GIVE US A LITTLE MORE TIME กระบวนการสำรวจสถานการณ์การเมืองไทยผ่านมิติแห่งกาลเวลา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้ (นับให้ก็ได้ว่าครั้งที่ 13 แล้วจ้ะ)

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจและออกแคมเปญ “คืนความสุขให้ประชาชน”

แต่ในสายตาของประชาชนไทยผู้สนับสนุนประชาธิปไตย แคมเปญดังกล่าวเป็นแค่การ “ปากว่าตาขยิบทางการเมือง”

ในขณะที่ คสช.โหมกระพือ “ความสุข” ด้วยการปล่อยเพลงและความบันเทิงอื่นๆ เพื่อกลบเกลื่อนการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ปิดปากเสียงของประชาชนที่ต่อต้าน ไปจนถึงการใช้อำนาจขู่บังคับ ทำร้าย หรือกระทั่งถูกบังคับให้หายสาบสูญในบางกรณี

ในขณะที่เวลาแห่งความสงบสุขจอมปลอมล่วงผ่านไปหลายปี ประชาชนผู้เฝ้ารอประชาธิปไตยบางคนระบายความอึดอัดขัดข้องใจผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์

บ้างก็ระบายออกผ่านงานเขียน กวี ดนตรีและบทเพลง

บ้างก็ระบายออกมาเป็นงานศิลปะ

ศิลปินหนุ่มอย่างจุฬญาณนนท์ ศิริผล เองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

ในวันเดียวกันกับที่เกิดรัฐประหาร จุฬญาณนนท์เริ่มทำงานคอลลาจ (ตัดปะ) จากหนังสือพิมพ์รายวัน และปฏิญาณกับตัวเองว่าจะทำเป็นกิจวัตรไปจนกว่าจะมีการประกาศการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เขาเฉือนตัดหน้าหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อดูว่าการวางองค์ประกอบภาพและเนื้อหาในข่าวถูกกำหนดและควบคุมโดยรัฐบาลทหารอย่างไร

และด้วยอารมณ์เฉพาะตัวของศิลปิน ทำให้เขาออกสำรวจความเฉื่อยชาของระบบราชการ และความเสแสร้งเหล่านั้น

การทำงานคอลลาจของจุฬญาณนนท์เป็นการโต้ตอบกับสื่อหนังสือพิมพ์ที่ถูกควบคุมอย่างหนักจนถึงขั้นไร้ความน่าเชื่อถือในสายตาของพลเมืองไทยที่ใส่ใจสถานการณ์บ้านเมือง

วันเวลาที่เขาทำงานคอลลาจเหล่านี้ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย (ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง) รวมแล้วใช้เวลาถึง 1,768 วัน หรือเกือบ 5 ปีเลยทีเดียว

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราทำหนังสั้นและงานวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยอยู่แล้ว พอมีการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เราได้อ่านข่าวทางหนังสือพิมพ์บ้าง อินเตอร์เน็ตบ้าง และดูข่าวทางโทรทัศน์บ้าง เราเห็นว่าข่าวที่ออกมาทางหนังสือพิมพ์มีข้อมูลบางส่วนไม่ตรงกับข่าวที่เราได้รับมาจากสื่ออื่นๆ”

“เราพบว่าข้อมูลตรงนี้กลายเป็นชุดข้อมูลหนึ่งที่ถูกควบคุมจากอำนาจรัฐผ่านสื่อกระแสหลัก แล้วในฐานะศิลปินเราจะตอบโต้กับชุดข้อมูลเหล่านี้ผ่านงานศิลปะได้ยังไงบ้าง เราก็เลยเริ่มทำงานคอลลาจจากหนังสือพิมพ์รายวัน โดยตั้งเป้าเป็นโครงการว่าจะทำงานคอลลาจหนังสือพิมพ์ทุกวัน วันละชิ้น ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันที่มีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นก็เป็นเหมือนการทำงานนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้อนาคต ว่าทิศทางการเมืองของไทยจะถูกนำพาไปสู่จุดไหน”

“ถ้ามองย้อนกลับไปตอนรัฐประหารปี 2549 (19 กันยายน พ.ศ.2549) ปี 2550 ก็มีการเลือกตั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่มีความลากยาวอยู่ ซึ่งความลากยาวนี้ส่งผลต่อกระบวนการทำงานของเรา เพราะเราต้องทำงานคอลลาจพวกนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะจบตรงไหน”

“นอกจากเราทำงานคอลลาจเหล่านี้เพื่อโต้ตอบสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์แล้ว เรายังทำเพื่อบันทึกความคิดของเรา ซึ่งเวลาเกือบ 5 ปีที่เราทำงานเหล่านี้ ก็เหมือนกับการรอคอยว่าเมื่อไรที่กระบวนการทำงานของเราถึงจะจบลง ในขณะเดียวกันก็เป็นการรอคอยให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งด้วย”

จุฬญาณนนท์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของผลงานชุดนี้ของเขา

หลังจากกระบวนการทำงานคอลลาจตั้งแต่วันแรกของการรัฐประหาร จนถึงวันประกาศการเลือกตั้ง ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์รายวันที่จุฬญาณนนท์รวบรวมทุกวันตลอดเวลาเกือบ 5 ปี ค่อยๆ กลายเป็น Archive (คลังข้อมูล) ของการโฆษณาชวนเชื่อแบบเดิมๆ

และในขณะที่สื่อแบบเดิมๆ เหล่านี้ถูกควบคุมแทบจะเบ็ดเสร็จโดยอำนาจรัฐ คนรุ่นใหม่และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยก็หันไปต่อสู้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอล ที่การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ความคิดเห็น และอารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้คน ถูกกำหนดด้วยระบบอัลกอริธึ่ม

ในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ผู้ทำงานในสื่อภาพเคลื่อนไหว จุฬญาณนนท์จึงทำการเปลี่ยนข้อมูลที่ถูกดัดแปลงด้วยกระบวนการคอลลาจเหล่านี้ มาตัดต่อร้อยเรียงใหม่ให้กลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นเชิงทดลอง ที่ถูกนำเสนอในรูปแบบของวิดีโอจัดวาง (Video Installation) สี่จอ อันแปลกล้ำ แสงสีเสียงฉูดฉาดบาดตาเสียดหู

ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยรายละเอียดและถ้อยคำชวนคุ้นเคยและแทงใจดำประชาชนชาวไทยผู้อึดอัดคับข้องใจจากการขาดไร้สิทธิเสรีภาพอยู่เอาการ

“เรามองว่าแอนิเมชั่นคือการร้อยเรียงภาพนิ่งต่างๆ ให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งแอนิเมชั่นชิ้นนี้ก็ถูกสร้างขึ้นจากภาพคอลลาจที่ถูกแปลงให้กลายเป็นพิกเซล หรือรหัสไบนารี ซึ่งถูกเปลี่ยนให้เป็นตัวละครต่างๆ ซึ่งตัวละครเหล่านี้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนในสังคมที่มาปะทะกัน โดยเปลี่ยนแพลตฟอร์มจากโลกกายภาพเป็นโลกดิจิตอล ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับการต่อสู้ด้วย #แฮชแท็กทวิตเตอร์ เป็นการปะทะกันทางความคิด โดยที่เราไม่รู้ว่าคู่ต่อสู้ของเราคือใคร? มีตัวตนจริงไหม? ตัวละครที่เราเลือกมาก็จะมีทั้ง “ไอโอ” (IO), ทหารผ่านศึก, ศิลปิน หรือตัวละครตัวหนึ่งชื่อ “ไอดอลแห่งแสงสว่าง” ที่เป็นผู้นำลัทธิ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ตัวละครเหล่านี้ต่างก็มีตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ถูกเราเปลี่ยนให้เข้าไปอยู่ในโลกดิจิตอลแทน

ส่วนบทพูดในแอนิเมชั่น เราหยิบเอามาจากงานคอลลาจทั้งหมด 1,768 ชิ้น โดยดูว่าเราตัดปะข้อความอะไรมาบ้าง เราก็เอาคำพูดเหล่านั้นมาเรียงร้อยกันเป็นเหมือนบทกวีหรือกลอนเปล่า แล้วก็เอากลอนเปล่าเหล่านั้นมาทำเป็นบทพูดให้นักแสดงลงเสียง แล้วก็เอาเสียงที่ได้มาซิงก์ให้ตรงกับตัวละครที่ทำจากคอลลาจในแอนิเมชั่นอีกที

เหตุผลที่แยกฉายเป็นสี่จอ เพราะเราอยากเล่นกับการเดินทางของเวลา จากอดีต มาถึงปัจจุบัน ไปสู่อนาคต ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากงานคอลลาจ ตัวแอนิเมชั่นที่ฉายมีเรื่องเดียว แต่ถูกติดตั้งให้ฉายในเวลาที่เหลื่อมกันในแต่ละจอ เหมือนเวลากำลังวิ่งไปเรื่อยๆ”

ผลงานทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวถึงนี้ (รวมถึงผลงานอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง) ถูกรวบรวมมาจัดแสดงในนิทรรศการแสดงเดี่ยวของจุฬญาณนนท์ ที่หยิบเอาท่อนหนึ่งของเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่ไม่ต่างอะไรกับคำสัญญาลมๆ แล้งๆ ไร้ความหมายอย่าง “ขอเวลาอีกไม่นาน” หรือ “GIVE US A LITTLE MORE TIME” มาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการของเขาในครั้งนี้นั่นเอง

“พอได้ยินคำว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ในเพลงนี้ เราเกิดคำถามว่า ใครกันแน่ที่เป็นคนควบคุมเวลา? เพราะเวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน กลุ่มคนที่ยึดอำนาจของประชาชนไปก็อยากควบคุมเวลาให้ตัวเองอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ในขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มก็อยากจะยื้อแย่งเวลานั้นกลับมาเป็นของตัวเอง”

นิทรรศการ GIVE US A LITTLE MORE TIME โดยจุฬญาณนนท์ ศิริผล จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 ใกล้สถานี MRT ลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน – 9 สิงหาคม 2563 แกลเลอรี่เปิดทำการตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 13:00-19:00 น.

หมายเหตุ : เพื่อความปลอดภัย ทางแกลเลอรี่ขอให้ทุกคนสวมหน้ากากขณะเข้าชมงาน และจำกัดจำนวนผู้เยี่ยมชมและระยะเวลาการเข้าชมนิทรรศการต่อครั้ง กรุณาติดต่อ [email protected] เพื่อนัดหมายการเข้าชมล่วงหน้า

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่