วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ห้างเจียไต๋จึง

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
ที่มาภาพ : http://www.cp-enews.com/

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ยุคบุกเบิกในตำนาน “ห้างเจียไต๋จึง” ก่อนมาเป็น “เจริญโภคภัณฑ์” มีบริบทที่สำคัญและเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก

“…เจี่ย เอ็กชอ เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่เกิดในมณฑลกวางตุ้ง คุณพ่อเดินทางไปหลายประเทศ ทั้งประเทศจีน ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ขยายกิจการออกไปเรื่อยๆ” เรื่องเล่าให้ภาพความเคลื่อนไหวพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเล (อ้างจาก “บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont ในสื่อญี่ปุ่น-NIKKEI แปลและเรียบเรียงโดย ภรณี จิรวงศานนท์ และ มร.หวง เหวย เหว่ย)

เมื่อเปรียบเทียบกับบางกรณีในยุคเดียวกัน จากภาพเล็กๆ สู่ภาพใหญ่ ว่าด้วยอิทธิพลเครือข่ายอาณานิคมในเวลานั้น โดยเฉพาะอ้างอิงกับกรณีบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี ปัจจุบัน)

ปูนซิเมนต์ไทยกับโรงงานปูนซีเมนต์ ในฐานะอุตสาหกรรมแรกในสยาม ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่อาศัยระบบอาณานิคมอย่างบางภาพอันกระจ่างจากการศึกษาและค้นคว้าของผมเอง

ตั้งแต่จุดตั้งต้น การจัดหาเครื่องจักรเดนมาร์ก ขนส่งทางเรือโดย The East Asiatic Company มีมิติความสัมพันธ์ระหว่างเดนมาร์กกับระบบอาณานิคมอังกฤษ การขนส่งเครื่องจักรต้องมีการประกันภัยกับ Lloyd”s of London การจัดหาอะไหล่โดย Barrow Brown & Co ทั้งสองอยู่ในเครือข่ายอาณานิคมอังกฤษ รวมทั้งมีสัญญาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจาก Asiatic Petroleum Company (หรือ Shell ในปัจจุบัน)

จนถึงการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง มี Hongkong & Shanghai Banking Corporation (HSBC) ในฐานะธนาคารหลักของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยตั้งแต่ต้น เป็นตัวเชื่อมกับธุรกรรมการค้ากับอาณานิคม เช่น นำเข้าถุงบรรจุปูนจากอินเดีย ผ่านเมืองท่า Kolkata (หรือ Calcutta ในปัจจุบัน) โดยบริษัทการค้าของอาณานิคมอังกฤษ Bombay Burmah Trading และ Anglo-Siam Corporation

นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับอาณานิคมฝรั่งเศสและดัตช์ด้วย โดยเฉพาะการจัดหาถ่านหินจาก Haiphong ในอ่าวตังเกี๋ย (Tonkin) ในเขตอาณานิคมฝรั่งเศส ผ่านบริษัทการค้าอาณานิคมฝรั่งเศส-EC Monod อีกบางส่วน บางช่องทางจากเขตอาณานิคมดัตช์ ผ่านเมือง Batavia (หรือ Jakarta เมืองหลวงอินโดนีเชียในปัจจุบัน)

หากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะเส้นทางเดินเรือระหว่างกรุงเทพฯ-ฮ่องกง-ซัวเถา เขตอิทธิพลของอาณานิคมฝรั่งเศสกับอังกฤษ มีบางตระกูลธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลเป็นเอเย่นต์ในประเทศไทย

นั่นคือตระกูลหวั่งหลี ซึ่งเดินทางมาถึงสยามก่อนหน้าต้นตระกูลเจียรวนนท์ถึงครึ่งศตวรรษ

 

“…เมื่อคุณพ่อสะสมทุนได้แล้ว ท่านจึงตัดสินใจลงเรือที่ซัวเถา ข้ามน้ำข้ามทะเลมาพร้อมกับกระสอบเมล็ดพันธุ์ผัก มาเปิดตลาดใหม่เมืองไทย” สาระตอนสำคัญ กล่าวถึงจุดหมายปลายทาง ณ ประเทศไทย (อ้างจากหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” โดยธนินท์ เจียรวนนท์) โดยขยายความเพิ่มเติมด้วย

“ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ประเทศไทยไม่เป็นรัฐบาลที่ล่าอาณานิคม และขณะนั้นยังไม่มีธุรกิจขนาดใหญ่จากอเมริกาและยุโรปมาขยายการลงทุนในไทย คุณพ่อจึงเห็นช่องทางการค้าขายในประเทศไทย หลังจากอพยพมากรุงเทพฯ คุณพ่อก็ได้ลงหลักปักฐานที่เยาวราช” (“บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont)

อันที่จริงเวลานั้น อิทธิพล เจ้าอาณานิคมปักหลักมั่นคงในประเทศไทย โดยเฉพาะเข้าครอบครองสัมปทานไม้สัก กิจการโรงเลื่อยและการส่งออกไม้สัก ผ่านกิจการเครือข่ายอาณานิคมแห่งยุโรปทั้งสิ้น ไม่ว่า The Bombay Burmah, Borneo, East Asiatic Louis T.Leonowens และ Anglo-Siam ขณะพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเล อยู่ภายใต้อาณัติ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

ดังกรณีเครือข่ายธุรกิจครอบครัว ตระกูลล่ำซำ ผู้เดินทางมาสยามในยุคเดียวกับตระกูลหวั่งหลี ต้นรัชกาลที่ 5 ในฐานะคนในอาณัติอาณานิคมจึงมีช่องทาง สามารถเปิดร้านขายไม้สัก “ก้วงโกหลง” (ปี 2444) มาอีกระยะ มีช่องทางพอจะทำสัมปทานป่าไม้ในนครสวรรค์กับแพร่ได้บ้าง

ในระยะต่อมาอีก ได้หันเหมาสู่การค้าข้าว โดยมีเครือข่ายกว้างขึ้น ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง สิงคโปร์ จนถึงอังกฤษ การค้าข้าวเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างกว่าการค้าไม้สัก ด้วยอาศัยเครือข่ายการค้าย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นข้อได้เปรียบของชาวจีนโพ้นทะเล รวมทั้งเทคโนโลยีโรงสีได้เปิดกว้างแล้ว

ส่วนเครือข่ายธุรกิจตระกูลหวั่งหลี ซึ่งต้นตระกูลเป็นคนซัวเถาเช่นกัน ได้ผ่านเข้าสู่รุ่นที่ 2 แล้ว มีกิจการโรงสีหลายแห่ง มีเครือข่ายการค้าทั้งในสิงคโปร์และฮ่องกง รวมทั้งมีธนาคารไทยแห่งแรกๆ ในยุคนั้นถือเป็นเครือข่ายธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่มากๆ

จึงพอสรุปได้ว่า การค้าเมล็ดพันธุ์ของ “ห้างเจียไต๋จึง” โดยเจี่ย เอ็กชอ คงเป็นเพียงกิจการเล็กๆ ตามช่องว่างที่เปิดขึ้น ตามโอกาสของผู้มาทีหลัง

 

ภาพและกรณีข้างต้นอาจมีความหมายสำคัญให้เมืองไทย มิใช่แค่จุดหมายปลายหนึ่งของเจี่ย เอ็กชอเท่านั้น หากเป็นที่ที่เขาตั้งใจปักหลักธุรกิจและครอบครัว “คุณพ่อของผมแต่งงานตั้งแต่ครั้งที่อยู่เมืองแต้จิ๋ว หลังจากที่กิจการเริ่มประสบความสำเร็จแล้ว คุณพ่อจึงรับคุณแม่มาอยู่ที่เมืองไทยด้วย” (“บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์”)

กับอีกตอน “แม้ว่าผมและพี่น้องจะเกิดในประเทศไทย แต่คุณพ่อของผมก็ตั้งชื่อภาษาจีนให้ลูกๆ ทุกคน…คุณพ่อไม่เพียงแต่ส่งลูกๆ ไปเรียนในโรงเรียนไทย แต่ยังได้ส่งพวกเราไปเรียนในเมืองจีนด้วย ดังนั้น พี่น้องของผมทั้ง 12 คน จึงสามารถพูดภาษาไทยและภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว และหลังจากที่พวกเราได้สืบทอดกิจการต่อจากรุ่นคุณพ่อ เรายังคงติดต่อกับชาวจีนและชาวจีนโพ้นทะเลเรื่อยมา”

เรื่องราว “ห้างเจียไต๋จึง” และเจี่ย เอ็กชอ ในบันทึกสำคัญทั้งสองชิ้น (“บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” และหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”) มีช่องว่างพอสมควร จากตั้งแต่ช่วงก่อตั้ง “ห้างเจียไต๋จึง” (ปี 2464) การเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ปี 2475) สงครามโลกครั้งที่สอง (2484-2488) จนมาถึงช่วงเปลี่ยนอีกยุคหนึ่ง ยุคต้นอิทธิพลสหรัฐอเมริกา ที่มากับสงครามเกาหลี

 

ข้อมูลทางการปัจจุบันของ “เจี่ยไต๋” (https://www.chiataigroup.com/) กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญไว้อย่างสอดคล้องกัน จาก “2464 กำเนิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช “เจียไต๋จึง” บนถนนทรงวาด นับเป็นผู้บุกเบิกตลาดเมล็ดพันธุ์ผักรายแรกๆ ของประเทศ” เว้นว่างราว 3 ทศวรรษ ก่อนมาถึง “2493 เริ่มทำการตลาดและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ภายใต้ “ตราเรือบิน”…”

อย่างไรก็ดี มีบางเหตุการณ์บ้างเหมือนกันซึ่งกล่าวไว้อย่างไม่ตั้งใจให้เชื่อมโยงกับบริบท เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงเวลากองทัพญี่ปุ่นมีอิทธิพลทั้งในประเทศไทยและคาบสมุทรมลายู นอกจากระบุว่า เจี่ย เอ็กชอ ติดอยู่ในประเทศมาเลเซียไม่สามารถกลับเมืองไทยได้ มีอีกเรื่องควรบันทึกไว้ด้วย “ในปี พ.ศ.2483 คุณพ่อยังเคยเป็นผู้แทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของบริษัท TAKII ของญี่ปุ่นอีกด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์ กับ TAKII ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าเรื่อยมาจนถึงวันนี้…” (“บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์”)

Takii แห่งญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นในปี 2378 ณ เมืองเกียวโต และเริ่มส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศในปี 2463 จนมีแผนกต่างประเทศขึ้นเป็นการเฉพาะในปี 2469 (อ้างจาก https://www.takii.co.jp/)

ว่าไปแล้ว สงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงอิทธิพลญี่ปุ่น นับเป็นช่วงเวลา “จุดเริ่มนับ 1 ของชีวิต” ธนินท์ เจียรวนนท์