85 ปี “วงจันทร์ ไพโรจน์” “อิจฉานักร้องรุ่นใหม่”

แม้นักร้องฉายา “เสียงระทม” วงจันทร์ ไพโรจน์ (ชื่อเดิม ดวงจันทร์ ไพโรจน์) จัดงานคอนเสิร์ตอำลาชีวิตการเป็นนักร้องช่วงอายุ 60 กว่าไปแล้ว

แต่หลังจากนั้นบริษัทเพลงก็ให้ไปช่วยงาน ต่อมาก็มีผลงานเพลงอีกหลายชุด ขณะเดียวกันพรรคพวกเพื่อนฝูงต่างชักชวนไปร่วมร้องเพลงอยู่ตลอด

ส่วนหนึ่งก็ด้วยเสียงร้องอันไพเราะของเธอและเนื้อเพลงอมตะ ยังคงอยู่ในความทรงจำของแฟนเพลงรุ่นเก่า

วันนี้ เธอในฐานะสมาชิกของวงดาวค้างฟ้า ที่มีนักร้องรุ่นใหญ่อย่าง “ดาวใจ ไพจิตร” เป็นผู้ก่อตั้ง ก็ได้มาร่วมร้องเพลงกับเหล่านักร้องรุ่นน้องที่ “โอเปร่า เฮาส์” ของดาวใจ ไพจิตร ย่านสุขุมวิท 71 เลยได้มีโอกาสสนทนาหลายเรื่องหลายราว

โดยเธอใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “ป้า”

เจ้าของเสียงเพลงดังในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ช่างร้ายเหลือ, กุหลาบเวียงพิงค์, แม่พิมพ์ของชาติ, อุทยานดอกไม้ และถึงร้ายก็รัก ฯลฯ เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้มาอยู่บ้านแถบชานเมือง กทม. กับ “วิภาค สุนทรจามร” สามี ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก เพื่อจะได้ไปหาหมอได้สะดวก ไม่ได้ทำอาชีพอะไรเพราะต้องดูแลสามี มีงานเฉพาะของวงดาวค้างฟ้าเท่านั้น

ส่วนลูกชายสองคน อายุ 60 กว่า และ 50 กว่า มีครอบครัวและมีหลาน รวมทั้งหมด 3 คน โตๆ กันหมดแล้ว ซึ่งก็ไม่มีลูกหรือหลานคนไหนมาเอาดีด้านร้องเพลงเลยสักคน

ขณะที่สุขภาพก็เป็นไปตามสภาพสูงวัย คือมีโรคความดันโลหิตสูง หัวใจไม่ค่อยดี จะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ

ดังนั้น จึงต้องดูแลสุขภาพให้ดี

หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจาก “วงจันทร์” ร้องเพลงด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครแล้ว เธอยังมีความสามารถในการแต่งเพลงด้วย เพลงดังที่ได้รับความนิยมก็คือ กุหลาบเวียงพิงค์

“แรกเลยเพลงนี้เขียนไว้ด้วยทั้งหมด 3 ท่อน แต่เป็นเนื้อเพลงที่สั้นไป ครูบาอาจารย์หลายท่าน อย่างครูสุรพล สมบัติเจริญ, ครูสำเนียง ม่วงทอง และครูสมาน กาญจนะผลิน ช่วยกันใส่เนื้อให้จบท่อนที่ 4 ส่วนหนึ่งที่ชอบแต่งเพลง เพราะชอบอ่านกลอนต่างๆ ในหนังสือ หากไปเจอบทกลอนที่มีสัมผัสนอกสัมผัสในและมีความหมายดีๆ ก็จะคัดลอกไว้ และนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งเพลง”

กับคำถามที่ว่า มองวงการนักร้องสมัยนี้กับสมัยก่อนแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร “วงจันทร์” รีบบอก “แตกต่างกันมาก แล้วก็น่าอิจฉา (หัวเราะ) เรื่องรายได้ ผิดกันเป็นร้อยเท่า ตัวเองร้องเพลงมาเป็น 100 เพลง ก็ยังมีรายได้ไม่ได้มากมายอะไร เดี๋ยวนี้เพลงดังมาสักเพลงมีเงินซื้อบ้าน สร้างเนื้อสร้างตัวกันได้เลย ต้องบอกเลยว่าอิจฉา (หัวเราะ) อยากเป็นแบบเขาบ้าง”

“เมื่อก่อนนี้นักร้องไปร้องเพลงได้ค่าตัว 100 บาทขึ้นไป แล้วแต่จะตกลงกัน อย่างสมัยที่ป้าดังช่วงปี 2500 เรียกว่าเป็นนักร้องที่มีค่าตัวแพง ตกวันละ 500 บาท แต่ถ้าไปร้องต่างจังหวัดก็ได้จากทางโน้นทางนี้มาผสมรวมแล้วได้วันละ 1,500 บาท อย่างเวลาจะไปร้อง ทางเจ้าของคณะต้องตกลงกับสถานที่ว่าวันนี้มีวงจันทร์มา ทางวงจะช่วยออกค่าตัวมาส่วนหนึ่ง และได้เงินอีกส่วนจากการยืนอยู่บนเวทีแล้วโฆษณายาแก้ไอให้ โดยขึ้นไปพูดว่าดิฉันดื่มยาแก้ไอตัวนี้ถึงเสียงดี ซึ่งขณะนั้นทองขายกันบาทละ 300-400 บาท”

ในชีวิตการเป็นนักร้องเพลงของวงจันทร์ ซึ่งเริ่มเข้าสู่วงการโดยบันทึกแผ่นเสียงตั้งแต่อายุ 15 ปี มีผลงานร้องมากกว่า 1,000 เพลง ส่วนหนึ่งเป็นเพลงที่เธอและสามีช่วยกันแต่ง

“ในจำนวนเพลงที่ร้อง 1,000 กว่าเพลง ใครๆ ก็งง ว่าเป็นไปได้อย่างไร 1,000 กว่าเพลง เพราะเพลงที่ร้องเป็นเพลงของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อย่างครูสง่า อารัมภีร, ครูกมล สุโกศล, ครูบุญช่วย กมลวาทิน รวมทั้งเพลงภาพยนตร์สมัยก่อนก็ร้องไว้เยอะ”

สำหรับนักร้องในอดีตเธอว่า ชอบนักร้องชายรุ่นพี่ อย่างชรินทร์ นันทนาคร และทนงศักดิ์ ภักดีเทวา (เสียชีวิตแล้ว)

ส่วนนักร้องรุ่นใหม่ๆ ฟังเพลงของนักร้องทุกคน และชื่นชอบทุกคน

“เด็กเดี๋ยวนี้เก่งมาก เขาเก่งกว่ารุ่นเราเยอะ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ ความกล้า เหนือกว่าพวกเราเยอะ ตอนสมัยเราเด็กๆ ยังไม่เก่งเท่าเขาเลย ต้องยอมรับว่า นักร้องสมัยใหม่เก่งกว่ารุ่นพี่ป้าน้าอาเยอะ เพราะว่ามีครูสอนมีวิธีการร้อง ต้องใช้เสียงตรงช่วงไหนของร่างกายเสียงถึงจะออกมาดี ผิดกับสมัยก่อน ช่วงป้าเป็นนักร้องก็ขึ้นไปร้องเลย”

ในส่วนการร้องเพลงของเธอนั้น เจ้าตัวแจกแจงว่า

“การร้องเพลงให้มีคุณภาพ ต้องเป็นตัวของตัวเอง สมัยป้ายังไม่ได้เรียนรู้ ร้องไปตามที่อยากจะร้อง จนกระทั่งพอครูบาอาจารย์มาให้อัดแผ่นเสียงก็บอกให้เรื่องจังหวะ และครูต้องมานั่งร้องเพลงนั้นๆ ให้เราฟัง และด้วยความที่เป็นนาฏศิลป์ เคยเต้นระบำปลายเท้ามาก่อน เลยแม่นเรื่องจังหวะ พอถึงเวลาร้องจริงๆ ก็ไม่ติดขัดอะไรเลย ครูผู้มีพระคุณท่านแรกคือ ครูมงคล อมาตยกุล”

เธอว่า เวลาไปร้องเพลงที่ไหน สมัยก่อนแฟนเพลงมักจะขอเพลง ช่างร้ายเหลือ, ถึงร้ายก็รัก, ชาตินี้ชาติเดียว, อุทยานดอกไม้ และไทรโยคแห่งความหลัง ปัจจุบันถ้าเป็นคนอายุ 60 ปีลงมา มักจะขอเพลง “กุหลาบเวียงพิงค์”

ส่วนคนอายุ 70-80 ปีขึ้นไป มักขอเพลง “ช่างร้ายเหลือ”

พูดถึงการร้องเพลงในวัย 85 ปี วงจันทร์บอกว่า แตกต่างจากสมัยก่อนสิ้นเชิง

“ในวัยที่กำลังเรามี เจ้าของงานบอกวันนี้จะให้ร้อง 10 เพลง เราไม่ได้คิดอะไร เดินออกไปก็ร้องได้เลย ตอนนี้จะร้องสักเพลง เอ๊ะ! จะจบไหม (หัวเราะ) จะดีหรือเปล่า พออายุเท่านี้แล้วความตั้งใจของเราแม้จะให้ดีแค่ไหน แต่กลับกลายเป็นว่าประหม่าไปอีกด้วยซ้ำไป ตอนพออายุมากๆ กังวลว่าจะเดินไปถึงกลางเวทีไหม เดินออกไปแล้วการทรงตัวจะได้หรือเปล่า คิดหลายๆ อย่าง”

“วงจันทร์” บอกว่า เวลานี้ไม่มีรายได้อะไร นอกจากวงดาวค้างฟ้าจะมีคนจ้างไปออกงานเป็นบางครั้งบางคราว และไม่ได้ใช้เงินของลูก 2 คน เพราะถือหลักต้องพึ่งตัวเอง ต้องอยู่ให้ได้ ไม่รบกวนใคร ไม่ไปยืมเงินใคร ซึ่งลูกชายก็มีครอบครัวมีลูกต้องเลี้ยงดู ขณะที่ตัวเองก็ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไร อย่างไรก็ตาม ถือเป็นบุญกุศลที่พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี เมตตาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

รวมถึง “ดาวใจ ไพจิตร” ก็ช่วยเหลือดูแลมาตลอด ซึ่งต้องขอชื่นชมน้ำใจที่งดงามนี้ เพราะการตั้งวงดาวค้างฟ้าทำให้นักร้องรุ่นเก่าๆ พวกอายุมากๆ มีงานทำ และได้มาพบปะกัน

ในฐานะนักร้องรุ่นใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและอยู่ในวงการเพลงมานานกว่ากึ่งศตวรรษ เธอฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงว่า เพลงสมัยก่อนมีเนื้อหาลึกซึ้งกินใจ มีความหมายดี แต่หากไม่มีคนรุ่นใหม่มาร้องสานต่อก็อาจจะสูญหายไป

ดังนั้น ทายาทที่ได้ลิขสิทธิ์เพลง ควรคิดถึงประเด็นนี้ให้มาก อย่าคิดถึงเฉพาะตัวเงินที่จะได้เพียงอย่างเดียว

ถือเป็นนักร้องรุ่นใหญ่อีกคนที่แม้จะสูงวัยแล้ว แต่ก็ยังคงร้องเพลงอันไพเราะให้ความสุขกับผู้ฟัง