆ อย่าง IMF กับธนาคารโลกก็ “พิเศษยิ่งและผิดปกติธรรมดา” กล่าวได้ว่าการตอบสนองของผู้วางนโยบายทั้งหลายพิเศษสุดโดยแท้

แต่นี่ก็เป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์จริงๆ ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ตาม

2)คนนับสิบๆ ล้านถูกผลักถอยหลังกลับไปสู่ความยากจน

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าบรรดาประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาจะหดตัวโดยเฉลี่ย 2.5% ปีนี้

ดูหะแรกนับว่าไม่เลวนักเมื่อเทียบกับการหดตัวโดยเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลกที่ 5.2% และการหดหัวโดยเฉลี่ยของประเทศรายได้สูงที่ 7%

แต่ตัวเลขเฉลี่ยนี้พรางตาหากเรามองแบบจำแนกเป็นภูมิภาค เช่น ภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนนับรวมอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาด้วย แต่เอาเข้าจริงภูมิภาคนี้จะหดตัวถึง 7.2%

ประเด็นน่าห่วงใยก็คือ ในประเทศรายได้ต่ำนั้น มีคนอยู่ในระดับคาบเส้นยากจน (ต่ำกว่าเส้นนิด เหนือเส้นขึ้นมาหน่อย) เยอะกว่ามาก ฉะนั้น แรงช็อกเล็กๆ ในประเทศรายได้ต่ำก็จะส่งผลใหญ่โตกว่ามากในการผลักผู้คนให้ตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจน

คาดว่าคนถึง 60 ล้านคนที่ก่อนนี้กำลังทำท่าจะพ้นความยากจน จะถูกผลักถอยหลังกลับไปสู่ความยากจนสุดโต่งอีก เพราะสูญเสียรายได้เนื่องจากโรคระบาดทั่ว

เอาเข้าจริงประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็อยู่ในภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจตอนต้นปีนี้ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดแล้ว เนื่องจากติดหนี้ประเทศอื่นๆ และสถาบันปล่อยกู้สูง อีกทั้งพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและแร่โลหะต่างๆ มากไป

เมื่อราคาของน้ำมันและแร่โลหะพวกนี้พังทลายลงเพราะโรคระบาดทั่ว ประเทศเหล่านี้ก็ยิ่งเหลือทรัพยากรเศรษฐกิจที่จะใช้รองรับตาข่ายประกันสังคมร่อยหรอลงไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเงินเยียวยา เงินกู้ให้เอสเอ็มอี ธนาคารอาหารและประกันการว่างงาน

3)การที่กลุ่มประเทศรวยโดนกระทบ จะส่งผลให้ประเทศยากจนกว่าทั้งหลายลำบากยากแค้นในระยะยาว

ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเผชิญความเสี่ยงใหญ่ 3 ประการในภาวะโควิด-19 ระบาดทั่ว ได้แก่

ก) ความเสี่ยงทางสุขภาพเฉพาะหน้า

ข) ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการหนี้ต่อไป

ค) ความเสี่ยงที่การเปลี่ยนแปลงในระบบโลกจะยิ่งเป็นคุณต่อบรรดาประเทศกำลังพัฒนาน้อยลงไปอีก

ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ประเทศร่ำรวยบางประเทศ (เช่น อเมริกา) ก็เริ่มเคลื่อนห่างออกทางการค้าและการร่วมมือระดับโลกแล้ว ซึ่งกระทบบรรดาประเทศกำลังพัฒนาตรงลดทอนการลงทุนและตัดตลาดสำหรับส่งออกน้ำมัน แร่โลหะและสินค้าอื่นๆ ไป

การถดถอยครั้งนี้กระทบบรรดาประเทศร่ำรวยอย่างหนักหรือกระทั่งหนักกว่า ผลก็คือมันจะไปลดทอนการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในประเทศรายได้ต่ำลงอีกยาวนานกว่าปกติ ทำให้ยิ่งยากขึ้นสำหรับประเทศรายได้ต่ำที่จะต่อสู้กับความยากจนและลงทุนในเรื่องอย่างการศึกษาเพื่อสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจและศักยภาพที่จะเติบโตของประเทศตน

สรุปคือการถดถอยแบบลงลึกนั้นทิ้งแผลยาวทางเศรษฐกิจไว้และเรื้อรังนาน

 

4)ต่อให้ในฉากทัศน์ที่ดีที่สุด ตัวเลขสถิติทั้งหลายก็ยังฉิบหายวายป่วง

สมมุติว่ามาตรการล็อกดาวน์ในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าทั้งหลายยกเลิกไปในเดือนกรกฎาคมศกนี้ และมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาพากันยกเลิกตามหลังจากนั้นไม่นาน

ฉากทัศน์ที่มองด้านดีนี้ก็ยังจะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวถึง 4% อยู่ดี

คือเป็นสองเท่าของการถดถอยของเศรษฐกิจโลกเมื่อปี ค.ศ.2009

สรุปคือวิกฤตที่โลกเผชิญอยู่นี้ร้ายแรงยิ่ง

5)ทว่าวิกฤตนี้ก็เปิดโอกาสในการสร้างใหม่ให้ดีขึ้นได้

ข้อสรุปหลักที่ควรดึงมาได้จากวิกฤตนี้คือสุขภาพเป็นเรื่องเร่งด่วนอันดับแรกสุด

การวางแผนลงทุนจัดสร้างมาตรการสาธารณสุขอย่างกว้างขวางจริงจังเป็นสิ่งต้องทำ

เช่น จัดวางระบบเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดทั่วเอาไว้ สร้างสถานีล้างมือรองรับกว้างขวาง โครงการศึกษาเสริมที่เกิดขึ้น เช่น การเรียนออนไลน์ ควรนำเข้าไปบูรณาการกับระบบการศึกษาปกติเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ให้ดีขึ้น

โครงการตาข่ายประกัน สังคมทั้งหลายควรเสริมให้เข้มแข็งและขยายให้ครอบคลุมกว้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

นักการเมืองย่อมจะบ่นว่า “เราใช้เงินไปเยอะแล้ว” แต่อย่าลืมว่านี่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจชนิดไม่เคยมีมาก่อน และเราต้องรับมือมันด้วยมาตรการชนิดไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน

3)ทีมนักวิจัยสังกัดสถาบันโลกเพื่อการวิจัยเศรษฐศาสตร์การพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nations University World Institute for Development Economics Research) ได้นำเสนอผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ระบาดต่อความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา เรื่อง “Poverty and the pandemic : COVID-19 and poverty incidence, intensity, and severity in developing countries” พบว่า (www.wider.unu.edu/sites/default/files/Publications/Working-paper/PDF/wp2020-77.pdf?fbclid=IwAR3TL3YYgMp5wyI9IPv0ivnPBQD1YtmWcC6G09IfaWEpk4xdy0H5kNqyljs )

ผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ต่อความยากจนจะประสบได้ 3 ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ

1) ความยากจนน่าจะเพิ่มขึ้น

2) ความยากจนน่าจะหนักหน่วงขึ้น

3) ส่งผลให้ตำแหน่งที่ตั้งของความยากจนในโลกจะเปลี่ยนไป คือขยับย้ายไปสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก

เมื่อประมวลการประมาณการของแหล่งวิเคราะห์ต่างๆ รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย, ธนาคารวาณิชธนกิจโกลด์แมน ซัคส์, IMF และ OECD เข้าด้วยกัน ทีมวิจัยพบว่ามีฉากทัศน์เศรษฐกิจโลกที่เป็นไปได้เนื่องจากโควิด-19 สามแบบคือ รายได้และการบริโภคในโลกลดลง 1) 5% 2) 10% และ 3) 20% ในกรณีที่ 3) จะมีคนจนสุดโต่งในโลกเพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านคน เมื่อรวมกับตัวเลขคนจนสุดโต่งในโลกล่าสุดของปี 2018 ที่ 727 ล้านคนแล้ว ก็จะมีคนจนสุดโต่งในโลกเพิ่มเป็น 1.12 พันล้านคน

ทั้งนี้ งานวิจัยชี้ว่า บรรดาประเทศกำลังพัฒนานั้นมีระดับความเสี่ยงหรือไม่มั่นคงแน่นอน (precarity) ทางเศรษฐกิจในหมู่ประชากรกว้างขวาง อีกทั้งมาตรการลดทอนความยากจนที่ดำเนินการมานั้นเปราะบางล่อแหลมต่อการช็อกทางเศรษฐกิจแบบโควิด-19 ระบาดยิ่ง

ทำให้คนที่อยู่ล้อมรอบไต่เส้นความยากจน (จักแหล่จะจนมิจนแหล่นอยู่แล้วแต่เดิม) หล่นลงไปใต้เส้นความยากจนได้ง่ายในภาวะวิกฤต