อภิญญา ตะวันออก : โอบกอดและหลอมรวม นางรำราชสำนัก

อภิญญา ตะวันออก

เมื่อเริ่มฝึกนาฏศิลป์นางรำตำรับกัมโพชในวัยที่ช้ากว่าทั่วไปนั้น นับว่าประหลาดที่รู้สึกแรงกดมากมายก่อนหน้านี้ได้หายไปจนเกือบสิ้น

แม้ฮิโตมิ นามายากะ จะรู้สึกใจหายที่มารดาของเธอจากไปด้วยโรคมะเร็งแต่เพียงปีแรก แต่ฮิโตมิก็ดูจะพร้อมแล้วสำหรับการออกไปบอกเล่าให้แก่เด็กนักเรียนมัธยมปลายเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ

และมันคือการเยียวยาจิตใจเธอด้วยกระไร ฤๅเป็นความจริงว่า การฝึกรำเขมรคือสิ่งเดียวที่ช่วยชุบชีวิตของเธอไว้?

 

ชีวิตนางรำแห่งราชสำนักยุคใหม่ในรัชสมัยนโรดม สีหนุ ยุคต้น แต่อิทธิพลราชสำนักกัมโพชตามขนบเก่าดูจะเฉิดฉายภายใต้เงาของเจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี หลังจากนั้นเป็นต้นมา ตัวแทนที่จะสืบทอดมรดกนางรำฉบับพระนางก็เป็นไปสิ้นหวัง ลำพังเจ้าหญิงนโรดม รัตนาเทวีนั้น ทั้งนางรำและการเมืองมิได้เป็นสิ่งที่เธอคิดจะสืบทอด

แต่แล้วก็มีดาวเด่นดวงใหม่มาประดับ เป็นความหวังต่อมาของราชสำนัก สำหรับเด็กสาวผู้มีนามว่า อุก พอลลา ความเฉิดฉายอ่อนหวานในชุดเครื่องทรงอลังการยามเธอเคลื่อนไหว และมันคือคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็นนางรำที่ใช่ว่าใครเกิดมาเป็นได้

ราวปี พ.ศ.2537 อุก พอลลา จึงเป็นหนึ่งนักแสดงหลักร่วมกับนางรำดาวเด่นรุ่นพี่ เช่น พิสิต พิลิกา ท่ามกลางความมลังเมลืองแห่งฉากหลังของปราสาทนครวัด ที่ทำให้เหล่านางรำทั้งหลายราวกับหลุดมาจากภาพสลักนางอัปสร สะกดสายตาอาคันตุกะทุกคนที่เฝ้าดูขณะนั้น

กล่าวกันว่า การแสดงชุดมหากาพย์รามายณะครั้งนั้น เธอได้ขโมยดวงใจนักการเมืองเขมรหนุ่มคนหนึ่ง โดยมีเอกอุดมนุต นาราง-รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและมีตำแหน่งเป็นบิดาบุญธรรมของเธอเป็นสื่อกลาง ด้วยเหตุนี้ ไม่นานต่อมา อุก พอลลา จึงสมรสกับรัฐมนตรีดาวเด่น เวง เสรีวุธ

แต่แล้วรัฐประหาร 2540/1997 ทำให้เธอต้องระหกระเหินหอบลูกชายวัย 3 เดือนไปสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และจบลงที่ปารีส (2541)

 

อดีตนางรำเอกแห่งคณะ “รอยัลเขมรแดนส์คัมปานี” ผู้มักรับเลือกเป็นตัวเอกอัปสรา จากจำนวนนางรำทั้งสิ้น 30 นางที่มักออกตระเวนการแสดงในต่างแดนทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย อิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี สหรัฐ เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (2537)

แต่บัดนี้เธอกลับรู้สึกถึงชีวิตที่สิ้นหวัง ว่างเปล่า ในชีวิตคู่ที่แตกร้าวจากเหตุการณ์รัฐประหาร เพียง 3 ปีของชีวิตคู่ อุก พอลลา กลับสูญเสียทุกอย่าง รวมทั้งสิทธิ์การเลี้ยงดูลูกชายให้แก่อดีตสามีที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตการเมืองและกัมพูชาไว้เป็นเพียงอดีต

อุก พอลลา เหมือนนกปีกหักที่ซมซานกลับรัง เวลานั้นสุภาพสตรีชั้นสูงที่อ้าแขนโอบรับเธอไว้มิใช่ใครอื่น แต่คือเจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี เจ้าหญิงนางรำที่ครั้งหนึ่งเคยช้ำรัก และมันคือชะตากรรมเดียวกัน สำหรับความรักอันแสนเศร้ากับบุตรชายสุดหล่อนักการทูตอิตาลีที่จบลงด้วยการจากพรากและการสูญเสียสิทธิ์บุตรสาวในการดูแลของฝ่ายชาย

อุก พอลลา จึงได้รับการปลอบโยนอย่างอบอุ่นจากเจ้าหญิงบุปผาเทวีที่เป็นทั้งครูและผู้ให้ชีวิตการแสดงเธออีกครั้ง

เพียง 3 เดือนหลังจากสูญเสียทุกอย่าง อุก พอลลา ก็ยึดบทนางรำตัวหลักอย่างมั่นใจจากการแสดงครั้งแรกที่ปารีส (2542) และชุดการแสดงที่เจ้าหญิงทรงจัดถวายต่อหน้าพระพักตร์พระบาทนโรดม สีหนุ นายสึ หรง จิ-นายกรัฐมนตรีจีน (2543) และอีกหลายชุดการแสดง รวมทั้งตำแหน่งครูนาฏศิลป์แห่งวิทยาลัย

ทุกๆ ภาคเช้าวันละ 3 ชั่วโมงครึ่ง อุก พอลลา ต้องฝึกร่วมกับครูอาวุโส สก กึง และสด โสมาลี, ปัน โสคน, ซัม สัทยา รวมทั้งการรับบทนำภาพยนตร์ในโครงการของกระทรวงวัฒนธรรมที่เจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี เป็นรัฐมนตรีขณะนั้น

และครั้งนั้นเองที่ทำให้นางรำอุก พอลลา ได้พบกับสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ผู้เข้ามากำกับดูแลภาพยนตร์ มีหลายฉากที่อุก พอลลา ถึงกับน้ำตาตกเพราะถูกเขาดุหลายครั้ง

แต่แล้วโลกก็กลับมาเล่นตลก เมื่อนางรำคนนี้ได้กลายเป็นสมบัติอย่างสมบูรณ์ตามขนบโบราณของเจ้านายเชื้อพระวงศ์

 

เล่าเรื่องว่า อดีตนางรำพัต กาญล ก็เคยอยู่ในข่ายนี้ จากนางรำสามัญชนที่กลายเป็นหม่อม-คนแรกของกษัตริย์เขมรหนุ่ม-พระบาทนโรดม สีหนุ (ขณะยังดำรงฐานันดร) หม่อมพัต กาญล ได้ให้กำเนิดเจ้าหญิงบุปผาเทวีและองค์เจ้ารณฤทธิ์

แม้จะเคยเป็นนางรำคนโปรดของพระชนนี แต่ชีวิตของหม่อมนางรำยิ่งนับวันกลับมีแต่ความต่ำต้อยด้อยศักดิ์ เมื่อเทียบกับชายาทั้งหมดทั้งห้าของพระบาทนโรดม สีหนุ อีกเมื่อให้กำเนิดทายาท สมเด็จพระอัยกาก็ยึดเป็นสมบัติราชสำนัก

ในที่สุด หม่อมพัต กาญล ก็ทูลขอสละฐานันดรไปเป็นสามัญชน

สูญเสียตำแหน่งเมียเจ้าและชีวิตนางรำแห่งวังหลวงดูจะไม่เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับต้องสูญเสียลูกๆ ทั้งสอง แต่เมื่อเลือกเส้นทางนี้ หม่อมพัต กาญล จึงออกจากวัง โดยไปเริ่มต้นที่เมืองเสียมเรียบ

อดีตหม่อมนางรำสมรสใหม่อีกครั้งกับข้าราชการที่เลี้ยงดูเธออย่างสามัญแต่สมเกียรติ พวกเขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และหายไปจากการรับรู้ของชาวโลกเมื่อระบอบเขมรแดงเข้าปกครอง

แต่หม้ายอุก พอลลานั้นต่างไป เธอวางตัวดีและใช้ชีวิตเรียบง่าย ความหลงใหลต่ออัปสราปราสาทนครวัดคือความเห็นเดียวที่มีต่อนางรำแห่งราชสำนัก และเราไม่เคยคิดว่ามันจะมีผลต่อเธอนัก กระทั่งเมื่อพบกับสมเด็จกรมพระรณฤทธิ์ อุก พอลลา คงไม่คิดว่าจะหวนชีวิตกลับไปสู่เกมการเมืองของใครอีกครั้ง

แต่เบื้องบนคงลิขิตอุก พอลลา ให้เป็นสมบัติแห่งราชสำนักกระมัง? และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ลับๆ ระหว่างเธอกับสมเด็จกรมพระฯ มักจะถูกรายงานต่อฝ่ายตรงข้าม-ที่ขณะนั้นต้องการจะกำจัดหรือสร้างจุดอ่อนให้กรมพระฯ ประสบชะตากรรม

เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองได้ล้อมกรอบคนทั้งสองไว้ รวมทั้งชายาสมเด็จกรมพระฯ ขณะนั้น ซึ่งตกเป็นเครื่องมือฝ่ายตรงข้ามไปด้วย

จากเด็กสาวที่สูญเสียบิดาสมัยเขมรแดง ที่ฝึกฝนมาตั้งแต่สิบขวบ และขณะนั้นมารดาและพี่ชายของเธอได้อพยพไปสหรัฐ อุก พอลลา ผู้โดดเดี่ยวตกเป็นข่าวอื้อฉาวที่ทำให้เธอต้องเก็บตัวในตำหนักเมืองเสียมเรียบจนเมื่อตั้งครรภ์

และต่อมาเมื่อสมเด็จกรมพระฯ ทรงหย่าขาดกับเจ้าหญิงมารี รณฤทธิ์ (2552) ก็สมรสกับชายาคนใหม่ นโรดม พอลลา

 

เราทราบกันดีว่าหม่อมพอลลาประสบอุบัติเหตุรถยนต์ขณะติดตามพระสวามีไปหาเสียงทางตอนใต้ที่จังหวัดกำปอด (2561)

มรณกรรมของหม่อมพอลลาช่างอาดูรนัก พระสวามีที่ยังนอนในโรงพยาบาล บุตรชายคนเล็กที่ยังเยาว์นัก ที่น่าสะเทือนใจคือภาพสุดท้ายก่อนเสียชีวิต หม่อมยังรำถวายเป็นเกียรติ สิริมงคลต่อกิจกรรมการเมืองของสวามี ส่วนสมเด็จบุปผาเทวีเล่าก็อยู่ในช่วงรักษาพระองค์

สมัยยังเด็กมาก ทรงเคยสูญเสียพระมารดา-หม่อมพัต กาญล นางรำวังหลวงและครูคนแรก และสูญเสียศิษย์โปรด-น้องสะใภ้ นางรำคนสุดท้าย ที่ทรงหมายจะสืบสานตามจารีตราชสำนัก แต่ทรงถึงแก่ทิวงคตในปีต่อมา

เป็นความทรงจำที่เหลือไว้แด่ชีวิตนางรำราชสำนักเขมรยุคสุดท้ายที่ฉันได้สัมผัส จากพระพี่นางบุปผาเทวี หม่อมพอลลา

รวมทั้งการค้นพบดอกไม้บานเมื่อยามปลายของฮิโตมิ นามายากะ