วิกฤติศตวรรษที่21 | โควิด-19 และจุดเปลี่ยนระบอบทรัมป์

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (13)

การบริหารประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ มีหลายอย่างที่ผิดแผกไปจากประเพณีการบริหารของอดีตประธานาธิบดีคนอื่นๆ จนควรเรียกการบริหารของเขาว่าระบอบทรัมป์

ระบอบปกครองของทรัมป์เกิดขึ้นในช่วงการเสื่อมถอยของสหรัฐ เป็นการดิ้นรนครั้งใหญ่ในหมู่ชนชั้นนำสหรัฐที่มีความแตกแยกทางนโยบาย และความแตกแยกทางเชื้อชาติ-เศรษฐกิจ-การเมืองในหมู่ประชาชนอย่างสูง จนรักษาประเพณีการสมยอมระหว่าง 2 พรรคใหญ่ได้ยาก

ด้วยความสามารถส่วนตัวที่พิเศษยิ่ง ทรัมป์สามารถทำตัวเป็นข่าวใหญ่ของประเทศและโลกได้อย่างต่อเนื่อง

ทำให้โลกคิดว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจที่ไม่ควรขัดใจ และประชาชนอเมริกันส่วนหนึ่งเชื่อว่าเขาจะทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง พร้อมกับการมีงานทำ

ขณะที่ดูเหมือนว่าการบริหารของเขามีลักษณะล้มลุกคลุกคลาน เช่น มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูงในทำเนียบขาวและรัฐบาลเป็นว่าเล่น การแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารสำคัญ มีปัญหาการผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาและถูกสื่อมวลชนกระแสหลักในสหรัฐต่อต้านอย่างหนัก (ยกเว้นกลุ่มฟอกซ์นิวส์ที่เข้าข้างทรัมป์)

ผู้นำโลกก็ไม่ได้ยินดีกับเขานัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป พบว่า ทรัมป์ยิ่งสามารถควบคุมสถานการณ์ในพรรคและทำเนียบขาว-รัฐบาลเด็ดขาดขึ้น กลุ่มพันธมิตรไม่กล้าต่อต้านมาก อิทธิพลของทรัมป์พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ในกรณีพรรคเดโมแครตยื่นญัตติถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งในปลายปี 2019 หลังจากรีรอมานาน

แต่ฐานเสียงของทรัมป์ก็ยังคงเหนียวแน่น และที่สำคัญคือพรรครีพับลิกันทั้งพรรคสนับสนุนทรัมป์เป็นหนึ่งเดียวกัน ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 วุฒิสภาที่พรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมาก รวบรัดลงมติว่าทรัมป์ไม่มีความผิดตามการฟ้องร้องของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ (เป็นเหตุการณ์ก่อนเกิดการเสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นรายแรกในสหรัฐ)

ระบอบทรัมป์มีการปฏิบัติที่เด่นควรกล่าวถึงอยู่ 3 ประการได้แก่

1)การสร้างความรู้สึกว่าประเทศถูกโลกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นจีนที่ได้เปรียบดุลการค้ามหาศาลด้วยเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ พันธมิตรใกล้ชิดอย่าง เช่น สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ก็พากันเอาเปรียบ บางทียิ่งกว่าจีนเสียอีก

นอกจากเรื่องการค้าแล้ว ยังมีเรื่องหลอกใช้สหรัฐมาช่วยรักษาความสงบของโลกที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แต่ไม่ยอมออกค่าใช้จ่าย

นอกจากประเทศแล้วประชาชนโดยเฉพาะคนคริสเตียนผิวขาวที่เป็นฐานเสียงหลักของเขา ก็ตกอยู่ในวงล้อมของประชากรผิวสีที่มีจำนวนมากขึ้นทุกที

คนเหล่านี้มาใช้บริการทางสังคมที่รัฐบาลสนองให้ มาแย่งงานทำ และกำลังก้าวขึ้นมาเป็นคะแนนเสียงหลักในการเลือกตั้ง โดยที่ประธานาธิบดีคนก่อนๆ ไม่นำพาประเด็นนี้ ทั้งยังไปทำสัญญาที่ทำให้สหรัฐเสียเปรียบต่างๆ เช่น เปิดทางให้คนผิวสีอพยพเข้าประเทศ

ในด้านตัวทรัมป์เองก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน คือ ถูกรุมล้อมโจมตีจากสื่อกระแสหลัก หน่วยงานข่าวกรอง และความมั่นคง พวกเสรีนิยมฝ่ายซ้าย ไปจนถึงขบวนการต่อต้านฟาสซิสต์ใหม่ (Antifa) หนักหน่วงยิ่งกว่าประธานาธิบดีคนใด

ทั้งสามกลุ่ม ชาติสหรัฐ คนคริสเตียนผิวขาว และทรัมป์ ที่ถูกรุมล้อมโจมตีจำต้องเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียว เพื่อต่อสู้ให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

2)มีแต่ทรัมป์และระบอบทรัมป์เท่านั้นที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ได้ เพราะประเทศชาติ ผู้สนับสนุนและเหตุการณ์ต่างๆ ภายใต้การเห็นชอบของระบอบทรัมป์ล้วนเป็นสิ่งที่ดีมีอนาคตที่ดี ตรงข้ามกับประเทศชาติ กลุ่มปรปักษ์ผู้คัดค้าน และเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่นอกระบอบทรัมป์ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรที่จะต้องขจัดทิ้งไป

ทรัมป์กล่าวว่า ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐคนใดในประวัติศาสตร์ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีกว่าเขา

ดังนั้น ข่าวที่สื่อมวลชนโจมตีเขาเป็นข่าวปลอม แต่ข่าวที่ระบอบทรัมป์โฆษณาว่ามีผู้คนมืดฟ้ามัวดินในงานพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นเท็จนั้นเป็นข้อเท็จจริงทางเลือก การเลือกตั้งประธานาธิบดี (ครั้งแข่งกับนางฮิลลารี คลินตัน) ถ้าเขาแพ้เป็นเพราะว่าการเลือกตั้งนั้นมีการชักใย ถ้าเขาชนะจึงเป็นการเลือกตั้งที่ใสสะอาด ทรัมป์โจมตีผู้พิพากษาที่ตัดสินความขัดกับความประสงค์ของเขาเป็นประการต่างๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2017 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 (ดูหัวข้อ In His Own Words The President”s Attacks on the Courts ใน brennancenter.org)

เมื่อเกิดไข้โควิด-19 ระบาดลามมาถึงอเมริกา ในด้านหนึ่งทรัมป์กล่าวว่าระบอบทรัมป์ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ผู้ต้องรับผิดชอบคือประเทศจีนที่เป็นต้นตอและปกปิดข้อมูลเรื่องนี้ในตอนต้น รวมทั้งองค์การอนามัยโลกที่เข้าข้างจีน

ในอีกด้านหนึ่งที่ไม่อาจปัดความรับผิดชอบทั้งหมดได้ ทรัมป์ประกาศว่าโควิด-19 เป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ธรรมดาที่เกิดขึ้นประจำในสหรัฐ

เมื่อเหตุการณ์บานปลายควบคุมไม่อยู่ ทรัมป์ปลอบใจว่า โควิด-19 จะหายไปเองเหมือนกับจู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นมา แต่สถานการณ์กลับย่ำแย่ มีผู้ติดเชื้อในสหรัฐกว่า 2 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 1 แสนราย ทรัมป์ก็ปลอบใจว่าไม่ช้าก็จะคิดวัคซีนได้สำเร็จ

การที่ทรัมป์มีความเชื่อถึงขั้นนั้นอยู่นอกเหนือการกล่าวว่าเขามีความหลงตัวเองอย่างยิ่ง มันจะต้องมีสิ่งอื่น เช่น การข่าวกรองสมัยใหม่บางอย่าง การเข้าใจจิตวิทยาฝูงชน และวิสัยทัศน์หรือความเชื่อมั่นในสัญชาตญาณของทรัมป์เอง

3)การปรับมุมมองของนโยบายจากการเน้นเรื่องต่างประเทศมาสู่ภายในประเทศ จากเชิงปรัชญา และภูมิรัฐศาสตร์สู่เชิงเศรษฐกิจและธุรกิจ และเห็นว่าการเคลื่อนไหว คำพูดและการปฏิบัติทั้งหลายของทรัมป์และรัฐบาล เป็นกระบวนการต่อรองเพื่อให้สหรัฐอยู่เหนือชาติใด

การปฏิบัติในข้อนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของระบอบทรัมป์ ในการสร้างความต่างทางนโยบายกับผู้นำสหรัฐอื่น สร้างฐานเสียงและคะแนนนิยมที่เหนียวแน่น และทำให้ชนชั้นนำสหรัฐกลุ่มอื่นตามเกมของทรัมป์ไม่ทัน

ทรัมป์และคณะมีชุดความคิดเห็นและนโยบายใหม่ดังนี้คือ

ก) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้นำสหรัฐก่อนหน้านั้นวางบทบาทอเมริกันว่าเป็นผู้นำโลกเสรี ปิดล้อมสหภาพโซเวียตและจีนไว้ ไม่สนใจปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนอเมริกันเท่าที่ควร ก่อผลเสียร้ายแรง 3 ประการ

ประการแรกคือ ต้องทำสงครามไม่สิ้นสุด โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศได้แก่ถนน สะพาน เป็นต้น ทรุดโทรม

ประการต่อมาได้แก่ เงินดอลลาร์อ่อนแอลงจากเดิมที่ดีเท่ากับทอง เหลือเพียงดีเท่ากับน้ำมัน เผชิญวิกฤติการเงินรุนแรง

ประการที่สามได้แก่ การย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศกำลังพัฒนามีจีน เป็นต้น ต้องเสียเปรียบดุลการค้าและดุลชำระเงินมหาศาล รายได้ของคนงานลดลง การว่างงานสูง เศรษฐกิจอ่อนแอ การทหารก็อ่อนแอตามไปด้วย

ข) ประเทศทั้งหลายในโลกนี้ที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ล้วนเป็นหนี้แก่สหรัฐที่ช่วยสนับสนุนค้ำจุน ที่สำคัญได้แก่ ยุโรปและญี่ปุ่น นอกจากนี้ รวมถึงเกาหลีใต้และเขตไต้หวัน ไปจนถึงภูมิภาคอื่น จีนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ตลาดแบบสังคมนิยม ก็เพราะสหรัฐเปิดตลาดเทคโนโลยีและการลงทุนให้ประเทศเหล่านี้จำต้องพึ่งพาสหรัฐต่อไป สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มีอำนาจแห่งชาติสูงสุดและขาดไม่ได้

ดังนั้น สหรัฐไม่จำเป็นต้นเกรงใจประเทศใด และปฏิบัติโดยยึดถือผลประโยชน์ของคนงานสหรัฐ ซึ่งป็นฐานเสียงสำคัญ ดูเผินๆ เหมือนว่าสหรัฐจะสู้กับทั้งโลก และถูกทำให้โดดเดี่ยว แต่ในทางเป็นจริงประเทศเหล่านี้ก็ไม่กล้าทิ้งสหรัฐไป ดังจะเห็นว่ายุโรปและอังกฤษก็ยังคงคลอเคลียอยู่ แม้แต่อินเดียก็ยังเล่นไพ่สหรัฐ

ค) ปรัชญาหรือทฤษฎีชี้นำนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีคนก่อนๆ มีหลากหลาย เช่น ทฤษฎีสัจนิยม ทฤษฎีสากลนิยมเชิงเสรี และทฤษฎีสร้างเค้าโครง (สังคมโลกร่วมกันสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) แต่ทฤษฎีเหล่านี้มีจุดอ่อนสำคัญคือ

ข้อแรกมีความซับซ้อนเข้าใจยากสำหรับประชาชนทั่วไปแม้กระทั่งผู้นำฝ่ายบริหารเอง ต้องอาศัยนักวิชาการและประชาคมข่าวกรองและความมั่นคงช่วยอธิบายตีความให้

ประการต่อมาคือยุ่งยากหรือขาดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติ ไม่เหมาะสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือมันใช้ไม่ได้ผล สหรัฐยิ่งอ่อนแอและถูกหัวเราะเยาะลับหลังมากขึ้น

แนวทางนโยบายต่างประเทศของระบอบทรัมป์ถูกวิจารณ์ว่าขาดปรัชญา และทรัมป์ก็ไม่ใช่นักคิด แต่กล่าวได้ว่ามันใช้ลัทธิเศรษฐกิจ/ธุรกิจ ที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติง่ายไม่ซับซ้อน ทั้งยังยืดหยุ่นพลิกกลับไปมาได้ตลอด

หลักของลัทธินี้คือ สหรัฐต้องไม่เสียเปรียบดุลการค้ามหาศาลอีกต่อไป ฐานอุตสาหกรรมต้องกลับมาที่สหรัฐ คนงานต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โครงสร้างพื้นฐานต้องมีการบูรณปฏิสังขรณ์ ความเข้มแข็งทางการทหารเป็นสิ่งจำเป็น แต่สงครามใดที่รบแล้วไม่ชนะหรือมีค่าใช้จ่ายสูงไปก็ให้ลดละเลิก ที่พอหากำไรได้ เช่น การยึดบ่อน้ำมันในซีเรียให้ทำต่อไป

จากนวัตกรรมทางการเมืองของทรัมป์ ทำให้เขามีโอกาสสูงที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง แต่โควิด-19 ได้เป็นจุดพลิกผันทำลายโอกาสนั้น จนกระทั่งผลสำรวจประชามติหลายครั้งชี้ว่าเขาจะแพ้การเลือกตั้งในปลายปีนี้

โควิด-19 ได้ทำลายความประสงค์ใหญ่ของระบอบทรัมป์ในสองด้าน

ด้านหนึ่งได้แก่ การทำลายภาพ ว่าระบอบนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง และสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ดร.โรเบิร์ต เร็ดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ได้สรุปผลกระทบของโควิด-19 ต่อสหรัฐ ในการให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการพาณิชย์ ว่า

“พวกเราทำอย่างดีที่สุดในการต่อสู้กับไวรัสนี้ แต่ความจริงคือว่ามันได้ทำให้ชาตินี้ต้อง คุกเข่าลง”

เขาเสริมว่า “เราอาจต้องใช้เงินถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ เพราะว่าเจ้าไวรัสน้อยนี้”

เร็ดฟิลด์ชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับรัฐและระดับชาติ ลงทุนต่ำไปมากใน “การสร้าง” ความสามารถใจกลางของการสาธารณสุข ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูล “ความคงทนทางห้องทดลอง” กำลังคนทางด้านสาธารณสุข ความสามารถในการรับมือกับ เหตุฉุกเฉิน รวมทั้ง “ความมั่นคงทางสาธารณสุขทั่วโลกของเรา” (มีทหารติดเชื้อบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เป็นต้น) ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องใช้จ่ายเพื่อการนี้มากขึ้น (ดูรายงานข่าวของ Amanda Holpuch ชื่อ Coronavirus has brought US “to its knees”, says CDC director ใน theguardian.com 23/06/2020)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงจุดอ่อนระบอบทรัมป์และเค้าความล้มเหลวของลัทธิทรัมป์ จากโควิด-19 และการลุกขึ้นสู้ของคนอเมริกันผิวดำ