กรรมที่ “คนรุ่นเก่า” สร้างไว้

ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการแล้ว

ประเมินกันว่าในปี 2563 นี้ ประเทศไทยเราจะมีผู้สูงอายุประมาณ 12.6 ล้านคน หรือร้อยละ 19.1 ของประชากรรวม 66 ล้านคน หรือว่ากันที่ตัวเลขกลมๆ ก็คือ ร้อยละ 20 ของคนไทยเป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

เรื่องที่พูดถึงกันถี่ในตอนนี้คือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่พึ่งพาตัวเองได้ยาก เป็นแบบที่เรียกว่า “แก่ก่อนรวย” ไม่ใช่ “รวยก่อนแก่”

และตรงนี้เองที่มองกันว่าการบริหารจัดการทำได้ยากอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นเรื่องปกติของคนสูงวัยที่ส่วนใหญ่พึ่งพาตัวเองได้ลำบาก จำเป็นต้องอาศัยลูกหลาน หรือคนอื่นดูแล

ผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินเก็บ เมื่อทำงานหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไม่ไหว ย่อมต้องการความช่วยเหลือ และคนแรกที่จะต้องรับภาระนี้คือลูก-หลาน

อย่างไรก็ตาม สภาวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์หลังจากที่มีโควิด-19 ระบาด อย่าว่าแต่การสร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นที่พึ่งของใครได้เลย แม้แต่การทำมาหากินที่พอให้เอาตัวเองรอดได้ ยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก

เรื่องราวระหว่างคนรุ่นเก่าที่เป็นคนแก่กับคนหนุ่มคนสาวที่ถือเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ต้องมีภาระโอบอุ้มกันนี้มีปัญหาแทรกซ้อนขึ้นมาอีก

การเมืองในช่วง 5-6 ที่ผ่านมา ที่การจัดการบริหารประเทศถูกมองว่าเอาคนแก่มาเขียนกติกา วางยุทธศาสตร์ 20 ปี และสร้างหนี้ไว้มโหฬารเป็นการสร้างภาระหนักหน่วงไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานต้องหาทางแก้ไขและชดใช้ ด้วยเหตุผลเพียงแค่ “คนแก่ต้องการมี และรักษาอำนาจไว้” โดยไม่ประเมินความรู้ความสามารถว่าเหมาะสมกับหน้าที่ที่จะต้องดูแลประเทศในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากมายและรวดเร็วหรือไม่

ความอยากมีอำนาจของคนแก่เป็นการสร้างภาระที่ในอนาคตคนต้องรับมากมายท่วมหัว

และนี่เองได้สร้างปมความคิดที่ว่า “คนแก่สร้างภาระไว้ให้ลูกหลาน” เป็นผลต่อการสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน

มองในมุมของลูก-หลานที่มีหน้าที่ต้องดูแลบรรพบุรุษก็ไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะมีจิตสำนึกว่าด้วยกตัญญูมาควบคุมทัศนคติอยู่

แต่หากมองในมุมการบริหารทั่วไป นโยบายที่มีต่อคนสูงอายุที่ถูกมองว่าไม่ต่อสู้กับการบริหารจัดการของรัฐบาลที่สร้างภาระไว้ให้คนรุ่นหลัง น่าจะเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย

มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ในเรื่องเกี่ยวกับ “กิจกรรมและความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างของผู้สูงอายุ” ในคำถามที่ว่า “มีกิจกรรมนอกบ้านกับครอบครัว (เช่น ดูหนัง กินข้าว) บ้างหรือไม่” ร้อยละ 65.36 ตอบว่าไม่เคย, ร้อยละ 13.84 หนึ่งครั้งต่อเดือน, ร้อยละ 8.16 หลายครั้งต่อปี, ร้อยละ 5.60 หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์, ร้อยละ 4.72 หลายครั้งต่อสัปดาห์, ร้อยละ 2.32 ทุกวัน

ข้อมูลนี้สะท้อนได้ระดับหนึ่งถึงความใกล้ชิดระหว่างคนสูงอายุกับคนในครอบครัวไปในทางที่มีภาพของ “ความห่างเหิน” หรือไม่มีเวลาให้กัน

ด้วยสภาวะเช่นนี้ ย่อมหมายถึงความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาช่วยโอบอุ้มผู้สูงอายุให้มากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น ไทยจะเป็นสังคมที่วัยปลายจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างว้าเหว่ยิ่ง

แต่รัฐบาลจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เห็นความจำเป็นต้องจ่ายภาษีมาเพื่อดูแลคนรุ่นเก่า

เป็นคนรุ่นเก่าที่ถูกคนรุ่นใหม่มองว่า “เอาแต่อยากมีอำนาจ ไม่รู้ตัวเอง สร้างหนี้สินและภาระอื่นอีกมากมายไว้ให้”