E-DUANG : “เรือดำน้ำ” จากมุมมองของ “นักการเมือง”

 

เหมือนกับว่า การออกโรง “ท้วงติง” ในมติครม.อนุมัติซื้อ “เรือดำน้ำ” อันมาจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จะเป็นเรื่อง “ธรรมดา” อย่างปกติทาง “การเมือง”

ไม่เพียงเพราะเคยดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” หากแต่ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม”

แต่หาก “ศึกษา” แต่ละ “ถ้อยคำ” อย่างละเอียด จะมองเห็น “อะไร” มากยิ่งกว่านั้น

เป็นการแสดงบทบาทในฐานะ “นักการเมือง” จริง

“สมัยที่ดิฉันทำหน้าที่เพื่อพิจารณาแล้วก็ขอให้ทางกองทัพเรือชะลอในการจัดซื้อ”

แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือ “กลยุทธ์”ใน”การบริหาร”

 

หากเปรียบเทียบกับคสช.และรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความต่าง

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุ วรรณ อาจเคยเป็น ผบ.เหล่าทัพ

บริหาร “ทหาร” บริหาร “กองทัพ”

แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารธุรกิจในด้าน “โทรคมนาคม” และในด้าน “อสังหาริมทรัพย์”

สิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เน้น คือ ลำดับความสำคัญ

จุดต่างอย่างแน่นอน คือ คสช.เน้นในเรื่องความมั่นคง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เน้นในเรื่องประชาชน

“ประชาชน” คือ “เป้าหมาย”

 

กล่าวสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วง”ขาลง” ยิ่งจำเป็นต้องละเอียดอ่อน

ทุกข์สุขของ”ประชาชน”จึงสำคัญ

หากในความเป็นจริง ประชาชนยังยากจน การบริการสาธารณะยังเป็นปัญหา การมี “เรือดำน้ำ”อาจกลายเป็นส่วนเกินความจำเป็น

ยิ่งไม่มีสถานการณ์ “สงคราม” ยิ่งกลายเป็นเรื่องแปลกแยก

“นักการทหาร” อาจจะเน้นในเรื่อง “ความมั่นคง” แต่ “นักการเมือง” คำนึงในเรื่อง “ประชาชน”

ทุกข์สุขของ “ประชาชน” จึงอาจสำคัญกว่า “เรือดำน้ำ”